ชวนตะลึง! ลึงคบูชา ราชันย์ภิเษก (๒)
เรื่อง : ธีรภาพ โลหิตกุล
ภาพ : รวินท์นิภา อุทรัง
“ศิลาจารึกปราสาทสด๊กก๊กธม” กุญแจไขความลี้ลับของอาณาจักรเมืองพระนคร – อังกอร์ อันเกรียงไกรในอดีต
ห้องศิลป์อีศาน ฉบับที่แล้ว ผมเล่าเรื่องลัทธิบูชาเทวลึงค์ในฐานะที่เป็นบุคลิกภาพอันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์กัมพูชา ในยุครุ่งเรืองสมัยเมืองพระนคร (Angkor Period) ด้วยความเชื่อว่าความรุ่งเรืองของอาณาจักรขึ้นอยู่กับราชลึงค์อันสำคัญนี้ วิหารที่เก็บศิวลึงค์ต้องอยู่บนยอดเขาเป็นทำนอง “ภูเขาวิหาร” อาจเป็นภูเขาธรรมชาติ หรือจำลองขึ้นก็ได้ โดยตั้งอยู่กลางนครหลวง ที่ตรงนี้จะได้รับการเชื่อถือว่าเป็นแกนแห่งจักรวาล
วิหารที่เก็บศิวลึงค์ดังกล่าวนั้น คือสิ่งที่เราเรียกว่า “เทวสถาน” หรือ “เทวาลัย” หรือ “ปราสาทหิน” นั่นเอง
นักโบราณคดีอธิบายเรื่องนี้ได้จากเรื่องราวที่บันทึกไว้ใน “ศิลาจารึก” สำคัญหลักหนึ่ง คือ “ศิลาจารึกปราสาทสด๊กก๊กธม” ปัจจุบัน ปราสาทนี้อยู่ในเขตอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้วของไทย และได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าดั่งกุญแจไขความลี้ลับของอาณาจักรเมืองพระนคร – อังกอร์ อันเกรียงไกรในอดีต
สาระสำคัญในจารึกสด๊กก๊กธม เล่าเรื่องตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่งที่รับใช้ใกล้ชิดกษัตริย์เขมรหลายรัชกาล โดยเป็นพระครูพราหมณ์ประจำราชสำนักต่อเนื่องถึง ๒๕๐ ปี ระหว่าง พ.ศ.๑๓๔๕ ถึง ๑๕๙๕ คือตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ถึงพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ (ก่อนสมัยนครวัด)
ความตอนหนึ่งในจารึกได้เล่าเรื่องพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ เสด็จจากเกาะชวามาครองกัมพูชา แล้วทรงประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นต่อใคร และเพื่อแสดงบุญญาบารมี ทรงได้นำเอาลัทธิไศเลนทร์ หรือลัทธิเทวราชาจากชวามาหยั่งรากในอาณาจักรด้วย
ลัทธินี้ถือว่า “เทวะ” คือ “ราชา”, “ราชา” คือ “เทวะ” ลงมาจุติเพื่อสร้างสันติสุขบนโลกมนุษย์ การบูชา “เทวราชา” คือการสร้างรูปศิวลึงค์ (แทนองค์ศิวะเทพ) ประดิษฐานบนยอดเขา เช่นเดียวกับพระศิวะประทับบนเขาไกรลาศ ทั้งนี้เนื่องจาก “เทวราชา” มีรากฐานจากศาสนาฮินดูลัทธิไศวะนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพชั้นสูงสุด
จารึกระบุว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ได้ทรงประดิษฐาน “กมรเต็ง ช กัตตราชะ” หรือเจ้าแห่งจักรวาล ซึ่งก็คือเทวราชา ขึ้นในเมืองศรีมเหนทรบรรพต บนเขาพนมกุเลน โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทั้งหลาย เพราะศาสนาฮินดูยกย่องพราหมณ์เป็นตัวแทนของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมที่สำคัญ คือการเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้า โดยตักน้ำรดบนศิลาแกะสลักเป็นรูปศิวลึงค์ ไหลลงมาตามฐานศิลาแกะสลักเป็นร่องโยนีของพระนางปารวตี หรือศรีอุมาเทวี ชายาแห่งองค์ศิวะเทพ
