ผีตาโขน ผีตาขน ผีตามคน ผีตามใคร?
ขบวนแห่ผีตาโขนใหญ่ในงานบุญหลวงของชาวด่านซ้ายผีตาโขนเมื่อกึ่งศตวรรษก่อน (ภาพจากนิตยสารสารคดี)
ถึงแม้ขบวนแห่ผีตาโขนจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนจากทั่วสารทิศ ให้ไปเยือนอำเภอเล็ก ๆ ในหุบเขาอย่างด่านซ้าย จังหวัดเลย แต่สาระสำคัญที่แท้จริงของ “งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน”
คือการรวมงาน “บุญพระเวส” ซึ่งเป็นฮีตเดือนสี่ (จารีตประเพณีในเดือนสี่) ของชาวอีสานเข้ากับงาน “บุญบั้งไฟ” ซึ่งเป็นฮีตเดือนหก แล้วเรียกรวมว่า “บุญหลวง” หรืองานบุญใหญ่
ภายใต้การกำหนดกฎเกณฑ์โดย “เจ้าพ่อกวน” และ “นางเทียม” ผู้นำทางจิตวิญญาณที่ชาวด่านซ้ายให้การเคารพนับถือ ในฐานะร่างทรงของผีเจ้าเมือง ผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลผู้ดูแลรักษาพระธาตุศรีสองฮัก ศูนย์กลางศรัทธาของชุมชน และที่สำคัญคือเป็นผู้ประพฤติดี มีศีลธรรมจรรยาสูงพอที่ชาวบ้านจะกราบได้สนิทใจ
ในขณะที่ “ผีตาโขน” คือผู้ถูกสมมติให้เป็นเหล่าคนป่าที่เคยปรนนิบัติพระเวสสันดรในป่าเขาวงกต แล้วเดินตามขบวนพระเวสสันดรกลับเข้าเมือง ชาวเมืองเห็นพวกนี้นุ่งห่มด้วยผ้าห่อศพเหมือนผี แต่ชอบเดินตามคน จึงเรียก “ผีตามคน”
บางตำราว่าเพราะผีหรือศพจะไม่มีขนตาแต่ชาวป่าพวกนี้มีขนตา จึงพากันเรียก “ผีตาขน” ภายหลังจึงเพี้ยนเสียงเป็น “ผีตาโขน” เพราะชาวด่านซ้ายประดิษฐ์คิดสร้างหน้ากากผีมาสวมหัวเหมือนหัวโขน โดยใช้หวดนึ่งข้าวเหนียวกับทางมะพร้าวและเศษผ้ามาประกอบกันเป็นหัวผีตาโขน แถมยังห้อยหมากกะแหล่ง (ที่ใช้ผูกคอวัว) ส่งเสียงเรียกรอยยิ้มไว้ที่เอว ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในสังคมเกษตรกรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของชาว “ไทด่าน” แห่งอำเภอด่านซ้าย
ขบวนแห่ที่สำคัญของงานนี้ จึงเป็นขบวนแห่เจ้าพ่อกวนนั่งมาบนหลังม้า (กระดาษ) สมมติว่าเป็นพระเวสสันดรกลับเข้าเมือง โดยมีบรรดาผีตาโขนเดินตามเป็นพรวน เดินไป เต้นไป ตามสูตร “ขย่มตัว ส่ายสะโพก โขยกขา ขยับเอว” ในมือถือมีดหรือดาบไม้ที่มีด้ามแกะเป็น “ปลัดขิก” หัวแดงแป๊ด เอาไว้แหย่สาว ๆ ให้วี้ดว้ายกระตู้วู้โดยไม่ถือโทษโกรธเคืองกันหนึ่งวัน
เล่าขานกันว่าสมัยก่อน จะไม่ตกแต่งหัวผีตาโขนกันวิลิศมาหราเหมือนเดี๋ยวนี้ แถมยังเอาสีแดงมาแต้มให้ดูคล้ายเลือด ที่สำคัญคือต้องออกไปหลอกหลอนให้คนตกใจกลัวจริง ๆ เช่นดักซุ่มหลอกแม่ค้าให้ตกใจเล่น หรือหยิบฉวยขนมมากินโดยไม่ถือสากัน หรือบางทีก็วิ่งเข้าไปในสวนผลไม้ ปลิดมะม่วง พุทรามากินกันสนุกสนาน
