ความฮู้จากผู้เฒ่า เรื่อง ภาคอีสาน (๒)

ทางอีศาน ฉบับที่ ๒ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๕
คอลัมน์: ความฮู้จากผู้เฒ่า
Column: Wisdoms of the Old Folks
ผู้เขียน: คำหมาน คนไค
ภาพโดย: ธมนันท์ ประทุม / ปรีดา ข้าวบ่อ


(๗) คนอีสาน : วิถีชีวิต

ชาวอีสานทุกคนหรือเกือบทั้งหมดเกิดที่เรือนในบ้าน (หมู่บ้าน) ของตนโดยการทำคลอดของหมอตำแยหรือคนที่ใกล้ชิดกับแม่ เช่น พ่อ พี่ ป้า น้า อา เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง ฯลฯ ในปัจจุบันคนอีสานจำนวนหนึ่งเกิดที่โรงพยาบาล หรือที่สถานีอนามัยโดยแพทย์หรือพนักงานของสถานีอนามัยเป็นผู้ทำคลอด ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวชาวอีสานจึงมีความประทับใจใน “บ้าน”เพราะบ้านเป็นสถานที่ให้กำเนิดแก่ชีวิต ชาวอีสานมีความประทับใจในบ้านมากกว่าเรือน ภาษาลาวอีสานมีสำนวนเกี่ยวกับบ้านสำนวนหนึ่งว่า “บ้านเกิด” ไม่ว่าคนอีสานไปอยู่ที่แห่งหนตำบลใดหรือมี “เมืองนอน” อยู่ที่เมืองใดในประเทศใดหรือทวีปใด คนอีสานจะส่งใจระลึกถึงบ้านเกิดของตน และในวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อถึงแก่กรรมญาติมิตรต้องนำศพคนอีสานไปฝังหรือเผาที่บ้านเกิดของเขา

“บ้าน” ในภาษาลาวอีสานมีความหมายตรงกับ “หมู่บ้าน” ในภาษาไทยกลาง บ้านของคนกรุงเทพฯอาจจะหมายถึงที่อาคารที่พักอาศัยซึ่งอาจจะเรียกว่าตึกหรือตึกแถว เรือนโรง ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม ทาวน์โฮม ฯลฯ ที่ตนสร้างขึ้นหรือซื้อหรือเช่า

บ้านของชาวอีสานหมายถึงเรือนหลายหลังที่สร้างขึ้นในบริเวณเดียวกันและสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงหรืออยู่แวดล้อมกลุ่มเรือนเหล่านั้น และสิ่งเหล่านั้นมีความจำเป็นต่อชีวิตของชาวบ้าน เช่น วัด โรงเรียน บ่อน้ำ ทุ่งนา ไร่ สวนห้วย หนองบึง ป่าไม้ โคกเนิน ดงดอน ฯลฯ

เมื่อชาวอีสานบอกว่า “คิดฮอดบ้าน” (คิดถึงบ้าน) แต่ละคนคิดถึงบ้านเกิดของตน แต่สิ่งที่คิดถึงอาจจะแตกต่างกัน บางคนอาจจะคิดถึงไร่นาสวนของตน บางคนอาจจะคิดถึงบ่อน้ำที่เคยไปตักและหาบมาใช้ในเรือน บางคนอาจจะคิดถึงห้วยหนองที่เคยไปหาปลา บางคนอาจจะคิดถึงป่าไม้และโคกดอนที่เคยไปเก็บเห็ดและหาหน่อไม้ บางคนอาจจะคิดถึงโรงเรียนและเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกัน

บ้านของชาวอีสานเป็นเรือนสูงหลังคามีหน้าจั่ว ชาวบ้านทั่วไปมักจะสร้างเรือนสองหลังใกล้ชิดกันหรือแทบจะติดกันแยกเป็นเรือนหลังนอกและเรือนหลังใน แต่ละหลังมีขนาดเท่ากัน เรือนหลัง

