อีศานปุระ

ทับหลังศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก

อีศาน (สันสกฤต), อีสาน (บาลี) แปลว่า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

อีศาน, อีสาน แปลว่า พระศิวะ หรือพระรุทร

อีศาน, อีสาน แปลว่า พระอีศาน-เทพเจ้าผู้ครองทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

อีศาน, อีสาน เคยเป็นชื่อแคว้นโบราณแคว้นหนึ่งในสุวรรณภูมิ ชื่อเต็มว่า อีศานปุระ

ส่วนความหมายที่ผู้คนใช้กันทั่วไปในขณะนี้ เช่น หมายถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย, หมายถึงประชากรที่มีรกรากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย, หมายถึงภาษาและวัฒนธรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยนั้น เพิ่งจะเริ่มใช้กันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ หรือร้อยกว่าปีมานี่เอง

ก่อนการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคในรัชกาลที่ ๕ ทางกรุงเทพฯ เรียกดินแดนภาคอีสานว่าหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกบ้าง, หัวเมืองลาวพุงขาวบ้าง ต่อมาจัดตั้งเป็น “มณฑล” ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง คือเริ่มแรกจัดตั้งเป็น มณฑลลาวพวน – เขตพื้นที่อุดรธานี, มณฑลลาวกลาง – พื้นที่นครราชสีมา, มณฑลลาวกาว – พื้นที่อุบลราชธานี ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๗ ปรับเป็น มณฑลอุดร กับมณฑลอีสาน

ต่อมาเปลี่ยนเป็น มณฑลอุบลราชธานี, มณฑลร้อยเอ็ด, มณฑลนครราชสีมา

.ศ. ๒๔๔๕ รวมมณฑลอุดร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด เป็นภาคเรียกว่า ภาคอีสาน มีอุปราชประจำภาคอยู่ที่อุดรธานี

เรื่องราวพัฒนาการของระบบปกครองพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประเทศไทยนั้น มีเรื่องราวต้องศึกษากันมาก นับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช มาจนถึงยุคตัด “ถนนมิตรภาพ” หรือยุคจีไอ – ทหารอเมริกันในสงครามอินโดจีน “ทางอีศาน” เสนอบทความไว้หลายชิ้นแล้ว ซึ่งต่อไปก็จะมีบทความเนื้อหาเข้มข้นติดตามมาอีกเรื่อย ๆ

สำหรับเนื้อหาฉบับนี้ เราขอเสนอเรื่องราวย้อนประวัติศาสตร์ไปไกลเลย ก่อนสมัยนครวัดนครธมที่ขอมเรืองอำนาจเสียอีก

ดินแดนสุวรรณภูมิของเรานี้ มีอารยธรรมเจริญรุ่งเรืองมานมนาน มีพัฒนาการจนมี “ระบบความเชื่อ” เป็นตัวของตัวเองแล้ว นั่นคือ “ระบบผีฟ้า” แถน หรือ ตูฮัน (Tuhan) ในภาษามลายูโบราณ ซึ่งมี “วัฒนธรรมข้าว” เป็นรากฐาน

หลักฐานจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ตงฮั่น ค.ศ. ๒๕ – ๒๒๐) มีบันทึกการเดินทางของทูตจีนผ่านก๊กต่าง ๆ ในแดนสุวรรณภูมิจนไปถึงอินเดียใต้ (นครคานจิวารัม) แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของแว่นแคว้นต่าง ๆ ในสุวรรณภูมิ

บันทึกที่มีข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์มากคือ บันทึกของ “คังไท่” ทูตของ “ซุนกวน” ประมุขง่อก๊กสมัยสามก๊ก ซุนกวนส่งคณะทูตมาสานสัมพันธไมตรีกับ ก๊ก “ฟูนัน” แล้วได้พบกับคณะทูตจากอินเดียใต้ จึงนำพาคณะทูตอินเดียใต้คณะนั้นเดินทางไปถึงง่อก๊กด้วย จากนั้นจึงมีการเดินทางค้าขายระหว่างจีน (สามก๊ก) กับอินเดียใต้ โดยผ่านก๊กหลินอฺวี้ (จามปา) – ฟูนัน – “จินหลิน” (แปลว่า“ป่าทอง”เข้าใจว่าคือเมืองอู่ทองโบราณ) – เดินบกข้ามภูเขาไปลงเรือเดินทางต่อทางทะเลอันดามัน

