# ตำนานโอลิมปิก
“เสรี พพ”
# เต็มสิบยิมนาสติก Perfect Ten
นาเดีย โคมาเนชี (Nadia Comaneci) เด็กสาวชาวรูเมเนีย อายุ 14 ปี ทำคะแนนเต็ม 10 ในยิมนาสติกบาร์ต่างระดับที่โอลิมปิกมอนทรีลปี 1976 นับเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์กีฬาประเภทนี้ เธอได้เหรียญทอง 3 เหรียญจากรวมอุปกรณ์ บาร์ต่างระดับ และคานทรงตัว และได้เต็มสิบอีก 2 เหรียญทองในโอลิมปิกที่มอสโก 1980
นาเดีย โคมาเนชี ฝึกฝนยิมนาสติกตั้งแต่เด็ก ๆ เธอเกวาดเหรียญทองเกือบทุกเหรียญในกีฬาชิงแชมป์ยุโรปเมื่ออายุ 13 ปี และจากนั้น ได้เหรียญทองอีกมากมายในการชิงแชมป์โลกและอื่น ๆ
ที่มอนทรีล ฝ่ายจัดการแข่งขันไม่ได้เตรียมป้ายคะแนนเต็ม 10 ไว้ เพราะคิดว่าคงไม่มีใครได้เต็ม ด้วยเหตุนี้เมื่อนาเดียเต็ม 10 ป้ายบอกคะแนนจึงออกมาเป็น 1.00 ทำให้ทั้งนักกีฬาและทุกคนงุนงง
นาเดียได้โค้ชที่เก่งที่สุดของรูเมนียชื่อ Bela Karolyi เมื่อปี 1981 เขาได้หนีออกจากประเทศซึ่งยังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ไปอยู่สหรัฐอเมริกา ได้สร้างนักยิมนาสติกระดับแชมป์โอลิมปิกอีก 9 คน ทั้งชายและหญิง
โค้ชบอกว่า นาเดียเป็นเด็กที่เล่นยิมนาสติกได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีสมาธิสูง นิ่งมาก เหมือนกับเธอไม่ได้ห่วงกังวลกับอะไร คิดอย่างเดียวคือเล่นให้ดีที่สุด นอกนั้นก็เป็นเด็กที่ฝึกฝนอดทนสูงมาก และดูมีความสุขสนุกกับการฝึกซ้อมและการแข่งขัน
นาเดียเองให้สัมภาษณ์ว่า เธอเป็นเด็กที่ซนตั้งแต่เล็ก ๆ ชอบปีนป่ายสูง ๆ ที่คนอื่นกลัวว่าจะตก แต่เธอกลับรู้สึกสนุกกับการเล่นเสี่ยง ๆ อย่างปีนต้นไม้ รู้สึกสนุกดี และเมื่อได้เล่นยิมนาสติกจึงรู้ว่า นี่เป็นทางของเธอ
นาเดีย เลิกเล่นตั้งแต่ปี 1984 แต่เธอก็ไปร่วมการแข่งขันโอลิมปิก 1984 ที่ลอสแอนเจลิสกับทีมรูเมเนียในฐานะที่ปรึกษาและผู้สังเกตการณ์ เธอถูกจับตามองและติดตามทุกฝีก้าวจากเจ้าหน้าที่รูเมเนีย กลัวว่าเธอจะหนีเหมือนโค้ชก่อนนั้น
เธอเขียนในบันทึกชีวิตว่า หลังจากหยุดเล่น เธอไม่มีความสุขเลย เพราะถูกบังคับให้มีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีระบบเข้มงวดและจับตาไม่ให้หนี แต่ที่สุดเธอก็ทนไม่ได้ ปี 1989 เธอตัดสินใจหนีโดยเดินเท้าผ่านชายแดนรูเมเนีย-ฮังการี ไปออสเตรียสู่เสรีภาพ และไปอยู่สหรัฐอเมริกา
เพราะข่าวสารต่าง ๆ ถูกปิดกั้น เธอจึงไม่ทราบก่อนว่า ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นจะเกิดการปฏิวัติที่รูเมเนีย เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบอบคอมมิวนิสต์ไปเป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกับประเทศในเครือสหภาพโซเวียตอื่น ๆ
