ปิดเล่ม นิตยสารทางอีศาน
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๙ | ธันวาคม ๒๕๕๖
กอง บก.
เรื่องเกี่ยวกับ “อีสาน” นั้นมีมากมายมหาศาลและเรื่องที่น่าสนใจถึงระดับเป็นเรื่องเด่นขึ้นหน้าปกประจำฉบับก็มีมาก เราอยากทำทุกเรื่องเลยแหละ…
แต่ก็จนใจ ทำได้เดือนละเรื่องเท่านั้น
คิดดูอีกทีก็ไม่เป็นไร ทำไปเรื่อย ๆ อีก ๒๕ ปีก็ยังคงมีเรื่องให้ทำต่อไปได้อีก
นี่มิใช่คิดเล่น เพราะเมื่อ “เกิด” แล้ว ก็ย่อมจะเติบโตต่อไปจนมีอายุสิบปี ยี่สิบปี ยี่สิบห้าปี…
ดูเฉพาะเรื่องราวในพื้นที่ “แอ่งสกลนคร” ก็มีเรื่องน่าเขียนถึงมากมาย การนำเสนอเรื่องปราสาทภูเพ็กและเรื่องที่เกี่ยวพันในฉบับนี้ เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็ก ๆ เท่านั้นเอง
ลำพังเรื่องตำนานรักอมตะ “ผาแดง-นางไอ่” กับปริศนาเรื่องพญานาค ก็เป็นเรื่องสำคัญทางวิชาการที่ค้นคว้ามาถกแถลงกันได้อีกเยอะ
คนไทในดินแดนเวียดนามยุค “สังคมแม่เป็นใหญ่” มีสองโคตรวงศ์ ต้องแต่งงานข้ามโคตรกันสองโคตรนั้นคือโคตรนกกับโคตรเงือก (ต่อมาใช้คำว่า “ลวง” และ “นาค”) “ซิ่นผี” ที่คนทรงนุ่งขณะเชิญผีบรรพชนเข้าทรงจะมีลายบ่งบอกโคตรวงศ์ คือ ลายนก กับลายนาค เงือกหรือลวงหรือนาคมีความหมายลึกลํ้ามากกับคนตระกูลไท-ลาว
คุณจารุบุตร เรืองสุวรรณ นำเสนอไว้ในหนังสือ “ของดีอีสาน” ว่า
“ตำนานผาแดง-นางไอ่ นี้เป็นเรื่องของชาวขอมในท้องเรื่องเราจะสังเกตเห็นมีคนต่างชาติจากขอมเข้ามาในอาณาบริเวณนี้คือพวกพระยานาค ซึ่งคงจะเป็นพวกไทย-ลาว เพราะมีเค้าเรื่องสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ไทย-ลาว เช่น
“เมื่อนั้น ราชาท้าวทั้งสองพระยานาค ก็จึงพรากที่นั้นถึงห้องแห่งตน พาเอาพลไพร่น้อยหนีจากหนองกระแส ตามบัญเทพะแมนเมืองฟ้า”
โดยมีท้าวสุวรรณนาคนาโคบุกลงมาทางใต้ คือ “ท้าวก็พาพลสร้างถางภูบุก่น คนจึงเอิ้นว่านํ้าน่านกว้างคราวนั้นสืบมา”
และมีท้าวสุทโธนาคราชบุกลงมาอีกทางหนึ่งแต่งเป็นกลอนว่า
“อันราชาท้าวสุทโธนาคราช
พรากถิ่นดั้งเดิมผ้ายเผ่นหนี
พากันซีดินหญ้าภูผาขุดก่น
ขบคาบไม้ไปถิ่มผีกทาง
หางก่วยเบื้องฟาดผ่าภูผา
ก็จึ่งเป็นคงคาแม่ของเขาเอิ้น”
พระยานาคตนนี้มีบุตรชายชื่อภังคี ซึ่งหลงรักนางไอ่จนตัวตาย นางไอ่เป็นนางขอม แต่ท้าวภังคีเป็นคนต่างชาติกัน โดยสมมุติว่าเป็นนาค (ไทย-ลาว) ดังคำสอนของแม่ภังคีแต่งเป็นกลอนไว้ว่า
“อันหนึ่ง เฮาหากเป็นนาคนํ้าถํ้าใหญ่เป็นโฮงเขานั้นเนาปรางค์ทองยู่โฮงพันห้อง”
………………………….
ประเด็นนี้ประเด็นเดียว ก็ค้นคว้ามาถกแถลงกันสนุกแล้ว
ช่วย ๆ กันสนับสนุน “ทางอีศาน” ให้มีชีวิตต่อไปหลาย ๆ สิบปีเถิดครับ