“ทางอีศาน” ของเราก้าวสู่ปีที่ ๑๑ แล้ว

“ทางอีศาน” ของเราก้าวสู่ปีที่ ๑๑ แล้ว

ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารรายเดือนทางอีศาน ส่วนใหญ่เกิดในยุค “ผู้ใหญ่ลีขี่ม้าบักจ้อน” ช่วงก่อนและหลัง พ.ศ.๒๕๐๐ และอดีตเป็นนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย ผ่านการฝึกหัดอ่านเขียนและทำหนังสือมาในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน พ.ศ.๒๕๑๖ จนถึงหลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ส่วนหนึ่งยังเรียนรู้และได้ทำงานด้านศิลปะวรรณกรรมสืบมา
พ.ศ.๒๕๒๘ เราได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ พิมพ์หนังสือเล่มที่เปี่ยมคุณภาพทุกประเภท ในนามสำนักพิมพ์แม่คำผาง, มิ่งมิตร, ปรีชญา, ไม้ขีดไฟ และชุมศิลป์ธรรมดา ภายใต้การบริหารงานและจัดจำหน่ายโดยบริษัทชนนิยม จำกัด

ระหว่างนั้น ในด้านการเมืองการปกครอง พ.ศ.๒๕๓๔ เกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำมาซึ่งการลุกขึ้นสู้ของประชาชนเมื่อนายทหารใหญ่ตระบัดสัตย์เพื่อชาติใน พ.ศ.๒๕๓๕ ความขัดแย้งนี้พัฒนามาเป็นสงครามสี เกิดขบวนการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จนเกิดเหตุนองเลือดอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

ต่อมา พ.ศ.๒๕๕๗ ด้วยการบั่นทอนกำลังและสร้างความแตกแยก เกิดความอ่อนแอในหมู่ประชาชน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการรัฐประหารเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศไทยมาถึงวันนี้

ตลอดระยะเวลาดังกล่าว แม้ฝ่ายอนุรักษ์อำนาจนิยมได้ครองอำนาจ ทั้งจากการใช้กำลังทำรัฐประหารโดยตรงและอาศัยเล่ห์กลแก้ไขกฎกติกา แต่พลังฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่ได้สูญหายตายดับ และยังมีพลังคนรุ่นใหม่ที่กระปรี้กระเปร่าเข้าเสริมทัพ

ในด้านเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.๒๕๔๐ ประเทศไทยเกิดภาวะฟองสบู่แตก รู้กันทั่วโลกว่า “โรคต้มยำกุ้ง” เพราะในวงการเงินได้กู้เงินอัตราดอกเบี้ยต่ำจากต่างประเทศมาปล่อยฟันกำไรระยะสั้น กระแสบริโภคนิยม ความโลภหวังรวยพุ่งสูงลิ่ว สุดท้ายเงินบาทอ่อนค่าและถูกโจมตีจากต่างชาติ ทำให้ธุรกิจน้อยใหญ่ล้มละลายจำนวนมาก ประกอบกับประเทศไทยไม่มีทิศทาง ผู้บริหารไร้ประสิทธิภาพและไร้ธรรมาภิบาล ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนฝืดเคือง
ชุมชนหมู่บ้านเต็มไปด้วยปัญหาหนี้สิน ผลิตผลราคาถูกแต่ค่าครองชีพสูง การพนันและยาเสพติด ฯลฯ แต่กระนั้นทุกวิกฤติของสังคม ในท้องถิ่นชนบทยังมีที่ทางกว้างใหญ่ ธรรมชาติบริสุทธิ์งดงาม มีผักหญ้าข้าวปลาให้คนแตกพ่ายจากเมืองใหญ่ได้อยู่กิน โดยเฉพาะยังมีฮีตคอง มีศีล มีธรรม พร้อมรองรับลูกหลานและแขกทางไกลได้แนบเนาว์อย่างอบอุ่น
พ.ศ.๒๕๕๔ เกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ซ้ำเติมคนจนเมืองคนหาเช้ากินค่ำให้ทุกข์หนักยิ่งขึ้น สำหรับงานธุรกิจของเรา เราได้รับผลกระทบตั้งแต่ครั้ง “โรคต้มยำกุ้ง” เพราะบริษัทจัดจำหน่ายเจ้าใหญ่ล้มละลาย ตัวเลขยอดขายที่เขายังไม่จ่ายกลายเป็นศูนย์ และเมื่อเกิดน้ำท่วม สายน้ำการเมืองถูกเบี่ยงบ่ายเข้าท่วมถึงสำนักงานอยู่นานเดือน จึงเป็นวิกฤติใหญ่อีกครั้งของคนเล็กคนน้อย

