นับบ่ฮอดสาม
อดีตเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา จังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน เส้นทางการคมนาคมไม่ค่อยสะดวกนัก ถนนหนทางยังเป็นถนนลูกรังอยู่ การเดินทางไปต่างจังหวัดก็อาศัยรถโดยสารประจำทาง ที่มีตัวถังรถเป็นไม้ บางคนก็เรียกว่า “รถคอกหมู” เวลามีรถโดยสารคันอื่น ๆ สวนมา ฝุ่นก็จะตลบไปทั่ว ต้องหาผ้าปิดจมูกกันฝุ่น วัยรุ่นส่วนใหญ่ที่ทาครีมตันโจ ครีมผมดำชนิดเหนียว ๆ ทำให้ผมอยู่ทรง เมื่อละอองฝุ่นรถตลบมาเกาะติด ผมก็จะ เปลี่ยนสภาพสีจากดำเป็นเด็กฝรั่งผมทองไปเลย
พ่อเฒ่าอุ้ย มีลูกเขยชื่อ กรณ์ มันมีอาชีพเป็นเด็กรถโดยสารรับจ้าง คอยเรียกลูกค้าที่จะเดินทาง เก็บค่าโดยสาร และบอกคนขับรถให้จอด เมื่อมีผู้โดยสารจะลงระหว่างทาง พร้อมทั้งดูแลความปลอดภัยและความสะดวกแก่ผู้โดยสารด้วย
วันหนึ่งพ่อเฒ่าอุ้ยจะเดินทางไปเยี่ยมญาติที่ต่างอำเภอ จึงต้องอาศัยโดยสารไปกับรถ คัน
ที่บักกรณ์ผู้เป็นลูกเขย ทำหน้าที่เป็นเด็กรถนั่นแหละ
“พ่อนั่งอยู่ท้าย ๆ นั่นแหละ ขึ้นลงสะดวกดี!” บักกรณ์บอก
“เออ…แล้วแต่โต๋สิจัดที่ให้ พ่อนั่งไสก่ะได้!” พ่อเฒ่าอุ้ยว่า
เมื่อรถโดยสารคันดังกล่าวเคลื่อนออกจากคิวรถ (สถานีขนส่ง) ไปอย่างช้า ๆ เพื่อหาผู้โดยสารริมทาง บางทีมองเห็นชาวบ้านกำลังแปรงฟันอยู่ก็ยังจอดร้องถาม จะโดยสารรถไปไหม? ถ้าไปจะได้จอดรอ ผู้โดยสารแต่ละคนก็ต้องทำใจ ช้าหน่อยก็ต้องทน ดีกว่าเดินเท้าไป รถโดยสารคันที่บักกรณ์เป็นเด็กรถคันนี้ บรรทุกผู้โดยสารได้ 25 คน ก็ถือว่ามีขนาดใหญ่พอสมควรพอแล่นไปได้สักระยะหนึ่ง พ่อเฒ่าอุ้ย เกิดอาการปวดท้อง เนื่องจากยังไม่ถ่ายทุกข์ในตอนเช้า
“กรณ์เอ้ย! ฮ้องบอกโซเฟอร์จอดรถให้พ่อแหน่ พ่อปวดขี้”
“เดี๋ยว ๆ” บักกรณ์ประวิงเวลา
พ่อเฒ่าอุ้ยก็ทนอดกลั้นไปได้สักระยะหนึ่ง
อาการปวดท้องก็หนักขึ้น
“กรณ์! บอกโซเฟอร์แม๊ะ กูปวดขี้แฮงแล้วเด้อ!” พ่อเฒ่าอุ้ยย้ำอีกครั้ง
“เดี๋ยว ๆ” บักกรณ์ยังประวิงเวลาต่อเพราะเห็นว่าริมทางยังไม่มีป่าละเมาะ แต่พ่อเฒ่า
อุ้ยก็สุดจะอดกลั้นแล้ว จึงยื่นคำขาดต่อบักกรณ์
“มึงคือเดี๋ยว ๆ เรื่อยแท่ะกรณ์! กูทนบ่ได้แล้วเด้อ! กูสินับหนึ่งเถิงสาม ถ้ามึงบ่บอกให้รถจอด กูสิขี้ใส่รถเด้อ!”
“หนึ่ง!”
“เดี๋ยว ๆ” บักกรณ์ยังประวิงเวลาอีก
“บ่ ๆ เดี๋ยวแหละ สอง!” พ่อเฒ่าอุ้ยย้ำ
เสียงดัง หนักแน่นอีกครั้งและว่าต่อ
“บ่มีสองครึ่งเด้อ! อย่าให้กูนับต่อเด้อ!”
คนขับรถได้ยิน เหยียบเบรคดังเอี๊ยดด! ร้องบอกไปยังบักกรณ์เด็กท้ายรถว่า
“บักห่ามึงบักกรณ์! มึงวางแผนให้พ่อเฒ่าอุ้ยขี้ใส่รถกูติ!”