ที่นี่…เมืองบางขลัง : ปฐมบทแห่งชาติไทย

ที่นี่…เมืองบางขลัง : ปฐมบทแห่งชาติไทย

โดย วิทยา เกษรพรหม

หลับอยู่ในไพรพฤกษ์รอศึกษา
ตื่นขึ้นมาหมายเล่าเรื่องความหลัง
แปรอดีตโดดเด่นเป็นพลัง
ปลุกบางขลังสร้างค่าอนาคต
ไขตำนานบ้านเมืองสืบเรื่องเล่า
ฟ้าส่องใจให้เราเข้าใจบท
ฟ้าจักรีชี้ทางกระจ่างพจน์
จึงปรากฏภาพฝันให้บันทึก.
(โชคชัย บัณฑิต’ กวีซีไรต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๔๔)

เมื่อเอ่ยชื่อถึง “สุโขทัยธานี” อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ระบือนาม น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะประวัติศาสตร์ชาติไทยได้นำเสนอถึงความรุ่งโรจน์ ความเรืองรองแห่งยุคสมัยภายใต้กษัตริย์ที่เก่งกล้าสามารถ อันจะรวมไปถึงเมืองศรีสัชนาลัย ทำให้ชนชาติไทยตระหนักและรับทราบถึงเมืองเหล่านี้และเมืองอื่น ๆ ตามลำดับ เมื่อกล่าวถึง “เมืองบางขลัง” ตำบลเล็ก ๆ ตำบลหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย น้อยคนนักที่จะรู้จัก รู้ถึงประวัติความเป็นมาของเมืองโบราณแห่งนี้ เมืองที่ถือกำเนิดขึ้นมาร่วมสมัยกับเมืองเก่าสุโขทัย เมืองเก่าศรีสัชนาลัย เมืองที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างกระท่อนกระแท่นแต่ก็ทรงไว้ซึ่งความสำคัญ เนื่องด้วยว่า

๑. เกิดร่วมสมัยกับเมืองเก่าสุโขทัย และเมืองเก่าศรีสัชนาลัย (เป็นเมืองในประวัติศาสตร์) ปรากฏหลักฐานอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๒ วัดศรีชุม และศิลาจารึกหลักที่ ๓ จารึกนครชุม สรุปได้ว่า พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองยกทัพมารวมพลกันที่เมืองบางขลัง ฝึกกำลังพลและเกณฑ์นักรบเมืองบางขลังตีเมืองสุโขทัยคืนมาจากขอมสบาดโขลญลำพง แล้วสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย

๒. มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลาจารึกหลักที่ ๒ วัดศรีชุม ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๘ สรุปว่า สมเด็จพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีฯพระราชนัดดาของพ่อขุนผาเมือง เสด็จออกบวชแล้วจาริกแสวงบุญไปยังปูชนียสถานต่าง ๆ โดยเริ่มต้นจากเมืองสุโขทัย ไปเมืองบางขลัง แล้วถึงเมืองศรีสัชนาลัย บนเส้นทางที่โบราณเชื่อกันว่า เป็น “ถนนพระร่วง”

๓. มีแหล่งโบราณสถาน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานของชาติ ๒ แห่ง ได้แก่ โบราณสถานวัดโบสถ์ และโบราณสถาน วัดใหญ่ชัยมงคล

๔. มีแหล่งตัดศิลาแลง ที่นำมาสร้างเมืองโบราณบางขลัง และอาจจะนำไปสร้างเมืองเก่าสุโขทัย ศรีสัชนาลัย

๕. มีโบราณวัตถุ ที่สำคัญและสวยงาม เช่น พระพุทธรูปสามพี่น้อง (ปางมารวิชัย) และพระร่วงนำทาง (ปางประทานอภัย) กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติแล้วเช่นกัน พระเครื่อง ถ้วย ชาม ไห ภาชนะดินเผา เต้าปูนสำริด ไหบรรจุกระดูก ฯลฯ

