“บ้านเดื่อ”
จากหมู่บ้านเกษตรริมโขง
สู่หมู่บ้านท่องเที่ยว
พ่อสมจิตร จันทำมา และ ขนิษฐา จันทำมา (ลูกสาว)
บ้านเดื่อ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงในพื้นที่ ตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเมืองฯ จังหวัดหนองคาย ก่อนหน้าที่ถนนสายท่องเที่ยว หนองคาย – โพนพิสัย ที่เป็นถนน 4 เลนจะเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านหาอยู่หากินกันตามวิถี ทำนา หาปลา ปลูกผักริมโขงพอเลี้ยงชีพไปวัน ๆ เท่านั้น
แต่พอความศรัทธาและความเชื่อเรื่องบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ถนนทุกสายที่เคยมุ่งหน้ามาเมืองหนองคายได้ขึ้นว่าเป็นเมืองแห่งโอโซนที่ดีที่สุดในโลก ได้บ่ายหน้าไปยังอำเภอโพนพิสัย และอำเภอรัตนวาปี แหล่งที่พบว่ามีบั้งไฟผี หรือบั้งไฟพญานาคขึ้นเป็นจำนวนมาก จากถนนดินแดงกลายเป็นถนนลาดยาง 2 เลน และจาก 2 เลนได้ขยายเป็น 4 เลนเมื่อไม่นานมานี้
บ้านเดื่อเป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ห่างจากตัวเมืองหนองคาย 24 กิโลเมตร สภาพหมู่บ้านถูกแยกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งแม่น้ำโขงและฝั่งฟากถนน ฟากถนนเป็นที่นาเอาไว้ทำนากิน แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก นาปีจะถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมดเป็นเช่นนี้มายาวนาน เพราะหมู่บ้านนี้และจังหวัดหนองคายทั้งจังหวัดมีสภาพเป็นเกาะ ล้อมรอบด้วยน้ำทั้งน้ำโขง และลำน้ำสวย รวมถึงลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงสายอื่น ๆ ด้วย พอถึงฤดูฝนน้ำโขงหนุน ทำให้พื้นที่ภายในถูกน้ำท่วมทั้งหมด ข้าวนาปีจึงกลายเป็นข้าวทิ้งเพราะน้ำท่วมตลอด แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้เดือดร้อน เพราะน้ำท่าอุดมสมบูรณ์นี้เอง จึงฝากชีวิตไว้กับข้าวนาปรัง ซึ่งพอได้ผลและเอามาไว้กินได้ตลอดปีเช่นกัน
จากหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เป็นเพียงทางผ่านไปยังอำเภอโพนพิสัย และอำเภอรัตนวาปี อยู่ ๆ พ่อสมจิตร จันทำมา ก็พัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ยังมาเยือน
สมจิตร จันทำมา ประธานท่องเที่ยวชุมชนเล่าว่า วิถีชีวิตของคนในชุมชนเรียบง่าย ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทั้งการประมง การเกษตร ปลูกพืชผักแบบขั้นบันไดตามริมฝั่งแม่น้ำโขง ต่อมาทางชุนชนได้รับการสนับสนุนจากโครงการประชารัฐและสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย เข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ทำให้คนในชุมชนได้รวมตัวกันขึ้นจนกลายเป็น “แหล่งท่องเที่ยวชุมชนบ้านเดื่อ” ใน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา
เมื่อต้องกลายเป็นชุมชนแห่งการท่องเที่ยว และเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นมาไม่ถึง 2 ปี ทำให้จะต้องมีระเบียบข้อบังคับมีการตั้งกฎกติกา อันดับแรกคือคนที่จะมาเป็นสมาชิก จะต้องมีหุ้นส่วน หุ้นละ 100 บาท แต่ไม่เกิน 500 บาท ซึ่งขณะนี้มีหุ้นส่วนทั้งหมด 50 คน และยังมีกลุ่มต่าง ๆ เกิดขึ้น ทั้งกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มมะม่วงแช่อิ่ม กลุ่มแปรรูปอาหาร กลุ่มแปรรูปปลานิล กลุ่มโรงสี กลุ่มมะตูม และกลุ่มไร่นาสวนผสม
ส่วนด้านการท่องเที่ยวกลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก จากชุมชนที่เงียบสงบ เมื่อต้องกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีคนเข้าออกตลอดเวลา จึงมีการแต่งตั้งประธานโฮมสเตย์ ประธานกลุ่มแม่บ้าน มีฝ่ายสถานที่ รวมถึงการจัดสถานที่ที่มีเครื่อง แสง สี เสียง โดยมีการแบ่งหน้าที่ ที่พักมีบ้านทั้งหมด 20 หลัง เมื่อมีที่พักก็ต้องตามมาด้วยอาหารการกิน จึงมีฝ่ายแม่ครัวเกิดขึ้น
ส่วนเรื่องที่พักโฮมสเตย์แต่ละหลัง จะมีการคัดเลือก ครั้งแรกตามความสมัครใจก่อน จนกระทั่งขณะนี้มีสมาชิกครบ 20 คนแล้ว ในอนาคตอาจจะมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีหน่วยงานเข้ามาประเมิน หลังจากผ่านเกณฑ์ประเมินแล้วก็จะเริ่มพัฒนาเรื่องโฮมสเตย์ โดยเข้าไปแนะนำเจ้าของบ้านพักว่า บ้านพักโฮมสเตย์ควรจะมีอะไรบ้างภายในห้องพัก เพราะคนที่นี่จะยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องห้องพัก ซึ่งสิ่งที่ควรจะมีเพื่อให้แตกต่างจากที่พักที่อื่น ๆ ก็ควรจะมีกิจกรรมในบ้านพักแต่ละหลัง มีขนมทานเล่นให้นักท่องเที่ยว มีการสาธิตทอผ้า มีผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีการปลูกผัก เลี้ยงปลา แต่หากบ้านพักหลังไหนยังไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร
ความแตกต่างของบ้านพัก โฮมสเตย์ที่นี่ คือนักท่องเที่ยวจะเห็นวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง ที่คนในชุมชนมีต้นทุนอยู่แล้วคือ “แม่น้ำโขง” และวิวริมน้ำโขง อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรม มีพระไชยเชษฐา วัดพังโคน มีวังปู่นาคา ย่านาคี วังไคร้ และวังหลวงพ่อใหญ่ทันใจ ที่นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมได้
หากประเมินดู ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแหล่งท่องเที่ยวชุมชนบ้านเดื่อ ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกมีการพัฒนาดีขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะมีการตั้งกลุ่มต่าง ๆ ที่สามารถเพิ่มรายได้ให้สมาชิก ส่วนในอนาคตคาดว่าจะต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น หลังจากได้รับคำแนะนำจากทางสำนักงานท่องเที่ยวจังหวัด ที่คิดจะทำเป็นชุนชนท่องเที่ยวต้นแบบ ทั้งเรื่องการเกษตร และการท่องเที่ยว
ส่วนอาชีพของคนในชุมชน การปลูกผักแบบขั้นบันไดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ชาวบ้านที่นี่จะใช้ช่วงเวลาน้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลงทำการปลูกผัก เพราะเมื่อช่วงน้ำหลาก แล้วถึงเวลาน้ำลดลงทำให้ดินตามลำน้ำโขงตกตะกอนเป็นดินที่ดีไม่ต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ทำให้ผักของคนที่นี่เป็นผักปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอาหารที่ทำให้ลูกค้าก็นำผักสวนครัวที่สมาชิกปลูก เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิกด้วย บางครั้งมีออเดอร์สั่งผักเข้ามา ทำให้มีการตลาดเกิดขึ้นกับชาวชุมชนบ้านเดื่อด้วย
เรื่องการขยายโฮมสเตย์ อยู่ระหว่างการดูจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาพัก แต่อย่างไรก็ตามยังต้องดูที่สมาชิกว่ามีความพร้อมหรือไม่ เพราะตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ยอดคนเข้าพักยังไม่ถือว่าสูงเท่าไหร่ ถึงแม้จะมีโครงการของทางประชาสัมพันธ์จังหวัดที่ช่วยดูเรื่องของคนเข้าพัก เนื่องจากเพิ่งจะเปิดเป็นชุมชนท่องเที่ยวได้ไม่นาน ส่วนนักท่องเที่ยวที่มาพัก ไกลสุดมาจากภาคใต้ ซึ่งถ้าหากนักท่องเที่ยวมาพักเต็มห้องพักไม่พอ ทางชุมชนก็มีเครือข่าย คือบ้านจอมแจ้งและบ้านสีกาย ที่จะสามารถส่งต่อนักท่องเที่ยวไปพักที่นั่นได้อีก
แปรรูปมะเดื่อสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน
หากมาที่ชุมชนบ้านเดื่อแล้วสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเสน่ห์และความแตกต่างที่ทำให้ชุมชนบ้านเดื่อไม่เหมือนใคร คือการหยิบยกเอาลูกมะเดื่อ ไม้ยืนต้นที่มักจะเกิดตามริมฝั่งน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำโขงที่เป็นชื่อหมู่บ้านมาเป็นจุดเด่นและจุดขายของชุมชน โดยพวกเขาได้นำเอาลูกมะเดื่อมาแปรรูปทำเป็นอาหาร น้ำดื่ม และสบู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก
เริ่มต้นจากอาหารที่ชาวชุมชนได้นำมะเดื่อไปทำเป็นห่อหมก โดยเอามะเดื่อไปเป็นส่วนผสมกับปลาและเครื่องแกง นำเอาใบอ่อนของมะเดื่อไปรองห่อหมก ปรุงแต่งออกมาหน้าตาสวยงาม แถมรสชาติอร่อยมากอย่างไม่เคยกินที่ไหนมาก่อน
นอกจากนั้นผลของมะเดื่อยังเอาไปกินเป็นผักแนมกับน้ำพริกได้อีกด้วย โดยน้ำพริกที่หมู่บ้านนี้ทำเรียกว่า “น้ำพริกหมากเลน” หรือน้ำพริกมะเขือเทศ ที่มีรสชาติอร่อย แปลก พอกินคู่กับผักนานาชนิดที่เก็บได้จากริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้ แถมยังเป็นผักปลอดสารพิษ ก็ยิ่งทำให้กินได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ แถมอร่อยมาก ๆ
พอมีอาหารคาวแล้วก็มีของหวาน ผลมะเดื่อสุกยังสามารถเอาไปทำเป็นวุ้นที่มีส่วนผสมของเนื้อมะพร้าว ซึ่งนำมาเป็นของหวานในสำรับอาหารต้อนรับนักท่องเที่ยวได้อีก นอกจากนั้นน้ำที่เอามารับแขกยังเป็นน้ำชามะเดื่อ ที่มีรสชาติอร่อย ไม่หวานมากนัก แถมดื่มแก้กระหายได้อีกด้วย
นอกจากอาหารและของหวานแล้ว ผลมะเดื่อสุกยังเอามาแปรรูปทำเป็นสบู่เพื่อสุขภาพได้อีก นอกจากจำหน่ายยังเอาไว้เป็นของฝาก และของที่ระลึกสำหรับคนที่ไปเยี่ยมเยือนได้อีก เรียกว่าครบวงจรสำหรับบ้านเดื่อ กับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อเป็นจุดขายให้กับท้องถิ่น
ห่อหมกมะเดื่อ
มะเดื่อเป็นผักกินกับน้ำพริกหมากเลน
วุ้นมะเดื่อ
น้ำชามะเดื่อ
สบู่มะเดื่อ
ถุงใส่ผลิตภัณฑ์ของฝากของชุมชน
นอกจากการแปรรูปอาหารของคนบ้านเดื่อแล้ว ในหมู่บ้านนี้ยังอาศัยหาอยู่หากินในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการหาปลา พบว่าคนหาปลามีความรู้ในการเข้าถึงปลาที่หลากหลายโดยพิจารณาจากเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับระบบนิเวศย่อยต่าง ๆ ของแม่น้ำโขงและพฤติกรรมของปลาแต่ละชนิด คนหาปลายังมีความรู้เกี่ยวกับปลาที่สั่งสมจากบรรพบุรุษ ทั้งเรื่องของพฤติกรรมปลา และการสังเกตธรรมชาติต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมของปลา
ชุมชนริมฝั่งโขงมีความเชื่อเรื่องพื้นที่หาปลาในแม่น้ำโขงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูแลคุ้มครองอยู่ การหาปลาจึงต้องมีการบนบานหรือมีพิธีกรรมเพื่อขอปลาและให้คุ้มครองระหว่างการหาปลา รวมถึงยังมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความคิดของกลุ่มคนที่ตั้งชุมชนสองฝั่งโขงบริเวณนี้ เช่น พิธีไหลเรือไฟ
ส่วนพิธีกรรมเกี่ยวกับการจับปลา ก่อนจะลงเรือเพื่อหาปลาตัวใหญ่อย่างปลาบึกต้องมีการทำการเลี้ยงผีก่อน และเมื่อเอาเรือออกหาปลาในแต่ละครั้ง คนหาปลาทุกคนจะบนบานบอกกล่าวกับเรือของตัวเองด้วยปากเปล่าเพื่อให้เกิดความหมาน (ได้ปลาเยอะ) เช่น ขอให้ได้ปลาเยอะ ๆ เมื่อได้ก็จะเลี้ยงเรือ
แต่ถ้าหาปลาไม่ได้ก็ไม่ได้เลี้ยงเรือ การบนบานเรือนั้นคนหาปลามีความเชื่อว่า เรือของตัวเองมีสิ่งที่ตัวเองเคารพนับถือคุ้มครองอยู่ ควรให้ความยำเกรง ไม่กล่าวลบหลู่ คนหาปลาบางคนเชื่อว่า ถ้าเอาไม้พายเรือ กระทุ้งกลางลำเรือจะหากินไม่หมาน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พรานปลากราบไหว้ได้แก่ ผีน้ำ ผีฟ้า และพญานาค
พรานปลาแห่งลุ่มน้ำโขง
พ่อไห อินทชัย อดีตพรานปลาลุ่มน้ำโขง
สำหรับวิถีชีวิตคนหาปลาแห่งลุ่มน้ำโขงนั้น พ่อไห อินทชัย วัย 86 ปี อดีตลูกจ้างการรถไฟ มาสู่พรานปลาแห่งลุ่มน้ำโขงและหาปลาเลี้ยงครอบครัวมาตลอดชีวิต เพิ่งปลดระวางตัวเองไปเมื่อไม่นานมานี้ เพราะสภาพพื้นน้ำไม่อำนวย ประกอบกับสภาพร่างกายไม่เอื้อด้วยเช่นกัน
เดิมพ่อไห เป็นชาวอำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด มาทำงานเป็นลูกจ้างสร้างทางรถไฟที่จังหวัดหนองคาย เมื่อ พ.ศ.2498 ก่อนเจ้านายจะใช้ให้มาซื้อมะพร้าวแถวบ้านเดื่อแห่งนี้ และทำให้ได้มาพบรักกับคุณแม่ทองเลื่อน สาวงามแห่งหมู่บ้าน จึงตัดสินใจแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกันโดยมีลูกทั้งหมด 8 คน และเปลี่ยนอาชีพช่างทำทางรถไฟมาหาปลาและถือเป็นพรานปลาอีกคนหนึ่งที่คนในละแวกนี้จะรู้จักดี
การหาปลาในแม่น้ำโขง จะไม่ได้ใช้เบ็ดใช้ตะขอเหมือนหาปลาในหนองน้ำอื่น ๆ เพราะน้ำโขงกว้างและไหลแรง การหาปลาจะต้องใช้อวนลาก อวนก็จะต้องเป็นอวนใหญ่ ยาวไม่ต่ำกว่า 500 เมตร ได้ปลาทีเต็มลำเรือ 5-6 ลำ โดยเฉพาะปลาบึก ได้ตัวใหญ่ขนาดตัวละ 200 กิโลกรัมก็มี ซึ่งปลาที่หาได้ก็จะเอามากิน เอาไปแลกข้าว ที่เหลือก็เอาไปขาย ทำให้มีเงินเลี้ยงครอบครัว สร้างบ้านและส่งลูกเรียนหนังสือ
สมัยก่อนในแม่น้ำโขงปลาบึกเยอะมาก แต่ทุกวันนี้ปลาบึกหายไป อาจจะเป็นเพราะมีการดูดทรายในแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะฝั่งประเทศเพื่อนบ้านตอนนี้มีเรือดูดทรายกระจายเต็มไปหมด พอเรือมาดูดทรายเยอะปลาก็หนีหมด ไม่ใช่เฉพาะปลาบึก ปลาอื่น ๆ ก็หายไปด้วย
การลากอวนหาปลาจะต้องใช้เรือประมาณ 5-6 ลำช่วยกัน อวนที่ใช้ก็จะมีหลายขนาด ทั้งขนาดตาข่าย 4- 8 เซนติเมตร ส่วนเรือที่ใช้ลากนั้นลำแรกจะลากอวนออกไป ตามด้วยลำที่ 2 และลำต่อ ๆ มาจนกระทั่งอวนไปสุดกลางแม่น้ำ จากนั้นก็จะใช้วิธีต้อนให้ปลามาติดอวนและลากจากปลายเข้ามาหาฝั่ง โดยใช้เรือลากไปมา ซึ่งก่อนจะลากอวนจะต้องทำความสะอาด เอาเศษไม้ เศษกิ่งไม้ใต้ท้องน้ำออกไปก่อน ไม่เช่นนั้นจะลากอวนไม่ได้ เพราะอวนจะไปติดขวาก หรือติดไม้ใต้ท้องน้ำ
การดำน้ำลงไปดึงขวากคือสิ่งที่ยากที่สุด พอ ๆ กับการดำน้ำลงไปแกะอวนออกจากกิ่งไม้หรือขวากที่อยู่ใต้น้ำ เพราะฉะนั้นคนทำหน้าที่นี้จึงต้องเป็นคนที่เชี่ยวชาญเรื่องการดำน้ำ หรือชาวประมงเรียกหมอน้ำ ซึ่งพ่อไหสมัยหนุ่ม ๆ ก็เป็นหนึ่งในหมอน้ำ ที่ดำน้ำได้ลึกและนาน โดยเคยดำน้ำได้นานถึง 20-30 นาทีเลยทีเดียว
หุ่นปลาบึกจำลอง สัญลักษณ์ปลาแม่น้ำโขง
ปลากระชังที่เข้ามาแทนที่ปลาแม่น้ำโขง
ปลาที่ได้จากการลากอวน ประกอบด้วย ปลาบึก ปลาเนื้ออ่อน ปลายอนซึ่งแต่ก่อนยาวเป็นฟุต แต่ตอนนี้เหลือยาวแค่ฝ่ามือ ปลาลัง ปลาซวย ปลาออด ปลาจอกเขียว ปลาโจก ปลาแก้มเหลือง ปลาค่าว ปลากา ปลาตะเพียน ปลากด ปลาสะกัง ปลาเปลี่ยน ปลาแกง ปลาเอิน ปลาบู่ ปลาหลาด สมัยก่อนตัวใหญ่เท่าลูกเพกาหรือคนอีสานเรียกลิ้นฟ้า แต่ตอนนี้ยาวเท่าฝักข้าวโพดเท่านั้นเอง
ฤดูที่ปลามีมากคือช่วงฤดูฝน เพราะปลาจะได้น้ำใหม่และปลาจะมาชุกชุม น้ำโขงจะมีสีแดงอ่อน ๆ ปลาก็จะมาเล่นน้ำ หาปลาวันหนึ่ง ๆ ได้ประมาณ 200-300 กิโลกรัมต่อวัน แต่ทุกวันนี้ปลาลดลง อย่าคิดว่าจะหาไปขายเลยแค่หามากินรายวันยังหายาก
การละเว้นนั้นชาวประมงก็ละเว้นเหมือนกัน โดยจะไม่หาปลาในวันพระเพราะถือว่าวันพระเป็นวันทำบุญ เป็นวันพักสำหรับพรานปลาด้วย พอพักก็ซ่อมแซมอวนของตัวเอง ได้อยู่กับครอบครัว และเตรียมพร้อมสำหรับการหาปลาในวันรุ่งขึ้นด้วย
ส่วนความเชื่อเรื่องพญานาคนั้น ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขงมีความเชื่อเรื่องนี้มาตั้งแต่เกิด เพราะศาสนาพุทธมีมาพร้อมพญานาค แต่ความเชื่อเรื่องบั้งไฟพญานาคเพิ่งมีมาเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว การเห็นลูกไฟโผล่ขึ้นในแม่น้ำโขงถือเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่คิดว่าเป็นบั้งไฟจากพญานาค ชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นบั้งไฟผี เพิ่งมามีคนนิยามว่าเป็นบั้งไฟพญานาคเมื่อไม่นานมานี้เท่านั้น แต่หากจะว่าไปแล้ว ลูกไฟที่ว่านั้นโผล่ขึ้นทุกที่ทั้งในหนองน้ำกลางที่นา ปลักควายนอน ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ใส่ใจอะไรนัก
แต่สำหรับความเชื่อเรื่องพญานาคนั้น ครอบครัวพ่อไหเชื่อและนับถือพญานาคมานาน โดยเฉพาะแม่บุญเลื่อนนั้น ถึงกับฝันเห็นพญานาคเลยทีเดียว โดยเธอบอกว่า ฝันว่ามีนางเงือกมาหา และบอกว่านางเงือกอยู่บริเวณริมตลิ่งหน้าบ้านของเธอ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีคนจะมาระเบิดปลาอยู่หน้าบ้าน แต่ระเบิดไม่ทำงาน มาทำ 2 – 3 ครั้ง ระเบิดก็ไม่ระเบิดสักทีจนทำให้คืนนั้นเธอฝันว่า หน้าบ้านบริเวณเวิ้งน้ำโขงเป็นที่อยู่ของนางเงือกและพญานาค เธอจึงไปบอกคนที่จะมาระเบิดว่าให้ไปทำที่อื่นเพราะที่นี่มีเจ้าที่เฝ้าอยู่
ทุกวันนี้วิถีชีวิตคนริมฝั่งน้ำเริ่มเปลี่ยนไป การออกหาปลาหาได้ไม่มากเท่าสมัยก่อน การวางเบ็ดราวก็ทำได้ตอนกลางคืน เพราะกลางวันมีสิ่งรบกวน ปลาไม่กินเบ็ด พอปลาลดลง ปลาหายากขึ้น และปลาบางชนิดก็เริ่มสูญพันธุ์ไป การทำพนังกั้นน้ำก็มีส่วนทำให้ปลาไม่มีพื้นที่วางไข่และลดจำนวน สิ่งที่มองเห็นริมตลิ่งแม่น้ำโขงในเวลานี้จึงเป็นกระชังเลี้ยงปลานิลเข้ามาแทนที่ ชาวบ้านจากเคยกินปลาแม่น้ำโขงเปลี่ยนเป็นกินปลานิลแทน
โขงรัก คำไพโรจน์ นักเขียนรางวัลลูกโลกสีเขียว ชาวบ้านเดื่อ โชว์ปลาเอินที่เพื่อนบ้านจับได้พร้อมลูกสาว
สำหรับชุมชนบ้านเดื่อนั้น เริ่มก่อตั้งประมาณ พ.ศ. 2400 คำว่าบ้านเดื่อตั้งชื่อตามชื่อต้นไม้ที่มีจำนวนมากบริเวณนั้น ไม่มีประวัติ และไม่มีใคร ทราบว่าบุคคลก่อตั้งบ้านนี้คนแรกชื่ออะไร แต่สันนิษฐานว่าน่าจะอพยพมาจากตำบลสีกายส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อย่างไรก็ตามยังมีประวัติบางส่วนเล่าว่าบรรพบุรุษให้ชื่อ “ชุมชนบ้านเดื่อ” มีนายบุญมี ศรีเมือง ซึ่งข้ามมาจาก สปป.ลาว ขณะนั้นได้บวชและสร้าง “วัดอุทุมพร” ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านขึ้น ต่อมาได้สึกออกมาแต่งงานกับนางมั่นและได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก อัตลักษณ์ของชุมชนบ้านเดื่อคือการคงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ทำให้พื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเมืองหนองคาย ได้ใช้เป็นสถานที่จัดงาน “เบิ่งโขง ชมจันทร์ บ้านเดื่อพาแลง แงงวัฒนธรรมริมฝั่งโขง” ภายในงานมีการสาธิตการทำกระทงดอกไม้ การทำนกจากใบลาน นั่งรถสามล้อรอบบ้าน ไหว้พระสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองด้วย
ส่วนแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชน เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาชุมชนบ้านเดื่อแห่งนี้ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่แนะนำ ได้แก่ วัดอุทุมพร เที่ยวตลาดท่าเรือท่องเที่ยวชุมชนบ้านเดื่อ ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนแห่งใหม่ของจังหวัดหนองคาย สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติริมโขง ล่องเรือไหว้พระ มีที่พักโฮมสเตย์และพืชผักปลอดสารพิษ รวมทั้งอาหารพื้นถิ่นให้นักท่องเที่ยวได้ลองชิมและซื้อหาเป็นของฝากที่ถูกใจทั้งผู้ให้และผู้รับ เนื่องจากชาวบ้านเดื่อมีวิถีชีวิตต้องอยู่ริมแม่น้ำโขง จึงประกอบอาชีพประมงได้แก่การทำปลานิลกระชังและปลาตามธรรมชาติ ทำการเกษตรปลูกผักแบบขั้นบันไดตามริมฝั่งแม่น้ำโขง ชาวบ้านจึงนำปลามาแปรรูปอาหาร เช่น กุนเชียงปลานิล ปลานิลแดดเดียว น้ำพริกแจ่วบอง ครีมนวดสมุนไพร สบู่มะเดื่อ มะขาม ฟักข้าว มะม่วงแช่อิ่ม เสื่อกก ข้าวออร์แกนิค ผักผลไม้สด ซึ่งล้วนแต่เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั่วไป
หากใครสนใจไปเที่ยวชมหรือนอนพักที่บ้านเดื่อแห่งนี้ สามารถติดต่อได้ที่ ขนิษฐา จันทำมา ประธานกลุ่มท่องเที่ยวบ้านเดื่อ โทรศัพท์หมายเลข 08 6953 9997
การมาเยือนของนักท่องเที่ยวและผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย
อาหารว่างและซุ้มร้านค้ารองรับนักท่องเที่ยว
*****
นิตยสาร “ทางอีศาน” ก้าวเข้าสู่ปีที่ ๘
ฉบับที่ ๘๖ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