บุญคูนลานเดือนยี่ : ทำนาปลูกข้าว บุญก็ได้หัวใจก็ม่วนซื่น
กระติ๊บที่ชาวบ้านใส่ข้าวมาร่วมพิธีเมื่อเสร็จก็นำกลับไปใส่ยุ้งข้าวที่บ้านเป็นมงคล
แม้อากาศจะหนาวเย็น เป็นไปตามฤดูกาล แต่ก็ไม่อาจต้านทานแรงศรัทธา ผู้มีหัวใจใฝ่ธรรม ร่วมกันนั่งสวดมนต์ภาวนาทั้งคืน จวนใกล้สว่าง เสียงไก่ขันเตือนให้รีบลุกขึ้นทำภารกิจในยามเช้า ถ้าอยู่บ้านก็ต้องตื่นจากที่นอน รีบหุงหาอาหารมาทำบุญใส่บาตร แต่เมื่ออยู่วัดก็รีบเดินออกจากลานข้าวที่วัดกลับบ้านไปนึ่งข้าวเหนียว ทำกับข้าวมาใส่บาตรตอนเช้าให้ทัน
ร่วมใจทำบุญใส่บาตร
ไออุ่นยามอรุณรุ่ง ผู้ปฏิบัติธรรมต่างมุ่งทยอยเดินกลับไปยังบ้านเรือนของตนที่อยู่ไม่ไกลเพื่อไปจัดแจงอาหารให้พร้อมสรรพและคืนกลับมาอีกครั้งเมื่อใกล้เวลา ทุกคนต่างเดินเข้ามาในบริเวณวัดป่าดงสิม อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยร่มรื่น แสงเงาตกทอดลงยังพื้นดินออกสีเหลืองแดง นำข้าวของพร้อมกระติ๊บข้าวเหนียวไปวางไว้ที่ศาลา แล้วตั้งแถวไปรอบ ๆ ลานข้าวด้านนอก เพื่อรอพระเดินมาโปรดสาธุชนที่ยืนรออยู่เรียงราย
ครั้นถึงเวลาเจ็ดโมงครึ่งได้เวลาพระออกบิณฑบาต พระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์มาพร้อมกับพระอาจารย์ประเสริฐ เจ้าอาวาส เริ่มต้นเดินออกมารับบาตรเป็นแถว ตั้งแต่หัวแถว มีทั้งหนุ่มสาวเฒ่าแก่ตลอดจนเด็ก ๆ ที่มากับผู้ปกครองยืนรอใส่บาตร ข้าวเหนียวจากนาที่ทำเอง นึ่งสุกมาแต่บ้านยังส่งกลิ่นหอม ต่างจกข้าวปั้นยกขึ้นเหนือหน้าผากตั้งจิตอธิษฐานจบ และใส่ลงไปในบาตรพระคุณเจ้า เสียงญาติโยมผู้ศรัทธากับพระคุณเจ้าทักทายกันตามประสาหัวใจอิ่มบุญ ยิ่งเห็นมีเด็กน้อยมาใส่บาตรท่านยิ่งน่าเอ็นดู เหมือนเป็นบทเรียน เป็นความหวังพลังของต้นกล้า ที่จะเติบโตขึ้นมารักษาสืบทอดประเพณีของคนรุ่นปู่ย่าตายายเอาไว้ จากพระที่เดินรับบาตรองค์แรก จนถึงองค์สุดท้ายที่ได้รับบาตร เป็นเสร็จการทำบุญใส่บาตร ต่อจากนั้นจึงเป็นเป็นการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์
