ปรีชา พิณทอง ช่วยมองโลกมองชีวิต

ปรีชา พิณทอง ช่วยมองโลกมองชีวิต

The works by “Preecha Phinthong” reflect the notions of Thai people in the past, which have been inherited through literatures, beliefs, legends, tales and minstrelsy. These are so interwoven that those who have modern scientific and academic background cannot understand and thus consider all these as old myths or ancient stories, not much different from any “tales”, meaning: they are unreal.

Such academics and scientists never care to decode these stories, because their way of thinking is based on western education system, in which legend and philosophy are separated; religion and science are disconnected. Thai people, on the contrary, do not differentiate these aspects. (Thais may bring their mentally ill cousin to see the doctor at Srithanya Hospital, and then to a shaman place near the hospital without feeling conflicted at all.)

Because our folks believe in ghosts, not because it is scientifically proved, but because ghosts are meaningful to their life.

 

The rocket festival still carried out in many areas of Esan may become just an event promoted for tourism business; but a lot of villagers still believe it has something to do with the course of the weather. Because some “folks” still feel the same way as ancient people who were humble and never saw themselves as master of the world and the universe. They are not arrogant like modern people today who are overconfident about their capability to control the world and the nature.


ครูปรีชา พิณทอง และผู้เขียน

ปรีชา พิณทอง ควรได้รับการยกย่องให้เป็น “บรมครู” หรือ“ปรมาจารย์” ด้วยประวัติและผลงาน ที่ได้สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมด้วยการ “สืบทอด ถอดรหัส พัฒนา” ภูมิปัญญาอีสาน

พ่อปรีชา พิณทอง เกิดที่อำเภอเขื่องในจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี ๒๔๕๗ บวชเรียนตั้งแต่ยังเด็ก สอบได้นักธรรมตรี โท เอก ตั้งแต่เป็นสามเณร และสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยครับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาของสงฆ์ในจังหวัดได้รับสมณศักดิ์เป็น “พระศรีธรรมโสภณ” ก่อนจะลาสิกขาเมื่อปี ๒๕๐๕

ท่านได้เรียนการอ่านอักษรโบราณ ทั้งตัวไทยเดิม ตัวลาว และตัวไทยน้อยอย่างแตกฉานตั้งแต่ยังเป็นสามเณร จึงได้พบวรรณกรรม และผญามากมายในบันทึกใบลานเป็นภาษาโบราณเหล่านี้ คงจะได้ทำการปริวรรษ ถอดรหัส ออกมาเป็นภาษาไทยตั้งแต่ยังบวชอยู่ เมื่อลาสิกขาได้ตั้งโรงพิมพ์ศิริธรรม ที่ถนนชยางกูร ในเมืองอุบลฯ และได้รวบรวม เรียบเรียงเรื่องราวต่าง ๆ ค่อย ๆ พิมพ์งานเหล่านั้น

งานสำคัญคือ ประเพณีไทยโบราณอีสาน, ภาษิตโบราณอีสาน, มนต์โบราณอีสาน เล่ม 1 เล่ม 2, รวมวรรณคดีอีสาน เล่ม 1 เล่ม 2, ขูลู – นางอั้ว, ผาแดง-นางไอ่, เวสสันดรคำโคลง, สังข์ศิลป์ชัย, สวดมนต์แปล, กาพย์ปู่สอนหลาน – หลานสอนปู่, สิริจันโทวาทยอดคำสอน, สวดมนต์เจ็ดตำนาน, นกจอกน้อย, ท้าวก่ำกาดำ, ไขภาษิตโบราณอีสาน, ท้าวฮุ่ง-หรือเจืองและหนังสือเล่มโต สารานุกรม อีสาน – ไทย – อังกฤษที่มีฝรั่งที่รู้ภาษาอีสานดีมากคนหนึ่งช่วยในส่วนภาษาอังกฤษ เข้าใจว่าเป็นงานที่มูลนิธิโตโยต้าให้การสนับสนุน ในโครงการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนในประเทศอาเซียน ผ่านภาษาและวรรณกรรม

เขียนถึงพ่อปรีชาวันนี้เพื่อค้นหาคุณค่าและความหมายของปรัชญาและภูมิปัญญาอีสานผ่านตัวท่านและงานเขียนของท่าน เปรียบเทียบปรัชญาตะวันตกกับตะวันออก เพื่อเข้าใจโลกวันนี้ โดยมี ๒ ประเด็นสำคัญที่อยากนำมาเปรียบเทียบ

