พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา
ประจำคอลัมน์: หอมดอกผักกะแญง (ทางอีศานรายเดือน)
ประวัติย่อ:
พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เดิมชื่อ สงคราม จันทรุกขา
เกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2479 ที่บ้านดอนใหญ่ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี
เป็นบุตรนายสุขุม – นางแดง จันทรุกขา จบประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนอุบลวิทยากร อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอุบลวิทยากร (วัดมณีวนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สาขา ดนตรีศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี
ถ้อยคำจากครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา:
“…ผมเป็นลูกผูกสายอู่ของ คุณพ่อสุขุม คุณแม่แดง จันทรุกขา เป็นคนแรกที่ตั้งชื่อหัวแถวให้น้อง ๆ อีก 8 คนตามมาสืบต่อหน่อแนว “จันทรุกขา”
เดิมผมชื่อ สงคราม จันทรุกขา แม่บอกว่าตั้งชื่อดุให้ เพราะผมเกิดในระหว่างสงครามอินโดจีน แต่ก่อนที่จะได้ชื่อนี้พ่อตั้งใจให้ชื่อว่า “สมพงษ์” ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของแชมป์มวยแห่งยุค ที่มีนักมวยเอก 2 คน สมพงษ์แชมป์มวยสากล และสมานแชมป์มวยไทย
ส่วน “พงษ์ศักดิ์” ผมมาเปลี่ยนเอง ความหมายของชื่อคือ “ศักดิ์ศรีแห่งเผ่าพงษ์” หรือ “ศักดิ์ศรีแห่งตระกูล”
นอกจากผม นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา แล้วก็อยากแนะนำน้องที่เติบโตตามกันมาว่ามีใครบ้างลูกคนที่ ๒ รองจากผมคือ นายสมเกียรติ จันทรุกขา คนที่ 3 นายสมควร จันทรุกขา ตามด้วยน้องวนิดา จันทรุกขา คนต่อไป นางสุมาลัย นุยืนรัมย์ แต่งงานกับ นายปรีชา นุยืนรัมย์ ต่อแถวด้วย นางสุภาวดี สุขโท เปลี่ยนนามสกุลไปใช้ของ นายสำราญ สุขโท และน้องสาวคนสุดท้อง นางสุชาดา แม้นพิมพ์ จดทะเบียนสมรสกับ นายยุทธแม้นพิมพ์
สำหรับน้องสองคนที่เสียชีวิตไปแล้ว คือ เด็กชายสุชาติ (เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก) และ นายศักดา จันทรุกขา รวมเป็นทั้งหมด 9 คน
น้อง ๆ 6 คนที่มีชีวิตอยู่ทั้งหมดรับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ตามรอยของคุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นครูทั้งสองท่าน กระผมก็แวะไปเป็นครูโรงเรียนราษฎร์อยู่ 2 ปี…”
ข้อความจาก “ผักกะแญง แรกแย้ม ตอนที่ 1”
ทางอีศาน ฉบับที่ 10 ปีที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ 2556
คอลัมน์: หอมดอกผักกะแญง
อัตชีวประวัติ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา
ประสบการณ์ทำงานและผลงาน
โดย – วิชิต มีสวัสดิ์ komchadluek.net
ประสบการณ์ทำงาน เริ่มจากที่โรงเรียนอุบลวิทยากร พ.ศ.2498-2500 ประพันธ์เพลง ตั้งแต่ พ.ศ.2510ในนาม พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เคยเป็นนักพากย์ภาพยนตร์ในนาม “เทพสงคราม” ตั้งแต่ พ.ศ.2502-2512 นักเขียนบทละครวิทยุ เล่นละครวิทยุ ให้กับคณะมิตรมงคลของครูสวาศดิ์ ไชยนันท์ พ.ศ.2502นอกจากนี้ยังเคยสร้างภาพยนตร์ กำกับภาพยนตร์ และเขียนบทภาพยนตร์ เรื่อง “มนต์รักลำน้ำพอง” “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ “ เมื่อปี พ.ศ.2519-2523 กำกับภาพยนตร์และเขียนภาพยนตร์ เรื่อง “มนต์รักแม่น้ำมูล” “มนต์รักลูกทุ่ง”
ครูพงษ์ศักดิ์ยังเป็นนักโหราศาสตร์ (หมอดู) ในนาม“ธณวัฒน์” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2502-ปัจจุบัน และเคยนักแสดงภาพยนตร์ เรื่อง “ฟ้าสางที่ฝั่งโขง” ดำรงตำแหน่งประธานชมรม “ศรีเมืองใหม่รวมน้ำใจเอื้ออาทร”ผู้ก่อตั้ง “ลานบ้านลานธรรม” พ.ศ.2540
ครูพงษ์ศักดิ์ เป็นนักร้องเพลงธรรม ในนาม “เฒ่า ธุลีธรรม” และในพ.ศ.2540 ได้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดลำหมอลำซิ่ง ครูได้รับการยกย่องเป็น“ครูภูมิปัญญาไทย” รุ่นที่ 4 จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ปี พ.ศ.2548
การสร้างสรรค์ผลงาน ผลงานการประพันธ์เพลงที่ได้รับความนิยมระดับชาติ หลายเพลง เช่น สาละวันลำวง สาวชุมแพ ตะวันรอนที่หนองหาน รักร้าวหนาวรม ทุ่งรัก สาวอุบลรอรัก อีสานบ้านเฮา รอรักที่ต้นกระโดน ด่วน บ.ข.ส. ดอกจานบาน ฯลฯ ซึ่ง เพลงเหล่านี้ได้สร้างนักร้องโด่งดังระดับประเทศ เช่น ไพรวัลย์ ลูกเพชร ศรคีรี ศรีประจวบ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ สนธิ สมมาส ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นต้น
สำหรับเกียรติคุณที่ได้รับ ได้แก่ รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ประเภทผู้ประพันธ์เพลงยอดเยี่ยมเรื่อง “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” จากสมาคมภาพยนตร์ไทย รางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่น “กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย” จากเพลง “สาละวันรำวง” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่นส่งเสริมวัฒนธรรมไทย งานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งสืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย จากเพลง “สาละวันรำวง” ศิลปินดีเด่นสาขา ศิลปะการแสดง จังหวัดอุบลราชธานี ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรี (การแต่งเพลง)จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีและศิลปินมรดกอีสานจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย.
……………….
ในปี พ.ศ.2557 ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ด้านดนตรีไทยลูกทุ่งและประพันธ์เพลง
ผลงานชิ้นเอก ได้แก่ เพลงอีสานบ้านเฮา ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเพลงชาติอีสาน
เพลงดังในอดีต สาละวันรำวง สาวอุบลรอรัก ด่วน บ.ข.ส. ตะวันรอนที่หนองหาร ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ มนต์รักแม่น้ำมูล และอีกร่วม 700 เพลง
ปัจจุบัน:
เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันขณะนอนรักษาตัวในห้องผู้ป่วยหนักโรงพยาบาลศูนย์สรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ.2558 ในวัย 78 ปี
นิตยสารทางอีศาน ขอไว้อาลัย ขอให้ครูพงษ์ศักดิ์ ไปสู่สัมปรายภพคู่กับคนอีสานและทางอีศานตลอดไป