วัตรปฏิบัติของพระวัดป่า ใช้ชีวิตสมถะเรียบง่าย ท่านนั่งเรียงแถวกันอยู่ที่อาสนะ รับอาหารวางบนไม้กระดานที่ถูกเลื่อนไปหาท่านท่านหยิบอาหารใส่บาตรจนพอกับท่านแล้ว ก็เลื่อนให้องค์อื่นได้รับอาหารเหมือนกัน จนครบทั้งคาวหวานแล้วท่านก็ลงมือฉันในบาตรนั่นเองถามพระคุณเจ้าว่าท่านฉันกี่มื้อ พระคุณเจ้าท่านบอกว่า ปกติก็จะฉันมื้อเดียวจากที่ได้ไปบิณฑบาตมา แต่ถ้าหากตอนกลางวันมื้อเพลมีญาติโยมศรัทธามาถวายก็ฉันเพลฉลองศรัทธาญาติโยมอีกมื้อ พระคุณเจ้าฉันเช้าเสร็จจึงได้ให้พร ญาติโยมที่มาร่วมพิธีกรวดนํ้าหรือหยาดนํ้ารับพรพระ อุทิศให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วจากนั้น ต่างหันหน้ามาล้อมวง เอากับข้าวกับปลาที่คืนมาจากถวายพระ มาตั้งวงร่วมรับประทานอาหารเช้า เป็นบรรยากาศกินข้าวกันตามประสาญาติพี่น้อง ของคนปลูกข้าวร่วมนากินปลาร่วมหนองเดียวกัน
ใส่บาตรทำบุญแด่พระสงฆ์ในตอนเช้า
ฟาดข้าวปลงข้าวจากฟ่อน
กินข้าวเสร็จมารวมกันที่หน้ากองข้าว ที่ได้จัดวางของไหว้แก่แม่พระธรณี และแม่โพสพ ทั้งข้าวนํ้าอาหารหวานคาวจัดเตรียมไหว้ท่าน จารย์ครูคำมูน เริ่มทำพิธีด้วยการตีหรือนวดข้าวให้เมล็ดข้าวออกจากรวง ปลงข้าวก็เรียก ครูคำมูนว่าคาถาตีข้าว อาคัจฉาหิ อภิชาตสหมมะ ว่า ๗ ครั้ง ตีข้าว ๗ หน จากนั้นเริ่มต้นคนแรก ใช้เครื่องมือจับมัดฟ่อนข้าวแล้วยกให้สูงเหนือหัว แล้วฟาดลงไปที่ลานข้าว ข้าวร่วงออกจากรวง ตีข้าวอยู่สองสามหนจนข้าวร่วงหมดจากมัดฟ่อนข้าวแล้ว คราวนี้ก็เป็นการโยนมัดฟ่อนข้าวไปเก็บกองไว้อีกที่ แล้วการละเล่นสนุกสนานก็เกิดขึ้น
การละเล่นง่าย ๆ เขาใช้คันหลาวที่ทำด้วยไม้ไผ่ปลายแหลมผูกมัดกับต้นไม้ให้แน่น ๆ ทำตั้งเฉียง ๆ ประมาณสี่สิบห้าองศา เอาปลายแหลมคันหลาวตั้งรอไว้รับเสียบฟ่อนข้าวที่เขาเหวี่ยงพุ่งมาหา ตอนตีข้าวหมด คนที่ตีฟ่อนข้าวเสร็จแล้วก็จับฟ่อนข้าวนั้นพุ่งแรง ๆ หมายใจจะเอาฟ่อนข้าวให้ไปเสียบติดคันหลาวให้ได้ ใครพุ่งได้แม่นติดก็มีรางวัลมอบให้ เป็นที่สนุกสนานครึกครื้นพอหอมปากหอมคอให้ได้บรรยากาศเฮฮา แข่งขันความแม่นยำของสายตาและพลังแรงเหวี่ยง บางคนเหวี่ยงพุ่งไปไม่ถึงร่วงก่อนคันหลาว บ้างไม่เสียบตรงมัดฟ่อน กว่าจะมีคนพุ่งฟ่อนติดได้สักหนก็นานทีเดียว
แน่ละเหนื่อย ๆ ออกแรงรวมกันเป็นหมู่เช่นนี้ ต้องมีเครื่องดื่มพื้นบ้านที่หมักจากข้าวทำเตรียมไว้อย่างดี เพื่องานนี้โดยเฉพาะ หมักและกรองจากไห สาโท นํ้าสีขาวนวลหวาน ๆ หอมหวนชวนชื่นใจมาให้ดื่ม เป็นแรงกระตุ้นในการทำงานและรำฟ้อนให้ม่วนซื่นหลาย ๆ ยิ่งขึ้นเพลงเต้ยสวรรค์บ้านนา เสียงดังกระหึ่ม ผู้คนรำฟ้อนต้อนกันสนุกสนานในลานข้าว
“ชาวนาถึงคราหน้าฝน ชาวนาถึงคราหน้าฝน หนุ่มสาวทุกคนสู้ทนคราดไถ ขับกล่อมเพลงร้องเรื่อยไป ขับกล่อมเพลงร้องเรื่อยไป นะให้เพลินหัวใจไผมองว่าตํ่า รูปชั่วตัวดำเพราะทนทำนา รูปชั่วตัวดำเพราะทนทำนา
วาสนา ชาวทุ่ง ละบ่คือชาวกรุงเมืองฟ้าใหญ่ ๆ เหลียวเบิ่งไผมีแต่คนโก้ ๆ โก้ ๆ โอ๊ยโก้ ๆ โก้ ๆ ดอกโตเกลี้ยงแม่นจำใส่ เราบ่ต้องสนใจถึงใครจะเด่น ชาตินี้ขอเป็นชาวนาไม่หนี ไผว่าบ่ดีบ่เคย…ง้อ…
สวรรค์บ้านนาอยู่ไหน สวรรค์บ้านนาอยู่ไหน ไม่รู้อะไรใครมองไม่เห็น บ้านนาสวรรค์ทั้งเป็น บ้านนาสวรรค์ทั้งเป็น โปรดมองให้เห็น นะจะเป็นความสุข ไม่เหมือนความทุกข์ของคนในบาง ไม่เหมือนความทุกข์ของคนในบาง” (เต้ย สวรรค์บ้านนา – พรศักดิ์ ส่องแสง)
ที่ตีข้าวฟาดข้าวก็ตีกันไปฟาดกันไป ที่รำก็รำกันไป แล้วก็ไปช่วยกันสลับผลัดเปลี่ยนไปร่วมกันออกแรงทำบุญฟาดข้าวไปจนกว่าจะหมดฟ่อนข้าว ที่ได้รับมาจากพี่น้องที่ศรัทธามาร่วมบุญ หากยังไม่หมดถึงเวลาพักกลางวันก็กินข้าวกลางวันแล้วก็มาฟาดข้าวกันต่อ
ช่วยกันฟาดข้าวที่ลานข้าวในวัดป่าดงสิม หรือวัดป่าศิริ ทรงธรรม
บายศรีสู่ขวัญเรียกขวัญข้าว
จารย์ครูคำมูน ในชุดขาวทำพิธีบูชาพระรัตนตรัย และเชิญเทวดา เป็นการเริ่มต้น แล้วจึงเรียกขวัญสู่ขวัญ
“มื้อนี้ หมอสร้างให้ได้ข้าวฮวงหนา หมอสร้างนาได้ข้าวฮวงก้อน หมอปลูกหม่อนให้แผ่ แผ่สร้างใหญ่ เจ้ามาโฮม ท้าวบุญโฮงขึ้นปราสาทพวกนักปราชญ์เข้ามาฟังธรรม ได้เงินคำหมื่นแสนล้าน พวกชาวบ้านขันเบิกบายศรี เศรษฐีได้เงินคำ เพิ่นเสียกำ เฮาได้กอบ เฮาทำชอบ เพิ่นให้รางวัล นอนฝันว่าได้หน่วยแก้ว ตกแต่งแล้วจึงยอมา เทวดาว่าให้มั่น มั่นคือให้มั่น แทนผาจวงมั่นให้มั่นคือ เขาหินลาด นักปราชญ์ว่ามื้อนี้เป็นมื้อดี จึงบายศรีสู่ขวัญข้าว ให้มาเต้ามาโฮม”
บายศรีสู่ขวัญข้าวเสร็จ ครูคำมูนจึงเอานํ้ามนต์นํ้าส้มป่อย ไปประพรมให้ทั่วกันทั้งบริเวณ ลานข้าวกับเครื่องไม้เครื่องมือ ข้าวกองและผู้คนที่ร่วมพิธี จากนั้นจึงผูกข้อมือตั้งแต่ท่านเจ้าอาวาส ผู้เฒ่าผู้แก่คนสำคัญของหมู่บ้านและคนที่มาร่วมงานกันทุกคน แล้วจึงแจกข้าวแจกของทั้งเครื่องเซ่นไหว้และของร่วมพิธีทั้งหลายเอากลับบ้านไปเป็นสิริมงคล ข้าวก็เอาไปใส่ยุ้งฉางใส่เล้าของตน ฤดูทำนาใหม่มาถึงจะได้ทำนาได้ข้าวผลดี มีกำลังใจมีเรี่ยวแรงทำนากันต่อ ๆ ไป
ประมวล หอมกลาง เป็นลูกบ้านไทยเจริญใกล้ ๆ วัดนี้ แต่ไปทำงานกรุงเทพฯ ชีวิตทางบ้านทำนา แต่ตัวเองก็ไม่เคยได้เห็นและเคยได้ร่วมงานบุญคูนลาน มาคราวนี้เป็นโอกาสได้อยู่ร่วมงานตลอด เป็นการทำบุญทำขวัญให้ข้าว ทำพิธีให้คนปลูกข้าวทำนามีความสุข เป็นกำลังใจให้คนทำนา เป็นเรื่องที่ดีมาก
เช่นเดียวกับ นฤมล โอนนอก เธอมาจากอุดรธานี ที่บ้านก็ทำนาเห็นการทำนา แต่ไม่เคยได้เห็นงานบุญคูนลานเหมือนกัน ได้เห็นคุณค่าของชาวนา เห็นคุณค่าของการปลูกข้าว ข้าว การบายศรีสู่ขวัญเป็นกำลังใจให้คนทำนา ได้มีข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ ประทับใจมาก
ข้าวที่มารวมกันในวัด เมื่อก่อนนั้นก็แจกให้กับคนยากคนจนที่ไม่ได้ทำนา ไม่มีข้าวกินเอาไปสีแบ่งกัน ใครที่มีแล้วอยากได้เอาไปเป็นมงคลก็มาเปลี่ยนเอาไปบูชา เงินที่ได้ก็นำไปบูรณปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงวัดบ้านเรากันต่อไป
งานบุญคูนลานที่วัดป่าดงสิม เป็นงานอนุรักษ์ฟื้นฟูให้กลับมามีชีวิตชีวา รักษาประเพณี เจตนาหลักของบุญประเพณีได้ยังดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้คนทำนา ได้สร้างบุญกุศล ช่วยเหลือแบ่งปันให้กับคนที่มีน้อยกว่าไม่ทอดทิ้งกัน นี่คือหัวใจของงานบุญเดือนยี่ บุญคูนลานที่ยังมีมนต์ขลังในหัวใจคนทำนา ผู้ศรัทธาทำบุญรักษาประเพณีให้ยั่งยืน
ครูคำมูน-ประสิทธิ์ หอมกลาง ปราชญ์ท้องถิ่น ทำพิธีสู่ขวัญข้าวไหว้พระแม่โพสพ เทพแห่งข้าวนำด้ายสายสิญจน์จากพิธีบายศรีผูกข้อมือให้แก่ผู้ร่วมพิธีพรมนํ้ามนต์ให้ทั่วบริเวณลานข้าวข้าวของเครื่องเซ่นไหว้พระแม่โพสพแจกของที่อยู่ในพิธีนำไปเป็นสิริมงคลที่บ้าน
****
คอลัมน์ ไผว่าอีศานฮ้างนิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๖๐ เดือนเมษายน ๒๕๖๐
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220