ประเด็นที่หนึ่ง ที่เรียกท่านว่าเป็น “บรมครู” “ปรมาจารย์” เพราะเป็นความหมายเดียวกับคำว่า “Doctor” ในภาษาฝรั่ง มาจากภาษาละติน ที่แปลว่า ครู หรือ ผู้สอน คำกริยาของคำนี้ คือ docere

คำว่า doctor จึงไม่ได้แปลว่า หมอ อย่างในภาษาอังกฤษวันนี้ แต่เดิมในประเพณีการศึกษาในปลายยุคกลางของยุโรปเมื่อกว่า 800 ปีก่อนนั้น การศึกษาจัดกันที่วัดที่โบสถ์ ที่อารามนักบวชนักพรต ต่อมาจึงค่อยๆ พัฒนามาเป็น“มหาวิทยาลัย” เริ่มจากเมืองโบโลญาในอิตาลี และต่อมาที่ “มหาวิหารนอตเตอรดาม” ที่กรุงปารีสในศตวรรษที่ ๑๓ หรือ ค.ศ. ๑๒๐๐ เศษและกระจายไปทั่วยุโรปในเวลาต่อมา

 

ยุโรปในยุคนั้นมีลักษณะคล้ายกับ “ประชาคมยุโรป” ในปัจจุบัน เพียงแต่สมัยนั้น ยังเป็นนครรัฐต่าง ๆ เป็น “จักรวรรดิโรมันอัน ศักดิ์สิทธิ์” มีศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำอาณาจักร ภาษาละตินเป็นภาษากลางมหาวิทยาลัยที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นใน “ประเทศ” ต่าง ๆ เริ่มจากการเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครู” พัฒนาคนให้เป็นครู ไปสอนชาวบ้าน

การสอบที่สำคัญที่ทำให้นักศึกษาจบปริญญา คือ การเชิญชาวบ้านมาซักถามเรื่องชีวิตเรื่องการทำมาหากิน และปัญหาสังคมต่าง ๆ ถ้าตอบได้ก็ให้สอบผ่านไปเป็นครูได้

ต่อมา ครูบางคนมีความสามารถในการจัดการศึกษา ก็มีการสอบอีกเพื่อให้ได้ “ใบอนุญาต” ให้จัดการศึกษาได้ มีความรู้และจัดการเป็น เรียกในภาษาละตินว่า licentia ที่แปลว่า license หรือใบอนุญาต วันนี้ที่ยุโรป การเรียนระดับปริญญาโทเรียกว่า licentia อาจเรียกว่าเรียนเพื่อเป็น “ครูใหญ่” ก็คงไม่ผิด

การศึกษาในระดับปริญญาตรีในยุคแรก ๆ และค่อย ๆ พัฒนาต่อมาในยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม (Renaissance) เริ่มจากการเรียน “ปรัชญา” เพื่อให้คนคิดเป็น มีเหตุมีผล รู้จักตนเอง รู้จักชีวิต รู้จักสังคม ขั้นต่อไปจึงเรียน “วิชาชีพ” ตามที่สนใจ เช่น สถาปัตยกรรม วิศวกรรม แพทยศาสตร์ และวิชาที่ต้องเรียนในอับดับสุดท้าย คือ เทวศาสตร์ ที่ยุคนั้นเรียกว่า “ราชินีแห่งศาสตร์ทั้งปวง” เรื่องความเชื่อในศาสนาคริสต์

คุณสมบัติของคนที่จะเป็นครู จึงต้องมีทั้ง ๓ อย่าง มีปรัชญา วิชาชีพ และความเชื่อศรัทธาในศาสนาอย่างผู้รู้ ผู้มีปัญญา จึงจะเป็นคน เป็นครูที่ดีในอุดมคติได้ เพราะการไปสอนชาวบ้านในยุคแรก ๆ นั้น ไม่ใช่การสอนเรียนเขียนอ่านแต่สอนเรื่องการดำเนินชีวิตมากกว่า เพราะไม่มีหนังสือมากมายให้อ่าน นอกจากคนที่จะมุ่งไปสู่การเป็นครูบาอาจารย์ หรือผู้นำทางสังคม

 

