#บทเรียนชีวิต (บทที่ ๒) ฉบับที่ ๑๐ ญาติพี่น้อง

#บทเรียนชีวิต (บทที่ ๒)

ภาพโดย “ดุษฎี ปัญญา”

ฉบับที่ ๑๐ ญาติพี่น้อง

ลูกรัก

พูดถึงญาติทางปู่จำนงค์ไปแล้ว ทางด้านของย่าคำปุนนั้น ญาติพี่น้องของทวดหนูนาที่สกลนครมีมากก็จริง แต่เราก็ไม่ได้สนิทกับใคร เพราะไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือติดต่อกันมาตั้งแต่ต้น เคยมี พล.ต.ต.ชาติชาย อุปพงษ์เท่านั้น เพราะนามสกุลอุปพงษ์กับศรีวรกุลเป็นลูกหลานเจ้าเมืองสกลนครเหมือนกัน

ที่ย่าคำปุนเล่าให้พ่อฟังคือดังนี้ ทวดหนูนามีพี่น้องหลายคน น้องสุดท้อง คือ ทนายเขียน อุปพงษ์ ซึ่งแต่งงานกับนางกอแก้ว พี่สาวของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร มีลูกสองคน คือ นายฉวี อุปพงษ์ กับนายสำลี อุปพงษ์ นายฉวีคือพ่อของคุณพ่อสมพร อุปพงษ์ คุณพ่อหนุ่มที่ใครๆ ก็เคารพนับถือมาก เสียดายว่าท่านเสียชีวิตหลายปีก่อน

เมื่อนางกอแก้วถึงแก่กรรม ทนายเขียนแต่งงานกับนางบัวเสี้ยน มีลูกด้วยกัน 4 คน หนึ่งในนั้นคือ พล.ต.ต.ชาติชาย อุปพงษ์ ถ้านับญาติก็แปลว่า พล.ต.ต.ชาติชาย เป็นลูกพี่ลูกน้องกับตาของพ่อ พ่อเคยไปพบท่านตอนที่ท่านเป็นหัวหน้าหรือผู้อำนวยการกองตำรวจจราจร พอดีไปทำใบขับขี่นานาชาติ เลยแวะไปสวัสดีท่าน

แม่เล่าว่า ทนายเขียนเป็นคนพาพี่สาว (นางหนูนา) หนีไปท่าแร่ ทนายเขียนรับราชการเป็นปลัดอำเภอ ต่อมาลาออก ทำงานเป็นทนายความอย่างเดียว ได้รับศีลล้างบาปเป็นคริสต์ ศพของท่านฝังที่สุสานที่ท่าแร่ พ่อยังไปแวะสวดให้ท่านเลย เพราะหลุมศพอยู่ไม่ไกลจากของนางหนูนาและนายหนู พี่สาวและพี่เขยท่านเท่าใดนัก

ตามที่พ่อเคยเล่าตั้งแต่ต้น แต่คงสับสนจนลืมไปว่า ทวดหนูและหนูนานั้นมีลูก 9 คน ตาของพ่อ คือนายเฮียนเล็ก แต่งงานกับนางทองจันทร์ หรือบาฝ้าย มีลูกสองคน คือ ลุงฝ้ายกับนางคำปุน แม่ของพ่อหรือย่าของลูกนั่นแหละ

น้อง 8 คนของตานั้น พ่อรู้จักสนิทด้วยไม่มากนัก เพราะท่านเหล่านั้นส่วนใหญ่ถึงแก่กรรมหรือไม่ได้อยู่ที่ท่าแร่ ลูกหลานบาเปียงอยู่ดงมะไฟ ห่างออกไปจากท่าแร่ประมาณ 40 ก.ม. ทางไปอุดรฯ ที่สนิทก็มีคุณพ่อศรีนวลและคุณพ่อคำจวน เพราะเป็น “คุณพ่อ” ด้วยกัน และคนสุดท้อง ยายจูมมาลี คำศรี ที่อยู่บ้านหิน ที่วันนี้เหลืออยู่ไม่มาก มีต้นไทรขึ้นตามกำแพง เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของท่าแร่ไปแล้ว