นอกมีห้องนอนของพ่อแม่และลูกชาย อีกห้องหนึ่งเป็นห้องนอนของลูกสาว ห้องนี้เรียกว่า “ห้องส้วม” เรือนหลังในมี “ห้องเปิง” ห้องนี้ใช้เป็นห้องนั่งกินข้าวและห้องรับแขก ใครจะนั่งหรือนอนก็ได้เรือนหลังนอกมีหน้าต่างห้องละ ๑ บาน คนอีสานเรียกหน้าต่างว่า “ป่องเอี้ยม” เรือนหลังในไม่มีป่องเอี้ยม ด้านนอกของเรือนหลังในเป็นลานปูพื้นด้วยไม้กระดานเรียกว่า “ชาน” หรือ “นอกชาน” มีบันไดพาดไว้ที่ด้านนอกของชาน ตัวบันไดมีเชือกผูกที่สามารถดึงออกจากตัวเรือนและเชือกจะโยงบันไดไว้กับตัวเรือน ปลายชานด้านหนึ่งเป็นชั้นวาง “แอ่งน้ำ” คือหม้อดินใส่น้ำดื่มพร้อมด้วย “บวย” (กระบวย) หนึ่งอัน ที่พื้นดินใต้แอ่งน้ำเป็นน้ำครำ ชาวอีสานเรียกน้ำครำใต้ถุนบ้านว่า “ขี้สีก” อีกด้านหนึ่งของนอกชานเป็น “เรือนครัว” (ห้องครัว) ยกพื้นสูงระดับเดียวกับชาน

พื้นดินที่ใต้ถุนเรือนทั้งสองหลังใช้เป็นคอกวัวคอกควาย มีรั้วล้อมตามสมควร ข้างตัวเรือนด้านใดด้านหนึ่งเป็นอาคารยกพื้นสูงระดับเดียวกับชานอาคารหลังนี้เป็นที่เก็บข้าวเปลือก ชาวอีสานเรียกว่า “เล้า”(ยุ้งข้าว) ใต้ถุนเล้าใช้เป็นคอกหมู คอกเป็ดคอกไก่ บนที่ดินข้างๆ เล้าเป็นที่ตั้งของครกตำข้าว ภาษาลาวอีสานเรียกว่า “ครกมอง”(ครกกระเดื่อง) ชาวอีสานเชื้อชาติลาวตำข้าวด้วยครกมอง แต่ชาวอีสานเชื้อชาติเขมรและเชื้อชาติกูย(ส่วย)มักจะตำข้าวด้วยครกมือ ครกมองมีสาก ๓ สาก คนตำข้าวต้องเหยียบหาง “มอง” ให้ครกกระเดื่องดึงสากขึ้นลงตำข้าวในครก แต่ครกมือมีสากหนึ่งอัน คนตำข้าวต้องยืนที่ข้างครกและใช้มือจับสากตำข้าวในครก

ถ้ามีญาติมิตรหรือคนพเนจรย้ายครอบครัวมาอยู่ด้วย เจ้าของเรือนมักจะสร้างที่พักให้อาศัยอยู่ที่ข้างๆ เล้าและเรียกว่าพักว่า “ตูบ”(กระท่อม ?) ภาษาลาวอีสานมีสำนวนหนึ่งว่า “ตูบต่อเล้า” หมายความว่าตูบอยู่ใกล้และติดกันกับเล้าชาวนาอีสานสร้างที่พักที่นาเรียกว่า “เถียงนา” เถียงนาเป็นอาคารยกพื้นสูงสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งมุงด้วยไพหญ้าคาหรือไพหน้าแฝกหรือแผ่นไม้กระดานหรือฝาแถบตอง(ฝาที่กรุด้วยใบพลวงหรือใบชาด) ชาวนาอีสานใช้เถียงนาเป็นที่ทำอาหารมื้อสาย(ข้าวงาย) มื้อกลางวัน(ข้าวสวย) และใช้เป็นที่พักผ่อนในตอนกลางวันตลอดฤดูทำนา


