บทนำ ฉบับ “ฟ้าใหม่”

                [วารสารรายเดือน “วรรณศิลป์”  ฉบับที่ ๑, มิถุนายน ๒๕๑๘]

ส่วนหนึ่งของสมาชิกแผนกวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 นักคิดนักเขียนที่มีความคิดก้าวหน้าคนหนึ่ง ให้ความหมายของศิลปไว้ว่า ศิลป คือผลิตกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนถ่ายความจัดเจนในทางสร้างสรรค์ที่ได้รับจากการต่อสู้ของชีวิต ทั้งในทางธรรมชาติและทางสังคม  ทั้งนี้โดยสะท้อนถ่ายออกมาในแง่ความงาม แนบแน่นกับความเป็นจริง มีความตรึงตราและง่ายในระดับที่ประชาชนส่วนข้างมากสามารถชื่นชม และเข้าใจได้ อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาที่มันถือกำเนิดขึ้นมา

 ความจัดเจนจากการต่อสู้ทางธรรมชาติได้แก่ การทำงาน เช่น สร้างบ้าน ตึก ปลูกข้าวโพด ดำนา  ส่วนการต่อสู้ทางสังคมได้แก่ การต่อสู้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เช่น การขับไล่จักรพรรดินิยมอเมริกาที่เหยียบย่ำเอกราชและพยายามชักนำให้เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวในสงคราม การผลักอกอันธพาลที่มาลวนลามคนรักเรา  การสะท้อนถ่ายจะต้องสร้างสรรค์มิใช่ทำลาย  เมื่อพูดถึงปัญหาจะต้องมองเห็นทางแก้ปัญหา ไม่ใช่ผูกคอตาย  พูดถึงการคอรัปชั่นจะต้องมองเห็นว่า ทำอย่างไรจึงจะลดการคอรัปชั่นให้หมดไปในที่สุดได้ มิใช่มองแค่ว่าการคอรัปชั่นมีมานานก็คงมีต่อไป หรือปัญหาโสเภณีก็เช่นกัน

 ทั้งหมดนี้พูดได้สั้น ๆ ว่า ศิลปะเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน เมื่อได้ยินคำนี้ ผู้ (อ้าง) ใฝ่เสรีบางคนจะบอกว่าแห้งแล้งมีแต่การเมือง นั่นแสดงถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับศิลป  ศิลปเพื่อชีวิตที่เรามองเห็นว่าเน้นด้านการเมือง เนื่องจากการต่อสู้ทางสังคมของมนุษย์ทุกวันนี้กลไกสำคัญอยู่ที่การเมือง ของแพง รถเมล์แน่น ข้าวเปลือกถูก เพราะกลไกการเมืองอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียวที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ร่ำรวยพอที่จะมีเงินตั้พรรคการเมือง ซื้อตัว สส. เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็หาทางถอนทุนตามหลักธรรมดาของการค้า

 ศิลปเพื่อชีวิตมิได้ตีกรอบแคบอยู่เพียงประเด็นการเมือง แต่กว้างขวางครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมมนุษย์ การเขียนถึงคนรักก็เป็นศิลปเพื่อชีวิต หากเป็นการสะท้อนถ่ายอย่างสร้างสรรค์ รู้ว่าความรักเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นธรรมชาติ ความอ่อนหวาน  แต่ถ้าพูดถึงคนรักว่าอยากให้โลกนี้มีเธอและฉันเท่านั้นเป็นพอ เป็นการสะท้อนถ่ายอย่างทำลายเพราะทำให้คนเห็นแก่ตัว นำไปสู่ความคิดเอาเปรียบผู้อื่น  เท่ากับส่งเสริมการขูดรีดโดยกวีเองก็ไม่เจตนา จึงไม่ใช่ศิลปเพื่อชีวิต  ส่วนจะเรียกเป็นศิลปน้ำเน่า ศิลปหาผัวหาเมียนั้นแล้วแต่กรณี

 ศิลปเพื่อชีวิตเพื่อประชาชนแม้จะกว้างขวางแต่หาได้ลึกลับ ยิ่งศึกษาจะยิ่งพบความจริง ศึกษาจากเพื่อนมนุษย์ จากความเคลื่อนไหวในสังคมที่ตนสังกัดอยู่อย่างไม่มีอคติ

 เมื่อสังคมที่เป็นอยู่มีสภาพไม่น่าพอใจ มีคนยากจนมากขึ้นทุกวัน ศิลปินย่อมมองเห็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า และสะท้อนถ่ายออกมาในงานของตนอย่างมีชีวิตชีวา.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com