# จากสาธารณรัฐสู่จักรวรรดิโรมัน
การรบที่ Alesia ตะวันออกเฉียงเหนือ “ฝรั่งเศส” แถบ “บูร์กุนดี” ในปัจจุบัน เป็นการรบครั้งใหญ่สุดและสำคัญ ที่ซีซาร์สามารถปราบชนเผ่าเยอรมานิกที่นำโดย Vercingetorix ที่รวมพลสู้กองทัพโรมัน ซีซาร์ล้อมเมืองไว้ สร้างกำแพงไม้ล้อมรอบ ไม่ให้ใครเข้าออกจนชาวเมืองหิวโหยและหมดกำลัง
กองกำลังน้อยโกลัวส์ตีฝ่าวงล้อมออกไปได้เพื่อไปขอกำลังจากเผ่าต่าง ๆ มาช่วย ซีซาร์สร้างกำแพงอีกชั้นหนึ่งล้อมวงนอกไว้ ยาวถึง 16 ก.ม. จนที่สุด แม้ว่ากองทัพชนเผ่ามีกำลังมากมาสมทบก็แพ้กองทัพโรมัน ผู้นำถูกจับ และเมื่อมีการฉลองชัยชนะของซีซาร์อย่างยิ่งใหญ่ที่โรม หลังจากที่เขา “ยึดอำนาจ” โรมแล้ว Vercingetorix ก็ถูกสังหารเป็นการฉลอง วันนี้ยังมีรูปปั้นของเขายืนตระหง่านที่บูร์กุนดี ผู้คนยังรำลึกถึงเขาในฐานะฮีโร่
เมื่อซีซาร์ถูกวุฒิสภาสั่งให้กลับโรม “คนเดียว” เพื่อรับโทษที่ทำการรบอย่าง “ผิดกฎหมาย” เขาก็นำกองทัพกลับมา แม้โรมจะมีแม่ทัพใหญ่อย่างปอมเปย์ ที่เคยเป็นเพื่อนกับซีซาร์ และเป็น “ลูกเขย” อีกด้วย ปอมเปย์นำทัพออกไปตั้งรับรบกับซีซาร์ แพ้ หนีไปกรีก ซีซาร์ตามไปเกิดการรบสู้ครั้งใหญ่ที่ปอมเปย์แพ้อีก
ปอมเปย์หนีไปอเล็กซานเดรีย ที่เคยเป็นพันธมิตรกับตน แต่ถูกหักหลัง ถูกฆ่าตายจากกองกำลังอิยิปต์ของกษัตริย์ปโตเลมี ซีซาร์ติดตามไปถึงอเล็กซานเดรีย ได้พบรักกับคลีโอพัตรา จนมีลูกคนหนึ่งชื่อ Caesarion เขาช่วยให้คลีโอพัตราได้ขึ้นเป็นพระราชินี แย่งบัลลังก์จากน้องชายที่ยังเด็ก ปโตเลมีรวมพลสู้ แต่ก็แพ้ซีซาร์แม่ทัพที่ปราบมาทั่วทิศแล้ว การรบนั้นมีส่วนที่ทำให้ห้องสมุดใหญ่สุดถูกเผา หนังสือจำนวนมากเสียหายไปด้วย
จากนั้น ซีซาร์ก็จัดการกับศัตรูคนสุดท้ายจากโรม คือ Cato ที่หลบไปอยู่แอฟริกา Cato แพ้และฆ่าตัวตาย ซีซาร์ชนะสงครามกลางเมืองอย่างเด็ดขาด กลับโรมอย่างยิ่งใหญ่ บังคับให้วุฒิสภาแต่งตั้งเขาเป็น “เผด็จการ” 10 ปี แต่ไม่นานเขาก็ประกาศเป็นเผด็จการตลอดชีวิต นั่นคือจุดจบของการยึดอำนาจ เพราะถูกวุฒิสมาชิกรุมฆ่ากลางวุฒิสภาโรมันในปี 44 ก่อนค.ศ.
