บันทึกการเดินทางในลาว ครั้งยังเป็นภาคอีสาน : เอเจียน แอมอนิเย ตอนที่ 5

บันทึกการเดินทางในลาว ครั้งยังเป็นภาคอีสาน : เอเจียน แอมอนิเย ตอนที่ 5

บันทึกการเดินทางในลาว(ดินแดนภาคอีสาน) เอเจียน แอมอนิเย (ผู้บันทึกการสำรวจ) ปีพ.ศ. 2438-2440 ตอนที่ 5 จากหนองหานไปหนองคาย เวียงจันทน์
เรียบเรียงโดย : Kay Intarasopa
4 มิถุนายน 2558

ภาพวาดพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ วาดโดยหลุยส์ เดอลาป็อก ที่เข้ามาสภาพพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ หลังถูกพวกจีนฮ่อบุกปล้น ในปี พ.ศ.2416 ฮ่อขุดหาสมบัติ จนยอดพระธาตุหักพังลงมาภาพเขียนสภาพเมืองเวียงจันทน์ โดยคณะสำรวจฝรั่งเศสคณะหนึ่ง หลังจากถูกสยามเผาทำลายในปี พ.ศ.2371สภาพวัดพระแก้ว ถ่ายโดยคณะสำรวจฝรั่งเศส ปี พ.ศ.2451

ดู่และเอี่ยมเดินทางจากเมืองหนองหาน ผ่านหลายหมู่บ้านกระทั่งมาถึงเมืองหนองคาย ได้รับการต้อนรับจากเมืองแสนและได้เข้าไปเยี่ยมคำนับเจ้าเมืองหนองคายซึ่งชราภาพมากแล้ว พวกเขาเข้าไปพิมพ์เอาจารึกภาษาลาวที่วัดคูณ จากนั้นจึงนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงไปจอดอยู่ที่บ้านพินดอม แล้วจึงเดินทางเท้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านป่าดงเพื่อไปที่บ้านควาย หยุดนอนที่บ้านเมืองน้อย ซึ่งมีกระท่อมคนลาว 12 หลัง ชาวบ้านพากันผลิตเกลือเพื่อใช้บริโภคเอง

วันรุ่งขึ้นพวกเขาออกเดินทางต่อ ถึงหนองที่เรียกว่า “สาลาคำ(ศาลาคำ)” ซึ่งฤดูแล้งมีน้ำอยู่ 10 เมตร หนองนั้นปกคลุมไปด้วยต้นหญ้า พวกคนลาวแหวกทางฝ่าต้นหญ้า เพื่อไปจอดที่ฝั่งตรงข้าม หมู่บ้านธาตุหลวง ซึ่งมีกระท่อม 30 กว่าหลัง ชาวบ้านทำนาและทำน้ำตาล

“ที่ธาตุหลวงมีจารึกที่ต้องพิมพ์เอาไว้ กำแพงรอบธาตุนั้นก่อเป็นแบบระเบียงอิฐ คือยาว 80 เมตร สูง 6 เมตร มีหลังคาโค้ง กำแพงที่สองยาว 60 เมตร แต่ละด้านสูง 8 เมตร เป็นเพียงผนังทำด้วยอิฐและศิลาแลง กำแพงที่สาม เป็นผนังสี่เหลี่ยม เหมือนกำแพงแรก ทั้งสองกำแพงมีความยาว 40 เมตร แต่ละด้านสูง 10 เมตร ทั้งหมดก่อด้วยอิฐและศิลาแลง ส่วนธาตุนั้นยาว 20 เมตร แต่ละด้านคำนวณจากฐานสี่เหลี่ยม มีความสูงเพียง 24 เมตร ยอดธาตุถูกพวกฮ่อหรือนักปล้นชาวจีนทำลายเพื่อค้นเอาสมทรัพย์สมบัติที่อยู่ในองค์พระธาตุนั้นเมื่อ 8 ปีมาแล้ว”

ตามบันทึกของฟรองซิส กากนิเย่ ธาตุหลวงเวียงจันทน์ถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของลาว พวกสยามละเว้นไม่ทำลาย องค์พระธาตุเต็มไปด้วยจารึกเล็กๆ 30 หลัก (กลีบบัว) ซึ่งพยุงองค์พระธาตุอันสูงโปร่งไว้ พิงที่ฐานพระธาตุเหมือนกับป้อมกำแพง สมัยก่อนนั้นธาตุส่องแสงเหลืองอร่ามไปด้วยทองคำที่ปิดทับแผ่นตะกั่ว ซึ่งก็ยังมีเศษชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหลืออยู่

คณะสำรวจเดินทางจากวัดธาตุหลวงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จนไปถึงประตูเมืองเวียงจันทน์ พวกเขาไปที่วัดศรีษะเกษเพื่อพิมพ์เอาจารึก วัดแห่งนี้มีกำแพง และระเบียงมุงหลังคาเป็นกำแพงที่ 2 (ระเบียงคด) และมีวิหารอยู่ตรงกลาง ภายในยังมีหอเล็กๆ สองหอ ซึ่งคนเขมร คนสยาม และคนลาวเรียกว่า “หอไตร”

หอหนึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับเก็บคำภีร์และใช้เป็นหอสมุด แต่ปัจจุบันว่างเปล่า อีกหออยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หอนั้นมีพุทธปฏิมามากมาย

ระเบียงคดแบ่งเป็นห้องจำนวนมาก แต่ละห้องประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่หนึ่งองค์ กำแพงถูกเจาะเป็นซุ้มจระนำเล็กๆ ขนาดเดียวกัน นับเป็นพันๆ ในแต่ละซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กสุด 2-3 องค์ พวกเราคะเนว่ามีประมาณ 20,000 องค์ (จากบันทึกของ ฟรองซิส กากนิเย่)

ใจกลางของพระอารามมีวิหารก่อด้วยอิฐและไม้ ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่ ที่วัดแห่งนี้มีพระจำพรรษาอยู่ 6 รูป

ส่วนพระราชวังของพระราชานั้น ก็อยู่ในสภาพที่เป็นซากวัตถุปราศจากร่องรอยใดๆ และที่พระราชวังของอุปราชหรือพระราชาองค์ที่ 2 นั้นก็มีพงหญ้าขึ้นรก จนเกือบจะกลายเป็นป่าดงไปหมด

บันทึกตอนหนึ่งของ ฟรองซิส กากนิเย่ ได้เล่าว่า “คนนำทางพวกเรา ได้นำพาพวกเรามาด้วยความเศร้าสะเทือนใจ เดินกระสับกระส่าย เขาเคยได้เห็นเวียงจันทน์ บ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาในสมัยที่ยังเป็นเมืองรุ่งเรือง พื้นดินที่ระเกะระกะไปด้วยกองอิฐมากมาย พวกเราจะพบเห็นกำแพงเมืองในไม่ช้า กำแพงดังกล่าวสูงและกว้าง ข้างบนประดับด้วยรูปหัวใจติดต่อกันไป เข้าเป็นรูปเสมา เสาไม้ขนาดใหญ่ซึ่งพิงประตูสำคัญนั้นยังตั้งตรงอยู่ กำแพงที่ยาวไปจรดกับแม่น้ำ เอนเข้าไปหาฝั่งใกล้แถวกอไผ่ และโดดเด่นออกหรือหดเข้าในเศษอิฐที่มากมายที่กองเรียงรายเป็นระยะ ซึ่งอาจจะมาจากป้อมบนกำแพงนั้น”

ฟรองซิสได้เล่าต่อว่า “หลังจากได้ดูอย่างละเอียด พวกเรามั่นใจว่าเมืองนี้มิใช่มีเฉพาะอนุสาวรีย์ซึ่งเป็นพระราชวังเจ้าชีวิต วัดวาอารามจำนวนมาก และหอไตรสำหรับเก็บคัมภีร์เท่านั้น แต่หากอาคารเหล่านี้มีมากมายเหลือเกิน จนไม่สามารถคำนวณได้ วัดพระแก้วนั้นนับได้ว่าเป็นวัดที่ใหญ่และสวยงามที่สุด ต้นไม้ได้เกิดปกคลุมวัดร้าง และเถาวัลย์ก็เกิดรกรุงรังพันเกี้ยวเสากระจายไปทั่ว อิฐหินที่ทำเป็นกำแพงวัดตลอดถึงลานวัดซึ่งมีบันไดอันมหึมาขึ้นไป ราวบันไดทำเป็นรูปมังกร (พญานาค) คดเคี้ยวไปมาจนถึงหาง แล้วมังกรก็ชูคอตั้งหัวขึ้นในท่าที่หน้ากลัว เสาระเบียงรอบๆ นั้นสง่างาม บอบบาง ไม่มีตัวอาคาร แต่ก็เต็มไปด้วยร่มไม้ที่มีลำต้นสูงชะลูด เสาปีกนกคล้ายกับว่ามันถูกกดทับด้วยน้ำหนักที่จะต้องสู้ทนรับ บรรดาเสาเหล่านั้นยังมีร่องรอยสีทองเหลืออยู่ ประตูด้านหน้าทั้ง 3 ด้าน และขอบหน้าต่างประดับประดาด้วยลวดลายดกดื่น ด้านนอกปิดทองหมด หลังคาไม่มีเหลืออยู่แล้ว พระพุทธรูปองค์มหึมาที่แท่นซึ่งถูกทอดทิ้งนี้ ยังต้องเผชิญกับลมและแดดอีก ที่ข้างวิหารมีหอไตรสร้างแบบเดียวกัน แต่ว่าไม่กว้างใหญ่เท่าวิหาร”

พระแก้ว (พระแก้วมรกต) ที่พวกคนท้องถิ่นยังรักษาชื่อวัดไว้อย่างมีศรัทธามั่นคง เป็นวัดประจำพระราชวังซึ่งบัดนี้เหลือแต่ซาก ซึ่งยังปกคลุมพื้นที่อันกว้างใหญ่อยู่ ตามข้อมูลที่สักขีพยานผู้ยังมีชีวิตอยู่ได้เห็นมาด้วยตา บอกว่าแผนผังของวัดพระแก้วไม่มีอะไรพิเศษกว่าวัดอื่นๆ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมด้วยระเบียงที่ประกอบไปด้วยเสามากมาย

