“ปรัชญาเปรียบเสมือนเมล็ดพืช ศาสนาเปรียบเสมือนหน่อ และประเพณีเปรียบเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยง” – สวิง บุญเจิม
“ปรัชญาเปรียบเสมือนเมล็ดพืช ศาสนาเปรียบเสมือนหน่อ และประเพณีเปรียบเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยง” – สวิง บุญเจิม -***
นายสวิง บุญเจิม
…………………..
ป.ธ.๙, M.A.
ปราชญ์ชาวบ้าน ครูภูมิปัญญาไทยด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี
ชาติกำเนิด
นายสวิง บุญเจิม เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ที่บ้านแก้งโพธิ์ ตำบลค้อทอง อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายเขียว และนางบุญเติม บุญเจิม
การศึกษา
จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนประชาบาลค้อทอง ๒ (ราษฎร์สวัสดิ์วิทยาคาร) อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี (พ.ศ. ๒๔๙๓)
นักธรรมชั้นตรี ขณะเป็นสามเณร พ.ศ. ๒๔๙๕ (จากการเรียนด้วยตนเอง ไม่มีครูสอน)
นักธรรมชั้นโท – เอก – ป.ธ. ๙ (พ.ศ. ๒๕๐๓ – ๒๕๑๓)
วุฒิครูพิเศษการศึกษา (พ.กศ.) (พ.ศ. ๒๕๑๔)
ปริญญาโท M.A. สาขาปรัชญาและศาสนา จาก Banaras Hindu University ประเทศอินเดีย
นายสวิง บุญเจิม ค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับปรัชญา ศาสนาและประเพณีอีสาน อย่างจริงจังลึกซึ้งจากหนังสือผูกและใบลาน เผยแพร่โดยการเขียนหนังสือและตำราต่าง ๆ ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน เชี่ยวชาญบทกลอนทั้งการลำ การขับร้องสรภัญญะ การสู่ขวัญ การแต่งผญา จนได้รับการยกย่องให้เป็น “ปรัชญาเมธีอีสาน”
ขณะที่ศึกษาอยู่ประเทศอินเดีย ได้ศึกษาปรัชญาอินเดียและปรัชญาตะวันตก ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับผญาภาษิตของอีสาน จึงได้หันมาศึกษา ค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับปรัชญา ศาสนาแลประเพณีอีสานเพิ่มเติมอย่างจริงจัง ลึกซึ้ง จากหนังสือผูกและหนังสือในลานที่มีในวัดของภาคอีสานโดยทั่วไป ทดลองเผยแพร่ความรู้โดยการเขียนหนังสือ และตำราเอกสารต่าง ๆ จำหน่าย ได้รับความนิยมและใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และประเพณีอีสานทั่วประเทศ นำความรู้ที่ค้นพบถ่ายทอดให้แก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และผู้สนใจในรูปแบบต่าง ๆ
การที่นายสวิง บุญเจิม นำความรู้ด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี ที่ตนศึกษา ค้นคว้า ค้นพบ ทดลองจนประสบผลสำเร็จแล้วไปเผยแพร่ โดยการสอนและถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เรียนรู้ นำไปปฏิบัติเพื่ออนุรักษ์และสืบสาน เป็นประโยชน์โดยรวมแก่สังคม
นายสวิง บุญเจิม จากจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน เป็นผู้มีภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบทกลอนทั้งการลำ การขับร้องสรภัญญะ การสู่ขวัญ การแต่งผญา เป็นต้น ได้รับการยกย่องให้เป็น “ปรัชญาเมธีอีสาน” ผู้อนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น ถ่ายทอดความรู้โดยการเผยแพร่ทางรายการวิทยุและโทรทัศน์ เป็นวิทยากรอบรมสัมมนา รวมทั้งเขียนหนังสือเผยแพร่มากกว่า 10 เรื่อง โดยเฉพาะหนังสือ “มรดกอีสาน” พิมพ์เผยแพร่แล้วกว่า 200,000 เล่ม
การเรียนรู้
