ผักเสี้ยวหน้าแล้ง
พูดถึง ผัก หลายคนคงนึกถึง ผักกาด ผักคะน้า แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว และผักอื่น ๆ ที่เห็นจนชินตาตามแผงขายผัก เรามักเข้าใจว่า ผักเป็นพืชล้มลุก อายุไม้ยืน ต้องมีคนปลูก เจริญเติบโต และมีรสชาติดีในหน้าหนาว แต่ในฤดูกาลที่ร้อนแล้งเช่นนี้ถ้าชี้ไปที่ต้นไม้ริมทางชนิดหนึ่งแล้วบอกว่า นี่แหละเป็นผักที่จะเอามาทำกินกันเย็นนี้คงมีคนสงสัยว่า เป็นไปได้หรือ
ผักในนิยามของคนไทยแต่ดั้งเดิม คงหมายถึงพืชที่เอามาปรุงหรือเป็นส่วนประกอบในมื้ออาหารหลักได้ไม่จำกัดว่าล้มลุกหรือยืนต้น เป็นไม้ต้นเล็กหรือต้นใหญ่การที่ชาวบ้านในชนบท ใช้ไม้ด้ามยาวสอยเก็บผัก หรือถึงกับต้องปืนป่ายจึงไม่เป็นภาพที่แปลกตา
ผักที่จะพูดถึงวันนี้จัดเป็นประเภทที่ต้องยืนเก็บหรือใช้ไม้สอย คนไทยภาคเหนือและอีศานเรียกว่า ต้นเสี้ยว หรือผักเสี้ยวเป็นไม้พื้นถิ่นของไทย พบเห็นได้ตามป่าโปร่งริมทาง ที่รกร้างในชนบท และมีบ้างที่คนปลูก ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปีเสี้ยวจัดเป็น “ต้นอะไรก็ไม่รู้” สำหรับคนกรุงที่ผ่านไปพบเห็นไม่มีใครใส่ใจถามชื่อถามประโยชน์หรืออยากได้ไปเพาะเลี้ยง ดูช่างอาภัพนัก
เสี้ยว เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก โตเต็มที่สูงได้ถึง ๔-๕ ช่วงตัวคน ใบกลมรีขนาดประมาณฝ่ามือ ปลายแยกเป็นสองพูดอกที่ดูคล้ายดอกกล้วยไม้นั้น มีสีขาวแต้มชมพูอ่อน ผลเป็นฝักแคบแบน ยาวราว ๑ คืบ ขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตเร็ว เพียง ๒-๓ ปีก็สูงท่วมหัวคนได้
ต้นเสี้ยว มีดอกในช่วงต้นฤดูแล้ง คือราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคม ดูขาวโพลนไปทั้งต้น สะดุดตาคนที่เห็น แม้เคยเห็นมาก่อนก็ยังอดถามไม่ได้ว่า ต้นอะไรนะ ช่างสวยจริง ดอกเสี้ยวนี้นำมาทำอาหารได้สารพัด เฉพาะส่วนกลีบนะครับ ไม่ควรกินส่วนเกสรซึ่งมีรสขมเล็กน้อย และอาจปนเปื้อนอะไรต่อมิอะไรที่แมลงพามา กลีบดอกเสี้ยวกินสดๆ ได้เลย รสจืดแกมหวานเล็กน้อย สามารถใช้เป็นผักสลัดได้อย่างลงตัว ทั้งรสชาติ สีสัน และผิวสัมผัส หรือเอามาทั้งดอก เด็ดเกสรทิ้ง นิยมนำไปแกงกับปลาสด ปลาแห้ง หรือปลาร้า ตำพริกสดหรือแห้งกับหอมกระเทียมใส่ลงไปด้วย จะเอร็ดอร่อยเพียงใดคงต้องขึ้นกับรสมือของผู้ปรุง แต่อย่างน้อยก็สามารถคุยโอ่ได้ว่า เป็นของที่มีให้กินเพียงปีละครั้งเท่านั้น