การอุดมศึกษาในยุคแรกนั้นก็มีเพียง ปริญญาตรีและปริญญาโทเท่านั้น ต่อมาเกิดมีครู บางคนมีแนวคิดทฤษฎีใหม่ มีลูกศิษย์ลูกหา ติดตาม บรรดาปราชญ์ทั่วยุโรปจาก “สำนัก”ต่าง ๆ ก็นัดกับมา “ทดสอบ” แม้ว่าบรรดาปราชญ์เหล่านั้นจะไม่คอ่ ยเห็นด้วย หรือเห็นต่างแต่เห็น “ตรรกะภายใน” (internal logic) ของแนวคิดทฤษฎีใหม่นั้น ก็จะยอมรับและยกย่องให้เป็น “doctor” ที่แปลว่า “บรมครู” นั่นเอง

 

คนที่เป็น “doctor” จะได้รับการยอมรับ ว่า สามารถตั้ง “สำนัก” ใหม่ได้ ถือว่าเป็น “เจ้า สำนัก” (เหมือนจอมยุทธในสำนักยุทธจักรจีน) มีลูกศิษย์ลูกหาของตนเอง อาจจะยังสอนใน มหาวิทยาลัย แต่จะมีคนจากทั่วยุโรปที่สนใจ แนวคิดทฤษฎีนั้นเดินทางไปขอเป็นลูกศิษย์

สมัยนั้น การเรียนรู้จึงเป็นการไปแสวงหา “ปรมาจารย์” ในวิชา ในแนวคิดที่ตนเองสนใจ (ผมไปหาพ่อปรีชาและปราชญ์ชาวบ้านทั่วอีสานและทั่วประเทศเพื่อขอวิชาเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อนด้วยแนวคิดนี้) และดูเหมือนว่า ยังเป็นประเพณีที่คนหนุ่มคนสาวในยุโรปจำนวนมากยังทำกันอยู่ทุกวันนี้ ที่ไปแสวงหา “ปรมาจารย์” เก่ง ๆ ในวิชาและในประเทศต่าง ๆ แล้วเอามาประกอบเป็นคะแนนสะสมในมหาวิทยาลัยของตนเองได้ในประวัติของหลายคนจึงมักเห็นว่า เขาผ่านการเรียนในหลายมหาวิทยาลัย

ประเด็นที่สอง ขณะที่ปรัชญาตะวันตกที่เริ่มปรากฏชัดเจนเมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ปีก่อนว่าด้วยแนวคิดที่ปลดปล่อยตนเองจากตำนานหรือเทพปกรณัม (mythology) มาตั้งคำถามว่าถ้าไม่มีเทพเจ้า โลกเกิดจากอะไร อยู่เช่นนี้ได้อย่างไร และพัฒนาไปอย่างไร คือ อยากหาความรู้จาก “ธรรมชาติ” ด้วยเหตุผล ไม่ใช่ “เหนือธรรมชาติ” ด้วยความเชื่อศรัทธา

นักปรัชญากรีกจึงเริ่มคิดว่า อาจเป็น “น้ำ” ก็ได้ที่เชื่อมสรรพสิ่งเข้าด้วยกัน ต่อมาก็มีคนบอกว่า “ดิน น้ำ ลม ไฟ” บ้าง “อะตอม” บ้าง และมีคนอย่างเพลโต ที่บอกว่า “ความคิด” (idea) ต่างหาก นั้นคือกำเนิดของแนวคิดแบบวัตถุนิยมและจิตนิยมที่พัฒนาเรื่อยมาในอารยธรรมตะวันตก และมีอิทธิพลต่อโลกวันนี้

 

แต่ศาสนาก็กลับมามีพลังจนครอบปรัชญาและ “วิทยาศาสตร์” เมื่อศาสนาคริสต์เกิดขึ้นเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีก่อน และกลายเป็นศาสนาประจำอาณาจักรโรมันในศตวรรษที่ ๔ และมีอิทธิพลตลอดยุคกลางจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม หรือยุคเกิดใหม่ (Renaissance) ของปรัชญาตะวันตก (ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๔) ที่เป็นรากฐานสำคัญของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจและการเมือง ประชาธิปไตย อุตสาหกรรม และลัทธิอาณานิคม

ขณะที่ตะวันตกแยกกันชัดเจนระหว่างตำนานกับปรัชญา ระหว่างมหากาพย์ของโฮเมอร์กับตำราปรัชญาของเพลโตและ Academia โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาแห่งแรกของตะวันตก เราไม่เห็นการแยกดังกล่าวในพัฒนาการของสังคมไทย ดูในงานต่าง ๆ ของ “ปรีชา พิณทอง” บรมครูแห่งภูมิปัญญาอีสาน