การกำหนดงานที่เป็นหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวเป็นวัฒนธรรมอีสานที่ควรกล่าวถึง ชาวอีสานไม่ได้กำหนดงานหรือหน้าที่ของสมาชิกครัวเรือนด้วยการเขียนเอกสารหรือประชุมคนในครอบครัว แต่กำหนดโดยการปฏิบัติเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมาหลายชั่วคน เช่น งานตักน้ำและหาบน้ำจากบ่อน้ำมาที่เรือนและงานตำข้าวกับฝัดข้าวเป็นงานของผู้หญิง นอกจากนี้ผู้หญิงมีหน้าที่ในการหาอาหารสดจากแหล่งน้ำตื้นและจากทุ่งนาโคกดอน เช่น หากบเขียด กุ้งฝอย หอยขม ปลาตัวเล็ก ไข่มดแดง ตัวแมลง เห็ด หน่อไม้ ผัก ผลไม้ ฯลฯ ผู้หญิงจับปลาและสัตว์น้ำด้วยสวิงและสะดุ้ง(ยอ) ผู้ชายมีหน้าที่หาอาหารสดจากแหล่งน้ำลึกห้วยหนองและในป่าดง เช่น หาเนื้อสัตว์ป่า เนื้อวัว เนื้อหมู เป็ด ไก่ นก ปลาตัวโต ฯลฯ ผู้ชายจับปลาด้วยเบ็ด แห อวน ลอบ ไซ หลี่(ลี่) ตุ้ม(อีจู้) บั้งลัน สุ่ม มอง(ตาข่ายจับปลา-มีมองซัด มองปลิวมองยัง) ฯลฯ ผู้ชายมีหน้าที่ล่าสัตว์และดักนก ดักบ่าง จับแลน (ตะกวด) จับแย้ จับกะปอม(กิ้งก่า) ฯลฯ

ในด้านการปรุงอาหาร ผู้หญิงมีหน้าที่ปรุงอาหารประเภทของหวานและของว่างหรือของกินเล่น เช่นตำหมากส้ม(ส้มตำ) ทำข้าวปุ้น (ขนมจีน)และปรุงอาหารประเภทแกง อ่อม ต้ม หมก(ห่อหมก) หมักดองพืชผัก ฯลฯ ผู้ชายมีหน้าที่ปรุงอาหารประเภทลาบ ก้อย เนื้อส้ม ปลาส้ม หมูส้ม(แหนม) ไส้อั่ว(ไส้กรอก) หม่ำ(ไส้กรอกตับ) ปิ้งย่างเนื้อสัตว์ ฯลฯ

เกี่ยวกับการงานด้านอื่น ๆ ผู้หญิงมีงานเลี้ยงม้อน(ให้อาหารตัวไหม) ปลูกหม่อน ปั่นสาวไหม กรอไหม ปั่นฝ้าย ทอผ้า ย้อมผ้า มัดหมี่ ฯลฯ ผู้ชายมีหน้าที่ซ่อมแซมเรือนและเครื่องใช้สอยในเรือน ซ่อมเกวียน ซ่อมแซมเครื่องมือทำนา ตีเหล็กฝนมีด(ลับมีด) ขับเกวียน ฝึกลูกชายให้ไถนา ขับเกวียน ฯลฯ ผู้หญิงมีหน้าที่ฝึกสอนลูกสาวให้รู้จักปั่นฝ้าย ทอผ้า สาวไหม กรอไหม ย้อมผ้า มัดหมี่ซ่อมแซมเสื้อผ้า ปรุงอาหาร ฯลฯ

เกี่ยวกับอาหารการกิน ชาวอีสานเชื้อชาติลาวล้านช้างกินข้าวเหนียว(นึ่ง)และใช้ปลาแดก(ปลาร้า) เป็นเครื่องปรุงอาหารแทนเกลือและน้ำปลา สรุปว่า อาหารหลักของชาวอีสานเชื้อชาติลาวล้านช้างคือข้าวเหนียวและปลาร้า ชาวอีสานไม่นิยมปรุงอาหารด้วยน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์อาหารอีสานไม่มีผัดและทอด อนึ่ง ชาวอีสานไม่นิยมใส่น้ำตาลหรือของรสหวานในการปรุงอาหารอาหารอีสานส่วนมากออกรสไปทางเปรี้ยวและขม แต่ไม่เปรี้ยวมากหรือไม่ขมมาก