นอตอง (Notons) ได้บันทึกไว้ว่า “มีธาตุเจดีย์จำนวนมหาศาลหลบซ่อนอยู่ในป่าดง หลังจากที่บรรดาธาตุได้ถูกทำลายไปครั้งหนึ่ง ก็มีต้นไม้เกิดขึ้นมาค้ำจุนเองตามธรรมชาติ พยุงธาตุเจดีย์เหล่านั้นต่อไป พฤษชาติแบบธรรมชาตินั้น ผสมผสานกับพฤกษชาติหินได้เป็นอย่างดี สีเทาของพื้นทำให้มีลักษณะเหมือนหินแข็ง สีเศร้าหมองลงด้วยอากาศ ทองแดงและสำริด นับเป็นพันๆกิโล ถูกหลอมลงในเบ้าหล่อพระพุทธรูป กองอิฐจำนวนมากมาย จำนวนนับไม่ถ้วน ท่ามกลางสิ่งทั้งหมดก็คือร่องรอยที่อยู่อาศัยของฆราวาสคือพระราชวังของพระราชา นี่แหละคือสิ่งที่ได้พบเห็น ชั่วระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง”

จากบันทึกของนักสำรวจชาวฝรั่งเศส จะเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของนครเวียงจันทน์ ผ่านซากปรักหักพัง ซึ่งเกิดจากสงครามกับสยามในระหว่างปี พ.ศ.2369-2371 กองทัพสยามได้เผาทำลายเมืองเวียงจันทน์จนแทบสิ้น เหลือเพียงวัดศรีษะเกษและพระธาตุหลวง ที่สยามละเว้นไว้ไม่ทำลาย ภายหลังโจรฮ่อบุกปล้นเมืองเวียงจันทน์ที่แปนเปล่า ขุดหาสมบัติจนยอดพระธาตุหลวงหักพังลงมา

ภายหลังที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองดินแดนลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เมืองเวียงจันทน์ในขณะนั้นยังเป็นเมืองร้าง ผู้คนอยู่อาศัยน้อยมาก ภายหลังผู้คนเริ่มอพยพเข้ามาอยู่

ฝรั่งเศสจึงเริ่มหันมาสนใจในการฟื้นฟูเมืองเวียงจันทน์ให้เป็นศูนย์กลางทางการปกครองอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2457 ฝรั่งเศสแต่งตั้งให้เจ้าเพชราชมาเป็นเจ้าปกครองเมืองเวียงจันทน์ ตามคำเรียกร้องของชาวเมือง

ในปี พ.ศ. 2479 ได้มีการบูรณะหอพระแก้วและพระธาตุหลวง จนมีสภาพดังปัจจุบัน การฟื้นฟูเมืองเวียงจันทน์ให้กลับมาเป็นศูนย์กลางทางการปกครองนั้น ได้ตัดถนนหลายสาย ผ่านวัดวาอารามหลายที่ รวมทั้งสร้างอาคารสถานที่ราชการ ได้มีการรื้อทิ้งซากโบราณสถานจำนวนมาก การขยับขยายตัวเมืองในหลายยุคสมัย ได้ทำลายซากโบราณสถานในตัวเมืองเวียงจันทน์แทบสิ้น

จนปัจจุบันแทบไม่เหลือร่องรอยให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของนครเวียงจันทน์ในอดีตมากนัก ตัวกำแพงเมืองก็ถูกรื้อทิ้ง วัดร้างถูกรื้อออกสร้างอาคารสถานที่ราชการ โรงแรม บ้านพัก เป็นต้น น่าเสียดายอดีตของเวียงจันทน์เป็นยิ่งนัก

 

พระพุทธรูปที่พบในวัดศรีสะเกษ เวียงจันทน์ ถ่ายโดยคณะสำรวจชาวฝรั่งเศสวัดพระแก้วหรือหอพระแก้ว ในปัจจุบัน เปิดเป็นหอพิพิธภัณฑ์ ได้รับการบูรณะในปี พ.ศ.2479 โดยทุนของฝรั่งเศสเเละประชาชนลาวร่วมบริจาค มีเจ้าสุวรรณภูมาเป็นนายช่างใหญ่ในการบูรณะพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ในปัจจุบันภาพวาดวัดพระแก้วเวียงจันทน์ วาดโดยหลุยส์ เดอลาป๊อก ปีพ.ศ.2410 6. พระพุทธรูปที่พบในวัด

อ่านในเว็บ e-shann.com
ตอนที่ 1 จากจำปาสักไปพิมูล
ตอนที่ 2 จากพิมูลไปอุบล
ตอนที่ 4 จากมุกดาหารไปสกลนคร หนองหาน
ตอนที่ 5 จากหนองหานไปหนองคาย เวียงจันทน์
ตอนที่ 6 จากอุบลไปยโสธร
ตอนที่ 7 ประวัติความเป็นมาเมืองยโสธร
ตอนที่ 8 จากยโสธรไปกุดสิน ธาตุพนม

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com