คำว่า ภูมิปัญญา ที่ผมใช้เมื่อเกือบ ๔๐ ปี ก่อนนั้นหมายถึง “ที่อยู่แห่งความรู้” “ภพภูมิแห่งปัญญา”ที่คนอีสานไม่ได้แยกระหว่าง “ตำนาน” กับ “ประวัติศาสตร์” เพราะไม่ได้แยกระหว่าง “ความเชื่อ” กับ “ความรู้” และดูเหมือนว่า “ศรัทธา” มาก่อน “เหตุผล” ด้วยซ้ำและไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่เสริมกันมากกว่า

แต่ที่สุด ผมเชื่อว่า ทั้งปรัชญาตะวันตกและภูมิปัญญาตะวันออก ภูมิปัญญาไทย ต่างก็มาจากแนวคิดพื้นฐานเดียวกัน และต้องการไปสู่จุดหมายเดียวกัน ต่างกันแต่วิธีคิดและวิธีการเท่านั้น

มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ของเยอรมันในศตวรรษที่ ๒๐ บอกว่า เราจะไม่เข้าใจโลกวันนี้ถ้าไม่กลับไปเรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีก่อน เพราะที่นั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอารยธรรมตะวันตกและของโลกวันนี้

เขาอธิบายต่อไปว่า คำว่า Philosophy มาจากภาษากรีกสองคำ คือ philia + sophia ถ้าแปลตามตัวก็ว่า รัก (philia) ความรู้ (sophia) ไฮเดกเกอร์วิเคราะห์ต่อไปว่า sophia คำนี้มิได้หมายถึง “ความรู้” ในความหมายของวันนี้ แต่หมายถึง “ปัญญา” ที่เป็นความรู้แจ้งใน “เอกภาพของสรรพสิ่ง”

ปรัชญาในความหมายของตะวันตกและตะวันออกมีความหมายเดียวกัน คือ ความพยายามที่จะอธิบายว่า โลกเป็นหนึ่งได้อย่างไรทุกอย่างเป็นหนึ่ง หนึ่งเป็นทุกอย่าง ทุกอย่างล้วนสัมพันธ์หมด “เด็ดดอกไม้ดอกเดียวกระเทือนถึงดวงดาว”

ศาสนาและปรัชญาตะวันออก (ที่ไม่ได้แยกกัน) จึงมีพระพรหม (Brahman) วิญญาณแห่งจักรวาล ที่เชื่อมทุกอย่างเข้าเป็นหนึ่ง เป็น “ขวัญ” แห่งสรรพสิ่ง ขวัญในวัฒนธรรมไทยก็เชื่อมประสานทุกคนเข้าด้วยกันให้เป็นหนึ่ง ผีมีความหมายคล้ายขวัญ เพราะเชื่อมคนกับธรรมชาติ สรรพสิ่ง คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ

บรรดาเทพเจ้าในปรัชญาตะวันตกตะวันออกมีความหมายถึงประสบการณ์ชีวิตและความจริงที่คนสัมผัสและสะท้อนออกมาด้วยภาษาที่เป็นบุคลาธิษฐาน เพราะอธิบายแบบอื่นไม่ได้ (คนพื้นเมืองในอเมริกาบอกว่า คนมีจิตวิญญาณคนสัมพันธ์กับอะไร สิ่งนั้นก็มีจิตวิญญาณด้วยสรรพสิ่งจึงมีชีวิต มีจิตวิญญาณ)

ปรัชญาตะวันตกและตะวันออกแสดงออกถึงโลกทัศน์ ชีวทัศน์ ถึงความสัมพันธ์ของคนกับคน คนกับธรรมชาติ คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ

ผลงานของ “ปรีชา พิณทอง” สะท้อนแนวคิดของคนไทยในอดีต ที่ถ่ายทอด สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ผ่านวรรณกรรม ความเชื่อ ตำนานนิทาน ผญา ที่ผสมผสานกันจนคนที่มีแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์และวิชาการยุคใหม่ที่ไม่เข้าใจมองว่าเป็นเรื่องตำนาน เรื่องเล่าของคนโบราณที่ไม่ได้ต่างไปจาก “นิทาน” คือเรื่องไม่จริง

นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ไม่ถอดรหัส เรื่องราวเหล่านี้ เพราะฐานคิดของพวกเขามาจากปรัชญาและการศึกษาตะวันตก ที่แยกระหว่างตำนานกับปรัชญา ศาสนากับวิทยาศาสตร์ ขณะที่ของไทยไม่ได้แยก (คนไทยจึงพาญาติที่มีปัญหาทางจิตไปโรงพยาบาลศรีธัญญา แล้วพาไปสำนักเจ้าเข้าทรงรอบ ๆ โรงพยาบาล โดยไม่รู้สึกว่ามีความขัดแย้งอะไร)

