คณะ”ทางอีศาน”ตระเวนศึกษาปราสาทหลายแห่งในนครราชสีมา ช่วงขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2558 เพื่อเป็นข้อมูลเขียนลงในทางอีศาน
แผนที่ อ.ปักธงชัย และจุดตระเวนดูปราสาท ณ ต.ตะคุ และ ต.สะแกราช.
เพื่อนรุ่นพี่ สุทธิรักษ์ ทองวัฒน์ อดีตครู รร.บ้านตะขบ พาทัวร์ (คนชี้ไปที่สระโบราณ), แถมด้วย อดีต ผอ.รร.ปักธงชัยชุณหะวัณวิทยาคม ร่วมชี้จุด (คนยืนเนินที่ตั้งปราสาท).
ไปเที่ยวชมปราสาททั้ง 7 แห่งในพื้นที่ อ.ปักธงชัย ด้วยกันครับ, บางแห่งแม้แต่คนในพื้นที่ก็ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น…
จุดแรก, ผอ.ศักดิ์ ชวนแวะวัดหน้าพระธาตุ บ้านตะคุ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา.
ภาพแรกรูปถ่ายเก่า ภาพสองสภาพปัจจุบัน และภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือช่างสมัย ร.๑
จากวัดมายังปราสาทและสระหิน กลางทุ่งนา นอกหมู่บ้านตะคุไม่กี่กิโลฯ ฐานปราสาทตั้งบนเนินสูง ถ้าได้ปรับแต่งพื้นที่จะโดดเด่น, สระน้ำล้อมรอบถ้าได้ขุดลอกจะสุดยอดเลยครับ.
ปราสาทบ้านหนองชุมแสง ค่อนข้างแห้งแล้ง เป็นซากกองหินอยู่กลางวัด, เศียรพระที่ขุดพบปลาสนาการไร้ร่องรอย.
พระที่วัดองค์หนึ่งให้ไปถามข้อมูลจากคุณลุงที่ร้านชำหน้าวัด, ถามคำแรกท่านผงะ ปฏิเสธไม่รู้เรื่องอะไรทั้งนั้น ท่านคงนึกว่าเป็นพวกมาหาซื้อของโบราณ แต่แล้วท่านก็เล่าทั้งหมดที่รู้.
คุณยายก็ตำหมากนั่งเคี้ยวฟังอยู่ห่าง ๆ, กัลบกหญิง-น่าจะเป็นลูกสาวของบ้าน ก็ทำงานของเธอไป.
กราบนมัสการพระครูโกศลสังฆกิจ วัดคลองเตย ต.สะแกราช, ท่านดุมาก ด่าเปิงเลย, ชี้ทองแถมที่ใส่แว่นตาดำ “…นี่ ผมขาว ๆ ฝรั่งใช่ไหม จะมาหาของเก่าใช่ไหม…มันขุดมันขโมยไปขายกันหมดแล้ว…” พูดแล้วท่านก็หัวเราะเอิ้กอ๊าก.
ปราสาทกู่เกษม (ชาวบ้านเรียก”บึงคำ”) ได้รับการขึ้นทะเบียน แต่ไม่ได้พัฒนาอะไร.
ปราสาทจำปาทอง (พื้นถิ่นเรียก”ซับบาก”) อยู่เขาสูงลึกขึ้นไปจาก”บึงคำ” รถใช้เวลาวิ่งเพียงไม่กี่สิบนาที, มีการสร้างศาลาครอบทับที่ตั้งองค์ปราสาทโบราณ สลักหินเป็นรอยพุทธบาท.
พบโบราณวัตถุที่นี่จำนวนมาก แต่เก็บขุดขายกันเกลี้ยง.
ข้างวัดมีสระรองรับน้ำซับงามมาก.