ในด้านการหาน้ำมาบริโภคและหาน้ำใช้ในครัวเรือน ชาวอีสานตักน้ำจากบ่อ ชาวอีสานเรียกบ่อน้ำที่คนขุดว่า “ส้าง” หรือ “น้ำส้าง” น้ำส้างที่มีไม้กระดานกรุภายในเรียกว่า “ส้างแส่ง” น้ำส้างที่มีท่อกรุภายในเรียกว่า “ส้างถ่อ” ชาวอีสานตักน้ำจากน้ำส้างและหาบน้ำโดยใช้ครุ(ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ตาถี่ ๆ กรุด้านในและด้านนอกด้วยชันบดผสมน้ำมันยาง) ครุเป็นภาชนะตักน้ำของชาวอีสานมาตั้งแต่สมัยโบราณ วิธีตักน้ำคือหย่อนครุลงไปในน้ำส้างและดึงครุขึ้นจากส้างด้วย “คันขอ”(ไม้ไผ่ลำเล็กมีขอที่ปลาย) ในปัจจุบันหลายหมู่บ้านในภาคอีสานมีน้ำประปาหมู่บ้านที่ทำน้ำประปาจากแหล่งน้ำในแม่น้ำห้วยหนองบึงสระน้ำและอ่างเก็บน้ำ

“น้ำบ่อ”ของคนอีสานคือน้ำที่ผุดจากใต้ดินขึ้นมาอยู่ในหลุมดิน น้ำบ่อมีทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มถ้าน้ำผุดพุ่งขึ้นพ้นจากพื้นดินและตกลงในหลุมดินเรียกว่า “น้ำจั้น”หรือ “น้ำโจ้ก” ถ้าน้ำผุดจากใต้ดินและไหลไปในบริเวณแวดล้อมเรียกว่า “น้ำคำ” หรือ “คำ” กรณีที่น้ำผุดจากใต้ดินและทำให้แผ่นดินบริเวณนั้นชุ่มชื้นเรียกว่า “น้ำซับ” และเรียกที่ดินบริเวณนั้นว่า “ซำ”ในภาคอีสานมีน้ำคำ น้ำซับ และซำหลายแห่ง ชื่อดังกล่าวใช้เป็นชื่อของหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอหลายแห่ง เช่น บ้านน้ำคำ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น, ดอนคำชะโนด อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ฯลฯ

การสูบน้ำจากใต้ดินในภาคอีสาน ในหลายหมู่บ้านมักจะไม่ได้น้ำจืด เพราะน้ำมีรสเค็มเนื่องจากใต้ดินมีสารโซเดียมคลอไรด์และโปแตสเซียมปนอยู่มาก ในหลายจังหวัดพื้นดินบางแห่งมีเกลือสินเธาว์ผุดขึ้น บริเวณที่ดินเค็มไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้เลย


เกี่ยวกับการใช้แรงงาน เนื่องจากชาวอีสานไม่นิยมทำงานอุตสาหกรรมจึงไม่ต้องจ้างคนงาน แต่มีการจ้างคนทำงานด้านเกษตรและงานในครัวเรือนคนมีฐานะดีมักจะจ้างหรือวานผู้หญิง(อาจจะเป็นญาติพี่น้องหรือคนอื่น)ให้ทำงานในครัวเรือน เช่น ตักน้ำ หาบน้ำ ตำข้าว ช่วยทำอาหาร แต่ไม่เรียกว่า “คนใช้” และจ้างผู้ชาย (อาจจะเป็นญาติพี่น้องหรือเป็นคนอื่นหรือคนจากต่างถิ่น)ให้ทำงานในไร่นา(เรียกว่า “ข้านา”) ไม่จ่ายค่าตอบแทนให้ข้านาแต่ให้อยู่กินด้วยให้เสื้อผ้าหรือให้เงินใช้สอยเป็นครั้งคราว