# กำจัดเผด็การได้แต่กำจัดระบอบเผด็จการไม่ได้
สิ้นจูเลียส ซีซาร์ ก็มีการแย่งชิงอำนาจ ซีซาร์ยกมรดกให้หลานของน้องสาวที่เขารับเป็นบุตรบุญธรรม คือ ออกตาเวียส (Octavius) ซึ่งอายุเพียง 19 ปี แต่เฉลียวฉลาด มีการศึกษาดี มีวาทศิลป์ มองการณ์ไกล สามารถสู้กับมาร์ค แอนโทนี และลาปิเดส สองผู้นำทางทหารได้
แม้มาร์ก แอนโทนี จะยึดอำนาจ และเป็นคนของประชาชน แต่ในงานศพของซีซาร์ ออกตาเวียสปลุกระดมประชาชนที่ยังรักซีซาร์ให้โกรธแค้นและลุกฮือจลาจล จนคาสซีอุสกับบรูตุสที่เป็นหัวหอกในการสังหารซีซาร์ต้องหนีไปทางตะวันออก
การฆ่าซีซาร์ไม่ได้ทำให้สาธารณรัฐกลับมา เพราะซีซาร์เป็นคนของประชาชน ที่พร้อมจะรับ “เผด็จการ” ที่อยู่ข้างพวกเขา มากกว่าที่จะรับวุฒิสภาและผู้แทนที่ฉ้อฉลอำนาจ ทหารเก่าของซีซาร์ยังรำลึกถึง “นาย” และอยู่ข้างออกตาเวียส สนับสนุนให้คนนี้สืบทอดอำนาจ ออกตาเวียสจึงยกทหารเข้ากรุงโรม บังคับให้วุฒิสภาตั้งเขาเป็น “กงสุล” อีกคนหนึ่ง เคียงข้างมาร์ก แอนโทนี ที่เป็นกงสุลอยู่แล้ว
ออกตาเวียสเห็นว่า ยังไม่ควรทำสงครามกลางเมือง จึงหันไปดีกับมาร์ก แอนโทนี ขึ้นบัญชีคนที่ต่อต้านพวกเขาติดไว้ที่กำแพง กำจัดผู้ดีชั้นสูงอภิสิทธิ์ชน 2,000 คน และวุฒิสมาชิก 300 คน หนึ่งในนั้น คือ ชิเชโร จากนั้นก็ไปจัดการกับสองคนที่หนีไปกรีก รบกันครั้งใหญ่จนจัดการทั้งสองคนได้ราบคาบ
สามคน (ออกตาเวียส มาร์ก แอนโทนี และลาปิเดส) แบ่งดินแดนกันดูแล ออกตาเวียสได้อิตาลีและสเปน ลาปิเดสได้แอฟริกาเหนือ ส่วนมาร์ก แอนโทนี ได้ฝรั่งเศสและดินแดนตะวันออกทั้งหมด นับเป็นความโลภของมาร์ก แอนโทนี ที่เอาเปรียบอีกสองคน ซึ่งที่สุด ลาปิเดสก็ถูกกำจัดไป เหลือเพียงสองคน
มาร์ก แอนโทนี ไปอิยิปต์ ที่อเล็กซานเดรีย เขาหลงรักคลีโอพัตรา และอยู่ที่นั่นหลายปี มีลูกกัน 3 คน นับเป็นความรักที่ถูกนำมาเป็นภาพยนตร์มากที่สุดเรื่องหนึ่ง ขณะนั้น ออกตาเวียสมีอำนาจบารมีมากขึ้นจึงหาวิธีกำจัดมาร์ก แอนโทนี ด้วยวาทศิลป์ปลุกระดมวุฒิสมาชิก ทำให้เห็นว่า มาร์ก แอนโทนี ไม่ใช่ชาวโรมันแล้ว แต่เป็นคนอิยิปต์ เพราะไม่ได้กลับมาโรมหลายปี แต่งงานกับ Octavia พี่สาวของออกตาเวียส ทิ้งลูกเมียไปอยู่กับราชินีอิยิปต์ ไม่ควรยอมรับผู้นำนี้ ควรกำจัดเขาเสีย ซึ่งวุฒิสภาก็เห็นด้วย
สงครามกลางเมืองเกิดขึ้นอีก รบกันระหว่างกองทัพจากโรมกับของกองกำลังของมาร์ก แอนโทนี และของคลีโอพัตรา มาร์ก แอนโทนี แพ้และฆ่าตัวตายพร้อมกับคลีโอพัตรา ซึ่งตำนานบอกเล่าแตกต่างกัน
ออกตาเวียสเป็นจักรพรรดิ 45 ปี มีอำนาจเด็ดขาดสูงสุด แต่ก็ไม่ได้ยุบวุฒิสภาและรักษาโครงสร้างระบบโรมัน เพียงแต่เขาอยู่เหนือทุกภาคส่วนเท่านั้น เป็นการสิ้นสุดสาธารณรัฐโรมันอันยิ่งใหญ่ 500 ปี และเข้าสู่ยุคจักรวรรดิอีก 500 ปี จบ SPQR วุฒิสภาและประชาชนโรมัน
