#บทเรียนชีวิต (บทที่ ๒) ฉบับที่ ๑๔ ท่าแร่

#บทเรียนชีวิต (บทที่ ๒)

ฉบับที่ ๑๔  ท่าแร่

ลูกรัก

พ่อคิดว่า งานวัฒนธรรมควรให้ผลทางจิตใจแก่ชุมชน แก่คนที่ไปเยือนมากกว่าเพื่อแสดงความอลังการของงานที่อ้างงว่าเป็นศิลปวัฒนธรรม ก็ดูแต่การจัดการแห่ดาวก็ให้คนเดินตามรถที่ประดับประดาด้วยดาวและดอกไม้ ปีหนึ่งเห็นมีหญิงสาวแต่งตัวสวยงามนั่งมาคนเดียว คล้ายกับขบวนแห่ในงานบุพชาติ งานสงกรานต์ พ่อเห็นในข่าวได้ “ประท้วง” ไปว่า ไม่ควรทำเช่นนั้น ถ้าอยากให้มีก็ให้เป็นแม่พระ นักบุญยอแซฟ และพระกุมารไม่ดีกว่าหรือ  นี่งานคริสต์มาส ไม่ใช่สงกรานต์งานบุพชาติ วิ่งตามกระแสและการโปรโมตของรัฐจนลืม “รากเหง้า”

ไม่กี่ปีมานี้ มีการเพิ่มเรือไฟหลายลำลอยอยู่ชายฝั่งหนองหาร  แลดูสวยงาม ทำให้ดูอลังการมากยิ่งขึ้น ไม่ทราบว่าต้องการสื่อความหมายอะไร ที่จริง ถ้าโยงไปถึง “ดาราสมุทร” (Stella Maris) ที่หมายถึง “แม่พระ” ก็คงทำให้ดูดีมีคุณค่ามากขึ้น  โดยมีดาวดวงใหญ่ที่ปลายกระโดงเรือ เพื่อนำทางชีวิตของผู้คน

ที่เห็นในภาพ เป็นเรือไฟคล้ายกับที่ทำกันในงานไหลเรือไฟออกพรรษาที่นครพนม ที่ได้แพร่หลายไปอีกหลายที่ตามลำน้ำโขง อย่างที่หนองคาย บึงกาฬ เลย รวมทั้งที่หลวงพระบาง สปป.ลาว เป็นของแปลกใหม่ให้คนไปเที่ยวชม

พ่อไม่รู้ว่ามีนักท่องเที่ยวไปงานแห่ดาวที่ท่าแร่เท่าไร ไม่รู้ว่าชาวบ้านขายของได้มากน้อยเพียงใด อาจจะน้อยกว่างานรำลึกถึงผู้ตายในวันเสาร์แรกของเดือนพฤศจิกายนทุกปีด้วยซ้ำ  เพราะงานนั้น ลูกหลานใกล้ไกลมาทำบุญให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายญาติพี่น้อง มีดอกไม้ เทียนไข ข้าวต้มขนม อาหาร ซื้อได้ก่อนและหลังจากพิธีมิสซาในป่าศักดิ์สิทธิ์ (คำที่ชุมชนคาทอลิกเรียก “ป่าช้า”) พ่อว่าลูกหลานกลับบ้านไปงานนี้หลายพันคน อาจเป็นหมื่น

ถ้ามองจากแผนที่กูเกิ้ล จะเห็นป่าศักดิ์สิทธิ์ริมถนนหลวงสายสกลนคร-นครพนม ใหญ่โตกว้างขวางมาก เพราะ กว่า 138 ปีที่มีท่าแร่มา มี “คุ้ม” นี้ที่มี “ประชากร” เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ไม่ทราบว่าเท่าไร อาจถึงหมื่นก็เป็นได้ เพราะประชากรท่าแร่ปัจจุบันก็สองหมื่นแล้ว กว่าครึ่งอยู่ท่าแร่ เกือบครึ่งอยู่กรุงเทพฯ ต่างจังหวัด

