ปิดเล่ม ทางอีศาน ๑๑๕

ปิดเล่ม ทางอีศาน ๑๑๕

ภาพ : เพลิง วัตสาร

“…เรามีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคม และการจัดสรรทรัพยากรอย่างมหาศาล ท่านทราบไหมครับว่า ๕๐ ปีที่แล้ว ตอนเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ถ้าเราแบ่งคนไทยเป็น ๕ กลุ่ม กลุ่มละ ๒๐% คนจนที่สุดของประเทศไทยในปี ๒๕๐๔ เมื่อเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ ๑ นั้น เป็นเจ้าของรายได้ประชาชาติ ๔% คนรวยที่สุดอยู่ด้านบน ๒๐% ของประเทศนั้นเป็นเจ้าของรายได้ประชาชาติเกือบ ๖๐%

“พัฒนามาจนถึงวันนี้ ในปี ๒๕๕๘ นี้เอง สถิติของสภาพัฒน์และสำนักงานสถิติแห่งชาติบอกว่า คนจน ๒๐% สุดท้ายของประเทศก็ยังเป็นเจ้าของรายได้ประชาชาติ ๔% กว่า ในขณะที่คนรวยที่สุด ๒๐% ด้านบน เป็นเจ้าของรายได้ประชาชาติ ๕๔% กว่า ๖๐% ของประชาชาติไทยทั้งหมด รายได้ประชาชาติของคน ๖๐% รวมกันแล้ว ๒๕% ของทั้งประเทศ

“TDRI ก็ไปศึกษาดูว่า รายได้ประชาชาติอย่างเดียวไม่ต้องดูการถือครองกรรมสิทธิ์ ปรากฏว่า ถ้านับสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นกรรมสิทธิ์เอกชนทั้งประเทศ มันเป็นของคน ๒๐% ถึง ๖๙% แล้วคนอีก ๘๐% เป็นเจ้าของทรัพย์สินแค่ ๓๑% แต่พอลงไปดูลึก ๆ ปรากฏว่าไม่ใช่ ๒๐% คนเพียง ๑๐% เท่านั้น ที่เป็นเจ้าของส่วนใหญ่ของสินทรัพย์เอกชนทั้งประเทศ ๖๑% น่าตกใจ

“ท่านทราบไหมว่า คนประมาณไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ คนในประเทศไทย มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารพาณิชย์เกือบครึ่งหนึ่ง ก็แปลว่า ความมั่นคงอยู่ที่มือคนไม่เท่าไหร่ คำถามก็คือว่า เราจะแก้ความเหลื่อมล้ำนี้อย่างไร…”

(คัดมาจากปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านและการปฏิรูปการบริหาร สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๙)

สังคมภายใต้โครงครอบที่เหลื่อมล้ำ อยุติธรรม ขูดรีดและกดทับ ก็เหมือนกับพีระมิดที่คนเล็กคนน้อยจำนวนมากควรเป็นฐานรากที่มั่นคงแข็งแรง แต่กลับตาลปัตรเมื่อยอดปลายแหลมทิ่มหัวลงเหมือน “เสรี พพ” เขียนไว้ในเล่ม จึงง่อนแง่นคลอนแคลนตลอดมา

สังคมจะเจริญก้าวหน้าประชาชนคนส่วนใหญ่ต้องมีโอกาสทางการศึกษา มีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ เป็นเจ้าของอธิปไตย คนทุกคนมีศักดิ์ศรี มีสิทธิ์มีเสียง

จุดเริ่มต้นหนึ่งอยู่ที่การปกครองท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตย เปิดทางให้ปวงประชาตื่นรู้ ลุกขึ้นมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ ชุมชนหมู่บ้านและประเทศชาติได้

นิตยสารรายเดือน “ทางอีศาน” เป็นเวทีเล็ก ๆ เวทีหนึ่งที่หมายมุ่งให้ทุกท่านได้ใช้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ แสดงความคิดเห็น เพื่อร่วมกันหาแนวทางปฏิบัติไปสู่สังคมศรีวิไล

Related Posts

ธรรมนูญประชาชน
นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ 115
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com