มุ่งสู่เมืองปาเล็มปัง เกาะสุมาตรา

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๖
ปีที่ ๗ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

บรรยากาศในเมืองปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา

ช่องแคบซุนดาในค่ำคืนเดือนมืด ๒ ทุ่มกว่า ไม่เห็นแม้กระทั่งริ้วคลื่น หากทว่าแสงระยิบระยับจากเรือบางลำที่ยังคงสัญจรผ่านน่านน้ำแห่งนี้ ขับเน้นให้ภาพอดีตของเมืองยุคเรืองโรจน์ปรากฏฉายโชน ก่อนอาณาจักรศรีวิชัยจะกุมอำนาจและเคลื่อนเส้นทางข้ามสมุทรเชื่อมโลกเข้าด้วยกัน จาก “ช่องแคบซุนดา” สู่ “ช่องแคบมะละกา”

ใช้เวลา ๒ ชั่วโมงกว่า เรือเฟอร์รี่ลำใหญ่ก็นำข้าพเจ้าและผองผู้ร่วมโดยสารเดินทางจากด้านเหนือของเกาะชวา ข้ามช่องแคบซุนดา มุ่งสู่เกาะสุมาตรา (Sumatra, Sumatara, Sumatera) ฝั่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีที่ตั้งอยู่ใกล้ช่องแคบมะละกามากที่สุด เป็นช่องแคบที่แยกเกาะสุมาตราออกจาก “คาบสมุทรมลายู” หรือ “แหลมมลายู” (Malay Peninsula หรือภาษามลายู คือ Semenanjung Melayu) ก่อนจะเดินทางต่อโดยรถบัสซึ่งเนืองแน่นด้วยผู้คนและสัมภาระ

เป้าหมายปลายทางสู่ “ปาเล็มบัง” (Palembang) เมืองหลักของจังหวัดสุมาตราใต้ อดีตศูนย์กลางอำนาจ “อาณาจักรศรีวิชัย” (Srivijaya Empire)

พลันเมื่อลืมตามาเผชิญเช้า หมอกควันขาวจากไฟป่าที่โรยตัวห่มคลุมผืนแผ่นดิน ทำให้โลกจริงคล้ายจะฝ้าฟาง แม้ตะวันยังคล้ายถูกกักแสง ผ่านมา ๑๐ กว่าชั่วโมง ข้าพเจ้าและเพื่อนหนุ่มยังคงโดยสารอยู่บนรถบัส และหวังว่าอีกไม่นานเวลาก็คงถึงเป้าหมายแรกของการเดินทางบน “เกาะสุมาตรา”

หากทว่าสุมาตราใหญ่เกินกว่าจะคาดเดาในกำหนดเวลาเดินทาง ด้วยเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่สุดของประเทศอินโดนีเซีย ในจำนวนเกาะที่มีอยู่ทั้งหมด ๑๗,๕๐๘ เกาะ และใหญ่เป็นอันดับ ๖ ของโลก มีขนาดเนื้อที่ประมาณ ๔๗๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ความยาวจากหัวจรดท้ายเกาะประมาณ ๑,๖๙๐ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๔๐๐ กิโลเมตร ตลอดทางเต็มไปด้วยภูเขาไฟน้อยใหญ่ทั้งที่ยังปะทุและดับสนิทไปแล้ว จึงรู้จักกันในนามพื้นที่ที่อยู่ในระนาบของ “วงแหวนไฟ” (ring of fire)

เกาะสุมาตราที่ข้าพเจ้าตั้งใจมาเยือนเพื่อตามรอยจุดกำเนิด “โลกมลายู” ในทางการปกครองถูกแบ่งพื้นที่เป็น ๑๐ จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอาเจะฮ์ เบิงกูลู ลัมปุง เรียว จัมบี สุมาตราตะวันตก สุมาตราใต้ สุมาตราเหนือ หมู่เกาะเรียว หมู่เกาะบังกา-เบอลีตุง เป็นเกาะที่เคยมีชื่อเสียงขจรจายเกี่ยวกับพริกไทย ทอง และกำยาน และที่สำคัญบนเกาะสุมาตรามีหมู่ภาษาที่สำคัญในตระกูลมาลาโย-โพลินิเชียน (Malayo-Polynesian) ๕ หมู่ด้วยกัน คือ ภาษาอาเจะห์ บาตัก มินังกาเบา ลัมปุง และภาษาที่พูดในแถบริมฝั่งตะวันออก ตรงข้ามแหลมมลายู คือ “ภาษามลายู” หรือ “มาเลย์” ปัจจุบันเป็นภาษาราชการของประเทศอินโดนีเซีย