ชาวอีสานไม่นิยมจ้าง “คนใช้” แต่คนมีฐานะดีอาจจะมีผู้หญิงช่วยทำงานในครัวเรือน และผู้ชายที่ช่วยทำงานการเกษตรเรียกว่า “ข้านา”(ออกเสียงข่านา) อนึ่ง ชาวอีสานเรียกคนที่เคยเป็นทาสว่า “ข่อย”(ข้อย) สรุปว่า ผู้ชายที่ช่วยทำงานเกษตรในครัวเรือนเรียกว่า “ข้านา”และลาวอีสานเรียกคนที่เคยเป็นทาสหรือลูกทาสว่า “ข้อย”(ออกเสียงข่อย)

(๘) ศัพท์เกี่ยวกับแผ่นดินแผ่นน้ำในภาษาอีสาน

ชาวอีสานเรียกชื่อแผ่นดินและแผ่นน้ำด้วยศัพท์ภาษาลาวอีสานและรู้จักกันทั่วไป ดังนี้

๑. กุด คือแหล่งน้ำย่อยที่แยกออกจากแหล่งน้ำใหญ่ กุดคือทะเลสาบเพราะไม่มีสายน้ำเชื่อมโยงกับแหล่งน้ำใหญ่ เช่น ทะเลสาบในกัมพูชาเป็นกุดของแม่น้ำโขง แม่น้ำสายใหญ่ทุกสายมีกุดอยู่ใกล้เคียงกับสายน้ำใหญ่ ชาวอีสานเรียก “กุด” เพราะเป็นแหล่งน้ำที่สั้น ๆ ในกุดมักจะมีปลาชุกชุม ภาษาอังกฤษเรียกกุดว่า ox bowl lake (ทะเลสาบรูปแอก) หรือ yoke -shape lagoon แม่น้ำใหญ่ทุกสายมักจะมีกุด แม้แต่ห้วยปลาแดกสายน้ำสำคัญของ จ.อำนาจเจริญ มีกุดที่ ต.ดอนเมย ชื่อกุดใหญ่และวังเย็น

๒. คอง ภาคอีสานของไทยไม่มีคลอง (canal) มีแต่ “คอง” คองของชาวอีสานหมายถึงร่องรอยการเคลื่อนที่บนพื้นดินของคน สัตว์ ยานพาหนะ เช่น คองงูเลื้อยบนทราย คองรถยนต์บนทางเกวียน ฯลฯ เมื่อพูดภาษาไทยกลางคนอีสานออกเสียง “คอง” เป็น “คลอง” คลองในภาคกลางหมายถึงร่องน้ำที่คนขุด คนไทยในภาคกลางใช้คลองเป็นเส้นทางคมนาคม พระสงฆ์พายเรือไปบิณฑบาต

๓. คันแท หมายถึงคันนา คือมูลดินที่ขุดขึ้นเป็นคันสูงกว่าดินในระดับปกติ บนคันแทมักจะมีหญ้า วัชพืชและต้นไม้หรือกอไผ่เพื่อป้องกันดินพังหญ้าที่ยึดดินได้ดีที่สุดคือหญ้าแฝก ต้นไม้ที่ยึดดินดีคือ “ต้นเสียว” ในปัจจุบันชาวนาอีสานปลูกต้นยูคาลิปตัสบนคันแทเพราะจำหน่ายได้ราคาดี

๔. คู ในภาษาไทยกลางหมายถึงร่องน้ำที่คนขุด คูมีความกว้างและลึก ในอดีตคนขุดคูล้อมรอบตัวเมืองเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกเข้าไปจึงเรียกคูเมืองคูของชาวอีสานหมายถึงคันดินที่ยกขึ้นสูง เมื่อคนภาคกลางสั่งให้คนงานชาวอีสานไปขุดคูต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าเป็นคูลึกลงในดินหรือคูที่สูงขึ้นจากพื้นดิน

