อีศานในสถานการณ์ไวรัส”โควิด-19” ลามระบาดทั่วโลก
“ให้พี่น้องป้องปาย ซำบายดี ทุกผู่ทุกคน” – ไทลาว
“บองปะโอน เซราะซะบาย คเนียนิจ” – ไทเขมร
“เห้อพี้น้องป้องป๋าย ซ่ำบ๋ายดี๋ คู้คนเด้อ“ – ไทผู้ไท
“ให้อ้ายน้องป้องปาย สะบายดี สุคู่สุคนเด้อ“ – ไทญ้อ
“ละออคุนะคุได แซมเอยแซมอายแซมชาย อิโบ๊ะอิเบ๊ะ” -ไทโส้ , ไทกวย , ส่วย, กูย
“ให่ซำบาย ดีอยู่ดีมีแฮงเดอพี่น้องปองปาย กะดายเนาะ ภัยผิสังกะอย่ามาใกล้ ความจังไฮอย่าได้มาสู่ ทุกขู่ ทุกคนเดอ” -ไทกะเลิง
“ซิด๋อย อยู่ลีมีแฮง อยู่ลีกินแซ่บ อยู่แจบกินนัว เด้อพีน้องสุคน” – ผู้ลาว
( 58 )
บางส่วนจากข้อเขียนเรื่อง “นิติรัฐนิติธรรม”
“…ความล้มเหลวของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากมาจากการไม่เข้าใจ “ฐานราก” ของสังคมไทย มองข้ามความสำคัญตลอดมา ไม่เคยให้ความสนใจ “ทุนท้องถิ่น” ที่เป็นทุนทรัพยากร ทุนทางสังคม ทุนทางปัญญา ซึ่งเป็น “ศักยภาพ” ที่หากได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจริงก็จะเป็นพลังสำคัญและเป็นฐานรากให้สังคมไทยได้
ที่ผ่านมา สนใจ “ทุนท้องถิ่น” ก็เพื่อ “เด็ดยอดภูมิปัญญา” มารับใช้เศรษฐกิจใหญ่ เรียกเท่ ๆ ว่าโอทอปสามดาวห้าดาว นำแรงงานชุมชนไปทำการผลิตเพื่อระบบเศรษฐกิจใหญ่ ไม่ได้คิดถึงความเข้มแข็งของฐานรากจริง ๆ
กฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาจึงเพื่อการทำงานของรัฐ ของหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่เพื่อไปส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน กฎหมายไม่ได้ให้ความสนใจ “ทุนทางปัญญา” ที่รวมไปถึงภูมิปัญญาในการดำรงชีวิต ระบบคุณค่า ศีลธรรมจริยธรรม ความถูกต้องดีงาม ที่มาในรูปประเพณีวิถีชุมชน ที่แตกต่างทางบริบทกับเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา ที่มาของกฎหมายสำนักต่างๆ ที่นักกฎหมาย คนออกกฎหมายไปเล่าเรียนมา
กฎหมายไทยที่ออกมาจึงแทบไม่มี “วิญญาณ” ของ “วิถีไทย” ที่อยู่ในจารีตประเพณี กฎเกณฑ์ฮีตคองต่าง ๆ ที่ยังเป็นส่วนสำคัญในสังคมไทยชุมชนไทย ไม่สนใจศึกษาให้ลึกซึ้งถึงแก่นถึงรากเพื่อจะได้ต่อยอดและประยุกต์ให้เป็นวิถีใหม่ที่ตอบสนองสังคมยุคใหม่…
แน่นอน กฎหมายที่มีฐานที่ภูมิปัญญา ชุมชนเก่าแก่แต่ดั้งเดิมย่อมมีสีสัน “สังคมนิยม” มากกว่า “เสรีนิยม” เพราะสังคมในอดีตนั้น ความเป็นปัจเจกและความเป็นสังคมเป็นสองหน้าของเหรียญเดียว คุณค่าของการอยู่ร่วมกันจึงเป็นการร่วมมือมากกว่าแข่งขัน แบ่งปันเกื้อกูลมากกว่าร่ำรวยคนเดียว
ความพยายามของคนในโลกที่สามที่จะสร้างรากฐานสังคมใหม่บนฐานสังคมเก่าค่านิยมดีงามเดิม ส่วนใหญ่จึงไปไม่รอด ไม่ว่ารัฐบุรุษคนสำคัญอย่างจูเลียส เยเรเร แห่งแทนซาเนีย ด้วยนโบบาย Umajaa หรือนายกรัฐมนตรีอูนุ แห่งพม่า ที่มีนโยบาย “วิถีพม่าสู่สังคมนิยม” (Burmese Way to Socialism) ก็ล่มด้วยการปฏิวัติของนายพลเนวิน รวมไปถึงแนวคิดเศรษฐกิจเอียงซ้ายของนายปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกปฏิเสธในท้ายที่สุด…
แต่เมื่อมองไปอีกสุดขั้วหนึ่ง สหรัฐอเมริกาที่ได้คนอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี และมีสิทธิได้เป็นอีกสมัย คงไม่ใช่เพราะนายทรัมป์เก่ง แต่น่าจะเป็นเพราะมี “อำนาจลึก” และใหญ่โตหนุนหลัง วันใดที่ “หุ่น” ตัวนี้ไม่มีประโยชน์อีกก็อาจจะถูกเผาถูกทิ้งไป หาตัวใหม่ขึ้นมาแทน
ตัวอย่างเหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ อำนาจจริงในสังคมโลกยังเป็นอำนาจทุนใหญ่ ที่รวมพลังล้ำลึกและลึกลับ (deep state) แต่เป็นอำนาจจริงที่ครอบงำโลก ครอบงำประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสังคมไทย แล้วจะไม่ให้ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลกได้อย่างไร
ดูเงาทะมึนหลังการออกกฎหมายและนโยบายของรัฐก็น่าจะพอรู้ว่า อำนาจจริงอยู่ที่ไหน และหากเมืองไทยจะพัฒนาไปข้างหน้า คงต้องหาทางคาน “อำนาจลึกและดูลับ” นี้ที่จะไม่ยอมล้มหายไปง่าย ๆ แน่ แม้สัจธรรมจะบอกว่า ไม่มีอะไรที่ยิ่งใหญ่แค่ไหนจะยั่งยืน เพราะอำนาจทุกอย่างล้วนอนิจจัง…”.