“เมืองปาเล็มบัง” ศูนย์กลางสำคัญของอดีตอาณาจักรศรีวิชัย จังหวัดสุมาตราใต้ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เกิดในยุคร่วมสมัยกับอาณาจักรทวารวดี อาณาจักรพุกาม อาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัย หรืออาณาจักรขอม และเป็นศูนย์กลางก่อแรงกระเพื่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อพื้นที่หรืออาณาจักรโดยรอบ

ภาพวาดวิถีชีวิตยุคเก่าก่อนของผู้คนในเมืองปาเล็มบังแผนที่แสดงเส้นทางเดินเรือโบราณ ครั้งยังแล่นเลาะเลียบทิศตะวันตกของเกาะสุมาตรา เพื่อผ่านไปทางช่องแคบซุนดา

หนังสือ ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย โดย เอลชา ไชนุดิน บอกเล่าว่า เรื่องราวในอดีตของอินโดนีเซียเท่าที่มีหลักฐานปรากฏอยู่แก่เรานั้น แสดงให้เห็นรูปแบบที่เกิดขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๗ เป็นต้นมา

“ประการแรกมีหลักฐานว่ามีอาณาจักร (ศรีวิชัย) ที่มีพื้นฐานทางการค้าขายและส่วยอากรจากพ่อค้า มีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะสุมาตราภาคใต้ เป็นผู้ควบคุมช่องแคบมะละกา และพยายามควบคุมช่องแคบซุนดาด้วยเพื่อควบคุมอาณาบริเวณเหล่านั้น เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ และคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ก็มีอาณาจักรทางตะวันออกของชวาเป็นคู่แข่งขัน” นั่นเป็นยุคเริ่มแรกของประวัติศาสตร์ที่เคลื่อนผ่าน แต่บางสิ่งบางอย่างยังคงปรากฏเป็นหลักฐานผ่านกาล เวลา ผ่านอีกหลายชั่วโมง กว่าข้าพเจ้าจะมายืนอยู่ริมฝั่งน้ำ ทอดสายตาไปยัง “สุไหงมูซี” (Sungai Musi) ลำน้ำสายยาวกว่า ๗๕๐ กิโลเมตร จากต้นธารบริเวณเทือกเขาบาริซัน (Barisan Mountains) สู่ Bangka Strait ทะเลจีนใต้ แม่น้ำซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นเส้นชีวิต เชื่อมชีวิตผู้คนแห่งอาณาจักรศรีวิชัยในเมืองปาเล็มบัง ผ่านการเป็นเมืองท่าสำคัญกว่า ๑,๐๐๐ ปีก่อน จุดนัดพบของพ่อค้าจากทั่วทุกสารทิศที่เดินข้ามประตูการค้าทางทะเลแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สู่เมืองท่าชายฝั่งตลอดแนว “ช่องแคบมะละกา”

หากเทียบเคียงห้วงเวลาแล้วจะเห็นว่า ช่วงเวลาหนึ่ง “ลังกาสุกะ” อาณาจักรยุคแรก ๆ บนแผ่นดินปลายแหลมมลายู เคยตกอยู่ภายใต้อำนาจของ “อาณาจักรศรีวิชัย” และนั่นทำให้เชื่อกันว่าลังกาสุกะย่อมได้รับอิทธิพลด้านต่าง ๆ รวมถึงภาษามลายูจาก “ศรีวิชัย-ปาเล็มบัง-จัมบี” รัฐตอนใต้ของเกาะสุมาตรา ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจเดินทางเพื่อตามรอยจุดกำเนิด “โลกมลายู” ตามบันทึกของจีนที่ระบุว่า รัฐโมโลยูตั้งตามชื่อของ “ลำน้ำโมโลยู” สาขาหนึ่งของแม่น้ำบาตังฮารี บนเกาะสุมาตรา หรือดินแดนอันเดอลัส

ว่ากันว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของ “อาณาจักรมลายูโบราณ” เมื่อกว่า ๑,๕๐๐ ปีก่อน ตรงกับยุคเรืองอำนาจสุดของอาณาจักรศรีวิชัย

“มูซี” แห่งปาเลมบัง และ “บาตังฮารี” แห่งจัมบี ๒ แม่น้ำสายสำคัญ ทอดตัวยาวผ่านแนวไพรป่ากว้างจากแผ่นดินตอนใน ก่อนจะบรรจบกับหมู่เกาะซึ่งกระจายตัวขนานพื้นที่ช่องแคบมะละกา ไหลล่วงจากเทือกเขาบาริซานในฐานะแกนแก่นเกาะสุมาตราทิศตะวันตก ให้ลำน้ำน้อยใหญ่เกาะเกี่ยวสัมพันธ์ดั่งเส้นก้างปลา