๕. เซ คำนี้เป็นภาษาข่า หมายถึงสายน้ำที่มีขนาดใหญ่และยาวกว่าห้วย ในภาคอีสานมี ๒ เซ คือ เซบก และ เซบาย เซบก เกิดที่จังหวัดอำนาจเจริญ ไหลผ่าน อ.ลืออำนาจ อ.ม่วงสามสิบ อ.ตระการพืชผล และไหลลงแม่น้ำมูลที่ อ.เมืองอุบลฯ เซบายเกิดที่ตอนเหนือของ จ.ยโสธรหรือตอนใต้ของ จ.มุกดาหาร ไหลเป็นเส้นกั้นแดนของ จ.ยโสธร และอำนาจเจริญกั้นพรมแดน อ.ม่วงสามสิบกับ อ.เขื่องใน ไหลลงสู่แม่น้ำมูลที่ อ.เมืองอุบลฯ ในประเทศ สปป.ลาวมีเซหลายสาย เช่น เซกอง เซโดน เซบังเหียน ฯลฯ ที่ฝั่งแม่น้ำโขงด้านตรงกันข้ามกับปากของเซโดนที่ไหลลงแม่น้ำโขงมีเมืองใหญ่เมืองหนึ่งชื่อ “ปากเซ”

๖. แซ หมายถึงร่องน้ำที่ไหลบนหินผา เคยมีน้ำตกชื่อ “น้ำตกแซน้อย” ในลำน้ำโดมน้อยปัจจุบันที่บริเวณน้ำตกแห่งนั้นเป็นที่ตั้งเขื่อนสิรินธร อ.สิรินธร จ.อุบลฯ

๗. ดอน หมายถึงพื้นดินที่มีระดับสูงจนน้ำท่วมไม่ถึงนอกจากท่วมที่บริเวณตีนดอน ดอนที่อยู่ในน้ำตรงกับ “เกาะ” ในภาษาไทยกลาง เกาะในแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล ชาวอีสานเรียกว่าดอนทุกเกาะในบริเวณแก่งหลี่ผีในแม่น้ำโขงมีดอนจำนวนมากจนไม่สามารถนับได้ คนลาวจึงเรียกว่า “สี่พันดอน” คนสมัยใหม่แปลงเป็น “สีทันดร” ดอนในแม่น้ำมูลหน้าเมืองอุบลฯ ชาวอุบลฯตั้งชื่อว่า“หาดวัดใต้” ดอนบนบกมักจะมีต้นไม้ขึ้นเป็นป่าจึงเรียกว่า “ป่าดอน”

๘. ทาม หมายถึงที่ลุ่มมักจะมีน้ำท่วมแผ่เป็นวงกว้างในฤดูฝน ในฤดูแล้งดินในทามเป็นดินร่วนซุยเหมาะแก่การเพาะปลูก ชาวอีสานชอบ “นาทาม” มากกว่า “นาโคก” เพราะนาทามมีน้ำเกือบตลอดปี แม้น้ำท่วมต้นข้าวก็ไม่เสียหาย แต่นาโคกมักจะกันดารน้ำ ชาวอีสานทำนาปีจึงชอบนาทามมากกว่านาโคก นาดีในทัศนะของชาวอีสานมี ๒ แบบ คือ “นาทาม” และ “นาตีนบ้าน”

๙. บวก หมายถึงที่ลุ่มขนาดเล็กมีน้ำขัง ควายชอบลงไปนอนในบวกแก้ความร้อนจากแสงแดดจึงนิยมเรียกว่า “บวกควาย”

๑๐. บุ่ง หมายถึงที่ลุ่มมีน้ำท่วมในฤดูฝน บุ่งอยู่ใกล้กับห้วยหรือแม่น้ำที่มีน้ำไหลผ่านมาก ในฤดูฝนน้ำจะมากจนเอ่อล้นฝั่งท่วมออกนอกลำน้ำบริเวณบุ่งมีน้ำท่วมกว้าง ต้นไม้ขนาดเล็กที่อยู่ในบุ่งก็ถูกน้ำท่วมจนบางต้นมิดยอด หน้าแล้งดินในบริเวณบุ่งจะเป็นดินร่วนซุย ชาวอีสานชอบไปปลูกพืชผักต่าง ๆ เช่น ถั่วฝักยาวและแตงร้านในบุ่ง สันนิษฐานว่า “บุ่ง” ก็คือ “บึง” ในภาษาไทยกลาง ภาษาอังกฤษเรียกบุ่งว่า lagoon หรือ swamp.

***

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ความฮู้จากผู้เฒ่า เรื่อง ภาคอีสาน (๑)

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com