คนท่าแร่ที่อยู่บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ลูกหลานไปเรียนไปทำงานที่อื่น ที่ดินที่นาริมหนองหารก็กำลังเปลี่ยนมือไปเป็นของคนอื่น คนในคนนอก นายทุน เพราะลูกหลานคงไม่ทำนากันแล้ว คนวัยแรงงานส่วนใหญ่ก็ค้าขายที่ตลาด รับราชการ เป็นครู ทำธุรกิจส่วนตัว

ตลาดท่าแร่มีสองแห่ง อยู่ริมถนนหลวงสายสกลนคร-นครพนม แห่งหนึ่งอยู่ทางเข้าหมู่บ้าน หน้าบ้านเณรฟาติมา เป็นตลาดขายส่ง เริ่มหลังเที่ยงคืนไปถึงรุ่งเช้า มีตลาดนัดใหญ่ที่นี่อาทิตย์ละครั้ง ส่วนตลาดสดเก่าอยู่ในหมู่บ้าน เปิดตั้งแต่เช้าถึงค่ำ แต่ส่วนใหญ่มีตอนเช้าสายและบ่ายเย็น พ่อไม่ค่อยไปตลาด เพราะอดไม่ได้ที่จะซื้ออะไรมากมาย ที่อยากกิน และที่อยากอุดหนุนคนขาย เพราะส่วนใหญ่ยังจำกันได้

ตลาดสดท่าแร่ทั้งสองแห่ง มีร้านรวงรอบๆ ไม่ต่างจากในอำเภอในเมือง เป็นศูนย์กลางการค้าขาย ชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ ที่ไม่อยากเดินทางไกลไปในเมืองสกลฯ ก็มาซื้อข้าวของที่ท่าแร่ หาได้เกือบทุกอย่าง หลายคนนำของมาขายแล้วซื้อของกลับไปขายที่บ้านของตนเอง

ผู้คนสับสนว่า ท่าแร่เป็นอำเภอหรือตำบล เพราะมีลักษณะใหญ่กว่าหมู่บ้านตำบลทั่วไป มีตลาดใหญ่ มีวัดวาอาราม โรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชน สนามฟุตบอลใหญ่ ไปรษณีย์ ธนาคาร  ท่าแร่เป็นตำบล เทศบาลตำบล เคยมีลูกบ้านเป็น ส.ส. เป็น สจ. แต่คนท่าแร่ก็ไม่เคยเรียกร้องให้ท่าแร่เป็นอำเภอ

พ่อเคยถามชาวบ้านหลายคนว่า ทำไมท่าแร่จึงไม่เป็นอำเภอ ได้คำตอบว่า อำเภอเมืองก็อยู่แค่ 20 ก.ม. อยากไปหน่วยงานราชการไหนก็ไม่เห็นยุ่งยาก  ที่สำคัญ ไม่อยากเห็นสถานที่ราชการมาเบียดบังพื้นที่ของชาวบ้าน ไม่มีความจำเป็น แค่นี้ท่าแร่ก็เจริญพอแล้ว มีอีกคนที่พูดดัง ได้ฟังแล้วยิ้ม เขาบอกว่า ไม่เป็นอำเภอก็ดีแล้ว จะได้ไม่มีข้าราชการมายุ่งกับชีวิตชาวบ้าน เป็นคำตอบที่พ่อเห็นด้วย และพอใจที่ได้ยิน

คนท่าแร่มีการศึกษาดี มีอาชีพเป็นครูมาก มีโรงเรียนเซนต์โยแซฟที่ก่อตั้งมานาน มีชื่อเสียงในด้านคุณภาพการศึกษา ดูแลโดยคุณพ่อและซิสเตอร์ มีโรงเรียนประจำ บางคนที่มาจากไกลก็จะพักตามบ้านชาวบ้าน หลายปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการเชิญซิสเตอร์คณะเซนต์ปอลเดอชาร์ตร์ (เจ้าของเซนต์โยเซฟคอนแวนต์และโรงเรียนในเครือ) มาบริหารโรงเรียน

มีศิษย์เก่าจากเซนต์โยแซฟที่มีชื่อเสียงหลายคน ที่พ่อรู้จักดีก็มี ดร.ทองอินทร์ วงศ์โสธรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ท่านบุญศรี กอบบุญ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาล นอกนั้น มีอาจารย์มหาวิทยาลัย ครูอาจารย์ ผู้บริหารการศึกษาจังหวัด เขต ข้าราชการ นักธุรกิจ

ที่ท่าแร่มีโรงเรียนรัฐ คือ ท่าแร่วิทยา ระดับประถม เป็นทางเลือกให้ลูกหลานชาวบ้านได้เข้าเรียน มีท่าแร่ศึกษา ระดับมัธยม ตั้งอยู่ทางไปนครพนม ห่างไปประมาณ 4-5 ก.ม.

