ผักกะแญง แรกแย้ม: อัตชีวประวัติ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ตอนที่ ๑

ผักกะแญง แรกแย้ม: อัตชีวประวัติ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ตอนที่ ๑

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๐ ปีที่ ๑​ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
คอลัมน์: หอมดอกผักกะแญง
อัตชีวประวัติ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา


ตอนที่ ๑ เกริ่นกล่าว

แม้เขียนเพลงมาเกือบทั้งชีวิต ทั้งเพลงรัก เพลงโศก เพลงโลก เพลงธรรม รวมแล้วหลายร้อยเพลง แต่พอจะลงมือเขียนชีวิตตัวเองตามคำเรียกร้องของผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ กัลยาณมิตร เพื่อนพ้องน้องพี่ ลูกศิษย์ลูกหา ผมกลับเกิดความลังเลเก้ ๆ กัง ๆ มาตลอดเวลา ไม่มั่นใจในเนื้อหาสาระของชีวิตตัวเองนัก เพราะยังขาดตกบกพร่องอยู่ ต้องซ่อม ต้องแซม ต้องเกลา ต้องแก้มาอยู่เรื่อย ๆ

กว่าจะลงมือเขียน อายุก็เลยหกรอบมา ๒-๓ ปีเข้าไปแล้ว สัญญาความจำเริ่มจะมีปัญหา มีตัวชี้วัดในเรื่องนี้ให้ได้คิด บางครั้งหลานมานั่งอยู่ต่อหน้า นึกชื่อเขาอยู่ตั้งนาน แถมยังเรียกผิดเสียอีกจนโดนหลานแซว

“หลงแล้วปู่”

จึงลงมือเขียน เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนอยู่หลายครั้ง เขียนไปได้พอประมาณก็ลองปริ๊นต์ให้หลายคนอ่านดู ก็ได้คำตอบเป็นกำลังใจมาว่า

“สนุกดีนี่ เขียนต่อให้จบซี ยังกะนิยาย”

ก็เลยเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา ท่านผู้อ่านจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า เรื่องราวชีวิตที่เขียนด้วยปากกาชีวิตด้ามนี้เป็นอย่างไร สำหรับผมออกความเห็นอะไรไม่ได้ เพียงท่านให้เกียรติเสียสละเวลาอันมีค่ามาอ่าน และได้อะไรจากการอ่านบ้าง ผมก็จะขออนุญาตแอบมีความสุข และขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง มา ณ โอกาสนี้.

ผักกะแญง แรกแย้ม

สมพงษ์มีชื่อ ฝีมือสากล สมานมรคล ยอดเยี่ยมมวยไทย…

คุณพ่อคงจะเป็นแฟนของ “สมพงษ์” แชมป์มวยสากล และคงฝังใจกับชื่อนี้ เมื่อได้ลูกชายคนแรกก็คิดจะตั้งชื่อตาม

ผมเป็นลูกผูกสายอู่ของ คุณพ่อสุขุม คุณแม่แดง จันทรุกขา เป็นคนแรกที่ตั้งชื่อหัวแถวให้น้อง ๆ อีก ๘ คนตามมาสืบต่อหน่อแนว “จันทรุกขา”

เดิมผมชื่อ สงคราม จันทรุกขา แม่บอกว่าตั้งชื่อดุให้ เพราะผมเกิดในระหว่างสงครามอินโดจีน แต่ก่อนที่จะได้ชื่อนี้พ่อตั้งใจให้ชื่อว่า “สมพงษ์” ซึ่งเป็น ๑ ใน ๒ ของแชมป์มวยแห่งยุค ที่มีนักมวยเอก ๒ คน สมพงษ์แชมป์มวยสากล และสมานแชมป์มวยไทย

ส่วน “พงษ์ศักดิ์” ผมมาเปลี่ยนเอง ความหมายของชื่อคือ “ศักดิ์ศรีแห่งเผ่าพงษ์” หรือ “ศักดิ์ศรีแห่งตระกูล”