ที่สหรัฐฯ นาเดียได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนที่รู้จักกันระหว่างการแข่งขันในสหรัฐฯชื่อ Bart Conner เหรียญทองโอลิมปิกยิมนาสติกเช่นกัน ได้ทำงานร่วมกันหลายปีก่อนจะแต่งงานกัน มีอะคาเดมียิมนาสติกและธุรกิจหลายอย่าง นาเดียได้สัญชาติอเมริกันและรักษาสัญชาติรูเมเนีย บ้านเกิดที่เธอกลับไปปีละ 6 ครั้ง เพราะได้รับเกียรติสูงมากจากประชาชนและรัฐบาล
เธอเป็นประธานสมาพันธ์ยิมนาสติกของรูเมเนีย และมีองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อส่งเสริมเยาวชนในด้านการกีฬาและการศึกษาทั้งในสหรัฐฯและที่รูเมเนีย
ชื่อนาเดียเป็นสัญลักษณ์ของกีฬายิมนาสติกไปแล้ว วงการกีฬาสหรัฐฯยอมรับว่า เธอคือผู้สร้างแรงบันดาลใจให้นักยิมนาสติกหญิงสหรัฐฯ และทำให้ผงาดขึ้นไปอยู่แถวหน้าของกีฬาประเภทนี้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่มีชื่อเลย จนได้แชมป์ยิมนาสติกหญิงอุปกรณ์รวมที่โอลิมปิกลอสแอนเจลิสในปี 1974 ชื่อ Mary Lou Rettan ศิษย์โค้ชคนเดียวกับนาเดีย และอีกหลายคนก็ได้เหรียญทองในเวลาต่อมา
และที่โอลิมปิกริโอเมื่อปี 2016 ได้เห็น Simone Biles ได้ 4 เหรียญทอง และแชมป์โลก 19 เหรียญทอง โอลิมปิกที่โตเกียวขณะนี้ เรายังได้เห็น “สุนิสา ลี” นักยิมนาสติกอเมริกันเชื้อสายม้ง-ลาว ได้เหรียญทองรวมอุปกรณ์ และเหรียญเงินกับทีม พ่อแม่ของเธอลี้ภัยจากลาวมาที่ค่ายผู้อพยพในไทย ก่อนจะไปอยู่ที่สหรัฐฯ ลีเกิดที่อเมริกา
# ราชาว่ายน้ำโลก
ไมเกิล แฟลป์ส (Michael Phelps) ได้ชื่อว่าเป็นนักว่ายน้ำที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก 23 เหรียญใน 5 โอลิมปิกตั้งแต่ปี 2000 ที่ซิดนีย์ที่เขาอายุเพียง 15 ปี ปีนั้นยังไม่ได้เหรียญ เริ่มได้ที่เอเธนส์เมื่อปี 2004 ได้ 6 เหรียญทอง และที่ปักกิ่งในปี 2008 ได้ 8 เหรียญทอง ทำลายสถิติมาร์ก สปิตซ์ (ที่เคยได้ 7 เหรียญทองที่มิวนิก 1972) และได้อีก 3 เหรียญทองที่ลอนดอน (2012) และ 6 เหรียญทองที่ริโอ (2016)
ถ้ารวมเหรียญเงินและทองแดงในโอลิมปิกก็จะได้ 28 เหรียญ ทั้งนี้ยังไม่รวมเหรียญทองแชมป์โลกและรายการอื่น ๆ ซึ่ง “นับไม่ถ้วน”
โค้ชของแฟลป์ส คือ Bob Bowman ซึ่งรับเขาเป็นศิษย์ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ มองเห็นศักยภาพของเด็กคนนี้ บอกเขาว่า “อีก 4 ปีเธอจะได้ไปโอลิมปิก” และเขาก็ “สร้าง” ศิษย์เอกคนนี้ได้จริง และได้ทำงานร่วมกันมากว่า 20 ปี จนเฟลป์สเลิกแข่งขัน
แฟลป์สพูดถึงโค้ชคนนี้ที่เขา “ทั้งรักทั้งชัง” รักเพราะเป็นมากกว่าโค้ช มากกว่าเพื่อน เป็นเหมือนพ่อเขาเลยทีเดียว เพราะพ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เขายังเล็ก ที่ “ชัง” โค้ชเพราะเขาเคร่งครัดจริงจังเหลือเกิน จนหลายครั้งแฟลป์สก็เคยท้อ เหนื่อยหน่าย แต่เขาก็ได้รับการกระตุ้น กำลังใจและแรงบันดาลใจจากโค้ชตลอดเวลา
โค้ชคนนี้พูดถึงความสำเร็จของนักว่ายน้ำจากประสบการณ์ที่เขาได้ทำกับลูกศิษย์ที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์คนนี้ว่า ไม่ได้มาจากร่างกายที่สูง 1.93 ม. ขายาว แขนยาว มือใหญ่ แต่มาจาก “สมอง” และ “หัวใจ”