มีศิษย์เก่าอีกหลายคน มีแพทย์หญิงอาวุโสคนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ่อเข้าไปสวัสดีตอนมีประชุมเอดส์ระดับชาติที่ขอนแก่น ตอนนั้นพ่อทำงานเป็นผู้อำนวยการโครงการเอดส์ของไทย-ออสเตรเลีย พ่อไปสวัสดีเก้อ เธอไม่พูดด้วย ไม่สนใจที่พ่อบอกว่าเป็นใครมาจากไหน เมื่อพ่อเป็นผู้อำนวยการเอดส์ของสหประชาชาติในเอเชียแปซิฟิกก็มีโอกาสได้เห็นเธอในการประชุมใหญ่ แต่ไม่เคยได้คุยกัน ไม่กล้าไปทัก กลัวเก้ออีกรอบ เธออาจไม่อยากให้ใครรู้ว่ามาจากท่าแร่ก็เป็นได้

พ่อชื่นชมหมูแหม่ม สุริวิภา ที่กล้าพูดถึงท่าแร่แบบไม่เขินเลย เธอไม่มีอะไรให้อาย พ่ออยู่ที่วัดท่าแร่ปี 2515-2517 หนูแหม่มคงอายุ 6-7 ขวบเห็นจะได้ ไปวัดทุกเช้าเพื่อเรียนคำสอน แล้วกลับไปบ้านทานข้าว ไปโรงเรียน จำได้ว่า เป็นเด็กขี้อาย ไม่ค่อยพูดค่อยจา ไม่เห็นวี่แววว่าจะเป็นคนพูดเก่งและเด่นดังอย่างวันนี้ คงเป็น “เดสตินี” (destiny) อย่างที่มักพูดกัน และด้วยความใฝ่ฝันใฝ่ใจในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง บวกโอกาสดีที่ “เดสตินี” มอบให้ เธอทำรายการทีวีที่ท่าแร่หลายครั้ง ทั้งให้แม่เป็นพรีเซนเตอร์ออกรายการและโฆษณาร่วมกับตนเองอีกด้วย

อีกคนคือมานพ อุดมเดช ที่อยู่ในกลุ่มเยาวชนที่พ่อส่งเสริมให้รวมกลุ่มกัน ทำกิจกรรม เล่นดนตรี มานพเป็นคนวาดรูปเก่ง ทำงานศิลป์มาตั้งแต่ยังหนุ่ม ร้องเพลงก็ได้ ในวง “เรดสโตน” ที่พ่อก่อตั้ง มานพร้องเพลงสุนทราภรณ์  ต่อมาพบมานพอีกทีที่สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา เขาทำสื่อเพื่อพัฒนาจิตสำนึก  ทำหนังเรื่อง “ประชาชนนอก” ไม่กี่ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา หนังถูกห้ามฉายเพราะมีเรื่องชาวนา กรรมกรที่ถูกกดขี่ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม เมื่อออกจากหน่วยงานนี้ เขาก็ไปทำหนังดีๆ อีกหลายเรื่อง ได้เงินได้กล่อง ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็มี

วงดนตรี The Red Stone ที่แปลว่า หินแดง หรือท่าแร่นั้น เป็นวงสตริง พ่อเล่นคีย์บอร์ด คนอื่นที่เล่นกีต้าร์ เบส กลอง ร้องเพลง  หลายคนเคยเล่นเคยร้องในบาร์ที่ค่ายทหารอเมริกันที่นครพนม จึงเก่งๆ กันหมด มีพ่อเท่านั้นที่มือใหม่ ต้องปรับตัวจากดนตรีคลาสสิกมาเล่นคีย์บอร์ดวงสตริง แต่ก็ไปกันได้ดี เครื่องดนตรีทั้งหมด พ่อซื้อด้วยเงินส่วนตัวที่ได้เก็บไว้ตั้งแต่ที่โรมและเยอรมัน