นอกจากผม นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา แล้วก็อยากแนะนำน้องที่เติบโตตามกันมาว่ามีใครบ้างลูกคนที่ ๒ รองจากผมคือ นายสมเกียรติ จันทรุกขา คนที่ ๓ นายสมควร จันทรุกขา ตามด้วยน้องวนิดา จันทรุกขา คนต่อไป นางสุมาลัย นุยืนรัมย์ แต่งงานกับ นายปรีชา นุยืนรัมย์ ต่อแถวด้วย นางสุภาวดี สุขโท เปลี่ยนนามสกุลไปใช้ของ นายสำราญ สุขโท และน้องสาวคนสุดท้อง นางสุชาดา แม้นพิมพ์ จดทะเบียนสมรสกับ นายยุทธแม้นพิมพ์

สำหรับน้องสองคนที่เสียชีวิตไปแล้ว คือ เด็กชายสุชาติ (เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก) และ นายศักดา จันทรุกขา รวมเป็นทั้งหมด ๙ คน

น้อง ๆ ๖ คนที่มีชีวิตอยู่ทั้งหมดรับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ตามรอยของคุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นครูทั้งสองท่าน กระผมก็แวะไปเป็นครูโรงเรียนราษฎร์อยู่ ๒ ปี แต่ทนความรบเร้าของหัวใจ ซึ่งหลงใหลคลั่งไคล้ในเสียงเพลงไม่ไหว

ทำอย่างไรได้ เมื่อความมุ่งมั่นยังคาราคาซังมันก็ต้องตัดใจจำลาออกไปตามหาสิ่งที่หวัง ซึ่งเป็นที่มาของนาฏกรรมชีวิตที่ร้อนเร่าเผารนปนเปรี้ยวหวานมันเค็ม ที่ผมจะค่อยและเล็มนำมาเล่านับแต่นี้ไป

(โปรดอ่านต่อฉบับหน้า)

—————————————————————–

มื้อหนึ่งแม่ฝันว่า กำลังนั่งอยู่ประตูหน้าบ้าน มีดวงแก้วดวงหนึ่งตกลงมาจากฟ้า แม่เอามือสองข้างรับไว้ เพราะรู้สึกว่าเป็นของมีค่า แล้วขณะนั้นปรากฏร่างของผ้าขาว (นักบวชพราหมณ์) ถามแม่ว่า “อีนางเห็นแก้วกูตกลงมานี่บ่ ซื่อบ่อนมึงนั่ง มันหลุดมือ” แม่ตอบว่า “เฮาบ่เห็น” ผ้าขาวว่า “มึงอย่าตั่วกู มันตกลงซื่อมึง ถ้ามึงอยากได้กูสิให้ ถ้ากูให้มึงรักษาให้ดีของค้ำคูณแท้ บ่แม่นของเล่น” แล้วผ้าขาวก็หายตัวไป ต่อมาไม่นานแม่ก็ตั้งท้องบุตรคนแรกคือ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ตอนไอ้พงษ์อายุ ๕-๖ ขวบ “ตึ่ง” (ชื่อเล่นที่แม่เรียกในวัยเด็ก) มักร้องรำทำเพลง ร้องเพลงให้พี่เลี้ยงฟังว่า “สมพงษ์มีชื่อ ฝีมือสากล” พอมีชื่อเสียงพี่เลี้ยงคนนั้นถึงกับกล่าวว่า “บักหล่าสมพอเจ้ามักฮ้องเพลงแต่น้อย”