จากการศึกษาตำราโบราณทำให้นายสวิง บุญเจิม มีความเข้าใจหลักปรัชญาและศาสนาชัดเจน รวมทั้งที่มาของขนบธรรมเนียม ประเพณี คำสอน สุภาษิต ตำรายา และสมุนไพรเป็นอย่างดี จากการศึกษาพบว่า ปรัชญา ศาสนาและประเพณี เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกัน ปรัชญาเปรียบเสมือนเมล็ดพืช ศาสนาเปรียบเสมือนหน่อ และประเพณีเปรียบเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยง ทั้งสามอย่างจะขาดกันมิได้ เช่น บาป – บุญ เป็นปรัชญาสั้น ๆ ที่จะทำให้คนละชั่วทำดี ส่วนศาสนาเป็นหลักในการอธิบายให้รู้ว่า บาปบุญเป็นอย่างไร ทั้งสองอย่างมีลักษณะ มีรส มีผลปรากฏ และมีบรรทัดฐานต่างกันอย่างไร จะทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความรู้ความเข้าใจต่างกัน ทั้งบุคลาธิษฐานและธรรมาธิษฐาน สำหรับประเพณี เมื่อบุคคลเห็นโทษของบาป เห็นอานิสงส์ของบุญ ตามหลักปรัชญาและศาสนาแล้ว คนก็จะเว้นบาปหันมาทำบุญ ต่อไปการทำบุญก็ให้ทำด้วยปัจจัย 4 คือ ให้เครื่องนุ่งห่ม ให้อาหารให้ที่อยู่อาศัย และให้ยารักษาโรค ให้ทำเป็นประจำจนกลายเป็นประเพณี ดังนั้นประเพณีจึงกลายเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงพระพุทธศาสนา เมื่อพระสงฆ์ได้รับความสะดวกด้วยปัจจัย 4 ก็มีความพร้อมในการทำหน้าที่ของตนต่อไป
การเผยแพร่ความรู้
นายสวิง บุญเจิม พิจารณาแล้วเห็นว่า องค์ความรู้เหล่านี้ถ้าไม่มีการสืบสานไว้ก็จะหมดสิ้นไป วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การเขียนเป็นตำราเผยแพร่ให้มีผู้ศึกษาในวงกว้าง ตำราที่เขียนและเผยแพร่ได้แก่ มรดกอีสาน หรือ มูลมังอีสาน, เสียเคราะห์ตนเองและผู้อื่น, ผญา, สรภัญญะอีสาน, กาละนับมือส่วย, ตำรายาสมุนไพรอีสาน, นิทานพื้นบ้านอีสานเล่ม 1, ธรรมสร้อยสายคำ (ว่าด้วยกำเนิดประเพณี), ความผูกแขน ความสอนปู่ย่า – ตายาย สะใภ้เขย, ความสอย – ความทวย, ปู่สอนหลาน หลานสอนปู่, ปรัชญาเมธีอีสาน, ประวัติและของดีสำเร็จลุน เป็นต้น
การถ่ายทอดความรู้
นอกจากการถ่ายทอดความรู้เป็นตำราแล้ว นายสวิง บุญเจิม ได้รับเชิญไปสอนในสถาบันการศึกษา และไปบรรยายตามสถานที่ราชการและเอกชนต่าง ๆ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่ นักศึกษาปริญญาโท จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งตรวจวิทยานิพนธ์ จัดทำโครงการฝึกอบรมผู้นำทางศาสนาและประเพณี โครงการศาสนานำชีวิตเพื่อฝึกสมาธิจิตเยาวชนในโรงเรียน ให้คำปรึกษากับผู้สนใจทั้งทางโทรศัพท์ ทางจดหมายและไปพบเพื่อปรึกษาหารือที่บ้าน ให้ความรู้แก่พระนิสิต มหาวิทยาลัยสงฆ์ สามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม – บาลี และแผนกสามัญศึกษา รวมทั้งวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดให้ใช้ตำราของท่านเป็นคู่มือ ในการแนะนำชาวบ้านเกี่ยวกับประเพณีต่าง ๆ ตามฮีต 12 คอง 14 รวมถึงการใช้เป็นคู่มือประกอบพิธีกรรม
เกียรติคุณที่ได้รับ
พ.ศ. 2539 ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ ระดับเขตการศึกษ จากสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เขตการศึกษา 10
พ.ศ. 2542 “รางวัลเสาเสมาธรรมจักร” ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาการแต่งหนังสือทางพระพุทธศาสนา จากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2545 ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
ฯลฯ
(ขอบคุณข้อมูลจาก www.isangate.com)
————————————————————
***เช้าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ผมกับน้องซัน น้องเทอด เข้ากราบคารวะปราชญ์อีสานที่บ้าน|สำนักงานของท่าน ณ เมืองอุบลฯ วันนี้ในวัย 83 ปี ด้วยอายุขัยและโรคภัยท่านอ่อนกำลังลงมากแล้ว
“พ่อใหญ่หายไว ๆ เด้อ ลุกขึ้นมาเขียนหนังสือ ทำงานให้แผ่นดินให้ลูกหลานอีก” ผมเอ่ยก่อนกล่าวร่ำลา และบอกว่าจะมาเยี่ยมอีก
“เอ้อ… สิอยู่ฮอดอายุ 150 ปีพู้นล่ะ” เสียงพ่อใหญ่สวิง บุญเจิม ยังหนักแน่น.