๖. พระเครื่องเมืองบางขลัง ชื่อเสียงความลี้ลับของ “เมืองบางขลัง” เป็นที่โจษขานกันมาแต่อดีต ตั้งแต่เริ่มมีคนค้นพบพระเครื่องในถ้ำร้างกลางป่าเขตเมืองบางขลัง ต่อมาได้ประจักษ์ถึงพลังแห่งความลี้ลับที่ช่วยให้ผู้พกพาประสบความแคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยพิบัติต่าง ๆ เป็นที่ปรารถนาของหมู่นักเลงในสมัยนั้นและได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

๗. มีการนำพระธาตุใต้กอดอกเข็มเมืองบางขลังไปบรรจุยังพระธาตุดอยสุเทพ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ล้านนาประกอบไปด้วยหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา ตำนานวัดพระธาตุดอยสุเทพ ตำนานวัดบุปผาราม (วัดสวนดอก) และพงศาวดารโยนก ต่างบันทึกถึงประวัติการค้นพบพระธาตุใต้กอดอกเข็มบริเวณเมืองบางขลัง และพระมหาสุมนเถรภิกษุชาวมลฑลเชลียง นำพระธาตุจากเมืองบางขลังไปถวายพระเจ้ากือนากษัตริย์แห่งมลฑลล้านนา เมื่อ พ.ศ.๑๙๑๓ เกิดเหตุอัศจรรย์เมื่อพระธาตุแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งบรรจุไว้ที่วัดสวนดอก อีกส่วนหนึ่งพระเจ้ากือนาทรงสร้างสถูปบรรจุไว้บนยอดดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

๘. ได้มีการเสวนาประวัติศาสตร์เมืองบางขลัง ๕ ครั้ง จากนักวิชาการ นักโบราณคดี สรุปได้ว่า

ไม่มีเมืองบางขลัง ไม่มีพระธาตุดอยสุเทพ
ไม่มีเมืองบางขลัง ไม่มีกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์
และ ไม่มีเมืองบางขลัง ไม่มีประเทศไทย

๙. มีพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพ่อขุนผาเมือง ประดิษฐานคู่กันแห่งแรกและแห่งเดียวของโลก โดยได้รับอนุญาตและควบคุมการปั้นหล่ออย่างใกล้ชิดจากกรมศิลปากร

๑๐. มีเชื้อพระวงศ์ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรร่องรอยอารยธรรมชุมชนโบราณเมืองบางขลัง ๓ พระองค์ ใน ๔ วโรกาส

– วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๐ รัชกาลที่ ๖ ครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จประพาสเมืองบางขลังตามเส้นทางถนนพระร่วง มีรายละเอียดปรากฏอยู่ในหนังสือที่ทรงพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ถือว่าเป็นวรรณกรรมของการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบเล่มแรกของไทย

– ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ

– ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

– ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพ่อขุนผาเมือง ณ ทต.เมืองบางขลัง ในการนี้ทรงปลูกต้นจำปาขาว, มอบเข็ม “สธ.”, ลงพระนามาภิไธยบนแผ่นศิลา

๑๑. มีผู้ใหญ่ใจดีให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือ

เช่น คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ, นายแพทย์ปราเสริฐ-อ.วัลลีย์ ปราสาททองโอสถ, ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์, ขรรค์ชัย บุนปาน, อนันต์ ชูโชติ, ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ศ.นายแพทย์ประเวศ วะสี, ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร, ศ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ศ.วุฒิสาร ตันไชย, ผศ.ดร.ออทัย ก๊กผล, คุณลุงประจวบ คำบุญรัตน์, รศ.ดร.มังกร ทองสุขดี, ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง, ผศ.ดร.ชูพักตร์ สุทธิสา, ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ, ธีรภาพ โลหิตกุล, วีระชัย ภู่เพียงใจ อดีตผู้ว่าฯ ลำพูน, ชินกร ไกรลาศ, โชคชัย บัณฑิต’ กวีซีไรต์ ปี ๒๕๔๔ ฯลฯ

