ประเด็นประวัติศาสตร์ เหตุเกิดที่วัดโพธิ์ย้อย อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์
ประเด็นประวัติศาสตร์
เหตุเกิดที่วัดโพธิ์ย้อย อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์
ในรัฐสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2444 เจ้าฟ้ากรมพระยานครสวรรค์วรพินิจ ได้เสด็จจากเมืองโคราชจะไปยังเมืองศรีโสภณผ่านมาที่ด่านปะคำ พระองค์ได้มาประทับแรมที่บริเวณท่าประตีน และทรงร่วมระนาดเอกกับวงมโหรีปี่พาทย์ของปะคำ ทรงกล่าวชมในฝีมือวงมโหรีปี่พาทย์ของปะคำที่เทียบชั้นครูเพลงได้ไม่แพ้ในวัง
ในรุ่งเช้าวันนั้นได้ตรัสถามว่าที่ปะคำมีอะไรที่เป็นของดีอีกบ้าง ชาวบ้านจึงเชิญเสด็จมาที่วัดโพธิ์ย้อย พระองค์ท่านได้เข้าไปกราบนมัสการพระพุทธรูปในอุโบสถแห่งนั้น ทรงเพ่งพินิจพิเคราะห์ถึงความงดงามของพระพุทธรูปทั้งสององค์ และทรงดำริขอพระพุทธรูปองค์ที่อยู่ด้านขวามือไปไว้ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเดินทางมาและออกปากตรัสขอเช่นนั้นชาวบ้านก็มิอาจปฏิเสธได้
เมื่อเสด็จกลับไปทรงมีรับสั่งให้ขุนเกื้อเจ้าเมืองนารองสมัยนั้น มาอัญเชิญพระพุทธรูปไปไว้ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเสร็จพิธีอัญเชิญได้ให้เกวียนมาบรรทุก ตลอดเส้นทางฝนฟ้าได้ตกพรำตลอดเส้นทาง และเกวียนที่บรรทุกเพลาขาด วัวที่ลากเกวียนไม่ยอมเดินบ้าง ผู้คนในปะคำที่รับรู้ข่าวต่างมากราบวิงวอนขอร้องไม่ให้ขุนเกื้อนำไป แต่ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งความคิดของเจ้าฟ้าข้าแผ่นดินในเวลานั้นได้ คนเฒ่าคนแก่ เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ต่างร้องไห้กันระงม วิ่งตามกันไป บางคนไปส่งพระคู่บ้านคู่เมืองของปะคำจนถึงเมืองนางรอง
จนมาถึงวันนี้เราไม่ทราบแน่ชัดว่าพระพุทธรูปที่วัดโพธิ์ย้อยเมืองปะคำของเรา องค์ที่เมื่อครั้งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเดินทางมาและตรัสขอ โดยมีรับสั่งให้ขุนเกื้อเจ้าเมืองนางรองมาอัญเชิญไปนั้น ปัจจุบันนี้อยู่ที่ไหนยังเป็นปริศนา เพราะหากว่าพระพุทธรูปอยู่กรุงเทพฯก็คงจะมีคนพบเห็นบ้าง หรือว่าอาจจะอยู่ที่ต่างประเทศก็ยังไม่มีใครทราบได้
หากไม่มีการมาอัญเชิญพระพุทธรูปออกจากแผ่นดินปะคำครั้งนั้น ลูกหลานในสมัยนี้คงจะได้กราบไหว้เคารพบูชา เราได้สูญเสียมรดกของแผ่นดินไปอย่างที่จะไม่รู้จะไปเรียกร้องจากใครที่ไหน…
(คัดและเรียบเรียงมาจาก “เมืองปะคำ…ผืนแผ่นดินและวิญญาณ…” โดย “เคารพ พินิจนาม”)