ออกตาเวียนเป็นจักรพรรดิในนาม Cesar Augustus ที่เป็นจักรพรรดิองค์แรก ผู้ปฏิเสธที่จะเป็น “กษัตริย์” เพื่อรักษาระบบการเมืองเดิมส่วนใหญ่ไว้ มีชื่อเสียงว่ามีคุณูปการมากมายต่อจักรวรรดิโรมัน เป็นคนไม่โลภไม่หลงในทรัพย์สินเงินทองกามเกียรติ ไม่ฉ้อฉล มีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นที่รักของประชาชนพลเมืองโรมัน ที่เขาคืนทรัพย์สิน ที่ดินที่ถูกผู้ดีมีศักดิ์ยึดไป
ผู้คนจดจำผลงานของเขา อย่างหนึ่งที่ฝากไว้ให้โลกวันนี้ คือ ชื่อของเขาที่กลายเป็นเดือนสิงหาคม (August) ขณะที่ชื่ออื่นก็เปลี่ยนเดือนที่ห้าในปฏิทินโรมันเป็นเดือน July (กรกฎาคม) ตามชื่อของ Julius Cesar
(เมื่อก่อนมี 10 เดือน เพิ่มอีก 2 เดือน คือ มกราคม กุมภาพันธ์ ก่อนนั้นปีจะเริ่มจากมีนาคม ซึ่งมีความหมายและความเป็นมา เดือน September คือเดือนที่ 7 เดือน October เดือนที่ 8 เดือน November คือเดือนที่ 9 และ December คือเดือนที่ 10 ซึ่งทั้งหมดมาจากตัวเลขภาษาละติน)
# จักรพรรดิคอนสตันตินกับศาสนาคริสต์
จากรัชสมัยของจักรพรรดิ Augustus มีจักรพรรดิอีก 70 องค์ มีดีมีร้าย ที่โด่งดังก็มีนีโรที่เป็นเหมือนคนโรคจิต จนมีการบอกว่า เขาเป็นคนเผากรุงโรมเองเพื่อจะได้สร้างใหม่อย่างที่ตนเองจินตนาการ และได้เบียดบังเงินทองจากประชาชน จากวัดโบสถ์สถานศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนไปทำบุญ เอามาสร้างตึกรามสถานที่และบำรุงบำเรอตนเอง จนถูกวุฒิสภา “ปฏิวัติ” ขับออกจากตำแหน่ง เขาต้องหนีลี้ภัยและฆ่าตัวตายในที่สุด
มีการยกย่องจักรพรรดิโรมัน 5 พระองค์ นอกจาก Augustus (63 BC-14 AD) ก็มี Trajan 98 – 117 AD ยุคที่จักรวรรดิโรมันกว้างใหญ่ที่สุด Hadrian 117 – 138 AD Marcus Aurelius 161 – 180 AD และ Aurelian 270 – 275 AD ไปกรุงโรมอาจจะได้ยินชื่อเหล่านี้ในสถานที่ต่าง ๆ
ในยุคจักรพรรดิทรายาน (Trajan 98-117) จักรวรรดิโรมันมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุด ทางเหนือไปถึงสก็อตแลนด์ ทางใต้ถึงแอฟริกาเหนือ ทางตะวันออกไปถึงเมโสโปเตเมีย นับเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของจักรวรรดิโรมัน ที่มีผู้นำที่เก่งและดีอย่างจักรพรรดิทรายาน ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นจักรพรรดิโรมันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
อย่างไรก็ดี เพราะความกว้างใหญ่ไพศาลของจักรวรรดิ และการเติบโตของบรรดาเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ที่เคยเร่ร่อน แข็งแกร่งขึ้นจนกองทัพโรมันไม่อาจจะปราบได้ และไม่สามารถควบคุมหรือยึดครองอาณาจักรได้ทั้งหมด ในปี 285 จักรพรรดิ Diocletian ได้แยกจักรวรรดิโรมันเป็นสองส่วน ตะวันออกและตะวันตก และมีจักรพรรดิหนึ่งองค์บ้าง สององค์บ้างที่แยกกันปกครอง
