นิทานเรื่องนางตันไต หรือปัญจะตันตระ (ตอนที่ ๑)
ผู้เขียนเคยเดินทางไปที่เวียงจันทน์เมื่อหลายปีมาแล้ว ได้มีโอกาสไปเยี่ยมหอสมุดแห่งชาติลาว และได้ซื้อหนังสือเกี่ยวกับภาษาและวรรณคดีลาวมาหลายเล่ม เล่มที่สำคัญคือ นิทานนางตันไต ผู้เขียนได้อ่านนิทานนางตันไตด้วยความเพลิดเพลินและสนุกสนานที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ต่าง ๆ ที่พูดได้ และผู้เขียนเคยถอดความของบทแรก ๆ ออกเป็นอักษรไทย และนำไปตีพิมพ์ในงานฌาปนกิจศพของญาติสองสามครั้งเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ได้รับหนังสือนั้นไป
ผู้เขียนเห็นว่า หนังสือนี้มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อวงการวรรณกรรม และหลักนิติศาสตร์ ตลอดจนวิถีดำเนินชีวิตที่ฉลาด และพบว่า นิทานนางตันตรัยมาจากนิทานปัญจะตันตระของอินเดีย มีเนื้อหาและแหล่งที่มาแหล่งเดียวกันกับหนังสือหิโตปเทศ แต่ต่างกันที่การตั้งชื่อและเน้นคนละประเด็น
นิทานปัญจะตันตระของอินเดีย แพร่หลายเข้าไปยังประเทศตะวันออกกลางและยุโรป เมื่อแพร่ไปในเปอร์เซียก็มีการพัฒนานำเอานิทานต่าง ๆ ในตะวันออกกลางเพิ่มมารวมกันมากเข้ากลายเป็นนิทานเรื่องอาหรับราตรีอันลือลั่นในที่สุด
ฉะนั้นผู้เขียนจึงได้ค้นคว้าที่มา และเนื้อหาสาระของนิทาน ที่มีความเกี่ยวข้องและเกี่ยวโยงกันมาเสนอต่อท่านผู้อ่านที่สนใจต่อไป ดังนี้
หนังสือปัญจะตันตระ ฉบับภาษาอังกฤษของ อาร์เธอ ดับบลิว ไรเดอร์
หนังสือปัญจะตันตระเป็นแหล่งรวบรวมนิทานอันเป็นที่รู้จักของคนมากที่สุดในโลก ดร.เฮอร์เตล เชื่อว่า ต้นฉบับของผลงานดั้งเดิมของเรื่องปัญจะตันตระแต่งขึ้นที่รัฐแคชเมียร์ของอินเดีย คือประมาณสองร้อยปีก่อนคริสต์ศักราช ปัญจะตันตระเป็นตำราที่ว่าด้วยหลักนิติศาสตร์ คำว่า “นิติ” มีความหมายคร่าว ๆ ว่า “วิธีที่ฉลาดในการดำเนินชีวิต” คำว่า ปัญจะตันตระ แปลว่า หนังสือห้าเล่ม หรือคัมภีร์ห้าเล่ม แต่ละเล่มก็เป็นอิสระแก่กัน มีเรื่องที่อยู่ในกรอบใหญ่หนึ่งกรอบ บรรจุเรื่องราวย่อย ๆ ต่าง ๆ ไว้มากมายหลายเรื่อง
หนังสือเล่มแรกว่าด้วย การแตกมิตร หรือการสูญเสียมิตร ระหว่างราชสีห์กับวัว ซึ่งมีนิทานประกอบประมาณสามสิบเรื่อง เล่าโดยสมุนรับใช้ซึ่งเป็นสุนัขจิ้งจอกสองตัว ที่ชื่อวิกเตอร์และชีคหนังสือเล่มที่สองเป็นนิทานในกรอบ ที่ว่าด้วยมิตรภาพระหว่างอีกา หนู เต่า และกวาง ที่มีชื่อว่า สวิพ โกลด์ สะโล และสะป๊อต หนังสือเล่มที่สามก็เป็นนิทานในกรอบ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสงครามระหว่าง อีกากับนกฮูก ตำราทั้งสามเล่มนี้ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาว แสดงให้เห็นถึงทักษะอันยอดเยี่ยมและยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์เรื่อง