เขาอธิบายว่า มาจากการ “วางเป้าหมาย” ว่าต้องการไปถึงอะไร จากนั้นก็ “วางแผน” ให้ดี แล้วมุ่งมั่นทำตามแผนอย่างเคร่งครัด ใจสู้ อดทนจนถึงที่สุด
เขาเล่าว่า หลังโอลิมปิกที่เอเธนส์ ที่แฟลป์สได้ 6 เหรียญทอง เขาพบกับแฟลป์สและแม่ของเขาที่ห้องทำงานของโค้ชที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนดูว่า จะวางเป้าหมายร่วมกันอย่างไร ลูกศิษย์เขาบอกเองว่า จะต้องเป็นนักว่ายน้ำที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ ต้องได้มากกว่า 7 เหรียญทอง และเขาก็ทำได้ 8 เหรียญทองที่โอลิมปิกปักกิ่ง 2008
โค้ชบอกว่า ความสำเร็จของแฟลป์สมาจากความมุ่งมั่นขยันฝึกซ้อมปีละ 365 วัน ไม่มีวันหยุด ไม่ว่าวันฉลองอะไรแม้แต่วันปีใหม่ คริสตมาส วันเกิด แม้แต่วันที่เขาไม่สบายก็ยังไปที่สระ อย่างไรก็ดี หลังจากโอลิมปิกหรือชิงแชมป์โลกเขาก็มีเวลาพักบ้าง เพื่อฟื้นฟูร่างกายที่ทำงานหนักมาตลอดปี
แฟลป์สบอกว่า เพราะเขามีแม่และโค้ชนี่เองที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ ใครดูการแข่งขันว่ายน้ำของแฟลป์ส กล้องจะจับภาพแม่ของเขาที่ไปให้กำลังใจลูกเกือบทุกครั้ง แม่เป็นครูใหญ่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งที่บัลติมอร์ แม้เมื่อแฟลป์สประสบความสำเร็จก็ยังทำงานจนเกษียณอายุ
โค้ชเบามันบอกว่า นอกจากใช้สมอง (วางเป้าหมายและแผน) และมีหัวใจที่แข็งแกร่ง (ใจสู้มุ่งมั่นอดทน) แล้ว ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของแฟลป์สและนักกีฬาว่ายน้ำอยู่ที่การสนับสนุนของครอบครัว ในกรณีนี้มีแม่ที่อยู่เบื้องหลังเต็มที่ มีพี่สาวเป็นนักว่ายน้ำระดับชาติ และการมีสโมสรสนับสนุน มีโค้ชที่ดี ซึ่งเขานิยามว่าโค้ชเป็นเหมือน GPS ที่บอกทาง ถ้านักกีฬาเชื่อฟังโค้ชก็จะถึงจุดหมาย บอกให้ไปซ้ายแต่ไปขวา หลงทางบ้างก็ให้กลับมาถูกทาง
แฟลป์สเป็นนักกีฬาสมัครเล่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในสหรัฐฯและในโลกก็ว่าได้ กลายเป็นขวัญใจประชาชนยิ่งกว่าดาราฮอลลิวูด เขาได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์มากมาย ได้รับข้อเสนอจากหลายร้อยบริษัทจนรับไม่ไหว จึงเลือกแต่เฉพาะที่เหมาะกับงานหรือบุคลิกและสถานภาพของเขามากกว่า
แฟลป์สวันนี้มีรายได้มหาศาล มีกิจการหลายอย่าง รวมทั้งมูลนิธิของเขาที่ก่อตั้งขึ้นมาหลังโอลิมปิกที่ปักกิ่งเพื่อช่วยเหลือเด็ก ส่งเสริมให้เป็นนักกีฬาว่ายน้ำ และช่วยไม่ให้จมน้ำตาย
# วิ่งเร็วปานสายฟ้า
“สายฟ้า” (Lightning Bolt) เป็นสมญานามของอูเซน โบลท์ (Usain Bolt) มนุษย์ลมกรดที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก 100 เมตร 9.56 วินาที 200 เมตรใน 19.19 วินาที ในการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่เบอร์ลินในปี 2009 หนึ่งปีก่อนนั้นที่โอลิมปิกปักกิ่ง 2008 โบลท์ได้เหรียญทอง 100 และ 200 ม.