จามปาและฟูนันรับอิทธิพลวัฒนธรรมจากชมพูทวีปไว้มาก ต้นวงศ์กษัตริย์ของฟูนันตามตำนานเป็นชาวชมพูทวีป ชื่อโกญทัญญะ ได้สตรีประมุขชนเผ่าพื้นเมืองเป็นมเหสี สร้าง “ก๊ก” มีอำนาจทางทะเลและแสวงหาสินค้าจากดินแดนภายในทวีป เช่น เจินล่า (ลาวใต้ อีสานใต้), เหวินตาน (ฟ้าแดดสงยาง), ศรีโคตรบูร (คำม่วน, สะหวันนะเขต, มุกดาหาร)

พื้นที่ก๊กฟูนัน อยู่แถบตอนล่างของประเทศกัมพูชา (ใกล้ทะเล) เรื่องราวของฟูนันยังจะต้องค้นคว้า และนำเสนอกันได้อีกมาก ขอสรุปเพียงสั้น ๆ ว่า ฟูนันรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยสามก๊ก (ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๒) จนถึงยุคราชวงศ์ถัง (คริสต์ศตวรรษที่ ๗) จึงพ่ายแพ้แก่อำนาจของ “เจินล่า” ที่เคยเป็นเมืองออกของฟูนัน

เมื่อกษัตริย์เจินล่าทรงนามว่า “อีศานวรมัน” รบชนะฟูนันแล้ว ได้ตั้งราชธานีใหม่ขึ้นชื่อว่าอีศานปุระ ราชธานีโบราณแห่งนี้ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา

ปราสาทสมโบร์ไพรกุกและประตูด้านตะวันตก (ภาพโดย มจ.สุภัทรดิศ ดิสกุล)

รากต้นตอของ “เจินล่า” อยู่ที่ไหน ?

วิชาประวัติศาสตร์กระแสหลักที่สั่งสอนกันนั้นเน้นที่ประวัติศาสตร์รัฐชาติ อธิบายกันตามกรอบพรมแดน จึงสร้างความสับสนจนอาจสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐชาติสมัยใหม่

อันที่จริงถ้าเราศึกษาแบบ “ประวัติศาสตร์พื้นที่” “ประวัติศาสตร์ภูมิภาค” มองข้ามพ้นกรอบพรมแดนประเทศยุคใหม่ไป จะช่วยสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์

ถ้ามองประวัติศาสตร์อย่างยึดมั่นชาตินิยม คนกัมพูชาก็คงอยากให้รากต้นตอของเจินล่าอยู่ในประเทศกัมพูชา คนลาวก็คงอยากให้รากต้นตอของเจินล่า อยู่ในลาวภาคใต้ คนไทยก็คงอยากให้อยู่แถบอุบลราชธานีและอีสานใต้ (ศรีษะเกษ, สุรินทร์)

เรามองว่าทั้งสามฝ่ายล้วนมีส่วนถูก รากต้นตอของเจินล่าหรือรากของอีศานปุระนั้น ครอบคลุมพื้นที่ลาวภาคใต้ (จำปาสัก) , อีสานใต้ และกัมพูชาตอนบน

จากคริสต์ศตวรรษที่ ๓ – ๗ ก๊กริมทะเลเจริญเข้มแข็ง รับสิ่งใหม่ ๆ จากแดนไกลก่อนก๊กที่อยู่ส่วนในของแผ่นดิน จามปากับฟูนัน คือก๊กริมทะเลที่เข้มแข็ง เป็นตัวกลางติดต่อระหว่างจีนกับชมพูทวีป

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจลักษณ์ มีเจริญมีเสื่อม ก๊กเจินล่าที่อยู่เหนือฟูนันขึ้นไป (อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจามปา) เข้มแข็งขึ้นจนรบชนะฟูนันศูนย์กลางอำนาจก็เปลี่ยน

