#บันทึกชีวิต (๘)
ฉบับที่ ๘ “แม่”
ลูกรัก
พ่อขอเงินย่าหนึ่งสลึงไปซื้อดินสอ ย่าไม่ให้ แต่เมื่อขอไปให้คนขอทาน โดยเฉพาะวนิพกพเนจร ที่มาเป่าแคน เล่นพิณ เล่นกะจับปี่หน้าบ้าน ย่าจะให้เสมอ แต่พ่อไม่ให้เขาทันที จะเดินตามเขาไป ฟังเขาเล่นหน้าบ้านโน้นบ้านนี้จนสุดหมู่บ้าน จึงให้ตังค์เขา แล้วเดินกลับบ้าน เบิกบานอิ่มใจในเสียงดนตรี
ทุกวันนี้ พ่อไปไหนถ้าเห็นใครเล่นดนตรีเปิดหมวก โดยเฉพาะคนพิการ ตาบอด นักเรียนนักศึกษา พ่อจะหยุดฟังและให้เงินเขาทุกครั้ง และก็แปลกนะ ทุกครั้งจะคิดถึงย่า คิดถึงตอนยังเด็กที่เดินตามคนเล่นดนตรีไปจนสุดหมู่บ้าน เป็นความทรงจำที่ฝังลึกจริงๆ
ที่เชียงรายหลายปีก่อน เย็นวันหนึ่งไปที่ไนท์บาร์ซ่า ทานอาหารค่ำฟังเพลงพักหนึ่งก็เดินออกมาจะกลับโรงแรม พ่อได้ยินคนเป่าขลุ่ยเพราะมาก เป็นคนตาบอดเปิดหมวก เปิดลำโพงที่เขาเสียบแฮนดี้ไดรฟ์ ที่มีดนตรีประกอบเป็นแบ็คกราวด์ให้เขาเป่าขลุ่ย ได้ยินเพลงเดือนเพ็ญ พ่อหยุดเดินทันที เขาเป่าได้ไพเราะน้องๆ อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ทีเดียว พ่อบอกให้อาจารย์วิทยา คนเชียงรายที่ไปด้วยกันให้กลับบ้าน พ่อขอฟังเพลงคนตาบอดนี้ไปอีกพักหนึ่ง แล้วจะกลับโรงแรมเอง ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียงร้อยเมตร
แล้วพ่อก็ขอเพลงเขาอีกหลายเพลง ขอเพลงอะไรเขาก็เป่าได้หมด เพลงไทยที่พ่อกับลูกโดมเคยเล่นด้วยกัน เปียโนกับไวโอลินนั่นแหละ ฟังไปคิดถึงลูก คิดถึงแม่ของตัวเอง ฟังจนอิ่มใจแล้วก็ให้ตังค์เขาไปหลายร้อย เขาให้ความสุขพ่อยิ่งกว่าไปฟังคอนเสิร์ตเสียอีก เขาเล่นด้วยใจ พ่อก็ให้เขาด้วยความสุขใจ
แล้วจะแปลกไหมที่อาจารย์บรูซ แกสตัน นำพ่อครูต๋าคำ ชัยวินา ศิลปินตาบอดที่เล่นซึงได้อย่างวิเศษไปสอนท่านที่บ้าน และให้อยู่ที่นั่น ไม่ต้องไปเล่นเปิดหมวกหรือขอทานที่ใต้สะพานลอยที่เชียงใหม่ หรือที่ไหนอีก
ที่บอกว่าย่าไม่ให้เงินลูกง่ายๆ นั้นไม่จริงเสมอไป ถ้ามีเหตุผลก็ให้ได้ หรือถ้าพอมีให้ลูกได้กินขนมกินอะไรที่ย่าไม่ได้ทำเองที่บ้าน ย่าก็ให้ได้ อย่างเคยให้เงินพ่อไปกินก๋วยเตี๋ยวกับน้อง (อานาง) ก็ให้ไปเพียงเพื่อซื้อก๋วยเตี๋ยวถ้วยเดียว แบ่งกันกินกับน้อง