ท่าแร่มีงานบุญประเพณีที่สำคัญอีกงานหนึ่ง คือบุญกองข้าว คงเอามาจากบุญประทายข้าวเปลือกของชาวพุทธทั่วไปในภาคอีสาน  เป็นงานที่จัดหลังฤดูเก็บเกี่ยว ชาวบ้านเอาข้าวเปลือกมารวมกันเพื่อถวายวัด คุณพ่อเจ้าวัดทำพิธีเสกและรับข้าว มีการจัดงานกันที่บริเวณสนามหน้าโรงเรียนประถมเก่า ตรงกันข้ามวัด

งานวัดมีหนัง มีมวย มีการละเล่นเหมือนงานวัดทั่วไป ตอนพ่อยังเด็กมีรถมอเตอร์ไซค์ไต่ถัง มีชิงช้า ตอนหลังมามีดนตรี มีหมอลำ แม้ว่าคนท่าแร่จะเป็นญวนเป็นย้อ ไม่มีประเพณีการลำเหมือนคนเผ่าพันธุ์อื่นในภาคอีสาน แต่ก็ชอบฟังลำ โดยเฉพาะหมอลำหมู่ที่ลำกันเป็นละครเป็นตลกจนถึงรุ่งเช้า มีคนดูหลับคาสนามเต็มไปหมด

งานสำคัญอีกงานหนึ่ง คือ งานบุญฉลองวัดในต้นเดือนพฤษภาคม ทุกปีจะมีการทำต้นเงิน เหมือนผ้าป่า ไปถวายวัด มีการแห่ไปวัด รอบวัด เข้าไปในวัด คุณพ่อมารับมอบ ได้ยินว่าตอนหลังๆ นี้ มีเงินทำบุญในงานฉลองวัดมากเป็นล้าน คนศรัทธามากขึ้นหรือว่าคนมีงานมีรายได้ดีขึ้น ลูกหลานไปทำงานกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดมีปัจจัยก็ช่วยกันทำบุญ ส่วนใหญ่ก็คงมาจากคนในชุมชนเอง เพราะทุกวันอาทิตย์ในมิสซาก็เก็บทานได้เป็นหมื่น

ท่าแร่มีอะไรดีๆ อีกมาก มีอย่างหนึ่งที่พ่อชอบมาก คือ ข้าวโพดข้าวเหนียว ที่ปลูกกันริมหนองหาร โดยเฉพาะทางด้านตะวันออก มีชาวบ้านต้มมาวางขายริมถนนทางไปนครพนม ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นขายดิบ เพราะต้มสุกก็ขายดี คนนิยมมาก เหนียวนุ่มอร่อยดี เค็มนิดหวานหน่อย

ถ้าพ่อจะบอกว่า อร่อยที่สุดในปฐพีไทย ก็คงไม่น่าเกลียด ไม่ใช่โฆษณาเข้าข้างบ้านเกิดตนเอง ที่อร่อยอาจเป็นเพราะข้าวโพดชนิดนี้ชอบดินลูกรังริมหนองหาร มีปุ๋ยธรรมชาติ คงเพราะดีเกินไปเช่นนี้กระมัง ที่สุดก็ถูก “กำจัด” ไปแบบเงียบๆ ไม่มีใครสนใจว่าหายไปได้อย่างไร มีแต่ข้าวโพดสีเหลืองมาแทน ซึ่งพ่อซื้อทานครั้งเดียวก็ไม่เคยซื้ออีกเลย รสชาติเทียบกันไม่ได้

อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คงต้องไปอ่านที่พ่อเขียนเรื่อง “ทุนนิยมไม่ปรานีใคร” ไม่ใช่ทุนธรรมดา แต่เป็นทุนสามานย์ที่ผูกขาด ตัดโอกาสคนเล็กๆ ในสังคม