นามสกุลศรีวรกุลจริงๆ มาจากสายนี้ คนอื่นๆ ไปขอคุณพ่อศรีนวลร่วมใช้นามสกุลนี้ ท่านก็ยินดีให้ใช้ อย่างไรก็ดี นายกเทศมนตรีตำบลท่าแร่ที่ชื่อว่า ดร.พงษ์ศักดิ์ ศรีวรกุล นั้นเป็นคนในตระกูลนี้ และมีคนอื่นๆ ที่วันหนึ่งคงจะได้เห็นในพิพิธภัณฑ์ชุมชนอย่างแน่นอน

เมื่อหลายเดือนก่อน พ่อไปงานศพพี่สุเพียร คำศรี ลูกชายคุณยายจูมมาลี น้องสาวคนสุดท้องของตาของพ่อ คือตาเฮียน ได้รู้จักกับลูกๆ ของพี่เขา ที่เคยเป็นเณรที่ท่าแร่ด้วย เขารุ่นก่อนพ่อ อายุมากกว่าหลายปี ได้พบลูกของเขาหลายคน คนหนึ่งเรียนจบปริญญาเอก มีอาชีพเป็นทนายความ

ลูกสาวคนหนึ่งแต่งงานกับคนใต้ชาวคีรีวง นครศรีธรรมราช ก่อนถึงแก่กรรม พี่สุเพียรเคยไปพักอยู่กับลูกสาวที่คีรีวงหลายปี พ่อเคยโทร.ไปคุยกับเขาและกับลูกสาวเขา ได้พบกันรู้จักกันที่งานก็ดีใจ วันก่อนเห็นออกรายการทีวี ชวนเที่ยวคีรีวง ของคุณเจนนิเฟอร์ คิ้ม

คีรีวงเป็นหมู่บ้านในหุบเขาหลวงที่มีชื่อเสียง คนไทยรู้จักดีเพราะเป็นที่ที่ว่ากันว่ามีอากาศดีที่สุดในประเทศไทย มีภูมิประเทศสวยงามเหมือนสวิตเซอร์แลนด์ หมู่บ้านที่มูลนิธิหมู่บ้านที่พ่อก่อตั้งและทำงานเป็นผู้อำนวยการเคยลงไปทำวิจัยช่วยชาวบ้าน และสนิทกับชาวคีรีวงมาก

ลูกคงจำลุงตรีวุธกับป้านอมได้ เราไปพักที่บ้านของเขาที่ใกล้ๆ ท่าหา ลำธารที่มีน้ำเป็นแอ่งใหญ่ มีปลามากมายทางที่จะขึ้นเขา ป้านอมทำอาหารใต้ให้เราทานอร่อยมาก ลุงตรีวุธพาเราไปเที่ยวในเมืองนครฯ ไม่กี่ปีหลังจากนั้น ลุงตรีวุธก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจ

ตอนหลังนี้คีรีวงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ นักท่องเที่ยวเข้าไปมากจนทำให้สิ่งแวดล้อมมีปัญหา เห็นว่ามีความพยายามจากทั้งทางราชการและทางชุมชนเองเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว การท่องเที่ยวทำให้เศรษฐกิจดีก็จริง แต่ทำลายสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันก็น่าเสียดาย กลายเป็นการท่องเที่ยวไม่ยั่งยืน

กลับไปพูดถึงบรรพบุรุษ ต้นตระกูลศรีวรกุล พ่อมีหนังสือหลายเล่มที่บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับลูกหลานพระยาประจันตประเทศธานี หรือท้าวโง่นคำ เจ้าเมืองคนแรกของสกลนคร ต้นตระกูลพรหมสาขา ณ สกลนคร ลูกหลานได้ทำไว้อย่างดี มีข้อมูลที่เต็มไปด้วยรายชื่อรายละเอียดของสายต่างๆ ทั้งสายตรง สายเกี่ยวดอง จนตาลาย เห็นชื่อของทวดหนูกับทวดหนูนา และลูกๆ ด้วย