หนังสือเล่มที่สี่ เป็นนิทานในกรอบ ระหว่างลิงกับจระเข้ หนังสือเล่มที่ห้า ไม่เข้าข่ายหนังสือในกรอบ แต่จบด้วยสองเรื่องท้ายที่พิลึกหรือประหลาด เนื้อหาของนิทานเรื่องต่าง ๆ เต็มไปด้วยความมีเสน่ห์ในแง่ของการพรรณนา พร้อมด้วยความงดงามและเชาว์ปัญญาในการแก้ปัญหา ทำให้หนังสือปัญจะตันตระได้รับความนิยมและยกย่อง ว่าเป็นเลิศในบรรดาหนังสือนิทานที่ได้รับความนิยมแพร่หลายที่สุดในโลก
เชื่อกันว่าหนังสือ ปัญจะตันตระ แต่งโดยปราชญ์ชาวอินเดียที่ชื่อ วิศณุชาระมัน (Vishnusharman) สาเหตุที่ท่านวิศณุชาระมันได้แต่งหนังสือหรือคัมภีร์ปัญจะตันตระทั้งห้าเล่มนี้ขึ้น มีที่มาดังนี้คือ
ณ ประเทศประเทศหนึ่งที่อยู่ในดินแดนใต้ชื่อว่าเมือง เมดเดนดีไลท์ (Maidens’ Delight) มีพระราชาชื่อ อิมมอร์ตัล พาวเวอร์ (Immortal Power) พระราชาเป็นผู้ทรงทศพิธราชธรรมพระองค์มีราชโอรสสามพระองค์ พระราชาทรงตระหนักว่า พระราชโอรสทั้งสามพระองค์ไม่สนพระทัยในการศึกษาเล่าเรียน ฉะนั้นจำเป็นต้องมีเครื่องมือพิเศษสำหรับจุดประกายสติปัญญาให้แก่พระราชโอรสทั้งสาม ข้าราชบริพารทั้งหลายเสนอความคิดว่า การที่คนใดคนหนึ่งจะศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ ให้จบครบขบวนการต้องใช้เวลานานเป็นหลายปี ในขณะที่คณะบริพารเสนอความคิดเห็นต่อพระราชาอยู่นั้น มีพราหมณ์ที่เป็นปราชญ์ผู้รอบรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ชื่อ วิศณุชาระมัน รับอาสาต่อพระราชาว่าจะเป็นผู้สั่งสอนอบรมพระราชบุตรทั้งสามของพระราชาในเวลาไม่นาน คือภายในเพียงหกเดือน พระราชาจึงทรงมอบพระราชโอรสทั้งสามให้อยู่ในการอบรมสั่งสอนของพราหมณ์วิศณุชาระมัน
พราหมณ์วิศณุชาระมัน นำพระโอรสทั้งสามไปอยู่ด้วยที่บ้านของตน โดยแต่งหนังสือขึ้นห้าเล่ม มีชื่อว่าดังนี้ เล่มที่ ๑. การสูญเสียมิตร (The Loss of Friends) เล่มที่ ๒. การชนะมิตร (The Winning of Friends) เล่มที่ ๓. กาและนกฮูก (Crows and Owls) เล่มที่ ๔. การสูญเสียสิ่งที่ได้มา (Loss of Gains) เล่มที่ ๕. การกระทำที่เกิดจากการไตร่ตรองที่ผิด (Illconsidered Action)
หนังสือหิโตปเทศฉบับภาษาอังกฤษ ที่แปลจากภาษาสันสกฤต โดย เซอร์เอ็ดวินฮาร์โนลด์ จัดพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๑
คัมภีร์ที่ว่าด้วยคำปรึกษาแนะนำที่ยิ่งใหญ่จากภาคภาษาสันสกฤต หิโตปเทศเล่มที่ ๑. การได้มิตร เล่มที่ ๒. การเสียมิตร เล่มที่ ๓. การสงคราม เล่มที่ ๔. สันติภาพ
หิโตปเทศเป็นผลงานที่เก่าแก่และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง นับเป็นบิดาของนิทานทั้งหลาย และมีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย เช่น นิทานอีสป และนิทานปีลเปย์ นิทานหิโตปเทศแต่งขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ แล้วต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาเปอร์เซีย ภาษาอารบิก ภาษาฮิบรู และภาษากรีก ต้นเรื่องมีว่า
ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ตั้งของเมืองปาตาลิบุตร มีพระราชาที่ทรงทศพิธราชธรรมเป็นผู้ปกครอง ทรงพระนามว่า พระเจ้าสุทธรัสน์ พระราชาทรงตระหนักว่า พระราชโอรสทั้งสามของพระองค์ เป็นผู้ไม่ใส่ใจในการศึกษาเล่าเรียน ไม่เคยได้ร่ำเรียนตำราอันศักดิ์สิทธิ์ และขณะเดียวกันก็ดำเนินชีวิตไปในเส้นทางที่ผิด จึงทรงเรียกประชุมมุขมนตรีและนักปราชญ์ราชบริพารทั้งหลาย และทรงกล่าวว่าในที่ประชุมแห่งนี้มีผู้ใดจะสามารถให้การสั่งอบรมให้พระราชโอรสเป็นผู้รอบรู้ศาสตร์แห่งนโยบายได้
ในที่ประชุมมีปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งชื่อว่า วิศณุชาระมัน ลุกขึ้น เป็นปราชญ์ที่ได้เรียนรู้หลักแห่งนโยบายอย่างลึกซึ้งมาแล้ว ได้กล่าวกับพระราชาว่า ข้าแต่พระราชา เกล้ากระหม่อมจะเป็นผู้สอนพระราชโอรสของพระองค์ให้รู้และเข้าใจในศาสตร์นี้เองให้สำเร็จภายในเวลาหกเดือน
ปัญจะตันตระ จากสารานุกรมวิกิพีเดีย
ปัญจะตันตระ แปลว่า หลักนิติศาสตร์ทั้งห้า เป็นหนังสือประชุมนิทานเกี่ยวกับสัตว์ของอินเดียโบราณที่แต่งขึ้นด้วยภาษาสันสกฤต จากนิทานที่เป็นเรื่องเล่าที่มีมาแต่โบราณ ประกอบกันเข้าทั้งส่วนที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง รวมกันในลักษณะที่เป็นกรอบนิทาน ไม่ทราบนามผู้แต่ง แต่ยกให้พราหมณ์วิศณุชาระมัน เป็นผู้แต่ง
ปัญจะตันตระ เป็นนิทานที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆอย่างแพร่หลายมากกว่า ๕๐ ภาษา และเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก มีสำนวนหนึ่งได้แพร่เข้าไปในยุโรป ซึ่งแปลเป็น ภาษากรีก ภาษาละติน ภาษาสเปน ภาษาอิตาเลียน ภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ ภาษาสลาโวนิก ภาษาเช็ก ในประเทศตะวันออกกลางได้แก่ ภาษาปัลละวีของเปอร์เซีย ภาษาซีเรีย ภาษาอารบิก และภาษาเตอรกี ในลาวใช้ชื่อว่า นันทปกรณ์ (ที่ถูกคือเรื่องนางตันตรัย) ในไทยใช้ชื่อว่า นางตันตรัย (ที่ถูกน่าจะเป็นเรื่องหิโตปเทศ)
หนังสือ หิโตปเทศ ฉบับภาษาอังกฤษของเซอร์เอ็ดวิน อาร์โนลด์
หิโตปเทศ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการให้คำปรึกษาที่ยิ่งใหญ่จากภาษาสันสกฤต ที่แปลโดย เซอร์เอ็ดวิน อาร์โนลด์ พิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๑ เล่มที่ ๑. การได้มิตร เล่มที่ ๒. การเสียมิตร เล่มที่ ๓. การสงคราม เล่มที่ ๔. สันติภาพ
หนังสือเรื่องหิโตปเทศ เป็นงานที่มีความเก่าแก่อย่างยิ่งและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางถือว่าเป็นบิดาของนิทานทั้งหลาย ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย เช่น นิทานอีสปและนิทานปีลเปย์ และ ต่อมา คือไรน์เกฟุคส์ เดิมทีเดียวหนังสือหิโตปเทศแต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต แล้วแปลเป็นภาษาเปอร์เซีย ในคริสต์ศตวรรษที่หก จากภาษาเปอร์เซียก็ผ่านไปยังภาษาอารบิก ภาษาฮิบรู และภาษากรีก จนปัจจุบัน