ที่ทำเช่นนั้น เพราะชาวบ้านเชื่อเรื่องผีไม่ใช่เพราะผีพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์แต่เพราะผีมีความหมายต่อชีวิตของพวกเขา

บุญบั้งไฟที่ยังทำกันหลายแห่งในภาคอีสาน อาจกลายเป็นแค่เรื่องที่การท่องเที่ยวส่งเสริมเพื่อให้ได้ผลทางเศรษฐกิจ แต่ชาวบ้านจำนวนมากยังเชื่อว่ามีส่วนในการเป็นไปของดินฟ้าอากาศ เพราะ “ชาวบ้าน” ส่วนหนึ่งยังรู้สึกเหมือนคนโบราณ ที่ยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ได้เป็นนายเหนือโลกเหนือจักรวาล ไม่ได้อหังการเหมือนคนวันนี้ที่คิดว่ามีความรู้ความสามารถในการควบคุมโลกและธรรมชาติได้

 

แต่ท้ายที่สุด ถ้าอ่อนน้อมถ่อมตนก็จะรู้ว่า คนไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย สร้างโรงงานได้ ผลิตได้ สารพัด บริโภคได้ทุกอย่าง แต่แก้ปัญหามลพิษ ไม่ได้ แก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้ สร้างรถยนต์สร้าง เครื่องบินได้ แต่ป้องกันอุบัติเหตุไม่ได้ คนตาย เพราะฝีมือมนุษย์มากมายทุกวัน พัฒนา วิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ แต่รักษาโรคต่าง ๆ ไม่ ได้ทั้งหมด อาจต่อชีวิต ยื้อความตายได้บางส่วน แต่ก็ไม่สามารถทำให้คนเป็นอมตะได้

ผญาคนโบราณ คือ ปรัชญาที่บรรพบุรุษที่ได้ถ่ายทอดมา สอนให้เรามีชีวิตด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นกับสรรพสิ่งและกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ผญาสอนให้คนมี EQ มากกว่าสอนให้มี IQ ซึ่งต้องไปเรียนรู้เอง (มี IQ มากอาจเป็นแบบศรีธนญชัยก็ได้) ขณะที่วิทยาศาสตร์และปรัชญาตะวันตกสอนให้คนมีความรู้ มี IQ มากกว่า

 

ที่สุดวันนี้เราได้พบความจริงที่ว่า คน แสวงหาเอกภาพของสรรพสิ่ง ไม่ว่าตะวันตกหรือ ตะวันออก นักฟิสิกส์สมัยใหม่หลายคนสนใจ เรียนรู้ปรัชญาตะวันออก ทั้งอินเดีย จีน พุทธ ปรัชญา และพบว่าฟิสิกส์ยุคใหม่ วิทยาศาสตร์ที่ ก้าวหน้าที่สุดของโลกวันนี้ได้พบสัจธรรมที่ไม่ได้ แตกต่างจากปรัชญาตะวันออก คือ ทุกสิ่งล้วน สัมพันธ์กันเป็นหนึ่ง เชื่อมโยงกันด้วยจิตวิญญาณ แห่งจักรวาล จะเรียกอะไรก็ได้ ไม่ได้แตกต่างกัน

ทั้งวิทยาศาสตร์ ปรัชญาตะวันตกยุคแรกและปรัชญาตะวันออก ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงวันนี้ต่างก็แสวงหาเอกภาพในสรรพสิ่ง เพราะเมื่อเกิดเอกภาพ เกิดความสมดุล คนก็อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ทุกข์เพราะการแบ่งแยก แตกแยกอีกต่อไป

ด้วยความคิดนี้ ผมได้อ่านงานของ “พ่อปรีชา พิณทอง” ด้วยความสำนึกในบุญคุณที่ท่านได้ทำให้มรดกภูมิปัญญาอีสานยังคงอยู่คู่กับแผ่นดินอีสาน และสอนให้รู้ว่า ถ้าคนเราเปิดใจให้กว้าง มีหลักคิดและเครื่องมือในการถอดรหัสบ้าง เราจะได้ผญา ได้ปรัชญา ได้ปัญญา ที่ให้พลังชีวิต ให้ภูมิใจในถิ่นกำเนิดและเคารพความคิดเห็นและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ด้วยความสัมพันธ์ที่ดี อยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างเป็นสุข

 

Related Posts

การค้นพบสมุนไพรวิเศษ
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com