ปิดเล่ม นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๙๙
“ทางอีศาน” รับใช้พี่น้องมาเก้าปีแล้ว และก็จะอยู่รับใช้พี่น้องต่อไปจนกว่าชีพ (ของหนังสือ) จะหาไม่ ตั้งแต่เริ่มพิมพ์ปีที่หนึ่งหลายเสียงก็บอกว่า หนังสือเชยเหลือเกิน จะอยู่รอดหรือ แต่หนังสือก็ออกมารับใช้พี่น้องจนถึงเก้าปี และเรากำลังเตรียมวางแผนปรับปรุงปีที่สิบกันแล้ว
ย้อนมองชีวิตของคนทำหนังสือ “ทางอีศาน” เราผ่านสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาไม่น้อย
เริ่มต้นวัยเด็ก (อเมริกาส่งคนไปดวงจันทร์) สภาพการณ์ในต่างจังหวัดยังโบร่ำโบราณอยู่สภาพชีวิตนอกตัวจังหวัดยังเป็นสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิม ชีวิตยากลำบาก ยกตัวอย่างเรื่องการรักษาพยาบาลเดินทางไปหาหมอกันยากลำบาก โอกาสการศึกษาก็กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ
พอเริ่มหนุ่มวัยรุ่น (เข้ามหาวิทยาลัยช่วง ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖) สถานการณ์การเมืองในอินโดจีนร้อนแรง คนหนุ่มสาวในยุคนั้น มุ่งหวังสร้างสังคมที่ดีงามตามอุดมคติสังคมนิยม
ในยุคนั้น ความคิดลัทธิสังคมนิยมยังขายได้ และขายดีเสียด้วย
แต่ต่อมา พอหมดช่วงสงครามเย็น ประเทศค่ายสังคมนิยมแตกสลาย ความคิดสังคมนิยมหมดความนิยม กลายเป็นเรื่องเชย ๆ แนวคิดทุนนิยมยุคใหม่ได้รับความนิยม บวกกับการปฏิวัติทางเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน โลกพัฒนาเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์โลกาภิวัตน์ ความคิดความเชื่อทางสังคมเปลี่ยนแปลง
ชีวิตชนบทไทยแบบดั้งเดิมสูญไป วัฒนธรรมสมัยใหม่ (ทุนนิยมโลกาภิวัตน์) แทรกซึมไปทั่วประเทศไทย
รวมไปถึงวงการสื่อมวลชนและหนังสือ
หนังสือเล่มหมดความนิยม นิตยสารอย่าง “ทางอีศาน” จึงกลายเป็นสิ่งเชย…
แต่ก็ยังมีคนรักการทำหนังสือ และความคิดพัฒนา ไม่ตกยุค ยังคงยืนหยัดดิ้นรนต่อสู้รักษาหนังสือแนวนี้เอาไว้ได้ นั่นก็คือพวกเราคนทำหนังสือ “ทางอีศาน”
โลกนี้เปลี่ยนแปลงมามาก และก็กำลังเปลี่ยนต่อไป คราวนี้สิ่งมีชีวิตจุลชีพกำลังก่อให้โลกต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลง มนุษย์กำลังดิ้นรน ความคิดความเชื่อของมนุษย์จะต้องเปลี่ยน และเราจะนำพาประเทศไทยก้าวไปด้วยกัน