ประวัติโบสถ์ไม้วัดโพธิ์ย้อย อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์

ประวัติโบสถ์ไม้วัดโพธิ์ย้อย อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์

จากการสอบถามคุณยายยวง แป้นดวงเนตร ผู้เฒ่าผู้แก่เมื่อก่อนนั้นเล่าว่า เมื่อสมัยยายยังเป็นเด็ก (คุณยายยวง แป้นดวงเนตร ยายของผู้เขียน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2531 อายุได้ 104 ปี) ยายยังมีทวดอีกหลายคนและญาติพี่น้องในหมู่บ้าน เช่น ทวดคง ทวดมาก แม่เฒ่าเกิด การเขียนรายชื่อเหล่านี้เพื่อบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้กับบุคคลที่ล่วงลับ และคุณยายบอกว่าพ่อของคุณยายเคยอุ้มไปที่วัดโพธิ์ย้อย

วัดโพธิ์ย้อยซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่ เมื่อก่อนนั้นวัดแห่งนี้ไม่รู้ว่าถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยใด บริเวณนี้เป็นที่ป่ารกร้างมานานมีแต่หญ้าคาปกคลุม ชาวบ้านจึงมาช่วยกันบุกร้างถากถางจนพบพระพุทธรูปที่ถูกทิ้งไว้ แล้วช่วยกันหาหญ้าคามามุงทำเป็นอุโบสถ

ที่นี่มีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ 2 องค์ องค์ที่หนึ่งหากเราหันหน้าไปหาพระพุทธรูปจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ เป็นพระพุทธรูปแกะสลักหินทรายบนเนื้อหินเนื้อละเอียดงดงาม อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปแกะสลักที่ทำจากหินทรายเนื้อละเอียดเช่นเดียวกัน หากเราดูโดยไม่พินิจจะเหมือนกันกับองค์แรก แต่หากเราพินิจพิเคราะห์จะมีความต่างจากองค์แรกคือที่ “ดวงตา” และหากว่าได้ลองเพ่งมองพระพักตร์จะยิ้มแย้ม ดวงตาหรือพระเนตรจะมองอยู่แค่ประตูอุโบสถ และจะเป็นสีเข้มเหมือนลูกหว้าสุก เป็นประกายวาวงดงามมาก

วัดแห่งนี้ชื่อว่า “วัดโพธิ์ย้อย” ก็เนื่องมาจากมีต้นโพธิ์ย้อยใหญ่ ๆ 3 ต้นอยู่ข้างอุโบสถ อยู่ทางด้านทิศใต้ ต้นโพธิ์ย้อย 3 ต้น แผ่กิ่งก้านสาขาทั่วบริเวณจนร่มรื่น (ปัจจุบันนี้ต้นโพธิ์ย้อยไม่มีแล้ว) ด้วยความเลื่อมใสและศรัทธา ชาวบ้านจึงช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถ ซึ่งตามหลักฐานกล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2320 ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาเพียง 10 ปี เป็นอุโบสถหลังคาสูง มุงด้วยหญ้าคา และในปีนั้นมีการงานฝังเสมาลูกมิต การฝังเสมาเมื่อก่อนนั้นใครมีทรัพย์สมบัติสร้อยแหวนเงินทองก็จะใส่ไปในหลุมเสมา ความเชื่อเช่นนี้นั้นเป็นความเชื่อที่ว่า หากเกิดภพหน้าก็จะได้บุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ หรือหากว่าไม่มีอะไรก็สามารถหาสิ่งของเสื่อผ่าสบงจีวรเครื่องนุ่งห่ม สิ่งของที่จะพอหาได้มาร่วมทำบุญสร้างกุศล และหากความศรัทธาแรงกล้าก็สามารถหลั่งเลือดตนเองให้ไหลหยดเข้าไปในหลุมเสมา ก็จะเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ ที่อุทิศตัวเองแม้แต่เลือด (ลุงฉัตร แป้นดวงเนตร 16 กรกฎาคม 2550)

ชาวบ้านบอกว่าปาฏิหาริย์ที่นี่มีมากมายหลายเรื่อง จึงมีความศรัทธาช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถ แต่ไม่ใช่อุโบสถอย่างที่เห็นอยู่อย่างปัจจุบัน (อุโบสถพัง ๆ หลังที่เห็นอยู่อย่างปัจจุบันนี้เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ.2484) ภายในอุโบสถมีทับหลังรูปแกะสลักสมัยโบราณเป็นจำนวนมากมาย มีใบเสมา แผ่นหินจารึก มีสิงโตหิน มีเต่าหิน อยู่หน้าโบสถ์ และสิ่งของเก่าแก่ต่าง ๆ ชาวบ้านได้ช่วยกันนำหินจากปราสาทหินที่โคกงิ้วบ้าง ที่บ้านโคกประเดียบบ้าง มาทำสร้างให้อุโบสถหลังนี้ให้มีความงดงาม.

*ภาพ คัดเนื้อหาและเรียบเรียงมาจาก “เมืองปะคำ…ผืนแผ่นดินและวิญญาณ…” โดย “เคารพ พินิจนาม” 

**ติดตามรายละเอียดจากคอลัมน์  “เสียงจากเมืองปราสาทหิน”  โดย วิวัฒน์ โรจนาวรรณ ในนิตยสารรายเดือน    “ทางอีศาน”.








Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com