นักวิชาการส่วนหนึ่ง มองว่าศูนย์กลางของเจินล่าคือจำปาสัก ศาสนสถานที่สำคัญที่สุดคือปราสาทวัดภู มีราชธานีชื่อเศรษฐปุระ

แต่เศรษฐปุระซึ่งควรจะอยู่ในทุ่งราบอุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่ที่ใดแน่ ? (ปราสาทวัดภูไม่ใช่เมืองที่ผู้คนอยู่อาศัย) นักวิชาการส่วนหนึ่งเสนอว่าเศรษฐปุระอยู่ในพื้นที่ตำบลหนึ่งในแขวงจำปาสักปัจจุบัน

เราขอสรุปว่า รากต้นตอของเจินล่าอยู่แถบลุ่มแม่นํ้าโขงตอนกลางปัจจุบัน คือบางส่วนของประเทศกัมพูชาตอนเหนือ ต่อเนื่องกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประเทศไทยกระทั่งเชื่อมเข้าไปในเขตภาคอีสานบริเวณจังหวัดต่าง ๆ ที่มีลำนํ้าแยกจากนํ้าโขง มีแม่นํ้ามูล แม่นํ้าชี  เป็นต้น

พระเจ้าจิตรเสนะ มหาราชาองค์สำคัญในประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ

ที่เราเสนอว่า “จิตรเสนะ” (โดยทั่วไปมักเขียนกันว่า “จิตรเสน” แต่เราอยากเน้นให้เห็นว่า “เสนะ” คือชื่อ “โคตร” ทำนองเดียวกับชื่อโคตร “วรมัน” ทั้งชื่อ เสนะ, วรมัน รวมทั้งชื่อ กัมพุช, กัมโพช, อีศาน, ยโสธร, อยุธยา เป็นชื่อเฉพาะที่ยืมจากชมพูทวีปทั้งนั้น ไม่ใช่ชื่อดั้งเดิมของชนพื้นเมือง) มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์มาก เพราะว่า ท่านทำ “ศิลาจารึก” ไว้มากมาย ท่านเป็นผู้ขยายอำนาจจากบุรีรัมย์ สุรินทร์ ขึ้นมาทางที่ราบสูงโคราช ขยายไปทางลุ่มแม่นํ้าป่าสัก ถึงเมืองโบราณศรีเทพ ขยายลงไปทางจันทบุรี (โบราณสถานเมืองเพนียด) อาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เขียนไว้ในบทความเรื่อง “จารึกพระเจ้าจิตรเสน” เกี่ยวกับประวัติความรุ่งเรืองของเจินล่า ว่าระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นช่วงเวลาที่ราชบัลลังก์ของอาณาจักรฟูนันเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เมื่อผู้ครองอาณาจักรสิ้นพระชนม์ พระเจ้ารุทรวรมัน เป็นโอรสที่ประสูติจากพระสนม ได้ราชสมบัติ พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่างจากพระญาติ อื่น ๆ ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย พระเจ้ารุทรวรมันทรงเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรฟูนัน ท่ามกลางความไม่พอใจของพระญาติผู้เป็นทายาทโดยชอบธรรม เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลง พระราชวงศ์ที่คิดว่าเป็นทายาทอันถูกต้องก็น่าจะพยายามช่วงชิงราชสมบัติกลับคืน

ครั้งนั้นพระนัดดาของพระองค์ คือพระเจ้าภววรมันที่ ๑ และพระเจ้าจิตรเสน ทั้งสองพระองค์เลื่อมใสในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย น่าจะได้ร่วมใจรวมกำลังกันช่วยป้องกันราชบัลลังก์ โดยยกกองทัพปราบปรามเมืองต่าง ๆ ภายในอาณาจักรและนอกอาณาจักร ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีหลักฐานว่าพระเจ้าภววรมันที่ ๑ ได้เป็นกษัตริย์