ไอ้พงษ์ของแม่

ใหญ่ขึ้นแม่ส่งให้เข้าไปเรียนหนังสือในเมืองกับน้อง สมพงษ์, สมเกียรติ, สมควร ยามปิดเทอมกลับมาอยู่ที่บ้านสิเล่นหนังบักตื้อให้ไทบ้านเบิ่ง ไปเล่นบ้านนั้นบ้านนี่เอาน้องไปนำ ตื่นเช้ามาพากันฮูดังดำเบิด (ควันตะเกียงที่ใช้จุดเชิดหนังเข้าจมูก) ยามสิเปิดเทอมแม่เตรียมเสบียงอาหารให้ไปกินอยู่เมือง มีข้าวสาร ปลาแห้ง ปลาสด เค็มบักนัด เดินทางมาฮอดบ้านสว่าง แวะนึ่งข้าวขาย มันเป็นจังซั่น มันคึดบ่คือไผ

ตอนเรียนอยู่ในเมืองพักอยู่วัดเลียบ ไทบ้านริมมูล ทั้งฝั่งวารินฝั่งเมือง ยามมื้อแลงสิพายเรือมารับไปแสดงหนังบักตื้อ ได้ข้าวปลาอาหารมาสู่หมู่เด็กวัดพากันบ่อดอยาก

ตอนเรียนอยู่ ม.๕ ไปหาซื้อของเร่ขาย ขายแป้งบาหยัน ขายสบู่ ร้องเพลงเลาะขาย สมเกียรติมาบอกแม่ว่า อ้ายพงษ์ไปเลาะขายของบ่ไปโรงเรียน แม่ใจหายวับเป็นห่วงลูก ย่านลูกเรียนบ่จบ ไอ้พงษ์มันแปลกบ่คือผู้ได๋

เกือบลูกบ่จบ ม.๖ อาจารย์เฉลิม สุขเสริมมาบอกแม่ว่า ลูกเจ้าบ่เข้าเรียนสิบ่ได้สอบ แม่ได้ขอครูให้ลูกสอบ ถึงบ่เข้าเรียนลูกกะบ่แม่นคนชั่วบ่มีนิสัยเกเร มันไปเรียนรู้ตามอารมณ์ของมัน ครูเลยให้สอบ ผลการเรียนออกมา ไอ้พงษ์สอบได้ที่ ๑

จบ ม.๖ แล้วไอ้พงษ์ได้จัดละครวิทยุ อยู่สถานีวปถ. ๖ แล้วหายตัวไปบ่บอกพ่อบอกแม่ แม่สืบทราบภายหลังว่าไปกับคณะละครวิทยุ แม่ได้เขียนจดหมายถึง คุณแม่อรพิน ไชยกาล เพิ่นอยู่กรุงเทพฯ เพิ่นเป็น ส.ส. หญิงคนแรกของจังหวัดอุบลฯ เพิ่นรักแม่ เพราะว่าแต่ก่อนเพิ่นเป็นครูใหญ่โรงเรียนนารีนุกูล แม่เป็นลูกศิษย์เพิ่น คุณแม่อรพินได้ลงหนังสือพิมพ์ตามหาไอ้พงษ์ แม่เป็นห่วงหลายย้านลูกลำบาก ยามหิวสิไปขอทานกิน ไปเป็นคนจรจัดบ่มีหม่องอยู่หม่องนอน ไอ้พงษ์ได้ไปหา คุณแม่อรพินส่งตัวไอ้พงษ์กลับมาบ้านอุบลฯแม่ดีใจหลาย แต่กะคึดว่านิสัยมันเป็นแนวนี่เดี๋ยวคงต้องไปอีก แม่เลยตกลงกับลูกว่า ซิไปอยู่ไสกะให้บอกให้รู้ว่าอยู่ไส ตอนนี้แม่กะให้ไปเป็นครูโรงเรียนราษฎร์ ต่อมาอีก ๒ ปี แม่ให้ไปเรียนต่อครู ปป. ให้เงินไปเสียค่าเล่าเรียน ได้เงินค่าเรียนไปเป็นเงินค่ารถแล้วหนีไปกรุงเทพฯ บ่เรียนครูเลย

ไอ้พงษ์มันนิสัยคือแม่ ถ้าได้ว่าสิเฮ็ดอีหยังมันสิเอาให้ได้ ไผสิว่าบ่ดีจังใด๋มันบ่เคียด ไผสิยกย่องมันกะบ่หลง ไปอยู่ไสกะมีคนฮัก บ่มีเงินลำบากมันกะอดทน ม่วนไปตามอารมณ์ มันเป็นจั๋งซี่หละไอ้พงษ์ (แม่เล่าเรื่องไอ้พงษ์ของแม่ เล่าไปหัวเราะไปอย่างมีความสุข.