คุณขรรค์ชัย บุนปาน ได้มาเยือนและได้เขียนถึงในมติชนสุดสัปดาห์ (๒๔-๓๐ พ.ย. ๒๕๔๙ ฉบับที่ ๑๓๗๑) “…จะบูรณะปฏิรูปปฏิสังขรณ์สุโขทัย ศรีสัชนาลัยให้คืนฟื้นมาแค่ไหน เมืองบางขลังก็ควรติดตามมาด้วย ให้เหมือนต้นคอโดนจมูกหายใจรดนั่นเที่ยวจึงควรแก่การณ์…เมืองบางขลังได้ชื่อว่าความเป็นไทยบนแผ่นดินไทยครั้งแรกที่ไม่ต้องประกาศ…วันนี้ที่เหลือของเมืองบางขลังในรูปนามที่ปรากฏ คือ วัดโบสถ์ วัดใหญ่ หย่อมเจดีย์เรียงราย ถนนพระร่วง และผู้คนท้องถิ่นที่น่าเคารพรัก…ถนนพระร่วง ๑๕๐ กิโลเมตรจากกำแพงเพชร-สุโขทัย-บางขลัง-ศรีสัชนาลัย พื้นผิวไหล่ทางกว้าง ๔๕ เมตร จะเป็นถนนสายดาวดึงส์สู่ดุสิตเป็นแห่งแรกในโลกถ้าได้รับการบูรณะและยินยอมพร้อมใจจากประชาชนขึ้นมา…”

ได้เขียนเพิ่มเติมในมติชนสุดสัปดาห์ (๑๓-๑๙ ก.ค. ๒๕๕๐ ฉบับที่ ๑๔๐๔ หน้า ๑๐๖) “…จากนี้ก็เป็นชาวบ้านย่านถิ่นแน่นขนัดทุกพื้นที่ลุกมาแต่ย่ำรุ่งหัววัน มิได้นัดหมายกันมีใจมั่นอยู่ที่สมเด็จพระเทพฯ พระองค์เดียว ท่ามกลางพสกนิกรของพระองค์ แดดเร่งแสง, ฝนแรงดุ, พายุเดือด ก็สลับมารับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพฯ ของชาวเราด้วย… เมืองบางขลังอยู่เกือบกึ่งกลางระหว่างเมืองสุโขทัยกับเมืองศรีสัชนาลัย เป็นชุมชนที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวมาตลอดแม้บางยุคบางสมัยจะไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตามอย่างสมัยอยุธยา เป็นต้น และไม่ปรากฏความเอาใจใส่ในบางยุคบางคราวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาโดยรวมทีใด สุโขทัยกับศรีสัชนาลัยอยู่ในงบประมาณทุกที ไม่มีเมืองบางขลัง ไม่มีจนเกือบมองไม่เห็นปัจจุบัน…ถ้าศึกษาเมืองบางขลัง มีสุโขทัย ศรีสัชนาลัยเป็นตัวตั้งพร้อมกัน ศูนย์สุโขทัยศึกษาก็อาจงามในชีวิตจริงประจักษ์ตาชาวโลก ไม่ต้องถ่มถึงอุดมคติหรือมายาคติท้วยส์ ๆ อันใด ชาวบ้านและคนในท้องถิ่นพร้อมเรียนรู้ด้วยสำนึกอย่างรู้เท่ารู้ทัน ไม่พร้อม ไม่ร่วมมือมีเพียง ๒ จุด รัฐบาลจุดหนึ่งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ไอ้พวกตัวโต ๆ ในกรุงเทพฯ อีกจุดหนึ่ง) สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯสุโขทัยเที่ยวนี้ รับสั่งพอได้ยินทั่วกันว่า จะเสด็จฯสุโขทัยอีก”

หนังสือ บางขลง บางฉงง บางขลัง 

ประวัติศาสตร์เมืองบางขลังได้ตีพิมพ์เป็นเอกสารวิชาการเล่มแรก โดย สนพ.มติชน  เป็นการเสวนาประวัติศาสตร์เมืองบางขลังโดยชมรมเรารักเมืองพระร่วง ๒-๓ เม.ย. ๒๕๓๙ จากหนังสือเล่มนี้ สรุปได้ว่า เมืองบางขลังในอดีตที่เคยรุ่งเรืองนั้นมีอยู่จริง มีความสำคัญ และอยู่ที่นี่… กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว เกิดการยอมรับอย่างกว้างขว้าง