จากนั้นได้เหรียญทองทั้ง 2 รายการในโอลิมปิกอีก 2 ครั้งต่อมาที่ลอนดอนและที่ริโอ ซึ่งไม่มีนักกีฬาคนใดเคยทำได้ รวมกับเหรียญทอง 4×100 เมตร เป็น 8 เหรียญทองโอลิมปิก และอีก 11 เหรียญทองชิงแชมป์โลก
โบลท์เป็นคนร่างสูงใหญ่ 1.95 ม. หนัก 94 ก.ก. เมื่อถูกถามว่าอะไรทำให้เขาประสบความสำเร็จ เขาบอกว่า “การฝึกฝน อดทน ฝึกซ้อม ทำงานหนัก หลายคนมองว่า ผมทำเหมือนง่าย แต่ไม่รู้ว่ากว่าจะถึงตอนนั้นผมได้ทำงานหนักแค่ไหน ซ้อมหนักจนบางวันตื่นขึ้นมายังไม่อยากลุกเลย เพราะรู้ว่าวันนี้ต้องซ้อมหนักอีก”
เขาบอกว่า คุณต้องตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเก่งที่สุดให้ได้ และไปให้ถึงเป้าหมายนั้น มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เมื่อลงไปในลู่วิ่งแล้วไม่กลัวใครไม่กลัวอะไรเลย แต่ก็เรียนรู้ที่จะแพ้เป็นด้วย ไม่ท้อไม่ถอย ยอมรับและปรับปรุงแก้ไขให้ดีกว่าเดิม
เขาแนะนำอีกว่าควรมีฮีโร่ที่เป็นไอดอลของคุณ เขาเองมีเควิน การ์เน็ต นักบาสเก็ตบอล ที่เป็นผู้เล่นที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของเอ็นบีเอ มุ่งมั่นสูงมากไม่ว่าสถานการณ์เช่นไร และไมเกิล จอห์นสัน เหรียญทองโอลิมปิกและอดีตเจ้าของสถิติโลกวิ่ง 200 และ 400 เมตร
อูเซน โบลท์ มีชื่อเสียงโด่งดังที่ทั่วโลกรู้จักยิ่งกว่าดารา เป็นนักกีฬามีชื่อที่ “ทำการตลาดได้ดีที่สุด” คือขายได้ดีที่สุด จึงมีสปอนเซอร์มากมาย มีรายได้มหาศาล แต่เขาก็บอกว่า เป็นคนธรรมดา ที่อยากออกไปเล่นกีฬา เล่นฟุตบอลกับเพื่อน ๆ ไปดูหนังฟังเพลง ไปเที่ยวพักผ่อนเหมือนใคร ๆ ไม่ใช่เอาแต่ขังตัวอยู่บ้าน ดูทีวี นั่งๆ นอน ๆ เป็นคนลึกลับ
เขาเป็นคาทอลิกที่ทำเครื่องหมายกางเขนก่อนออกสตาร์ทในลู่วิ่งทุกครั้ง นอกจากเชื่อในศาสนา เขาเชื่อมั่นในโค้ชอย่าง Glen Bills ที่เคร่งครัดในการวางแผนการแข่งขันและฝึกซ้อม มีเพื่อนร่วมฝึกซ้อมที่เป็นนักวิ่งระดับโลกชาติเดียวกัน มีบรรยากาศสภาพแวดล้อมและประเพณีการวิ่งของจาไมก้าที่เอื้อให้เขาได้พัฒนาตัวเอง
# นักวิ่งที่หัวใจยิ่งใหญกว่าพลังกาย
เมื่อปี 1984 โอลิมปิกที่ลอสแอนเจลิส เป็นครั้งแรกที่จัดให้มีการแข่งขันมาราธอนสำหรับผู้หญิง ผู้ชนะการแข่งขันเป็นชาวอเมริกันชื่อ Joan Benoit Samuelson แต่ภาพที่ทุกคนพูดถึงมากที่สุดและจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ คือ ภาพของนักวิ่งชาวสวิสที่ชื่อว่า Gabriela Andersen-Schiess