ในช่วง พ.ศ.นั้น การพัฒนาเทคโนโลยีของไทยก็ได้ก้าวเข้าสู่โลกยุคโซเชียลมีเดีย คนอ่านหนังสือน้อยลง โดยเฉพาะยอดขายหนังสือเล่มที่พิมพ์จัดจำหน่ายทั่วไปลดลงอย่างเห็นได้ชัด

และท่ามกลางสถานการณ์ต่าง ๆ ที่สรุปโดยย่อนั้น นอกจากเรายังผลิตหนังสือเล่มซึ่งเป็นฐานเหง้าธุรกิจของเรา นิตยสารรายเดือน “ทางอีศาน” ~ “ฉบับแฮกหมาน” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ทั้งนี้เป็นการเรียกพลังภายในของคนทำงาน ดั่งนายท้ายเรือตัดสินใจหันหัวเรือเข้าสู้คลื่นหัวเดิ่ง เพื่อมุ่งมั่นปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อสร้างสรรค์สังคมแห่งปัญญา เพื่อเสริมข้อมูลสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง และเพื่อประกอบส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศไทยในทุกด้าน

ขณะทำงานเดือนต่อเดือน ปีต่อปี เราได้เรียนรู้สภาพสังคมไทย สภาพภูมิภาคอีสานมากขึ้นทุกมิติ เราได้พบปราชญ์และผู้รู้ในสาขาวิชาการต่าง ๆ มากมาย เราได้ลงลึกในปัญหารากเหง้าทางวัฒนธรรม ทางปรัชญา ที่กำหนดความรู้สึกนึกคิด กำหนดรูปการณ์จิตสำนึก ทำให้เห็นแง่งามและโจทย์ที่ทำให้สังคมชะลอตัวหยุดนิ่ง ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้เรากระตือรือร้นที่จะร่วมกับทุกภาคส่วน ขุดค้นให้เข้าไปถึงหัวใจแห่งปัญหา รู้ให้ได้ถึงวิธีการแก้ไข และร่วมลงมือปฏิบัติจริง

ต้น พ.ศ.๒๕๖๓ โควิด-19 แพร่ระบาดเข้าประเทศไทย ซึ่งจนบัดนี้ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติวิถีใหม่แต่อย่างใด ตามมาด้วยสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนต้นปี ๒๕๖๕ นี้ เราตัดสินใจประคับประคองกิจการกิจกรรมมาได้ โดยลดจำนวนหน้าหนังสือลง งดการพิมพ์สี่สีภายในเล่ม จำกัดจำนวนพิมพ์เฉพาะส่งสมาชิกและผู้อ่านที่สั่งซื้อตรง

เวลาการทำงานผ่านมาสิบปี เราต้องขอบคุณนักคิดนักเขียน คอลัมนิสต์ทุกท่านที่ทำงานด้วยจิตสาธารณะและเอื้อเฟื้อเมตตา ขอบคุณห้างร้านที่ลงแจ้งความโฆษณา ขอบคุณผู้อ่านและผู้สนับสนุนในทุกด้าน

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้อย่างแน่วแน่มั่นคงคือ ค่าบำรุงสมาชิกเก่าที่ต่อเนื่อง ขยายสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น และระดมสมาชิกอุปถัมภ์เพื่อมอบถวายวัดวาและอภินันทนาการแก่สถานศึกษาทั่วประเทศ จึงฝากถึงผู้อ่านและญาติสนิทมิตรสหายทุกท่านได้ช่วยกันคนละไม้ละมือ

วาระก้าวขึ้นสู่ปีที่ ๑๑ โรคห่าตำปอดกำลังลดอิทธิฤทธิ์ลงเป็นเพียงโรคประจำถิ่น เราหวังว่าการรบระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะไม่ขยายเป็นสงครามโลกครั้งใหม่ สันติภาพ สันติธรรม ความสุขสันต์จะฟื้นคืนปรากฏขึ้นทุกซอกมุมบนดาวดวงนี้ พร้อม ๆ กับภายในประเทศไทย ความขัดสนจนยากจะลดน้อย หนี้สินครัวเรือนเบาบางลง ปัญหาสังคมได้รับการแก้ไข ข้ารัฐการมีคุณภาพเปี่ยมคุณธรรม ไม่มีการผูกขาดครอบงำทางการค้าขาย ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการปกครองด้วยตัวของตัวอย่างเต็มกำลัง

******

คอลัมน์  สาส์นจากทางอีศาน นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑๒๓| กรกฎาคม ๒๕๖๕

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

Journey of Life ชีวิตใหม่
ปิดเล่ม ทางอีศาน 123
เชิญชวนท่องเที่ยววัฒนธรรมทางอีศาน (ครั้งที่ 3) “เที่ยวแอ่งอารยธรรมอีสานเหนือ ~ สกลนคร”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com