ในปี 313 จักรพรรดิคอนสตันติน (Constantine) ถือว่าเป็นจักรพรรดิทางตะวันออก ลิชินีอุส (Licinius) ทางตะวันตก ต่อมาในปี 324 คอนสตันตินโค่นอำนาจจักรพรรดิลิชินีอุส หาว่าเป็นทรราช เป็นจักรพรรดิแต่เพียงผู้เดียว และเป็นผู้ไปก่อตั้งเมืองหลวงใหม่ของจักรวรรดิโรมันที่เมืองคอนสตันติโนเปิล (อิสตันบูลในตุรกีปัจจุบัน)
คอนสตันตินเป็นจักรพรรดิระหว่างปี 306-337 เมื่อรบสงครามกลางเมืองชนะ เขาก็ประกาศคืนทรัพย์สิน ที่ดิน ของประชาชนที่ถูกยึดไป บอกว่า “คืนศักดิ์ศรีและเกียรติให้ชาวโรมัน”
คอนสตันตินมีน้องสาวที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งขณะนั้นได้แพร่เข้าไปในโรมและอาณาจักรโรมันมากแล้ว เพียงแต่ในกลุ่มคนระดับล่าง ประชาชนทั่วไป หรือทาส ไม่มีคนชั้นสูงที่ดูถูกว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาของพวกยิว พวกกรีก ของเชลย ของทาส
แต่ด้วยอิทธิพลของน้องสาวทำให้ผู้นำศาสนาคริสต์ได้เข้าไปใกล้ชิด และชักนำให้คอนสตันตินเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ และประกาศยอมรับนับถือเมื่อปี 312 โดยมีตำนานเล่าเรื่องอัศจรรย์บนฟ้าที่ทำให้เขา “กลับใจ” ซึ่งยังความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับวุฒิสภา คนชั้นสูงที่ประณามว่าเขาละเมิดเทพเจ้าของโรมัน เกิดสงครามกลางเมืองโดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แต่คอนสตันตินก็ชนะการรบและรอดจากการถูกลอบสังหาร
ในปี 325 จักรพรรดิคอนสตันตินได้ให้มีการประชุมสังคายนานิเชอาครั้งที่ 1 ซึ่งนำเอาบรรดาพระสังฆราช ผู้นำศาสนาคริสต์จากทั่วราชอาณาจักรมาประชุม เพื่อ “ชำระ” ข้อคำสอนสำคัญของพระศาสนจักร
ศาสนจักรคริสต์ในอาณาจักรโรมันตะวันออก หรือที่มีชื่อว่าจักรวรรดิบิซันติน ตั้งแต่ปี 330 ส่วนใหญ่เป็นนิกายออร์ธอด็อกซ์ มักมีความแย้งการตีความหลักธรรมคำสอนกับโรมันตะวันตกอยู่หลายครั้ง จนในปี 1054 สองนิกายก็แยกจากกันจนถึงวันนี้
อาณาจักรบิซันตินคงสืบทอดอำนาจของจักรพรรดิต่อกันมาจนถึงสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ในปี 1204 ที่กรุงคอนสตันติโนเปิลถูกยึดโดยชาวมุสลิม และที่สุดก็จบลงจริงเมื่อปี 1453 เมื่อถูกครอบครองจากจักรวรรดิออตโตมาน และเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามเกือบทั้งหมด ยังเหลือที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ธอด็อกซ์อยู่ในกรีก รัสเซีย และยุโรปตะวันออกบ้างเท่านั้น
“เสรี พพ” 17 มิ.ย. 2021