พระองค์พร้อมด้วยพระเจ้าจิตรเสน (มีศักดิ์เป็นพระอนุชา แต่อายุมากกว่า) ทั้งสองพระองค์ได้ร่วมกันยกกองทัพออกจากอาณาจักรฟูนันไปตามลำแม่นํ้าโขง ปราบปรามเมืองต่าง ๆ ในแถบกัมพูประเทศถึงเมืองเศรษฐปุระ ซึ่งเพิ่งจะตั้งตัวเป็นอิสระได้ไม่นานก็ต้องรวมเข้าไปอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าภววรมันที่ ๑ ด้วยวิธีการอันละมุนละม่อม เนื่องจากผู้ครองอาณาจักรเศรษฐปุระขณะนั้น คือ พระนางกัมพุชราชลักษมี เจ้าหญิงผู้สืบเชื้อสายมาแต่พระมารดาของพระเจ้าเศรษฐวรมัน กษัตริย์แห่งเศรษฐปุระ (กัมพูประเทศ) ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้วไม่นาน พระนางกัมพุชราชลักษมีได้อภิเษกกับพระเจ้าภววรมันที่ ๑ และพระนางยกราชสมบัติที่ทรงได้รับสืบทอดมาจากพระเจ้าเศรษฐวรมันให้แก่พระสวามีพระเจ้าภววรมันที่ ๑ ได้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรเจนละ เมืองนี้ตั้งอยู่บนฝั่งด้านทิศเหนือของทะเลสาบใหญ่ในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันห่างจากเมืองกำ พงธมไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๓๐ กิโลเมตร…”

มีหลักฐานปรากฏในจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์สุย ประมาณพุทธศักราช ๑๑๓๒ – ๑๑๖๑ บันทึกไว้ว่า “พระเจ้าจิตรเสนพระองค์นี้ น่าจะได้เผชิญศึกสงครามควบคู่กับพระเชษฐาของพระองค์คือ พระเจ้าภววรมันที่ ๑ เจ้าชายทั้งสองทรงเป็นนักรบผู้แกล้วกล้า ได้ร่วมแรงร่วมใจกันก่อตั้งอาณาจักรเจนละขึ้น โดยยกกองทัพต่อต้านอาณาจักรฟูนัน จนประสบชัยชนะ”

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอีกว่า ในพุทธศักราช ๑๑๔๑ พระเจ้าภววรมันที่ ๑ ยังคงอยู่ในราชสมบัติและในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๒ นี้เอง พระเจ้าภววรมันที่ ๑ กับพระเจ้าจิตรเสน ก็ได้ขยายอาณาจักรทางทิศเหนือออกไปตลอดแนวแม่นํ้าโขงจนถึงปากแม่นํ้ามูล และขยายตามลำนํ้ามูลเข้าไปในเขตภาคอีสานของประเทศไทยปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ขยายอาณาเขตไปทางใต้ตามลำแม่นํ้าโขงไปจนถึงเมืองกระแจะ ส่วนทางตะวันตกก็รุกต่อไปจนพ้นทะเลสาบเขมร การปราบปรามขยายอาณาเขตของอาณาจักรเจนละในช่วงนี้ น่าจะเป็นผลงานของพระเจ้าจิตรเสนแต่เพียงพระองค์เดียว ตามความศิลาจารึกที่บันทึกประกาศชัยชนะเหล่านี้ไว้ ซึ่งอาจหมายความว่า พระเจ้าจิตรเสนคงจะทำหน้าที่รับผิดชอบในด้านการทหาร จนได้ชัยชนะการสงครามทุกแห่ง และทุกครั้งที่ทรงมีชัยชนะก็จะสร้างศาสนสถานไว้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของพระองค์ หรืออาจหมายความว่า พระเจ้าจิตรเสนเมื่อได้ราชาภิเษกเป็นกษัตริย์แล้ว จึงนำกองทัพเดินทัพปราบปรามชาวกัมพูจนได้ชัยชนะการสงครามทุกแห่ง

ในระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือประมาณพุทธศักราช ๑๑๔๒ – ๑๑๕๘ พระเจ้าจิตรเสนได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระเจ้าภววรมันที่ ๑ แต่ไม่มีหลักฐานว่าครองราชย์เมื่อใด ทราบแต่ว่าทรงครองราชย์ถึงพุทธศักราช ๑๑๕๘ และเมื่อพระองค์เป็นกษัตริย์แล้วได้เฉลิมพระนามใหม่ว่า พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน ในโอกาสที่เฉลิมฉลองการอภิเษกเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรเจนละนั้น ก็ได้โปรดให้สร้างศิลาจารึกประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์ไว้ ณ สถานที่ทุกแห่ง ซึ่งพระองค์ทรงกรีฑาทัพมาถึง และประสบชัยชนะในการสงคราม กับได้สร้างศาสนสถานพร้อมด้วยสิ่งสาธารณูปโภค พระราชทานแก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ สังเกตได้ว่าสิ่งที่โปรดให้สร้างขึ้นมิใช่เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของพระองค์เพียงประการเดียว ขณะเดียวกันยังเป็นการเสริมสร้างสิ่งสาธารณูปโภคใหม่ ๆ บังเกิดเป็นความเจริญให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์อีกด้วย

ตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกของพระเจ้าจิตรเสนที่สร้างขึ้นไว้ในสถานที่ต่าง ๆ ทำให้ทราบร่องรอยของอารยธรรมและขอบเขตของอาณาจักรเจนละ ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จะเห็นได้ว่าบริเวณภาคอีสานตอนล่างของประเทศไทยในปัจจุบัน พบจารึกของพระเจ้าจิตรเสนหลายหลักในจังหวัดต่าง ๆ ที่มีพื้นที่ต่อเนื่องมาจากราชธานีเศรษฐปุระ หรือปัจจุบันคือ เมืองนครจำปาสัก ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เริ่มต้นที่ปากแม่นํ้ามูล จังหวัดอุบลราชธานี ล่องตามลำแม่นํ้าเข้ามาถึงปากแม่นํ้าโดมและถํ้าภูหมาไน เขตจังหวัดอุบลราชธานี พบจารึกพระเจ้าจิตรเสนจำนวน ๕ หลัก คือ จารึกปากนํ้ามูล ๑ (อบ.๑ จารึกปากนํ้ามูล ๒ อบ.๒) จารึกวัดสุปัฏนาราม ๑ (อบ.๔) จารึกถํ้าภูหมาไน (อบ.๙) จารึกปากโดมน้อย (อบ.๒๘) แม่นํ้ามูลเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านเข้าสู่ส่วนกลางของภาคอีสาน แล้วแยกเป็นแม่นํ้าสายย่อย ๆ แผ่กระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ เมื่อพระเจ้าจิตรเสนเดินทัพเข้าสู่แม่น้ำมูลนั้น ก็คงจะทรงใช้เส้นทางตามลำแม่นํ้ามูล แล้วผ่านไปตามแม่นํ้าสายย่อย ๆ ที่แยกออกจากแม่นํ้ามูล เช่นไปตามแม่นํ้าเสียว ที่จังหวัดร้อยเอ็ด แยกไปทางลำแม่นํ้าชีที่จังหวัดขอนแก่นและบางทีอาจเข้าไปถึงลุ่มแม่นํ้าป่าสัก ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ กับแยกออกจากแม่นํ้ามูล ไปสู่ลำมาศหรือลำปลายมาศ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และเลยไปตามทิวเขาดงรักต่อทิวเขาบรรทัดที่อำเภอตาพระยาจังหวัดสระแก้ว จากนั้นก็ข้ามเขาต่อไปจนถึงทะเลที่จังหวัดจันทบุรี ดังจะเห็นได้จากหลักฐานจารึกของพระเจ้าจิตรเสนที่พบในเขตพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ดังกล่าว คือ จารึกวัดศรีเมืองแอม (ขก. ๑๕) จังหวัดขอนแก่น, จารึกฐานรูปเคารพแหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน (รอ. ๖) จังหวัดร้อยเอ็ด, จารึกถํ้าเป็ดทองด้านใน (บร.๓) จังหวัดบุรีรัมย์, จารึกถํ้าเป็ดทองด้านนอก (บร. ๔) จังหวัดบุรีรัมย์, จารึกผนังถํ้าเป็ดทอง (บร. ๕) จังหวัดบุรีรัมย์, จารึกช่องสระแจง (บร. ๕) จังหวัดสระแก้ว จารึกพระเจ้าจิตรเสนที่พบแล้วส่วนใหญ่จะอยู่กับโบราณสถานที่เป็นศาสนสถานหรือเทวาลัย ซึ่งสร้างขึ้นตามคติศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย สถานที่ดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สภาพตามธรรมชาติ เช่น ภูเขา ถํ้า คูหา หรือหลืบหิน ใต้หน้าผาบนตลิ่งที่สูงริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งมีชัยภูมิตามผังภูมิของลัทธิศาสนา กับ ได้ตกแต่งเพิ่มเติมพื้นที่บางส่วนให้มีลักษณะสภาพเป็นเทวาลัยอันศักดิ์สิทธิ์…

