สาวคำม่วงรอรัก

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๔
ปีที่ ๗ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

ผมเป็นนักแต่งเพลงเต็มตัวเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ในตอนนั้นผมรับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดกรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๘ ต่อมา พ.ศ.๒๕๑๔ ผมได้เพิ่มอาชีพให้ตัวเองอีกอาชีพคือ จัดรายการวิทยุ

อาชีพรับราชการเป็นหลัก นักแต่งเพลงนักจัดรายการวิทยุ เป็นอาชีพรอง กลายเป็นคน ๓ อาชีพ ๓ ชื่อ จนเพื่อนนักข่าวไทยรัฐ ยิ่งยงสะเด็ดยาด ตั้งฉายาให้ว่า มนุษย์ ๓ มิติ ทำอาชีพ ๓ อย่างพร้อมกัน ประสบผลสำเร็จทุกอาชีพ

ตลอดเวลาที่ผ่านมามีงานมากจนไม่มีเวลามาหันดูตัวเอง พอแก่ตัวมากขึ้นเริ่มมีเวลามานั่งทบทวนดูตัวเองมากขึ้น มีลูกศิษย์นักข่าวมาถามว่า ครูชอบแต่งเพลงแบบไหนมากที่สุด ก็บอกไม่ถูก รู้แต่ว่าแต่งได้ทุกแบบ มาสำรวจดูเพลงตัวเองอีกครั้งจึงคิดว่าเราน่าจะชอบแต่งเพลงแนว “นิราศ” เที่ยวไปชมวิถีชีวิตของคนที่ด้อยโอกาสชมธรรมชาติตามท้องถิ่นชนบทต่างจังหวัดมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้สำรวจจริงจังสักที

พ.ศ.๒๕๕๔ นิตยสาร “ทางอีศาน” เชิญไปบรรยายเรื่องเพลงสองฝั่งโขง ให้คณะครูจากการศึกษาจังหวัดนครพนมฟัง ได้รู้จักกับอาจารย์เด่นชัย ไตรยะถา ประธานสภา วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ท่านทักว่าครูสุรินทร์แต่งเพลงเกี่ยวกับนครพนมไว้หลายเพลงนะ ต่อมาอาจารย์เด่นชัยได้เสนอให้จังหวัดจัดงานมุทิตาจิต “มอบเกียรติบัตรให้ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ครูเพลงลูกทุ่งผู้สร้างตำนานเพลงรักให้คนรู้จักนครพนม”

เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ จึงได้กลับมาสำรวจเพลงของตัวเอง ปรากฏว่าได้แต่งเพลงเกี่ยวกับจังหวัดนครพนมไว้ถึง ๑๐ เพลงโดยไม่รู้ตัว เพลงที่ดังที่สุดคือเพลง “หนาวลมที่เรณู” ดังอมตะติดต่อกันมา ๕๐ ปี ได้รับการนำไปบันทึกเสียงใหม่จากนักร้องทุกแนว ทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง สตริง แนวเพื่อชีวิต โฟล์คซอง ฯลฯ ทั้งหมดถึง ๖๑ ครั้ง มากที่สุดในประเทศไทยหรืออาจจะมากที่สุดในโลกก็อาจเป็นได้ และอีกเพลงคือเพลง “เบิ่งนครพนม” ผู้ร้องบันทึกเสียงคนแรกคือราชินีหมอลำ “ฉวีวรรณ ดำเนิน ” คนร้องต่อมาคือ “บานเย็น รากแก่น” และมาโด่งดังอีกครั้งจากเสียงร้องของ “ต่าย อรทัย”

ต่อมาวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ นายกสมาคมผู้ไท จัดงาน “หนาวลมที่เรณู ชุมนุมผู้ไทโลก” ที่อำเภอเรณูนคร ได้เชิญผมไปร่วมงานด้วยเป็นงานชุมนุมชาวผู้ไทที่ตื่นตาตื่นใจมาก ครั้งแรกในชีวิตของผม ที่ได้เห็นตัวแทนชาวผู้ไทจากแต่ละจังหวัดของประเทศไทยมารวมกัน การแต่งกายสีสันของแต่ละจังหวัดแตกต่างหลากหลายละลานตา ช่วงกลางคืนมีเวทีการแสดงของกลุ่มแม่บ้านผู้ไทแต่ละจังหวัด ขณะนั่งชมการแสดงก็มีแม่บ้านชาวผู้ไทแวะมาทักทาย ชมรมแม่บ้านผู้ไทกาฬสินธุ์มาพูดคุยด้วย มีแม่บ้านท่านหนึ่งบอกว่า “ครูสุรินทร์ แต่งเพลงให้เรณูนครจนดัง ขอให้แต่งให้ผู้ไทกาฬสินธุ์บ้าง” ก็ไม่ได้คิดอะไร

ต่อมาอีกหลายเดือนขณะผมนอนพักผ่อนตอนบ่าย คิดทบทวนเพลงที่แต่งเกี่ยวกับจังหวัดต่าง ๆ ปรากฏว่าจังหวัดนครพนมมีถึง ๑๐ เพลง รองลงมาคือจังหวัดสกลนครมี ๗ เพลง มีพล็อตเรื่องราวเกี่ยวกับสาวผู้ไทหลายเพลง นึกถึงสาวผู้ไทคิดถึงผ้าไหมแพรวาต้นกำเนิดมาจากอำเภอ “คำม่วง” คิดประโยคแรกของเพลงขึ้นต้นได้ว่า “วิจิตรสดใส ผ้าไหมอำเภอคำม่วง พี่หลงใหลเหมือนใจโดนบ่วง ห้วงเหวรักเพียงได้ยิน” คิดคำขึ้นต้นได้จึงลุกขึ้นมาหากระดาษปากกาเขียนต่อ ท่อนที่ ๑ ท่อนที่ ๒ ส่วนท่อนที่ ๓ แต่งกลอนลำผู้ไทเข้าไป สรุปในท่อนที่ ๔ จบเพลง ตั้งชื่อเพลงว่า “ราชินีไหมคำม่วง”

วันต่อมายังครุ่นคิดถึงเนื้อเพลงเดิมอยู่จึงแต่งแก้ เป็นเพลงหญิงอีกเพลง ไม่นานแต่งเสร็จตั้งชื่อว่า “สาวคำม่วงรอรัก” ผ่านไปเป็นปีนึกขึ้นได้ว่า อังคนางค์ คุณไชย ลูกศิษย์ที่แต่งเพลง อีสานลำเพลิน ให้ร้องจนดัง กำลังส่งเสริมลูกสาววัยรุ่นมาช่วยรำช่วยร้อง ชื่อหลานพลอย – “สุนิษา คุณไชย” จึงมอบเพลง “สาวคำม่วงรอรัก” ให้ผ่านไปอีกปีได้ข่าวว่าหลานพลอย ได้ร้องเพลงนี้บันทึกเสียงแล้วและถ่ายทำมิวสิควีดิโอเสร็จแล้ว ได้จังหวะพอดีกับทางกระทรวงท่องเที่ยวฯ กำลังรณรงค์การท่องเที่ยวเมืองรองซึ่งมีจังหวัดกาฬสินธุ์ด้วย จึงน่าจะเผยแพร่เพลงนี้ออกไปตามสื่อต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย

รับฟังเพลงสาวคำม่วงรอรัก ได้ใน ยูทูปช่อง Ploysunita

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com