เหล่านี้เป็นความทรงจำที่ดีมาจนถึงวันนี้ ที่พ่อไม่อายที่เล่าให้ลูกหรือให้ใครฟัง เพื่อจะบอกว่า แม้ไม่มีเงินซื้อก๋วยเตี๋ยวกินกันคนละถ้วย พ่อกับน้องก็ไม่เคยโอดครวญหรือน้อยใจในวาสนาอะไรเลย เพราะเข้าใจพ่อแม่ของเราดีว่า ถ้าท่านไม่ประหยัด เราคงไม่ได้มาถึงวันนี้เช่นนี้หรอก
เมื่อพ่อสอนที่ธรรมศาสตร์ ทำงานพัฒนาชนบทไปพร้อมกัน เริ่มสร้างครอบครัวก็ยังไม่ได้ช่วยอะไรปู่ย่านัก แต่เราก็ช่วยกันหาโทรศัพท์ให้ที่บ้านไว้เครื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก และแพงหลายหมื่นบาททีเดียว แต่ลูกๆ คิดว่า มีไว้ที่บ้านจะสะดวกที่จะพูดคุยกับพ่อแม่ได้บ่อย
เมื่อก่อนที่บ้านท่าแร่ ที่มีประชากรหมื่นกว่าคนนั้น มีโทรศัพท์เครื่องเดียวที่บ้านพี่เสริฐ อยากคุยกับใครก็โทร.ไปที่เบอร์นั้น ขอให้พี่เขาไปเรียกคนที่เราอยากคุยด้วยมา อีก 10 นาทีก็โทร.ไปใหม่ ได้คุยกัน ปกติพ่อจะโทร.ไปขอให้พี่เขาไปตามปู่หรือย่า ใครก็ได้ที่บ้าน ปกติปู่มาพูดโทรศัพท์ แล้วก็จ่ายเงินค่าบริการ
มีอยู่วันหนึ่ง พ่อโทร.ไปแล้วก็ลืมโทร.กลับไปอีกหลังจากนั้น 10 นาที มานึกได้อีกทีตอนเย็น จึงได้โทร.ไปอีกครั้ง ปู่บอกว่า “นึกแล้วว่าลูกต้องลืม พ่อรอครึ่งชั่วโมงไม่เห็นโทร.มา ก็กลับบ้านไป” ปู่ไม่ได้ว่าอะไรพ่อ
เมื่อเราช่วยกันหาโทรศัพท์ให้ที่บ้านแล้ว ก็นึกว่าจะโทร.ไปหาปู่ย่าอาทิตย์ละหน ปรากฎว่า บางเดือนไม่ได้โทร.สักครั้งก็มี คงอยู่ที่ใจ ที่ความตั้งใจ อย่างที่พ่อเคยเขียนว่า โลกวันนี้มีเรื่องแปลกแต่จริง (paradox) ยิ่งมีมือถือเครื่องมือสื่อสารทำให้ติดต่อกันง่าย คนก็ยิ่งดูห่างไกลกัน ยิ่งมีหนังมีละคร มีดนตรีมีเพลง คนก็ยิ่งเหงา บ้า และฆ่าตัวตายมากขึ้น แปลกไหม
ต่อมาเมื่อพ่อตั้งตัวได้ ก็ได้ส่งเงินไปให้ปู่ย่าทุกเดือนจำนวนหนึ่ง ลูกๆ คนอื่นก็ช่วยกัน ไปบ้านทีก็มีอะไรไปฝากท่านทั้งสองเสมอ ดูท่านมีความสุขกับลูกหลาน แต่ก็เป็นห่วงทุกคน โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพกับหนี้สิน