ข้อความในจารึกของพระเจ้าจิตรเสนทุกหลักล้วนบันทึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต และเนื้อหาในจารึกแต่ละหลักก็เกือบจะเหมือนกัน โดยกล่าวถึงพระราชประสงค์ที่พระเจ้าจิตรเสนโปรดให้สร้างจารึกขึ้นไว้ ตอนต้นข้อความในจารึกจะกล่าวถึงพระราชประวัติของพระเจ้าจิตรเสน ความว่า

พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ทรงพระนามว่าพระเจ้าจิตรเสน เป็นพระโอรสของพระเจ้าศรีวีรวรมัน เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าศรีสารวเภามะและแม้โดยศักดิ์จะเป็นพระอนุชาของพระเจ้าศรีภววรมันแต่ทรงเป็นพระเชษฐา เพราะมีพระชนมายุมากกว่า พระองค์มีนามปรากฏในด้านคุณธรรมแต่ยังทรงพระเยาว์ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ได้รับพระนามอันเกิดจากการอภิเษกว่า พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน

ส่วนข้อความต่อไปจะมีรายละเอียดแตกต่างกันซึ่งมักจะระบุข้อความที่แสดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ พร้อมกับพระราชประสงค์ที่จะสร้างสิ่งต่าง ๆ ว่า เมื่อทรงได้ชัยชนะเหนือชาวกัมพูประเทศแล้ว โปรดให้สร้างรูปเคารพ มีพระศิวลึงค์ หรือรูปเคารพอื่น ๆ ประดิษฐานไว้กับศาสนสถานนั้น เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะของพระองค์ กับให้ขุดบ่อนํ้าอันเป็นสิ่งสาธารณูปโภคไว้ให้แก่ประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ใช้ประโยชน์”

พระเจ้าอีศานวรมัน

กษัตริย์เจินล่าต่อจากพระเจ้าจิตรเสนคือ “พระเจ้าอีศานวรมัน” (ครองราชย์ราว พ.ศ. ๑๑๕๓-๑๑๙๘) ได้ทำสงครามเด็ดขาดกับอาณาจักรฟูนันยึดได้พื้นที่ทางตอนใต้ (ฟูนัน) ควบรวมเป็นอาณาจักรเดียวกัน นับเป็นการสูญสิ้นอาณาจักรฟูนัน และได้สถาปนาศูนย์กลางการปกครองขึ้นใหม่ชื่อว่า อีศานปุระ

 

อีศานปุระ

อีศานปุระ ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จังหวัดกำปงธมทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบเขมร ในระหว่างกึ่งทาง พนมเปญ-เสียมเรียบ ราว ๆ ๑๒๐ กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข ๖ และมีถนนแยกจากตัวจังหวัดกำปงธม ไปอีกราว ๓๕ กิโลเมตร ถนนสายนี้มุ่งไปสู่ “เขาพระวิหาร”

ศูนย์กลางของอีศานปุระเชื่อว่าอยู่บริเวณกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก มีปราสาทสำคัญอยู่ ๓ กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

กลุ่มที่ ๑ กลุ่มปราสาทด้านใต้ หรือกลุ่มปราสาทเนียกปวน (ปราสาทนาคพัน) หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าปราสาทเยียยปวน (ปราสาทยายพัน) ตั้งอยู่ภายในบริเวณที่มีแนวกำแพง

กลุ่มที่ ๒ กลุ่มปราสาทตอนกลาง หรือกลุ่มปราสาทตาว (ปราสาทสิงโต)