ที่มาของเรื่องมีอยู่ว่า ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ มีพระราชาองค์หนึ่งชื่อ พระเจ้าสุทธารสะนะ เป็นกษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรมพระองค์ทรงตระหนักว่า บุตรของพระองค์เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่สนใจในการอ่านตำราศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ และดำเนินชีวิตไปในทางที่ผิดแล้วพระองค์จึงเรียกประชุมปราชญ์ที่ทรงภูมิรู้ทั้งหลาย และกล่าวว่า
ท่านบัณฑิตทั้งหลายที่อยู่ในที่ประชุมแห่งนี้ที่จะรับอาสาสอนบุตรของข้าพเจ้า เกี่ยวกับตำราแห่งนโยบาย เนื่องจากเขาเหล่านี้ไม่เคยได้อ่านตำราศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เลย พวกเขากำลังเดินทางผิด
และแล้วก็มีปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งชื่อวิศณุชาระมัน ผู้แตกฉานในคำภีร์หลักของนโยบายลุกขึ้น ขอเดชะข้าพระพุทธเจ้าขออาสาสอนนโยบายให้แก่เจ้าชายเหล่านี้เอง
นิทานเรื่องอาหรับราตรี จากสารานุกรมวิกิพีเดีย
หนึ่งพันราตรีกับหนึ่งราตรี พันหนึ่งทิวา หรืออาหรับราตรี หรืออัลฟ์ ลัยลาห์ ไฟ ลัยลาห์ เป็นหนังสือชุดนิทานพื้นบ้านของดินแดนตะวันออกกลาง รวบรวมขึ้นเป็นภาษาอารบิกในยุคทองของอิสลาม รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่าอาระเบียนไนท์ หรืออาหรับราตรี เกิดจากการรวบรวมนิทานจากหลายชนชาติ ได้แก่ อาหรับ เปอร์เซีย อินเดีย กรีก ยิว และเตอรกี เนื้อหาที่ตรงกันของหนังสือแต่ละฉบับของนิทานอาหรับราตรี คือมีกรอบเรื่อง ที่ว่าด้วยผู้ปกครองประเทศ ชื่อ ชาห์รียาร์ (Shahryar) และภรรยาของเขาชื่อ เชเฮราซาด (Scheherazaade) เรื่องที่รู้จักกันแพร่หลายได้แก่เรื่องอาละดินกับตะเกียงวิเศษ เรื่องอาลีบาบากับสี่สิบโจร และเรื่องการผจญภัยของซินแบด
อาหรับราตรี ฉบับแปลของริชาร์ดเบอร์ตัน
จากภาษาอาหรับ อัลฟ์ ลัยลาห์ วา ลัยลาห์ หรือหนังสือ หนึ่งพันคืนกับหนึ่งคืน หรือที่รู้จักกันในฉบับภาษาไทยว่า พันหนึ่งทิวา หรืออาหรับราตรี นั่นเอง มหาราชา ภาณุ ซะซัน เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ก็ได้มอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสทั้งสองพระองค์ ทรงพระนามว่าพระเจ้าชาริยา ทรงแต่งตั้งให้น้องชายที่ชื่อพระเจ้าชาห์ ซามิน ไปครองเมืองสะมาร์คานท์
หนังสือเรื่องอาหรับราตรี จากวิกิพีเดีย
หนึ่งพันกับหนึ่งราตรี พันหนึ่งทิวา หรืออาหรับราตรี หรืออัลฟ์ ลัยลาห์ ไฟ ลัยลาห์ เป็นหนังสือชุดนิทานพื้นบ้านของดินแดนตะวันออกกลาง รวบรวมขึ้นเป็นภาษาอารบิกในยุคทองของอิสลาม รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า อาระเบียนไนท์ หรืออาหรับราตรี
เกิดจากการรวบรวมนิทานจากหลายชนชาติ ได้แก่ อาหรับ เปอร์เซีย อินเดีย กรีก ยิวและเตอรกี เนื้อหาที่ตรงกันของหนังสือแต่ละฉบับของนิทานอาหรับราตรี คือมีกรอบเรื่อง ที่ว่าด้วยผู้ปกครองประเทศชื่อ ชาห์รียาร์ (Shahryar) และภรรยาของเขาชื่อ เชเฮราซาด (Scheherazaade) เรื่องที่รู้จักกันแพร่หลายได้แก่เรื่องอาละดินกับตะเกียงวิเศษ เรื่องอาลีบาบากับสี่สิบโจร และเรื่องการผจญภัยของซินแบด
ที่มาของนิทานปัญจะตันตระ จากคำอธิบายของมหาสิลา วีระวงศ์
นิทานเรื่องปัญจะตันตระเป็นนิทานที่มีสัตว์เป็นตัวละคร และนับเป็นนิทานคติธรรมที่ได้รับความนิยมแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่งของโลกต้นกำเนิดของนิทานเรื่องปัญจะตันตระนี้เป็นนิทานที่เขียนด้วยภาษาสันสกฤต นิทานแต่ละเรื่องเป็นนิทานที่เกี่ยวด้วยคติธรรม เป็นนิทานที่มีเนื้อเรื่องเบาสมอง มีสีสัน เหมาะเจาะ และสมควรแก่กรณีย์ แม้แต่เด็กเล็ก ๆ และถือเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่าอยู่ในความทรงจำในจิตใจของเขาตลอดไป
ตำนานที่ว่าด้วยต้นกำเนิดของนิทานปัญจะตันตระนี้ ย้อนเวลาไปถึงสมัยกษัตริย์อมรศักดิ์ ผู้ซึ่งแต่งตั้งให้นักปราชญ์ ชื่อ วิศนุ ชารมา เพื่อให้เป็นอาจารย์ราชโอรสทั้งสามของพระองค์
วิศนุ ชารมา ตระหนักได้ว่า เครื่องมือและเทคนิคการสอนต่าง ๆ ไม่สามารถใช้สอนเจ้าชายทั้งสามทำให้บรรลุผลได้ ดังนั้นท่านวิศนุ ชารมา จึงได้แต่งนิทานชุดนี้ขึ้น ซึ่งแบ่งได้เป็น ๕ เล่ม และตั้งชื่อว่า ปัญจะตันตระ (ปัญจะ แปลว่า ๕ และตันตระ แปลว่า ระบบ) คือ
เล่มที่ ๑ ชื่อว่า มิตรลาภะ (การได้มิตร) เป็นหนังสือรวมนิทานเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการชนะใจมิตร เล่มที่ ๒ มิตรเภทะ (การเสียมิตร) เป็นหนังสือรวมนิทานเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเสียมิตร เล่มที่ ๓ อัปริกสิทะการะกัม (การกระทำที่ปราศจากความสุขุม) เป็นหนังสือนิทานที่เกี่ยวกับ ความไม่สุขุมย่อมนำไปสู่ความสูญเสียสิ่งที่สำคัญ เล่มที่ ๔ ลาภะประนาสัม (การสูญเสียสิ่งที่ได้มา) เป็นหนังสือนิทานที่กล่าวถึง วิธีการแก้ปัญหา โดยปราศจากการสูญเสีย เล่มที่ ๕ กาโกะลุกกิยัม (กากับนกเค้าแมว) เป็นหนังสือนิทาน ที่ว่าด้วยการปกครอง
หนังสือปัญจะตันตระในภาษาสันสกฤต ได้รับการแปลออกเป็นภาษาต่าง ๆ หลายภาษาเช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาถิ่นต่าง ๆ ของอินเดียภาษาเปอร์เซีย และภาษาอาหรับ
คำชี้แจงของผู้แต่งหนังสือนางตันไตฉบับภาษาลาว
หนังสือนิทานเรื่องนางตันไตนี้ แต่เดิมเรียกว่าคัมภีร์ปัญจะตันตระ หรือปัญจะตันไต แปลว่าหนังสือ ๕ ผูก แต่ทุกวันนี้เห็นมีอยู่เพียง ๔ เรื่องเท่านั้น คือ
๑. นันทปกรณ์ (เรื่องงัวนันทกะกับราชสีห์เป็นเสี่ยวกัน)
๒. สกุณาปกรณ์ (เรื่องนกเลือกนาย)
๓. นันทุกปกรณ์ (เรื่องกบกับงูเป็นเสี่ยวกัน)
๔. ปีศาจะปกรณ์ (เรื่องผีเลือกนาย)