ตกตอนบ่าย ยังมีแห่กันอีกขบวน คือแห่เจ้าพ่อกวนขี่บั้งไฟ โดยมีพระสงฆ์แห่นำขบวนมาวนรอบสิม (โบสถ์) วัดโพนชัย ก่อนส่งพระสงฆ์และเจ้าพ่อกวนเข้าสิมไปทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลของชุมชน ในขณะที่บั้งไฟถูกแห่ไปจุดในทุ่งนาหลังวัด ตามความเชื่อว่าจุดเตือนพญาแถนให้บันดาลฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ที่น่าสงสัย คือตอนแห่พระสงฆ์นำหน้าบั้งไฟ ทำไมคนแห่ต้องขย่มแรง ๆ จนหลวงพี่แทบกระเด็นตกจากแคร่ มีคำอธิบายว่าอุปมาดั่งผู้จะบรรลุธรรมต้องทนแรงเสียดทานของกิเลสตัณหาให้ได้ แต่ผมยังไม่สนิทใจในคำอธิบายนี้นัก
แต่ที่แน่ ๆ นี่คือ การสมานฉันท์คติความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผีและอำนาจเหนือธรรมชาติ เข้ากับพุทธศาสนาที่รับมาภายหลังอย่างสนิทแนบเป็นเนื้อเดียว
พอแห่พระเข้าโบสถ์แล้ว ส่วนหนึ่งเอาบั้งไฟจุด อีกส่วนหนึ่งต้องช่วยกันขนหุ่นผีตาโขนตัวใหญ่ไปทิ้งนํ้า นัยว่าเป็นการลอยเคราะห์ลอยบาปให้หมดทุกข์โศกโรคภัย ส่วนหัวผีตาโขนเล็กที่บรรจงแต่งกันสวยหรู เจ้าพ่อกวนท่านอนุญาตแล้ว ว่าจะเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้ ไม่ต้องเอาไปทิ้งทั้งหมดเหมือนสมัยก่อน
เย็นวันนั้นที่วังเวินในลำนํ้าหมัน สายนํ้าที่ไหลหล่อเลี้ยงชาวด่านซ้าย ขณะที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่กลับไปแล้ว ผมได้เห็นพิธีลอยเคราะห์ด้วยการทิ้งหุ่นผีตาโขนใหญ่ ๒ ตัว และหน้ากากผีตาโขนเล็ก ๑ หัว จนกว่าประเพณีบุญหลวงจะเวียนมาถึงอีกครั้งในปีหน้า จึงไปขออนุญาตท่านเจ้าพ่อกวนสร้างหุ่นผีตาโขนขึ้นมาใหม่
เสร็จพิธีแล้ว พ่อแก่แม่เฒ่าพากันกลับไปพักผ่อนเพราะแท้ที่จริงงานบุญหลวงยังไม่จบจนกว่าจะถึงตีสี่ของวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านจะพากันไปฟังเทศน์มหาชาติ ว่าด้วยพระเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ ต่อเนื่องไปจรดคํ่า ตามความเชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์ผลบุญขั้นสูง อันกล่าวได้ว่านี่คือหัวใจที่แท้ของประเพณีบุญหลวงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปร
แม้ว่านักท่องเที่ยวที่ตื่นเต้นนักหนากับบรรดาผีตาโขน จะเก็บกล้องขึ้นรถกลับกันไปหมดแล้วก็ตาม!
หัวผีตาโขนกลายเป็นงานศิลป์อันวิลิศมาหรา
เจ้าพ่อกวนในขบวนแห่บั้งไฟหุ่นผีตาโขนใหญ่ ต้องทำ ใหม่ทุกปีหมากกะแหล่ง…เครื่องดนตรีผีตาโขนพิธีทิ้งหุ่นผีตาโขน ใหญ่ในลำนํ้าหมันขบวนผีตามคน ในคติความเชื่อชาวด่านซ้ายลอยเคราะห์โศกโรคภัยไปกับหน้ากากผีตาโขน