กลุ่ม ที่ ๓ กลุ่มปราสาทด้านเหนือ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มปราสาท คือ กลุ่มปราสาทสมโบร์ ศิลปะในกลุ่มปราสาทกลุ่มนี้มีความหลากหลาย นักวิชาการส่วนหนึ่งจึงเห็นว่า บางปราสาทน่าจะเป็นปราสาทที่พวกฟูนันเดิมก่อสร้างขึ้นก่อนที่พระเจ้าอีศานวรมันจะมาสร้างเมืองทับซ้อนขึ้น (เมืองเดิมคือ “นครพลทิตยปุระ” ของกษัตริย์เชื้อสายฟูนัน)

“พื้นที่บริเวณโดยรอบปราสาทสมโบร์ไพรกุก ที่กำหนดไว้เป็นเขตโบราณสถาน มีขนาดความกว้าง ๖ ตารางกิโลเมตร ความยาว ๖ ตารางกิโลเมตร จากเดิมมีการสำรวจพบปราสาทจำนวน ๑๗๙ หลัง แต่ในปี  ๒๕๕๑ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากคณะสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยวาซาดะ ประเทศญี่ปุ่นได้สำรวจใหม่พบว่ามีปราสาทมากถึง ๒๘๐ แห่ง ปราสาทส่วนใหญ่ชำรุดพังทลายหมดแล้ว คงเหลืออยู่เพียง ๖๔ แห่ง ที่สามารถเที่ยวชมได้โดยมีกลุ่มปราสาทที่ตั้งห่างออกไปประมาณ ๒-๓ กิโลเมตร อาทิ กลุ่มปราสาทกรอลโรเมียะ ปราสาทเสร็ยกรุปเลียะ ปราสาทตามอน ปราสาทดอนโมง ปราสาท ตรอเปียงโรเปียะ ปราสาทฤาเชยโรเลียะ ปราสาทขนายตวล ปราสาทปรึง ปราสาทตึกสอมปอต (บองออดหรือมารอต) ปราสาทเคนียสาต ปราสาทเปือดเนียะไซ ปราสาทเลียงเปรียะ ปราสาทโลกเยียย ปราสาทจะเรียว ปราสาทอันลวงด็อมไร อันลวงปราสาท ปราสาทแซนเวียง ปราสาทตาดง ภูมิปราสาทปราสาทเกาะสวาย ปราสาทพหูด กลุ่มปราสาทพนมบาเรียง ปราสาทด็อมแดก ปราสาทโก ปราสาทบั๊วะเรียบ และปราสาทเจิญจองกอ เป็นต้น” (วิกิพีเดีย : ภาษาไทย)

นอกจากกลุ่มปราสาทหลักทั้ง ๓ กลุ่มที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกลุ่มปราสาทขนาดย่อยอีกมากมายในป่าลึกทึบที่เคยเป็นดินแดนเปี่ยมล้นด้วยศรัทธาความเชื่อทางศาสนา

ชื่อ “อีศานปุระ” รู้จักกว้างขวางไปถึงจีนและอินเดีย ดังบันทึกของภิกษุจีนเฮี้ยนจัง (Hiuantsang) พระจีนสมัยราชวงศ์ถังผู้จาริกไปศึกษาพุทธศาสนาในอินเดีย (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ) บันทึกว่า “โถโลโปติ” เป็นชื่อของอาณาจักรหนึ่งตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรศรีเกษตร (พม่า) และอาณาจักรอีศานปุระ (กัมพูชา)

นักท่องเที่ยวชาวไทยตื่นเต้นกับนครวัด นครธม มาก เรื่องนี้เป็นที่เข้าใจได้ แต่ถ้าลองจินตนาการว่า เมืองอีศานปุระซึ่งเก่าแก่กว่านครธมยิ่งกว่าทวด ยิ่งกว่าเทียด เป็นรากเหง้าต้นเค้าของศิลปะนครวัด การที่ท่านได้ท่องอดีตย้อนไปที่อีศานปุระ จึงมีความหมายยิ่งใหญ่ได้ขยายพรมแดนความรับรู้ออกไปอีก

Related Posts

เลือกได้ตามใจเธอ
ชาดกเรื่องพระโสณะและพระนันทะเลี้ยงดูบิดามารดา
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๘)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com