แม่แดง จันทรุกขา เล่าเรื่อง
สุชาดา แม้นพิมพ์ บันทึก
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕

อีสานบ้านเฮา

หอมดอกผักกะแยง…..ยามฟ้าแดงค่ำลงมา
แอ๊บ ๆ เขียดจะนา…..ร้องยามฟ้าฮ้องห่วน ๆ
เขียดโม้เขียดขาคำ….เหมือนหมอลำพากันม่วน
เมฆดำลอยปั่นป่วน…..ฝนตกมาสู่อีสาน
หมู่หญ้าตีนกับแก้…….ถูกฝนแลเขียวตระการ
ควายทุยเสร็จจากงาน…เล็มหญ้าอ่อนตามคันนา
รุ่งแจ้งพอพุ่มพู่………ตื่นเช้าตรู่รีบออกมา
เร่งรุดไถฮุดนา……..รีบนำฟ้าฟ้าวนำฝน
อีสานบ้านของเฮา……อาชีพเก่าแต่นานดน
เอาหน้าสู้ฟ้าฝน……..เฮ็ดนาไร่บ่ได้เซา เฮ็ดนาไร่บ่ได้เซา…
ม่วน…เอ๊ย…โอ… ม่วนเอ๊ยม่วนเสียงกบ
ร้องอ๊บ ๆ……….กล่อมลำเนา
ผักเม็กผักกะเดา…….ผักกระโดนและผักอีฮีน
ธรรมชาติแห่งบ้านนา….ฝนตกมามีของกิน
ฝนแล้งแห้งแผ่นดิน……ห้วยบึงหนองแห้งเหือดหาย
มาเด้อมาเฮ็ดนา…….มาเด้อหล้าอย่าเดินผ้าย
นับวันจะกลับกลาย……บ่าวสาวไหลเข้าเมืองกรุง
เสียงแคนกล่อมเสียงซุง…ตุ้งลุ่งตุง แล่นแตรลุ่งตุง
เสียงแคนกล่อมเสียงซอ อ้อนแล้วอ๋ออ้อนอีแล้วอ๋อ
มาเด้อมาช่วยกันก่อ…..อีสานน้อ…บ้านของเฮา

เพลง “อีสานบ้านเฮา” บางแห่งเขียนเป็น “อีสานบ้านของเฮา” ขับร้องครั้งแรกโดย เทพพร เพชรอุบล ต่อมามีการขับร้องบันทึกเสียงโดยนักร้องอีกหลายคน แต่ผู้ที่ขับร้องได้ถึงอารมณ์เพลง จนเพลงนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ชาวอีสาน ให้เกิดความรักความเข้าใจ ความหวงแหนต่อแผ่นดินเกิดและชาวอีสานทั้งมวลก็คือ เทพพร เพชรอุบล

“ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ได้สร้างผลงานเพลงที่โดดเด่นที่สุดและเป็นเอกลักษณ์ที่รวมเอาความเป็น “ลูกทุ่งอีสาน” ไว้อย่างพร้อมมูล เพลงนี้คือคำอธิบายความหมายของคำว่า “ลูกทุ่งอีสาน” ได้ดีที่สุด เพลงนี้เพียบพร้อมทั้งรูปแบบเนื้อหา ท่วงทำนอง จังหวะ ลีลา คำร้อง ภาษาที่งดงาม และเป็นเพลงที่สื่อสะท้อนบรรยากาศของภาคอีสานและวิถีชีวิตของชาวอีสานได้อย่างหมดจด