ด้วยเหตุนี้ภูเขากลางใจเมืองที่ประดิษฐาน “ศิวลึงค์” รูปเคารพแทนเทวราชา จึงถือเป็นศูนย์กลางแห่งราชอาณาจักร ภูเขานี้จำลองมาจากภูเขาพระสุเมรุ ซึ่งคติฮินดูถือเป็นศูนย์กลางแห่งโลกและจักรวาล ดังนั้น สถานที่ประดิษฐานศิวลึงค์หรือราชลึงค์ จึงถือเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล ในเวลาเดียวกันกับการเป็นทิพยวิมานของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์
จารึกสด๊กก๊กธม ระบุว่าลัทธิเทวราชาถือว่า “เทวะ” คือ “ราชา”, “ราชา” คือ “เทวะ” ลงมาจุติเพื่อสร้างสันติสุขบนโลกมนุษย์พระครูพราหมณ์มีบทบาทสำคัญในการจารึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินแต่ละรัชสมัย
ศาสนาฮินดูถือกำเนิดในดินแดนที่อยู่ใกล้ภูเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในโลก เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำที่เป็นต้นธารอารยธรรมสำคัญของโลกถึงสี่สาย และมีทวีปต่าง ๆ ล้อมรอบอยู่สี่ทวีป ชาวฮินดูจึงเชื่อว่าเขาหิมาลัย ก็คือเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่ประทับของเทพเจ้า เป็นแกนของโลก เป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยมีมหาสมุทรคั่นระหว่างภูเขาทวีป
เมื่ออาณาจักรเขมรรับเอาคติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุจากอินเดีย จึงออกแบบปราสาทตามภูมิจักรวาลดังกล่าว คือมีปราสาทองค์กลาง หรือปรางค์ประธาน เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยปรางค์องค์เล็กอีกสี่ปรางค์ แทนภูเขาทวีปทั้งสี่ ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากแผนภูมิปราสาทพนมบาแค็ง และโดยเฉพาะปราสาทนครวัด บนชั้นที่สาม จะมีบ่อน้ำล้อมรอบปรางค์ประธานไว้ทั้งสี่ทิศ คั่นระหว่างปรางค์ประธานกับภูเขาทวีป ตามหลักภูมิจักรวาล
ดังนั้น คติความเชื่อที่เริ่มต้นจากลัทธิเทวราชาจึงถือเป็นต้นกำเนิด “ศาสนสถาน” หรือ “เทวสถาน” หรือ “วิหาร” ที่ประดิษฐานศิวลึงค์ ในรูปของ “ปราสาท” หรือ “เทวาลัย” ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาของชาวเขมรโบราณผู้คิดค้นและพัฒนาขึ้น โดยระยะแรกจะสร้างบนภูเขาหรือเนินเขาตามธรรมชาติ
แต่ต่อมาเมื่อมีข้อจำกัดว่าภูเขามักห่างจากชุมชน และมีภูเขาที่เหมาะสมน้อยลงเรื่อย ๆ จึงคลี่คลายสู่การสร้างปราสาทบนที่ราบใจกลางเมือง แต่ก็มีลักษณะเป็น “ศาสนสถานบนฐานเป็นชั้น” ซึ่งก็คือการสร้าง “ภูเขาจำลอง” ขึ้นมาแทนที่จะไปหาภูเขาในธรรมชาติ ทว่าก็ใช้ปรางค์ประธานของปราสาทเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์เช่นกัน
การบูชา “เทวราชา” คือการสร้างรูปศิวลึงค์ ( แทนองค์ศิวะเทพ ) ประดิษฐานบนยอดเขาปราสาทนครวัด จัดเป็น “ศาสนสถานบนฐานเป็นชั้น” คือการสร้าง “ภูเขาจำลอง” ขึ้นมาแทนที่จะไปหาภูเขาในธรรมชาติ
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๘
ปีที่ ๗ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต