ประวัติศาสตร์การเมืองอีสาน (บทที่ ๒) ยุคใกล้กึ่งพุทธกาล เชิงวิเคราะห์
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๒ ปีที่ ๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: อีสาน: แผ่นดินแห่งการต่อสู้
Column: Esan: Land of the Struggle
ผู้เขียน: ป.ม.ส.
บทที่สอง
คนอีสานกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
ในบทที่หนึ่ง ได้นำเสนอประวัติความเป็นมาของประชาชนชาวอีสานโดยสังเขป พร้อมกับปัญหาพื้นฐานที่จะมีผลกระทบกับการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
ประชาชนหรือราษฎร (ตามคำเรียกในสมัยนั้น) ชาวอีสานนี้ จะเป็นฐานกำลังสำคัญทางการเมืองของฝ่ายประชาธิปไตยในกาลข้างหน้า
ในตอนนี้ จะกล่าวถึงผลกระทบจากการปฏิรูปการปกครองของรัฐสยามที่มีต่อชาวอีสาน
การสร้างสำนึกความเป็น “ไทย” ในหมู่ชาวลาวตามหัวเมืองต่าง ๆ
ในเชิงโครงสร้างอำนาจรัฐ เริ่มจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๓๓) สยามได้ปรับปรุงการปกครองหัวเมืองลาวทั้งฝ่ายซ้ายและฝั่งขวาแม่น้ำโขง เพื่อการควบคุมและจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ กับทั้งเพื่อรับมือกับการรุกรานของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส เป็นหัวเมืองลาวกาว มีสำนักข้าหลวงใหญ่อยู่เมืองอุบล หัวเมืองลาวพวน มีสำนักข้าหลวงใหญ่อยู่เมืองอุดร หัวเมืองลาวพุงขาว มีสำนักข้าหลวงใหญ่อยู่หลวงพระบาง หัวเมืองลาวกลาง มีสำนักข้าหลวงใหญ่ อยู่นครราชสีมา ส่วนลาวล้านนาเรียกหัวเมืองลาวพุงดำ (ประวัติความเป็นมาคนอีสานฯ… โดย ไผท ภูธา อ้างแล้ว)
จากคำว่าหัวเมืองลาว ก็กระชับอำนาจเข้าอีกเป็นมณฑลต่าง ๆ หลังจากเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ก็จัดตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาล คือ มณฑลลาวกลาง, มณฑลลาวกาว และมณฑลลาวพวน
จากหนังสือ “การเมืองสองฝั่งโขง” ของอาจารย์ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ “ศิลปวัฒนธรรม” หน้า ๗๖ ว่า “จากนโยบายรวมศูนย์อำนาจดังกล่าวนี้ อำนาจการปกครองตนเองของบรรดาเจ้าเมืองท้องถิ่นเดิมถูกแทนที่โดยพวกเจ้าและ ‘ข้าราชการ’ ตามระบบใหม่จากส่วนกลาง”
และในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้โปรดฯ ให้แก้ไขชื่อมณฑลในอีสานใหม่ อาจารย์ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ ยกคำทรงอธิบายในนิทานโบราณคดี ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “ลักษณะการปกครองแต่เดิม มณฑลนั้นเป็นเมืองลาวและเรียกชาวเมืองซึ่งอันที่จริงเป็นชนชาติไทยว่าลาว แต่ลักษณะการปกครองอย่างนั้นพ้นเวลาอันควรแล้ว ถ้าคงไว้จะกลับให้โทษแก่บ้านเมือง จึงทรงพระราชดำริให้แก้ลักษณะการปกครองเปลี่ยนเป็นอย่างพระราชอาณาเขต (KINGDOM) ประเทศไทยรวมกัน”
ดังนั้น มณฑลลาวกลาง เรียกใหม่ว่ามณฑลนครราชสีมา มณฑลลาวพวน เรียกใหม่ว่ามณฑลฝ่ายเหนือ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เรียกว่ามณฑลอุดร ส่วนมณฑลลาวกาวในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ นั้น เรียกใหม่ว่ามณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๔๓ เรียกว่ามณฑลอิสาน
คำว่า “อิสาน” หรือ “อีสาน” และคำว่า “ตะวันออกเฉียงเหนือ” ถูกนำมาใช้ตั้งแต่บัดนั้น
ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างสำนึกความเป็น “ไทย” ขึ้นแทนที่ความเป็น “ลาว” ของคนในหัวเมืองลาวเก่าและเปลี่ยนชื่อหัวเมืองลาวเก่า ให้เป็นชื่ออย่างไทยจะได้ป้องกันการแอบอ้างเข้ามายึดครองของฝรั่งเศส ซึ่งอ้างการปกป้องคุ้มครองแผ่นดินแดนลาวบังหน้าในการล่าอาณานิคม
การต่อต้านการปฏิรูปการปกครอง
ผลกระทบจากการปฏิรูปการปกครองโดยรวดเร็วนี้เอง นำมาสู่การจลาจล เป็นเหตุให้มีการต่อต้านจนกลายเป็นการก่อกบฏในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ทั้งจากรัฐปัตตานีทางใต้ กบฏผีบุญทางภาคอีสาน และกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ (อ้างจาก หนังสือประวัติศาสตร์ไทย ฉบับสังเขป ของ เดวิด เค วัยอาจ หน้า ๓๗๒)
เฉพาะกบฏผู้มีบุญทางอีสาน ซึ่งกล่าวถึงบ้างแล้วในบทที่หนึ่ง ในที่นี้จะขอเพิ่มเติมว่า หลังจากกองทัพสยามปราบลงไป พร้อมเสียงปรามาสว่าเป็นพวกผีบ้าผีบุญ เชื่อถือโชคลางเหลวไหลของพวกชาวบ้านที่ไร้การศึกษา เดวิด เค วัยอาจ ชี้ว่า “แต่การกบฏเป็นยิ่งไปกว่านั้น ในเวลาไม่นานนักพวกกบฏได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากสมาชิกในตระกูลผู้ปกครองเก่าแก่ในภูมิภาคนั้นและดูเหมือนว่า จะได้แสดงความรู้สึกอย่างแพร่หลายไปว่า ระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมแบบเก่ากำลังล่มสลาย และกำลังจะถูกแทนที่โดยระบบใหม่ที่ตอนนั้นยังไม่ชัดเจนนัก แต่เป็นที่แน่นอนว่ายังมีความเป็น ‘ต่างชาติ’ อยู่”
ข้อความที่ยกมานี้ ชี้ให้เห็นว่า ในฝ่ายผู้ปกครองรัฐสยาม การรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเป็นรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัย ร. ๕ เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งในแง่การกระชับอำนาจให้เข้มแข็ง เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ที่ขนาบข้างอยู่ และในแง่ของการปรับปรุงการปกครองสยามให้ทันสมัย ให้ทัดเทียมกับที่เจ้าอาณานิคมปรับปรุงการปกครองในดินแดนอาณานิคมของตน
แต่ในฝ่ายผู้ปกครองเก่าที่สูญเสียอำนาจและสิทธิผลประโยชน์ต่าง ๆ ไปก็ดี ราษฎรที่ไม่พอใจการข่มเหงของข้าราชการก็ดี (อย่างเช่น การเก็บภาษีแทนการเรียกเกณฑ์แรงงาน ในขณะที่ยังต้องการแรงงานเกณฑ์จากไพร่อยู่ – ประวัติศาสตร์ไทย ฉบับสังเขป – อ้างแล้ว) ย่อมอึดอัดขัดข้อง จนกลายเป็นความคับแค้นแสนจะทนต่อไปได้ จึงมีปฏิกิริยาต่อต้านดังกล่าวมา
เข้าตำรา “ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้ – ที่ใดมีการขูดรีด ที่นั่นมีการลุกขึ้นต่อต้าน”
ฐานกำลังของอำนาจรัฐเก่า กับเวทีสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่กำลังก้าวมาถึง
การปฏิรูปการปกครองในสมัย ร. ๕ โดยแบ่งพื้นที่การปกครองเป็นส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เป็นมณฑล (ต่อมาในปลายรัชสมัย ร. ๖ พ.ศ. ๒๔๖๕-๒๔๖๘ เป็นภาค) จังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ด้านหนึ่งเป็นการแบ่งซอยพื้นที่การควบคุมดูแลหรือการปกครองให้เข้มแข็งรัดกุม แต่อีกด้าน ก็เปรียบเสมือนการเตรียมเวทีการเมืองสำคัญให้กับระบอบใหม่ คือระบอบประชาธิปไตยที่กำลังจะเกิดขึ้น
ระบอบประชาธิปไตย จะเป็นคู่ต่อกรกับระบอบเก่า คือระบอบราชาธิปไตย ซึ่งจะปรับเปลี่ยนเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยในที่สุด
ระบอบเก่ามีโครงสร้างรัดกุมและมีฐานกำลังที่แน่นอนชัดเจน เพราะผู้นำทุกระดับชั้นล้วนมีที่มาจากการแต่งตั้งจากเบื้องบน เป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ถึงแม้ชั้นล่าง ระดับหมู่บ้าน ตำบล จะให้ราษฎรมีสิทธิในการเลือกตั้งอยู่บ้าง อาจจะเอาอย่างดินแดนในอาณานิคมที่เจ้าอาณานิคมให้สิทธิเลือกตั้งแก่คนในปกครอง แต่ทางอำเภอก็มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการให้คุณให้โทษ หรือถอดถอนได้
ส่วนระบอบใหม่ หรือประชาธิปไตย อันจะสถาปนาขึ้นโดยกลุ่มบุคคล ที่เรียกตัวเองว่า “คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลง” หรือ “คณะราษฎร” นั้นวางฐานกำลังตัวเองไว้ตรงไหน ถ้าถือเอามวลประชาราษฎรเป็นฐานกำลังหลักในการเปลี่ยนแปลง มวลประชาราษฎรมีการรับรู้ เรียนรู้ หรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเมืองในระบอบใหม่อย่างไรบ้าง รวมทั้งได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะเข้าสนับสนุนหรือไม่ อย่างไร เป็นข้อน่าคิดน่าศึกษา
เพราะก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ผู้ปกครองในอำนาจรัฐเก่ามักอ้างว่าราษฎรไทยยังไม่พร้อมที่จะให้มีการปกครองด้วยระบอบใหม่ ยังขาดการศึกษา ยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ ยังไม่พร้อมที่จะปกครองตนเอง ถ้าจัดให้มีการเลือกตั้งก็จะถูกชักจูงโดยง่าย ถูกซื้อสิทธิ์ซื้อเสียง (โดยเฉพาะจากพวกคนจีนที่มีเงินทอง-ผู้เขียน) ควรจะเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปดีกว่า !”
แนวความคิดตามย่อหน้านี้ มีมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๔๒๘ เมื่อเจ้านายและข้าราชการ ๑๑ คน (ประวัติศาสตร์ไทย ฉบับสังเขป-อ้างแล้ว) โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอรวมอยู่ด้วย ๓ พระองค์ ยื่นถวายเอกสารกราบบังคมทูลความเห็นจำนวน ๖๐ หน้า ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรียกร้องให้ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองแม้จะยังไม่มีแนวความคิดชัดเจน “พวกเขาก็เห็นพ้องว่า การปกครองแบบมีสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ แต่ยังไม่เหมาะแก่กาลสมัย จึงได้กล่าวว่าหาได้ประสงค์ให้มีปาลิเมนต์ไม่”
กรณี “เทียนวรรณ” ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (ปฏิวัติ ๒๔๗๕ และรัฐธรรมนูญ – ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ หน้า ๑๕๖) ที่เสนอเรื่องการมีสภาผู้แทน ให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และให้เลือกตั้งฝ่ายบริหาร
หรือในต้นรัชสมัย ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ก็เกิดคณะนายทหารหนุ่มนำโดย ร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ หรือ เหล็ง ศรีจันทร์ กับเพื่อนอีก ๙๒ คน เตรียมการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย โดยจะใช้ความรุนแรง แต่ถูกกวาดจับเสียก่อน กลายเป็นกบฏ คณะนี้ต่อมาเรียกตัวเองว่า “คณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐” แต่ฝ่ายรัฐบาลเรียกว่า “สมาคมก่อการกำเริบ” (ประวัติศาสตร์ไทย ฉบับสังเขป – เดวิด เค วัยอาจ – อ้างแล้ว)
ล่วงมาถึงรัชสมัย ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (จาก พ.ศ. ๒๔๒๘ (ร.ศ. ๑๐๓) ถึง พ.ศ. ๒๔๗๕) เสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย ให้มีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา ดังอยู่ไม่ขาดสาย ทั้งจากนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คนชั้นกลางที่มีการศึกษา และรับเอาแนวความคิดทางการเมืองจากตะวันตก และโดยเฉพาะนักเรียนไทยในต่างประเทศ มีความคิดเห็นที่จริงจังและจับกลุ่มถกเถียงถึงอนาคตของบ้านเมือง หัวขบวนคนสำคัญคือนักกฎหมายหนุ่มจากฝรั่งเศส ปรีดี พนมยงค์ และ ร้อยเอก แปลก ขีตะสังคะ นักศึกษาวิชาการทหารชั้นสูงจากฝรั่งเศสได้ร่วมกับเพื่อน ๗ คนตั้งเป็น “คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลง” หรือ “คณะราษฎร” ขึ้นโดยการลับ เมื่อกลับมารับราชการในประเทศ ก็แบ่งหน้าที่กระจายกันออกหาสมาชิกจนเพียงพอต่อการกระทำการเปลี่ยนแปลง จนกระทำการได้สำเร็จในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ อันถือได้ว่า เป็นรุ่งอรุณแห่งระบอบประชาธิปไตยไทย ตราบเท่าทุกวันนี้
คนอีสานกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
ราษฎรอีสานก็คงเหมือนกับราษฎรไทยโดยทั่วไป คือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ โดยตรง แต่จุดประสงค์ของ “คณะราษฎร” ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็อยู่ที่ราษฎรไทยทั้งหลายนั่นเอง ในการที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศ
ถ้าพูดถึงความพร้อมหรือไม่พร้อมของราษฎรไทย ในการปกครองตนเอง ผ่านการใช้สิทธิ์ใช้เสียงเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ในสภา มันขึ้นอยู่กับทรรศนะของแต่ละฝ่าย จะอ้างอะไร อย่างไร ก็อ้างได้ หากตรงกับจุดยืนและทรรศนะของตนเอง
ชาวอีสานนั้น เป็นราษฎรไทยที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างยาวนานและโชกโชน ผ่านศึกสงครามแย่งชิงกวาดต้อนมาหลายครั้งหลายหน ในยุคศักดินา-ล่าเมืองขึ้น (ตามที่นำเสนอในบทที่หนึ่ง-ผู้เขียน) เรียกได้ว่า “ลาวตามกวาดคืนไป ไทยกวาดต้อนกลับมา ฝรั่งมั่งข้าเข้ายึดครอง” ชีวิตต้องระหกระเหิน บ้านแตกสาแหรกขาด พรากบ้านพลัดเมืองเคืองเข็ญ ชีวิตเซ่นสังเวยสงครามไปไม่รู้เท่าไหร่ ทั้งตายด้วยป่วยไข้ทั้งถูกตามไล่เข่นฆ่า ทั้งถูกไฟคอกตายทั้งเป็น กว่าจะเหลือรอดมาเป็นรุ่นลูกหลานในปัจจุบัน บรรพบุรุษแต่ละรุ่นมีประสบการณ์ตรงทางการเมืองจากการหลั่งเลือดสละชีวิตมา ชนิดที่ไม่มีมหาวิทยาลัยใดในโลกเปิดสอน
การลุกขึ้นสู้แต่ละครั้งของพวกที่ทางการเรียกว่า “กบฏ” เป็นปฏิบัติการทางการเมืองโดยตรงเป็นการตระเตรียมในการปกครองตนเองโดยแท้จริง !
ยิ่งเมื่อประสานเข้ากับการเคลื่อนไหวต่อสู้กู้เอกราช ของผู้นำในกลุ่มประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีน อย่างเช่นการเข้ามาเคลื่อนไหวของโฮจิมินห์ ในกลุ่มคนเวียดนามในภาคอีสานการเข้ามาหลบอาศัยฐานต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมของผู้นำลาว กัมพูชา ล้วนส่งอิทธิพลต่อความคิดของผู้นำคนสำคัญของชาวอีสาน เช่น นายเตียง ศิริขันธ์, นายทองอินทร์ ภูริพัตน์, นายจำลอง ดาวเรือง, นายถวิล อุดล และ นายฟอง สิทธิธรรม เป็นต้น ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองการอีสานรุ่นแรก ๆ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
ในจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรรุ่นแรก ๆ ของภาคอีสาน จะถูกแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
๑. กลุ่มก้าวหน้า
๒. กลุ่มเสรีนิยม
๓. กลุ่มอนุรักษ์นิยม
แต่ละกลุ่มจะเคลื่อนไหวไปตามแนวคิดของทั้งกลุ่ม ทั้งในและนอกสภา คุณภาพของผู้แทนรุ่นแรก ๆ นี้ จะสะท้อนถึงคุณภาพของราษฎรชาวอีสาน ซึ่งเป็นผู้ออกเสียงใช้สิทธิ์เลือกตั้งพวก ส.ส. เข้าไปทำหน้าที่แทนตน จะพิสูจน์ได้ว่าคนอีสานพร้อมหรือไม่พร้อมในการปกครองตนเอง ตามระบอบประชาธิปไตยที่ได้สถาปนาขึ้น