ในกรณีที่เราเกี่ยวดองกับพระอาจารย์ฝั้น ที่ผู้คนเคารพนับถือมากนั้น ท่านเองคงทราบความสัมพันธ์ดังกล่าว เพราะท่านต้อนรับพ่อด้วยความยินดีทุกครั้งประหนึ่งญาติที่ไปพบท่านที่วัดป่าอุดมสมพร ที่อำเภอพรรณานิคม แม้ว่าพ่อเป็นคริสต์ แต่ท่านก็เล่าว่า เมื่อก่อนเคยไปที่ท่าแร่ ไปช่วยสร้างสะพานข้ามน้ำข้ามห้วย ที่ไหนพ่อก็จำไม่ได้ แต่ก็ทราบมาก่อนว่า ท่านป็นพระนักพัฒนามาก่อนที่จะมาเป็นพระนักปฏิบัติ

พ่อไปพบพระอาจารย์ฝั้น เพราะพ่อเป็นกรรมการคณะกรรมการศาสนสัมพันธ์ของคาทอลิก ไปสนทนากับท่านเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา นั่นก็เป็นที่มาสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พ่อเลือกศึกษาเรื่องภาษาศาสนาในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่มิวนิก ภาษาศาสนาในฐานะเครื่องมือเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา

พ่อมีประเด็นที่อยากบอกลูก 2 เรื่องเกี่ยวกับบ้านหินของทวดหนูกับหนูนา เรื่องแรกคือ ช่วงเริ่มสงครามโลกครั้งที่สองก็เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง กับบางส่วนของกัมพูชาในปัจจุบัน ไทยขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกนอกประเทศหมด บรรดาคุณพ่อมิชชันนารีฝรั่งเศสจึงต้องออกไปอยู่ประเทศลาว

ระหว่างนั้นก็เกิดการเบียดเบียนศาสนา มีชาวคริสต์ถูกยิงเสียชีวิตที่บ้านสองคอนเพราะไม่ยอมเลิกนับถือศาสนาคริสต์ จนเมื่อปี 2532 ทั้ง 7 คนที่ยินยอมสละชีวิตเพื่อความเชื่อก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีจากกรุงโรม วัดวาอารามถูกปิด ชาวคริสต์ที่ท่าแร่จึงไปอาศัยบ้านหินเป็นที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา จนเมื่อกรณีพิพาทจบลงโดยการประสานของญี่ปุ่นที่เข้ามาครอบครองไทยในขณะนั้น ทำให้ไทยได้ดินแดนทั้งหมด แต่เมื่อสงครามโลกจบ ไทยต้องยกดินแดนเหล่านั้นคืนให้ฝรั่งเศสไป ในฐานะที่ฝรั่งเศสเป็นผู้ชนะสงคราม

อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวกับบ้านหินนั้น คือเป็นที่ที่โฮจีมินท์ หรือ “ลุงโฮ” ได้ไปพักอาศัยระยะหนึ่งขณะที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ไม่ทราบว่านานเท่าไร แต่มีพยานหลักฐานว่า ท่านเข้ามาอยู่ที่ท่าแร่กับ “ญาติของตนที่บ้านหิน” ซึ่งน่าจะหมายถึงทวดเฮียนใหญ่ หรือนายหนู ซึ่งอพยพมาจากภาคกลางของเวียดนาม น่าจะมาจากเมืองวินท์ ไม่มีข้อมูลว่าเป็นญาติโดยสายเลือด ใกล้ไกลแค่ไหน หรือนับถือกันเป็นพี่น้อง อย่างไรเสียพ่อก็ดีใจที่ได้ทราบข้อมูลนี้ เพราะเคยพูดทีเล่นทีจริงว่า อาจจะเป็นญาติกับวีรบุรุษ บิดาแห่งชาติ อดีตประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ของเวียดนามท่านนี้

