มูลนิธิทางอีศาน

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ ทางอีศาน 58
Column : Editorials

ด้วยสำนึกรักบ้านเกิด จิตวิญญาณแห่งเผ่าพันธุ์ วิถีอิสรชน จิตอาสา หรืออาจมองเห็นทางออกทางรอดของชีวิตของครอบครัวของสังคม วันนี้จึงปรากฏบุคคล กลุ่มบุคคล ครูบาอาจารย์ พระสงฆ์องค์เจ้า จิตรกร ศิลปิน และนักวิชาการอิสระ ฯลฯ ได้ตั้งหลักปักฐาน สร้างงานสร้างอาชีพ สร้างทางเลือกใหม่ ๆ บนผืนแผ่นดินถิ่นเกิดมากขึ้น

ปัจเจกบุคคลและกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นในสังคม ได้บุกเบิกงานพัฒนาที่ต่างออกไปจากกรอบความคิดเก่า ทุ่มเท เกาะติดประสานตนกับปัญหาสังคมที่หมักหมมมายาวนาน ไม่ว่าจะเรื่องที่ดิน สิ่งแวดล้อม สารเคมี ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งนํ้า ระบบการศึกษา กระบวนการยุติธรรม ราคาผลผลิต การพัฒนาโบราณสถานโบราณวัตถุ สร้างแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ จนถึงเรื่องราวปัญหาระดับนโยบาย ทิศทางการพัฒนาประเทศโดยองค์รวม ทำให้สังคมเคลื่อนเปลี่ยนโดยมีความถูกต้องดีงามถ่วงสมดุล

วันที่เมืองสยามเปิดประตูสู่โลกอารยะเมื่อศตวรรษที่ผ่านมา ขอบขัณฑสีมาของประเทศทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์เคลื่อนย้ายไปมาจนตั้งมั่น และเมื่อรวมตัวกันเป็นรัฐชาติ ภาคอีสานของเรามีนักการเมืองผู้เปี่ยมคุณธรรมห้าวหาญและเสียสละ มีบทบาทเป็นกลุ่มนำในรัฐสภา เรามีนักคิดนักเขียนเข้าร่วมต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม เรามีชาวบ้านร้านถิ่น กรรมกร ชาวไร่ชาวนา ลุกขึ้นทวงสิทธิเสรีประชาธิปไตย แม้ภายใต้โครงครอบอำนาจรัฐโบราณ และกำลังเผด็จการสายธารธรรมได้ถูกขัดขวางทำลายไป แต่เชื้อมูลความดีแห่งวีรภาพของบรรพชนเหล่านั้นยังถูกรื้อฟื้นศึกษา เทิดทูน และสืบสาน และยังเกิดขบวนการประชาชนระลอกแล้วระลอกเล่า ปัจจุบันพวกเขาเหล่านั้นยังร่วมทุกข์สุขต่อสู้อยู่ร่วมกับมวลชน

เริ่มต้นพุทธศักราช ๒๕๖๐ ขั้วมหาอำนาจโลกกำลังปรับตัวเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ในโลกยุคใหม่สงครามการสู้รบเปิดเผยและสงครามเย็นยังเข้มข้นสภาพภายในประเทศยังมองไม่เห็นความสดใสเรืองรอง พวกเรากำลังพากันก้าวเดินอย่างไร้ทิศทาง อภิสิทธิ์ชนและพลังอำนาจนิยมยังแผ่เงาทมึน

โลกยุคล่ามนุษย์ไปเป็นทาส ยกกองทัพไปยึดครองเมืองขึ้น ใช้อำนาจทางเศรฐกิจไปมีอิทธิพลครอบงำ ควรหมดสิ้นไปแล้ว ประเทศที่รวมศูนย์อำนาจ สูบรีดโภคทรัพย์ส่วนเกินเข้าไปไว้ส่วนกลางกำหนดนโยบายโดยไม่รู้จักและสอดคล้องกับท้องถิ่น ข้ารัฐการโกงกินทั้งตามนํ้าและใต้นํ้ากันมโหฬาร สภาพเช่นนี้ถ้ายังดำรงอยู่จะศรีวิไลได้อย่างไร

ท่ามกลางการมุ่งมั่นทำงานของบุคคลและองค์กรต่าง ๆ เพื่อความเจริญสถาพรของประเทศมูลนิธิทางอีศานคือองค์กรที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม มีหน้าที่เชื่อมร้อย และเสริมการทำงานขององคาพยพต่าง ๆ ให้บรรลุภารกิจ โดยมีนิตยสารทางอีศานทำหน้าที่สื่อสารสนเทศ สร้างวัฒนธรรมการอ่านการเขียน เติมพลังความมีชีวิตชีวา ประกอบส่วนสร้างสังคมด้วยเหตุผลและปัญญา

ด้วยจิตคารวะ
บรรณาธิการอำนวยการ
ปรีดา ข้าวบ่อ

Related Posts

ตํานานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง (๒)
ประวัติศาสตร์จากสาเกเชื่อม
ศาสนาวานนี้ วันนี้ และวันหน้า
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com