ตำนานหลังเสื้อยึด “หมาเก้าหาง” ของทางอีศาน

ตำนานหลังเสื้อยึด “หมาเก้าหาง” ของทางอีศาน


เสื้อยึดหมาเก้าหาง จัดทำในงาน 4 ปี”ทางอีศาน” – 60 ปี ทองแถม นาถจำนง
วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน 2558
ณ สวนดอนธรรม อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
เวลา 12.00 น.

สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้ในเรื่อง“หมา ปีจอ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ของคนในสุวรรณภูมิ เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว” ว่า

“คนในสุวรรณภูมิเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว ยกย่องหมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มี 9 หาง เอาพันธุ์ข้าวจากเมืองฟ้า ลงมาให้มนุษย์ปลูกกินเป็นอาหาร มีคำบอกเล่าของชาวจ้วง อำเภอหลงโจว ในมณฑลกวางสี มีความว่า แต่ก่อนคนเรายังโง่ ยังไม่มีข้าวกิน เพราะไม่รู้จักและไม่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ครั้งนั้นมีหมา 9 หางตัวหนึ่งขึ้นไปบนสวรรค์ แล้วเอาหางทั้ง 9 จุ่มลงไปในกองข้าวของสวรรค์ เพื่อขโมยพันธุ์ข้าวมาให้มนุษย์ พันธุ์ข้าวสวรรค์ก็ติดที่หางทั้ง 9 แล้วหนีมา แต่เทวดาเห็นก่อนจึงไล่ตาม แล้วใช้เทพอาวุธฟาดฟันหมาที่ขโมยพันธุ์ข้าว เทพอาวุธฟาดถูกหางขาดไป 8 หาง หมาจึงเหลือหางเดียว พร้อมพันธุ์ข้าวที่ติดหางมาให้มนุษย์

นับแต่นั้นมามนุษย์ก็ปลูกข้าวกิน แล้วยกย่องหมาเป็นผู้วิเศษที่ทำคุณแก่มนุษย์ ทุกวันนี้ชาวจ้วงบางกลุ่มยังตั้งรูป “หมาหิน” ไว้ตรงทางเข้าหมู่บ้าน เมื่อวันตรุษ-วันสารทก็พากันมาตั้งเครื่องเซ่นสรวงสังเวย “หมาหิน” เพื่อขอให้เป็นผู้คุ้มครองชุมชน และขอให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย กลุ่มชนบางพวกบนที่สูงยกย่องหมาเป็นสัตว์บูชายัญ ใช้หมาเป็นเครื่องเซ่นสังเวยผีบรรพบุรุษและผีบ้านผีเรือน แล้วตัวเองก็กินหมาเป็นอาหารด้วย ปัจจุบันชาวจ้วงส่วนมากกินหมาเป็นอาหาร ถือเป็นอาหารดีวิเศษสุดทีเดียว เมื่อมีแขกไปใครมาเยี่ยมเยือนก็ต้องปรุงหมาขึ้นโต๊ะไว้ต้อนรับขับสู้ คำบอกเล่าเรื่องหมาเก้าหางของชาวจ้วงที่กวางสี เมื่อเทียบกับรูปเขียนที่ผาลาย มีรูปหมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วย แสดงว่าความเชื่อนี้มีอายุไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว จากนั้นก็แพร่กระจายมาถึงบริเวณสองฝั่งโขง จนถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาเมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว เพราะมีลายเส้นรูปหมาบนเพิงผาและผนังถ้ำหลายแห่ง เช่น ที่อำเภอสีคิ้ว(นครราชสีมา) ที่อำเภอลานสัก(อุทัยธานี) นอกจากนั้นยังมีชื่อเทือกเขาว่าภูเก้า หลายแห่งซึ่งหมายถึง(หมา)เก้าหาง ที่ลงมาจากฟ้า(สวรรค์) นั่นเอง”

หลักฐานทางโบราณคดี ในกวางสีเกี่ยวกับการบูชานับถือหมานั้นชัดเจนมาก ในภาพวาดบนหน้าผา ที่ฮัวซาน (ภาษาจ้วงเรียก “ผาลาย”) กวางสี เป็นภาพการประกอบพิธีกรรมบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนทำนา

องค์ประกอบหลักในภาพที่ขาดไม่ได้คือ หมอผีหรือหัวหน้าเผ่าผู้ประกอบพิธี (สื่อสารกับโลกวิญญาณ) คาดกระบี่ (ด้ามจับส่วนปลายสุดเป็นรูปวงกลม) , กลองมโหระทึก, คนหมอบไหว้ในท่าหมือนกบ และหมาหนึ่งตัว

ตำนานแบบไทยอ่านจากลิงก์นี้: ข้าวปลาหมาเก้าหาง นิทานข้าว

ภาพ: หมาเก้าหาง ที่อำเภอสีคิ้ว sujitwongthes.com

Related Posts

Pong Lang – หมาเก้าหาง
บทเพลง “ทาง”
ประกาศ !! เปลี่ยนช่องทางการติดตามของวงหมาเก้าหาง
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com