ชีวิตในหมู่บ้านหนึ่งก็เหมือนนิยายเรื่องหนึ่ง มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีดีใจโศกเศร้า มีเคียดแค้นให้อภัย มีสันติสงคราม มีบาดหมางสามัคคี ตัวละครประกอบด้วย พระเอกผู้ร้าย นางเอกนางรอง ผู้ทรงศีลมหาโจร คนเข้าวัดเข้าบ่อน คนหมั่นเพียรเกียจคร้าน ฯลฯ และก็มีผีบ้า
“ผีบ้า” ในทฤษฎีนี้ไม่ใช่ผู้ป่วยไข้ทางจิต แต่คือคนในหมู่บ้านที่ทนไม่ได้ต่อสภาพความลำบากยากจน ต่อความเหลื่อมล้ำ สังคมเต็มไปด้วยปัญหา ธรรมชาติถูกทำลาย ฯลฯ ทำให้มีไฟปรารถนา คิดค้นหาทางแก้ไขเปลี่ยนแปลงและลงมือปฏิบัติ พยายามเกาะเกี่ยวสร้างเครือข่ายให้ผู้คนเข้าใจถึงสิ่งดีงาม ผลักดันโครงการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น
คงได้ทราบข่าวได้เห็นกันบ้างแล้ว ในหมู่บ้านมีผีบ้าปลูกป่าปลูกต้นไม้ ผีบ้าพัฒนาหมู่บ้านจนกระทั่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศ ผีบ้าทำนาทำสวนหนึ่งไร่ได้เงินแสน ผีบ้าทำเกษตรกรรมปลอดสารพิษ ผีบ้าปลูกเพิงสอนศิลปะสอนดนตรีให้แก่เยาวชน ผีบ้าผู้ฟันฝ่าสร้างนวัตกรรมการสาธารณสุข ผีบ้าปั้นนักเรียนชายขอบให้เป็นนักกีฬาทีมชาติ ผีบ้ารวมตัวกันพิทักษ์ทรัพยากร ผีบ้าผู้ประกาศศักดิ์ศรีความเป็นคนและเผ่าพันธุ์ ผีบ้าผู้กล้าเรียกร้องเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ บนคมดาบเผด็จการ
คนเราเกิดมาต่างเรียนรู้ ทำมาหากินเลี้ยงตัวเองและครอบครัว บางคนวุ่นวายอยู่ด้วยเรื่องของตน บางคนสนใจความเป็นมาเป็นไปของหมู่บ้าน เอื้อเฟื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมโลกและต่อธรรมชาติ บางคนเดินสายกลาง พยายามลดทอนความเห็นแก่ตัวลง ในความเป็นจริง ความเข้าใจและท่าทีต่อการดำเนินชีวิตที่จำแนกอย่างหยาบ ๆ เหล่านี้ ได้ซึมซ่านผสมผสานกันอยู่ในใจและการกระทำของผู้คนส่วนใหญ่
หมู่บ้านแห่งใดปรารถนาการเปลี่ยนแปลงพัฒนา หมู่บ้านนั้นต้องบังเกิดมี “ผีบ้า” ขึ้น เกิดขึ้นสักคนก็ถือว่าเกิดเชื้อมูลแล้ว เมื่อขยายเพิ่มได้ ๓ คน ๕ คน หรือมากกว่านั้นยิ่งจะได้ช่วยกันทำงาน ช่วยกันสำรวจศึกษาถึงสาเหตุปัญหา หาทางแก้และกำหนดอนาคต ทั้งนี้ต้องอาศัยช่วงจังหวะเวลา สถานการณ์และปัจจัยภายนอกหนุนเสริม
ไฟปรารถนา คือ พลังพื้นฐานของ “ผีบ้า” – นักฝันนักอุดมคติ การรื้อสร้างหมู่บ้านให้ศรีวิไลยั่งยืนต้องใช้เวลา อาจจะสิบปียี่สิบปี อาจจะทั้งชั่วคนหรือหลายชั่วอายุคน แต่เมื่อมีผู้เข้าร่วมและสืบทอดโดยไม่รีรอย่อท้อ สักวันหนึ่งพลังใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพย่อมสัมฤทธิ์ผล ซึ่งบางประเด็นอาจเกิดขึ้นในเร็ววัน.