ก่อนวิ่งเข้าสู่สเตเดียม เธอเกิดอาการขาดน้ำ แต่พยายามประคับประคองตัวเองค่อย ๆ เดินโซซัดโซเซไปเรื่อย ๆ เข้าสู่สนามท่ามกลางผู้ชมที่ลุกขึ้นยืนปรบมือเอาใจช่วยเธอ เดินไปหนึ่งรอบจนถึงเส้นชัย ได้รับการปฐมพยาบาลและพ้นขีดอันตราย เธอเข้าเป็นอันดับที่ 37 จาก 44 คน แต่ได้อันดับ 1 ในหัวใจคนดูทั่วโลก
ความจริง เธอเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงและได้รับการคาดหมายว่าอาจชนะมาราธอนครั้งนั้น แต่เธอไม่ได้ดื่มน้ำในจุดที่ 5 อันเป็นจุดสุดท้าย และไม่มีใครสามารถให้น้ำเธอได้หลังจากนั้นเพราะผิดกติกา จะทำให้เธอถูกตัดออกจากการแข่งขัน
นับเป็นการวิ่งมาราธอนที่อาจดู “โหดร้าย” และเสี่ยงตายมาก แต่แพทย์ที่เดินตามเธอประเมินแล้วว่า เธอยังไม่ถึงเป็นลมแดด เพียงแต่ขาดน้ำ ปล่อยให้เธอค่อย ๆ เดินไปจนถึงเส้นชัยก็คงไม่เป็นไร เพราะเมื่อหมอขอให้หยุดและจะเข้าไปช่วย เธอโบกมือปฏิเสธบอกว่ายังเดินได้
การวิ่งมาราธอนโอลิมปิกมีเรื่องเล่าอีกมากมาย ดังกรณีของนักวิ่งผอมแห้งไม่สวมรองเท้าอย่าง อาเบเบ บิกิลา จากเอธิโอเปีย ที่ลงวิ่งที่โอลิมปิกกรุงโรมเมื่อปี 1960 ที่ใคร ๆ ก็ดูถูก แต่เขาก็ชนะเลิศ แม้ถูกนักวิ่งผิวขาวคนหนึ่งถ่มน้ำลายใส่หน้าขณะที่ต้องการแซง เขาก็อดทนจนได้ชัยชนะ
กีฬาสากลของมนุษยชาตินี้ได้เปิดเผยให้เห็นหัวใจความเป็นมนุษย์ที่สุดจะแข็งแกร่ง อดทน มุ่งมั่น เห็นน้ำใจนักกีฬา ในเวลาเดียวกันก็อาจเห็นอีกด้านที่เป็นสีเทาของจิตใจหลายคนที่ต้องการเอาชนะไม่ว่าด้วยวิธีใด หรือได้เห็น “ขี้แพ้ชวนตี” (ฝรั่งเรียกว่า bad looser แพ้แต่ไม่ยอมรับหรือรับไม่ได้)
อย่างกรณี “กล่าวหา” ผู้ชนะว่า “เกี่ยวข้องกับการโด๊บ” ในอดีตมีเรื่องผู้แพ้กับนักว่ายน้ำจีน ครั้งนี้ก็มีอีกกับนักว่ายน้ำรัสเซีย ที่มาแข่งในนามคณะกรรมการโอลิมปิก เพราะ “รัสเซีย” ถูกลงโทษเรื่องการโด๊บนักกีฬา เรื่องการโด๊บจึงเป็นเรื่องใหญ่และเป็น “ตราบาป” ให้วงการกีฬาทั้งสมัครเล่นและอาชีพในหลาย ๆ ชนิด กีฬายกน้ำหนักของไทยเราเองก็โดนไปด้วย คงต้องรออีกปีสองปีถึงจะได้กลับไปแข่ง
อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมแล้ว มหกรรมกีฬาโอลิมปิกก็มีครบทุกรสชาติที่สร้างความสามัคคีและความสุขให้คนดูทั่วโลก เป็นความฝันอันสูงสุดของนักกีฬา
3 สิงหาคม 2021