รักลูก – พ่อ

เสรี พพ 18/12/22


บ้านเกิดผม มีน้องชายอยู่ คุณพ่ออุ้ด ทวีศิลป์ เป็นอัมพฤกษ์
เคยแต่งเพลงโบสถ์ไว้มากก่อนป่วย

*****

ผมโพสท์บันทึกชีวิตให้ “มานพ อุดมเดช” ในไลน์ เขาตอบมา มีข้อมูลน่าสนใจ ผมบอกเขาว่าขอเอาไปโพสท์ลงเฟสผมได้ไหม เขาบอก “เชิญครับผม” ต่อไปนี้เป็นข้อเขียนของมานพที่ผมลอกมาจากไลน์ หลังที่เขาได้อ่านบันทึกชีวิตตอนนี้

“แม่ผมปลูกข้าวโพดที่เป็นสายพันธุ์ที่ที่อื่นไม่มี ก็เป็นสายพันธุ์ที่เรียกกันว่าสายพันธุ์ข้าวเหนียว ก็ปลูกมาตั้งแต่ผมเป็นเด็ก ใส่กกระจาดเทินหัวเดินขายตอนเช้า ไปทั่ว ขายหมดแล้วก็รีบไปวัด เรียนคำสอนกับครูคำพอง เสร็จกลับบ้านรีบกินข้าวเช้า ต้องไปทันเชิญธง ต้องคอยฟังเสียงกระดิ่งจักรยานครูบุญธรรม แกตรงเวลายังกะเป็นนาฬิกา แกจะปั่นจักรยานพร้อมกับกดกระดิ่งไปตลอดทางก่อนแปดโมงเช้าประมาณ 20 นาที”

“ตอนนี้แม่ผมตายมาจวน 20 ปีแล้ว พันธุ์ข้าวโพดของแม่ที่ขายดี ก็พลอยหายไปพร้อมกับชีวิตแม่ ถามพี่น้องก็ไม่มีใครรู้ว่า แม่ได้เก็บพันธุ์ไว้หรือเปล่า ที่ท่าแร่เหลือน้องสองคนที่พวกเขายังอยู่ นอกนั้นก็อยู่ต่างจังหวัด อยู่เชียงใหม่ อยู่ กทม. อยู่นครพนม ส่วนผมนั้นไม่มีที่ดินทำกินอะไรที่ท่าแร่เลย มรดกที่ดินก็ยกให้น้องหมด… เอ้า! มีอีกคนซี เป็นบาทหลวงมหาไถ่ ดูเหมือนว่า เป็นเจ้าสำนักที่แกไปสร้างเพราะที่ดินริมหนองหารและที่นาของพ่อผม พ่อก็ยกให้บาทหลวงไพบูลย์หมด พ่อคืนให้พระเจ้าไป คนอื่นก็มีแค่จำเป็น ผมก็ผ่องต่อให้น้องไปหมด”

“จดหมายของอาจารย์เขียนถึงลูก อ่านแล้วก็ทำให้รีคัพเวอร์ข้อมูลที่ไม่ได้คิดถึงค่อยๆกู้คืนมาได้ ตะกี้ก็ไลน์ไปถามน้องชายที่นครพนม ถามว่าต้นอากาเว่หรือป่านศรนารายณ์ อีสานเขาเรียกอะไร ผมลืมสนิท น้องบอก ต้นหมากเน …”

“ต้นอากาเว่สายพันธุ์ท่าแร่ เพราะเห็นทั่วไปที่ท่าแร่ตอนยังเด็ก เรียกว่า ต้นหมากเน ต้นอากาเว่สายพันธุ์ท่าแร่ เพราะเห็นทั่วไปที่ท่าแร่ตอนยังเด็ก เรียกว่า ต้นหมากเน ผมงงเขาบอกว่าไม่ใช่พืชพื้นเมืองของไทย มาจากเม็กซิโก ผมก็ไม่อยากเชื่อเพราะผมเห็นพืชวงศ์นี้ที่ท่าแร่ตั้งแต่อ้อนแต่ออก แต่จำชื่อไม่ได้ ลืม.”

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com