ตอนที่เราอยู่ที่เชียงใหม่ โดมอยู่เยอรมัน ขวัญอยู่อังกฤษ พ่อแม่มีเงินส่งลูก แต่วันหนึ่งพ่อก็ลาออกจากงานที่เชียงใหม่ ขณะที่รองานใหม่ เงินก็ขาดมือ วันหนึ่งพ่อจึงลองโทร.ไปหาย่า ถามว่า “แม่มีเงินบ้างไหมครับ” ย่าตอบทันทีว่ามี และรู้ว่าพ่อคงขาดเงินและอยากยืมเงินย่า “แต่อยู่กับลูกบางคน เดี๋ยวแม่จะไปเอามาให้นะ”
พ่อฟังแค่นั้นก็น้ำตาซึมแล้ว รีบตอบไปว่า “ไม่หรอกครับแม่ ถามดูเฉยๆ อยากรู้ว่าขาดเหลืออะไรหรือเปล่า” พูดเลี่ยงไป แต่ย่าคงจับน้ำเสียงได้ว่าพ่อกำลังมีปัญหาการเงินและอยากช่วย ที่สุดพ่อก็ตัดบทนั้น ไม่ได้ต้องการรบกวนยืมเงินย่า เพราะยังไงย่าคงไปหามาให้พ่อทันทีไม่ได้ พี่ๆ ก็มีปัญหาเหมือนกัน
ย่าบริหารจัดการเงินโดยลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นน้อย มีที่ดินผืนเล็กๆ หลังบ้าน ย่าก็ปลูกผักไว้มากมายหลายชนิด ไม่ต้องซื้อผักชี หอมแบ่ง ใบแมงลักผักอีตู่ ผักหอมห่อหอมเป สาระแหน่ ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว พริก มะเขือ มะเขือพวง ขิง ข่า เพกา ตำลึง หน้าหนาวก็ปลูกผักกาดใหญ่ ผักกาดน้อยที่กินแล้วขึ้นจมูกเหมือนมัสตาร์ด
ตอนบั้นปลายชีวิต ย่าปลูกมะม่วงไว้สองต้น เป็นมะม่วงสามฤดูที่คงตอนมา เพราะแค่ปีเดียวก็ออกลูก แต่ก็อยู่มาจนถึงวันนี้ (2565) หลานที่บ้านบอกว่า ยังออกลูกดกมาก กินไม่ทัน วางขายหน้าบ้านกิโลละ 20 บาท ได้เงินหลายพันบาททุกปี นี่คือมรดกของย่า
มะม่วงสองต้นเหมือนปู่กับย่าที่อยู่ดูแลลูกหลานมาจนถึงวันนี้
ตอนที่ไม่มีน้ำประปา ที่บ้านก็เก็บน้ำฝนไว้ดื่ม หรือถ้าขาด พี่ๆ ก็ไปหาบจากบ่อริมป่าทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ที่เรียกกันว่า “ส่างโคก” (ส่างแปลว่าบ่อน้ำ) ซึ่งอยู่ไกล ต่อมามีคนไปเข็นใส่ปี๊บมาขายก็ซื้อจากเขา ส่วนน้ำใช้ก็ไปหาบมาจากบ่อเล็กตื้น ที่ขุดกันริมหนองหารในหน้าแล้งเมื่อน้ำหนองหารลดลงมาก เพราะทางราชการเขาปล่อยน้ำไปลงแม่น้ำโขง เรียกว่า “ตากหนองหาร” ฆ่าเชื้อโรคเชื้อราต่างๆ ได้ดี ทำให้กุ้งหอยปูปลาอุดมสมบูรณ์ แต่หน้าแล้งอยากอาบน้ำหนองหารต้องเดินลงไปไกลมาก