ข้อความในจดหมายนี้และที่มีบันทึกไว้ในหนังสือ “ผู้เป็นแบบอย่างชีวิต” ที่ลูกหลานได้ช่วยกันเขียน และมีข้อมูลเรื่องราวเกี่ยวกับปู่กับย่า ครอบครัว ที่มา ได้ทำให้ญาติบางคนวิจารณ์ว่า ไม่น่าจะเปิดเผยข้อมูลตนเองให้ใครๆ ได้รับรู้มากมายขนาดนั้น โดยเฉพาะภูมิหลังเชื้อสายเวียดนามของปู่ย่าและญาติพี่น้อง

พ่อเคยเขียนเรื่อง “คืนสู่รากเหง้า” มานานแล้ว มีคนบอกว่า พ่อเป็นคนแรกที่ริเริ่มการพูดถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน และการคืนสู่รากเหง้า ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2520-2530 เพราะการพัฒนาบ้านเมืองได้พัฒนาแต่เรื่องเศรษฐกิจ ครอบงำผู้คนให้สนใจแต่เรื่องชาติ ทำให้คนลืมรากเหง้าของตนเอง คนยากคนจน คนบ้านนอก คนกลุ่มน้อย ชนเผ่าต่างๆ ถูกดูถูกดูแคลน ถูกหาว่า “โง่ จน เจ็บ” จนสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กล้าบอกว่าตนเป็นใครมาจากไหน กลัวเขาจะดูถูก ไม่กล้าพูดภาษาท้องถิ่น กลัวเขาจะล้อเลียน

ญาติที่ท้วงติงการเปิดเผยตัวตนและรากเหง้าของพ่อ ของปู่ย่า เป็นคนที่มีการศึกษา แต่ก็ถูกครอบงำจนไม่ภูมิใจในรากเหง้าเผ่าพันธุ์ของตนเองและบรรพบุรุษ ไม่อยากให้ใครรู้ว่าตนเองมีเชื้อสายเวียดนาม กลายเป็นปมด้อย พ่อจึงพูดและเขียนมานานแล้วโดยอ้างอิงนักมานุษยวิทยาคนหนึ่งว่า “คนไม่มีรากเหง้าจะถูกเขาครอบงำและกำหนดอนาคตให้หมดเลย”

คนไม่มีอดีตเป็นคนไม่มีอนาคต คนไม่รู้ที่มาก็จะไม่รู้ที่ไป คนไม่มีอัตลักษณ์ ไม่เป็นตัวของตัวเองย่อมถูกกระแสพัดพาไปตามทางของคนที่กำหนดกระแสนั้น

จำเจ้าชายน้อยได้ไหม มาจากดวงดาว ดีใจว่ามาถึงโลกจะพบเห็นคนจำนวนมาก แค่ผิดหวังเพราะเห็นไม่กี่คน จึงถามดอกไม้ว่าคนหายไปไหน ดอกไม้ตอบว่า คนไม่มีรากเหง้า ลมพัดมาแรงๆ หายไปในทะเลทรายหมดเลย

พ่อภูมิใจที่เกิดมามีเชื้อสายเวียดนามและลาว เราเป็นใครไม่ได้มาจากชาติกำเนิด แต่มาจากความเชื่อมั่นว่าเราเป็นใคร พฤติกรรมของเรา ทัศนคติของเราต่างหากที่ทำให้เราเป็นใคร ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นคิดหรือกำหนดให้เราเป็น

ฌอง ปอล ซาร์ตร์ ปราชญ์ชาวฝรั่งเศสบอกว่า “คนอื่นคือนรก” ไม่ได้แปลว่า คนอื่นทำให้เรารำคาญ เดือดร้อน แต่นรกเพราะเราไปเชื่อและเป็นตามที่เขาบอกและต้องการให้เราเป็น

รักลูก-พ่อ

เสรี พพ 3/12/22

งานศพนายหนู (องเฮียนใหญ่) เจ้าของตึกหิน
ครอบครัวนายหนู นางหนูนา ต้นตระกูลศรีวรกุล เจ้าของตึกหิน ท่าแร่
พระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) ต้นสกุลพรหมสาขา ณ สกลนคร
ภาพเมื่อปี 2507-2508 คุณย่ายังดูแข็งแรง
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com