“ปาเล็มบัง” คือ อดีตศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย ศูนย์กลางทางจิตวิญญาณ และแหล่งตลาดนานาชาติขนาดใหญ่ ส่วน “จัมบี” คือ ที่ตั้งอาณาจักรมลายูโบราณ มีหมู่วิหารฮินดูนาม “จันดี มูวารา” สะท้อนอดีตอารยธรรมฮินดู-พุทธ ชุมชนที่ก่อตัวและพัฒนาเติบใหญ่ ด้วยตั้งอยู่ในตำแหน่งเส้นทางการค้าขายทางทะเลสมัยโบราณ ซึ่งคนเรือ-นักเผชิญโชคยุคโบราณ อาศัยดาวดวงใจและทิศทางกำลังลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เดินทางจากอินเดียไปยังจีน ขณะได้พึ่งพิงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเดินทางย้อนทิศจากจีนไปอินเดีย

เกาะสุมาตรายุค “อาณาจักรศรีวิชัย” มีบทบาทสูงยิ่งในฐานะรัฐค้าขายชายฝั่งทะเลช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๗ เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนสินค้า (entrepot centre) ระหว่างตะวันออกกลางกับจีน และเป็นเมืองท่าบริเวณช่องแคบมะละกาที่ได้รับการยอมรับจากจีนให้ทำหน้าที่นี้ ผ่านความสัมพันธ์ทางการทูตในระบบบรรณาการ ศูนย์กลางรัฐคือ “ปาเล็มบัง” พื้นที่ทางตอนใต้เกาะสุมาตรา ซึ่งสามารถขยายอิทธิพลครอบคลุมไปถึงรัฐใหญ่น้อยบนคาบสมุทรมลายู 

ทัศนียภาพริมฝั่งแม่น้ำมูซีในปัจจุบันสภาพอาคารบ้านเรือนริมน้ำของชาวปาเล็มบัง

ณ ริมฝั่งแม่น้ำมูซีและบาตังฮารี วันที่ข้าพเจ้าเดินทางไปตามรอยอดีต ในม่านหมอกควันไฟ มิอาจเห็นดาว – สัมผัสตะวัน เส้นเงาสะพานทอดยาวข้ามลำน้ำ ทาบทาผืนฟ้าเปลี่ยนสี ชายเจ้าของเรือข้ามฟากยืนเดียวดายท่ามกลางหมอกขาว คนนำทางเล่าว่าหมอกควันห่มคลุมเมืองมาเกือบ ๓ เดือนแล้ว ส่งผลให้ผู้คนประสบความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า และกลุ่มควันเหล่านี้ยังล่องลอยไปไกล เช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งอาณาจักรศรีวิชัยได้ขยายอิทธิพลสู่พื้นที่ต่าง ๆ จนถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญ กระทั่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลง ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ “อาณาจักรมัชปาหิต” หลังศรีวิชัยเกิดความขัดแย้งกับพวกโจฬะ ได้แก่กลุ่มชาวทมิฬทางใต้ของอินเดีย (Cola Tamil) และกับอาณาจักรมัชปาหิตในชวา

ห้วงเวลานั้น ศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัยเคลื่อนย้ายความรุ่งเรืองไปอยู่ที่ “จัมบี” (Jambi) รัฐทางตอนเหนือขึ้นไป รวมถึงชนเผ่ามีนังกาเบา (Minangkabau) หรือที่เรียกกันต่อมาว่า มลายู – จัมบี (Melayu-Jambi) จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔

ความเป็น “อาณาจักรศรีวิชัย” ถือกำเนิดโดยราชวงศ์ไศเลนทร์ ช่วง “อาณาจักรฟูนัน” กำลังล่มสลาย มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวเนื่องกับความเป็นอาณาจักรของ “ชาติพันธุ์มลายูโบราณ” อาณาเขตครอบคลุมแถบมลายู เกาะชวา เกาะสุมาตรา ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา ไปจนถึงบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ทั้งในฐานะศูนย์กลางการปกครองที่ปาเล็มบัง หรือศูนย์กลางใหม่ของศรีวิชัยที่ ไชยา – สุราษฎร์ธานี หรือตามพรลิงค์ – นครศรีธรรมราช

รูปปั้นยุคโบราณ สะท้อนศรัทธาความเชื่อในอดีต

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com