ย่าเป็นคนศรัทธาในศาสนา ปฏิบัติศาสนาเหมือนคนอื่นๆ ไปวัดวันอาทิตย์ ไม่ได้ไปทุกวันเหมือนปู่เพราะต้องทำงานบ้านมาก ทุกเย็นก่อนนอน ย่าจะพาลูกๆ สวดภาวนาไม่เคยขาด ย่าไม่ได้เป็นสมาชิก “พลมารี” ที่เป็นเหมือนชมรมสมาคมคนที่รวมกันเพื่อช่วยเหลือพระศาสนจักร ช่วยเหลือชุมชน คนห่างวัดวา ย่าคงไปร่วมไม่ได้เพราะงานบ้านรัดตัว ลูกมาก ลำบากอยู่แล้ว เมื่อทุกอย่างคลี่คลาย บั้นปลายชีวิตย่าก็เป็นพลมารีกับเขา
ภาพแห่งความทรงจำสุดท้าย เป็นภาพที่บ้าน ไม่ทราบมีงานเลี้ยงอะไร งานเลิก คนทะยอยกลับกันเกือบหมด ยังเหลือสามสี่คนนั่งคุยอยู่กับปู่กลางบ้าน มีเหล้าขวดหนึ่งตั้งอยู่ ปู่คุยเสียงดัง คงจะดังกว่าปกติ เห็นย่าเดินถือเหล้าแม่โขงกลมหนึ่งไปวางกระแทกลงบนเสื่อกลางวง
ย่าคงอยากให้ปู่หยุด เพราะใครๆ เขากลับกันหมดแล้ว จึงประชด แต่วิธีของย่าดูจะ “ดุ” ได้ที่ ซึ่งก็ได้ผล วงแตก เห็นยังว่า ใครใหญ่กว่ากันที่บ้าน
ชีวิตของย่าถ้าเทียบกับของปู่อาจจะดูไม่มีอะไรหวือหวา ถ้าเป็นหนังก็ขาวดำ แต่ถ้าพินิจลงไปในรายละเอียด ชีวิตของย่าไม่ได้จืดชืดขนาดนั้น สามารถนำมาทำเป็นหนังชีวิตขนาดยาวได้ ย่าไม่ใช่ตัวประกอบ แต่เป็นนางเอกเลยทีเดียว และคงดูสนุกไม่แพ้หนังชีวิตของปู่
เป็นธรรมเนียมที่หลังมิสซาหน้าศพก่อนนำไปสุสาน จะมีตัวแทนลูกหลานขึ้นไปพูดบนโพเดียม ญาติพี่น้องให้พ่อขึ้นไปพูด หน้าศพปู่ พ่อพูดไม่จบ มีอะไรมาจุกที่คอ น้ำตาไหล ต้องหยุด แต่ในกรณีของย่า พ่อบอกว่า “งานนี้เหมือนงานฉลอง เราเสียใจที่แม่ ย่า ยาย ทวด จากเราไป แต่ก็ดีใจว่า ท่านได้ไปพักผ่อนกับพระเจ้าและบรรดานักบุญในสวรรค์แล้ว ท่านได้ทำงานหนักมาตลอดชีวิต เลี้ยงดูพวกเราลูก 14 คน หลานอีกหลายคน ขอบคุณแม่แทนลูกหลานทุกคนที่แม่ได้ให้ชีวิตด้วยความรักอันยิ่งใหญ่”
พ่อไม่มีน้ำตาในวันที่พูดหน้าศพย่า เพราะดีใจกับท่านที่ได้ไปสวรรค์แล้ว แต่เขียนถึงท่านวันนี้กลับน้ำตาไหล
รักลูก-พ่อ
เสรี พพ 26/11/22
หมายเหตุ นำภาพประกอบฉบับสุดท้ายที่เขียนถึง “พ่อ-แม่” พยายามหาภาพที่แม่นั่งบนแคร่กับพ่อ ไม่พบ อาจเป็นได้ที่จำผิดไป เพราะทุกภาพ “แม่” จะนั่งบนพื้น มี “พ่อ” นั่งบนแคร่คนเดียว
ภาพพ่อแม่กับลูกทั้ง ๑๑ ถ่ายเมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๑๗
“พ่อ” จากไปเมษายน ๒๕๔๓ “แม่” ตามไป พฤษภา ๓ สัปดาห์ให้หลัง