ต่อมา ในระหว่างปลายเดือนมีนาคม ต่อจนถึงเมษายนทั้งเดือน ช่วงนี้ต้นเสี้ยวทิ้งทั้งดอกและใบพร้อมกันนั้นก็เริ่มผลิใบอ่อนทุก ๆ กิ่งพร้อมกัน ราว ๒-๓ สัปดาห์ เมื่อใบอ่อนกว้างสักประมาณฝ่ามือเด็กทารก เป็นเวลาที่ต้องยืนเก็บหรือใช้ไม้สอย “ผักเสี้ยว” ได้แล้ว ใบอ่อนนี้นิยมนำไปแกงแบบเดียวกับดอก แกงผักเสี้ยวแบบบ้าน ๆ ทำโดยตำเครื่องแกงที่ประกอบไปด้วย เกลือเม็ดหรือเกลือป่นเล็กน้อย พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง และกะปิใส่ลงในหม้อน้ำเดือด ปลาแห้งแกะเอาแต่เนื้อหรือหักใส่เป็นชิ้นพอคำ หรือจะเปลี่ยนเป็นกุ้งแห้ง เนื้อแห้ง หรือซี่โครงหมูก็ตามชอบตามสะดวกใส่มะเขือเทศลูกเล็ก รอจนน้ำเดือดอีกครั้ง ชิมดูถ้ายังไม่เค็มพอ ปรุงรสด้วยเกลือ หรือน้ำปลา หรือน้ำปลาร้าตามชอบ ใส่ผักเสี้ยวแล้วยกลงทันที ผักเสี้ยวนี้สุกง่ายไม่ควรทิ้งให้เดือดนาน จะทำให้เนื้อผักเละ และสีออกคล้ำดูไม่น่ากิน แกงผักเสี้ยวที่ปรุงใหม่ ๆ มีรสหวานจากน้ำต้มปลา ตามด้วยรสเปรี้ยวห่าง ๆจากมะเขือเทศ และเค็มจากเกลือและกะปิ เนื้อผักเสี้ยวมีรสจืดมัน กินกับข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้าก็เข้ากันดี
ผักเสี้ยว มีวิตามินและเกลือแร่ที่เป็นประโยชน์หลายชนิดและยังอุดมไปด้วยใยอาหาร เมื่อไม่นานมานี้มีการวิจัยในหนูทดลองที่ถูกทำให้มีไขมันในเลือดสูง พบว่าสารสกัดจากใบเสี้ยวมีฤทธิ์ลดระดับของโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรน์และไขมันในเลือดชนิดไม่ดี (LDL, VLDL) ขณะเดียวกันก็เพิ่มระดับไขมันดี (HDL) ดังนั้น การสกัดแยกโอสถสารจากใบของผักเสี้ยว เพื่อใช้เป็นยา จึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง
เสี้ยวต้นหนึ่ง มีช่วงเวลาให้เก็บใบอ่อนได้ประมาณเดือนกว่า ๆ หลังจากนั้นเมื่อใบเสี้ยวทุกใบ โตเต็มที่ต้นเสี้ยวก็ค่อยเลือนหายไปจากความสนใจ กลายเป็น “ต้นอะไรก็ไม่รู้” อีกครั้งหนึ่ง
คนในชนบทที่มีพี่น้องเป็นชาวกรุงฉันใด ต้นเสี้ยวบ้านนาก็มีพี่น้องอยู่ในเมืองฉันนั้น พี่น้องชาวกรุงของเสี้ยวมีชื่อว่า ชงโค เป็นไม้ยืนต้นดอกสวย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือน อาคารสถานที่ราชการ
ดอกชงโค มีรูปลักษณ์และสีสัน ละม้ายคล้ายคลึงกับดอกกล้วยไม้ เป็นอย่างยิ่งเป็นที่มาของชื่อต้นชงโคในภาษาอังกฤษที่แปลว่า “ต้นดอกกล้วยไม้” (orchid flower tree) เมื่อเปรียบเทียบกับดอกสีขาวซื่อของเสี้ยวแล้ว ดอกสีม่วงของชงโคดูช่างงามสง่านัก ผู้ที่เคยเห็นธงสัญลักษณ์ของเกาะฮ่องกงอาจระลึกได้ว่า รูปดอกไม้ที่ปรากฏกลางผืนธงนั้น ก็คือดอกชงโคนั่นเอง
แล้วชงโคกินได้แบบเดียวกับเสี้ยวหรือไม่ อ๋อ ได้ครับ แต่รสชาติต่างกันมาก ดอกชงโคกลีบแข็งกว่าให้ผิวสัมผัสหยาบ รสไม่หวาน คนจึงไม่นิยม ชงโคถูกปลูกเลี้ยงในเมือง มีคนรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยจึงเจริญเติบโต ผลิดอก ผลิใบอ่อน อย่างต่อเนื่อง เก็บใบอ่อนพร้อมกันจำนวนมากได้ยาก ใบอ่อนที่ไม่อ่อนจริงนั้น ก็ไม่มีรสจืดมันแบบเสี้ยว
ปัจจุบัน ในตลาดไม้ประดับ มีชงโคพันธุ์ใหม่รู้จักกันในชื่อ ชงโคพันธุ์ฮอลแลนด์มีดอกดก สีเข้มและขนาดใหญ่กว่า มาแทนที่ชงโคพันธุ์ดั้งเดิม แท้จริง ชงโคพันธุ์ฮอลแลนด์นี้เกิดจากการผสมระหว่างชงโคกับเสี้ยว และก็มิได้มาจากฮอลแลนด์ซึ่งเป็นเมืองหนาวแต่อย่างใด
ในทางพฤกษศาสตร์ทั้งเสี้ยวและชงโค จัดเป็นพืชในสกุลเดียวกันคือสกุลโบฮีเนีย (Bauhinia) พืชส่วนใหญ่ในสกุลนี้มีใบที่มีปลายแยกเป็นสองพู ดูคล้ายกับเป็นใบแฝดชื่อสกุลนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พี่น้องชาวสวิส ๒ คน คือ ฌอง และ กัสปาร์ โบแอง (Jean and Gaspard Bauhin) ทั้งคู่เป็นนักพฤกษศาสตร์เลื่องชื่อที่มีชีวิตอยู่เมื่อสี่ร้อยกว่าปีมาแล้ว
นอกจากเสี้ยวและชงโคแล้ว พี่น้องในสกุลโบฮีเนียนี้ยังมีอีกมาก บ้างก็อยู่ในเมือง บ้างก็อยู่ในป่า ที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เช่น กาหลง (กลีบดอกสีขาว แต่ละกลีบกว้างกว่าชงโค) และโยทะกา (กลีบสีเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นชมพูเข้ม) ที่เป็นเถาขนาดใหญ่ เช่น ย่านดาโอ๊ะ หรือใบไม้สีทอง (ใบใหญ่กว่าชงโค มีขนสั้น ๆ นุ่มคล้ายกำมะหยี่ ใบที่โตเต็มที่มีสีทองสวยงาม พบในป่าดิบชื้นทางภาคใต้) และอรพิม (ดอกใหญ่สี ขาว) ซึ่งมีผู้เพาะเลี้ยงเป็นไม้ประดับแล้วที่ปลูกเลี้ยงเพื่อใช้เป็นเครื่องยาไทยก็มี เช่น ส้มเสี้ยว ซึ่งการแพทย์พื้นบ้านระบุว่า มีสรรพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ และฟอกเลือด
ฤดูร้อนนี้ถ้าไปต่างจังหวัดทางเหนือหรืออีศานลองมองหากองผักเสี้ยวที่วางขายแบกะดินดูบ้างนะครับ เพียงกองละ ๕ บาท ๑๐ บาทเท่านั้น สักสองกองก็แกงกินกันได้ ๔-๕ คนแล้ว มีประโยชน์ปลอดสารพิษ และถูกยิ่งไปกว่าผักที่กินกันทุกเมื่อเชื่อวัน
เสี้ยวบ้าน เสี้ยวป่า มีให้กินเฉพาะหน้าแล้ง ยิ่งร้อนยิ่งผลิใบอ่อน ฤดูร้อนเมื่อหลายปีก่อน ในตลาดท้องถิ่นแห่งหน ผมถามคณยายเจ้าของกองผักเสี้ยวว่า กองเท่าไรละยาย แกตอบทันทีว่า กองละ ๑๐ บาท ผมดูกองผักที่แม้จะดูน้อยไปนิด แต่ก็พอแกงได้สักสองชาม กระนั้นก็อดบ่นไม่ได้ว่า “ทำไมมันแพงล่ะยาย”
ยายตอบ “อากาศมันร้อน”
คำตอบของแกยิ่งทำให้ผมสงสัยมากขึ้นไปอีกจึงแย้งว่า “ก็อากาศร้อนนี่ ผักเสี้ยวก็มีนัก (มีมาก) ไม่ใช่หรือยาย”
แกสวนกลับทันทีเลยว่า “คนเก็บมันร้อน”
เออ เป็นงั้นไป
***
คอลัมน์ ผักหญ้าหมากไม้ นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๕ | พฤษภาคม ๒๕๕๗
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220