คำปรารภเบื้องต้น ในปกรณ์ที่ ๒ คือ สกุณาปกรณ์ บอกว่า หนังสือปัญจะตันตระนี้ แม่นรัดษีชื่อ อะติหาสะกะ เป็นผู้รจนาขึ้นในประเทศอินเดีย โดยเรียบเรียงเป็นภาษาสันสกฤต แต่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๒๐๐ ต่อมาในระหว่าง พ.ศ. ๑๔๐๐ จึงมีผู้แปลเป็นภาษาอาหรับ ภาษาฮิบรู ภาษากรีก และภาษาละตินต่อ ๆ มาจนถึงระหว่าง พ.ศ. ๒๑๐๐ จึงมีผู้แปลเป็นภาษาเยอรมัน แล้วแผ่ผายออกเป็นภาษาชาวยุโรป เกือบทุกประเทศที่เจริญ แต่ฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ผู้แปลได้ตั้งชื่อหนังสือนี้ใหม่ว่า Pilpay’s Fable (นิทานของปิลเป้ย์) ส่วนฉบับเป็นภาษาไทยให้ชื่อว่า หิโตปเทศ (ข้ออ้างที่เป็นประโยชน์) หิโตปเทศฉบับของไทยนั้นแบ่งออกเป็น ๔ ภาค คือ ๑. มิตรลาภ (การผูกเสี่ยว) ๒. สุหริทเภท (การแตกมิตร) ๓. สังคามะ (การสงคราม) ๔. สันติ (สงบสงคราม)
ฉบับที่แปลเป็นภาษาลาวนี้แต่เดิมเป็นสมเด็จพระสังฆราชา วิชุลมหาวิหาราธิบดี ศรีสัตนาคนหุต เจ้าวัดวิชุลมหาวิหาร เป็นผู้แปลออกจากภาษาบาลี ในระหว่าง พ.ศ. ๒๐๕๐ อันเป็นสมัยของพระเจ้าวิชุลราช ฉบับภาษาบาลีถ่ายถอดมาจากภาษาสันสกฤต โดยพระภิกษุชาวลังกา เป็นผู้แปล แล้วได้แผ่ผายเข้ามาในประเทศพม่า ลาว และไทย ต่อ ๆ มา ฉบับแปลของสมเด็จพระสังฆราชา วิชุลมหาวิหาราธิบดี นี้บ่อนเป็นภาษิต เพิ่นได้เอาสะโหลกคาถาบาลีใส่ไว้นำ แต่ข้าพเจ้า (สิลา วีระวงศ์) ได้ตัดคำบาลีนั้นออกเสีย เหลือไว้แต่คำแปลเป็นภาษาลาวล้วน ๆ เพื่อให้อ่านเข้าใจง่าย ส่วนบ่อนภาษิตที่เป็นคำโคลงนั้นได้รักษาไว้ตามสำนวนเดิม
เนื่องจากนิทานนางตันไต หรือหนังสือปัญจะตันไตนี้ เป็นนิทานสุภาษิตที่จับใจหลายจึงมีนักปราชญ์เกือบทุกประเทศในโลก แปลออกเป็นภาษาของตนดังกล่าวแล้ว ในระหว่างแปลนั้น ผู้แปลได้ต่อตัดดัดแปลง แต่งตื่มอีกเป็นอันมาก ทั้งที่ได้ตั้งชื่อขึ้นใหม่ไปก็มี เถิงดั่งนันข้อความทั้งหลายก็ยังคงคล้ายคือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่
หนังสือนิทานนางตันไต ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงขึ้นจากฉบับภาษาลาวที่สมเด็จพระสังฆราชา วิชุลมหาวิหาราธิบดี แปลไว้ และได้จัดแบ่งเป็น ๔ เล่ม ตามฉบับเดิม แต่ต้นเรื่องในเล่ม ๑ คือ นันทปกรณ์ นี้ รจนาเอาความเค้าเรื่องของนิทานอาหรับราตรี เพราะเค้าเรื่องในนันทปกรณ์ บ่สู้สมเหตุผลพอประมาณแต่หากมีเค้าคล้ายคือกันกับต้นเรื่องอาหรับราตรีอยู่ จึงได้ตกลงรจนาเอาตามนั้น
นิทานนางตันไต เป็นนิทานสุภาษิตอันดีเลิศ มีข้อความเปรียบเทียบ สมเหตุผลถืกต้องแท้ฟังได้ทุกกาละสมัย เหมาะสมเป็นคติเตือนใจของคนทุกชั้น และทุกซาติทุกภาษา นับว่าเป็นยาอันวิเศษ สำหรับแก้พยาธิทางจิตใจอย่างประเสริฐพาให้เกิดผล เป็นความสุขแก่ผู้ถือเอาเป็นคติทั่วไป
มหาสิลา วีระวงศ์
พระนครเวียงจัน
วันที่ ๑ มะกะรา พ.ศ. ๒๕๐๐
(โปรดติดตามต่อฉบับหน้า)
ขอบคุณภาพ http://rforearth.weloveshopping.com/
คอลัมน์ คองอีศาน นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๐๓ | พฤศจิกายน ๒๕๖๓
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
shopee : https://shp.ee/ji8x6b5
LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220