เป็นเพลงที่ผู้แต่งมีความกล้าหาญในการเลือกใช้คำภาษาถิ่นมาปลุกเร้าจิตวิญญาณความเป็นอีสานให้รัก เทิดทูน หวงแหนถิ่นเกิด รักพงศ์รักเผ่า รักแผ่นดินเกิด และแน่นอน เพลงนี้สอนให้คนอีสานรักความเป็นจริง รักสิ่งที่ตนเองมีและเป็นและรักสภาพที่แวดข้าง มองสิ่งที่รายรอบตัวเป็นดั่งสรวงสวรรค์ สวรรค์แห่งความเป็นจริงและสวรรค์ที่อยู่บนพื้นพิภพนี้

เขาได้สอดแทรกกลอนลำเข้าประกอบในเพลงอย่างกลมกลืน จังหวะทำนองเพลงเป็นทำนองเซิ้งและเข้ากันได้ดีกับดนตรีอีสานอันมีพิณและแคนและที่สำคัญ นักร้องผู้ที่เขาเลือกให้รับเกียรติขับร้องเพลงนี้ คือ เทพพร เพชรอุบล นักร้องอัจฉริยะชาวอีสานที่ชาญฉลาดในการเค้นเสียงร้องให้เข้ากับเพลง และมีน้ำเสียงที่เหมาะสมกับบรรยากาศของเพลง เพลงนี้คือต้นแบบวรรณกรรมที่เรียกว่า “นายภาษา” โดยแท้ เพราะนำเอาถ้อยคำภาษาถิ่นมารับใช้ในเพลงลูกทุ่ง และทำได้อย่างดีเยี่ยมงดงามและมีประสิทธิภาพที่สุด

เพลงนี้เป็นเสมือนเพลงประจำภาคอีสานเพลงนี้ไม่เคยเสื่อมความนิยมแม้จะถูกสร้างขึ้นร่วม ๓๐ ปีแล้ว แม้ในปัจจุบันชาวอีสานที่เคยใช้ชีวิตในบ้านเกิด ได้ฟังเพลงนี้ทีไรเป็นต้องเกิดความรู้สึกคึกคักตามจังหวะของเพลง และขณะเดียวกันวิญญาณของพวกเขาก็ถูกฉุดรั้งให้ดิ่งด่ำลึกจมลงไปกับเนื้อหาของเพลง ดิ่งจมไปสัมผัสความยากแค้นของการดำเนินชีวิต

เพลงนี้จึงเป็นเหมือนเส้นชีวิตของชาวอีสานเป็นกระจกบานใหญ่ที่ส่องฉายชีวิตคนอีสานได้อย่างหมดเปลือก เนื้อหาและรูปแบบของเพลงได้สะท้อนเงาให้เห็นว่า ชีวิตชาวอีสานนั้น คือชีวิตที่มีทั้งสุขและทุกข์จนระคนปนเปกันไปในเวลาเดียวกัน จนแยกไม่ออกว่า ไหนสุขไหนทุกข์ เพลงนี้เป็นเหมือนหีบห่อที่บรรจุชีวิตของชาวอีสานไว้ทั้งหมด

นี่คือเพลงที่ยิ่งใหญ่ ที่เป็นเสมือนเพลงประจำภาค เพลงที่เผยให้เห็นภูมิปัญญา เพลงที่กลั่นจากมันสมองและเคี่ยวด้วยประสบการณ์ของมหาปราชญ์ด้านการแต่งเพลงชาวอีสาน นาม พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา”.

แวง พลังวรรณ : “พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา” มหาปราชญ์แห่งท้องทุ่งอีสานกับหอมดอกผักกะแญง

Related Posts

รักนั้นเป็นฉันใด
‘น้าสนับ’ เพื่อนทุกข์ยามยาก ตอนที่ ๔
โคลงลาว : มนต์มาลาหอม

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com