สกว.กับชุมชนโบราณาเมืองบางขลัง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านทำการวิจัย “การศึกษาอัจฉริยลักษณ์ชุมชนโบราณเมืองบางขลังเพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และ ทต.เมืองบางขลัง จ.สุโขทัย” ภายใต้การประสานงานของ ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ ได้นำทีมงานจาก ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม ได้แก่ ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ วิริยะสุมน, ผศ.วัลลิกา โพธิ์หิรัญ, ดร.ขวัญชนก นัยจรัญ, อ.วนัชพร จันทรักษา, กมลรัตน์ บุญอาจ เข้ามาช่วยเหลือ ภายใต้การดูแลของ ดารารัตน์ โพธิ์รักษา และ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สกว.ให้การช่วยเหลือ ชี้แนะ

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมวิจัย“การสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมโดยเครือข่ายชุมชนโบราณเมืองบางขลัง ๙ หมู่บ้าน” ผลจากวิจัยพบแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีวิถีชุมชนจำนวนมาก ได้ ๙ เส้นทางท่องเที่ยวทต.เมืองบางขลัง ได้นำงานวิจัยทั้ง ๒ ชิ้น ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อครั้งเสด็จฯ ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ๒ พ่อขุน

การสืบค้นคุณค่า ความหมายและความคงอยู่แห่งชุมชนลุ่มน้ำฝากระดานถิ่นนี้ เป็นหน้าที่ร่วมกันของคนไทยทุกคน การเชื่อมโยงเศษเสี้ยวแห่งองค์ความรู้ที่แต่ละคนมี ที่แต่ละคนได้ค้นพบนั้นเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อการเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์และจากการใส่ใจของผู้คน เป็นการฟื้นชีวิตคืนจิตวิญญาณให้แก่ชุมชนลุ่มน้ำฝากระดาน ให้ออกมาโลดแล่นอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยอีกครั้ง

ถึงแม้นว่าจะไม่มีใครมาสนใจ ใส่ใจหรือกล่าวขานถึงเมืองบางขลัง เมืองที่ถูกหลงลืมแห่งนี้มากนัก แต่ทว่าเมืองบางขลังยังยืนมั่นคงอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ อยู่ภายใต้ข้อเท็จจริงที่รอการกล่าวขานถึงในวันพรุ่งนี้และวันต่อ ๆ ไปภายใต้บริบทของสังคม เนื่องด้วยว่าชีวิตต้องดำเนินต่อไป กอปรกับประวัติศาสตร์ไม่มีวันหมดอายุ ไม่มีการสิ้นสุด ถึงเราจะทราบจุดเริ่มต้นหรือจุดกำเนิดก็ตาม.

ขอขอบพระคุณ…
ก้อนอิฐ…ศิลาแลงทุกก้อน
ที่ยืนหยัดคงทนผ่านกาลเวลาที่สาดซัดกัดกร่อน
โครงกระดูกในไหและดวงวิญญาณบรรพชนทุกดวง
ที่ยังคงเฝ้าเวียนวนบอกกล่าวเรื่องราวในอดีตให้คนรุ่นหลัง
ขอขอบพระคุณ…
ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง มิ่งมิตรทุกสถาน ทุกหน่วยงานที่ร่วมถ่ายทอดกลิ่นอายและความหมายแห่งก้อนอิฐศิลาแลง ลำน้ำฝากระดาน และชุมชนโบราณเมืองบางขลังแห่งนี้
ขอขอบพระคุณ…
กาลเวลาที่นำพาให้เรามาพบกันได้มาร่วมรังสรรค์ร่วมแรง สร้างบ้านแปลงเมือง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรา…จะจับมือมุ่งมั่น“สร้างวันพรุ่งนี้ด้วยกัน” สืบไป.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com