พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ ไม่ไป ไม่ผิด แต่น่าเสียดาย

อิสตรีรูปโฉมโนมพรรณดีปานใด ทว่าแต่งกายไร้รสนิยม ย่อมไม่ชวนชมฉันใด พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นงามล้ำเลอค่า แต่ไม่ใส่ใจศิลปะการนำเสนอ อันได้แก่กลวิธีจัดวางแย่ แถมเทคนิคการจัดแสงและเงาเข้าขั้นงานวัด ย่อมไม่ได้รับความสนใจ เพียงแค่เปิดให้เปลืองงบเล่นไปวัน ๆ เท่านั้น

แต่นั่นไม่ใช่ภาพลักษณ์ของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ ที่ผมได้ไปเห็นมา เพียงแค่แลดูรูปทรงสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร ก็ได้ใจ ชวนให้เข้าไปชมอย่างไม่ลังเลใจเลย เข้าไปแล้วก็ไม่ผิดหวัง เพราะนำเสนอความเป็นมาจากอดีตถึงปัจจุบันของสุรินทร์อย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่ใช่แค่เอาของเก่ามาวางกองให้ดูรก ๆ แล้วเข้าใจว่านั่นคือสิ่งที่เรียก “พิพิธภัณฑ์”


รูปทรงทันสมัยของอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ ได้ใจนักเดินทางให้ต้องแวะชม

ที่คนดูต้องตะลึงคือการจัดแสดงงานอย่างมีจุดเด่น เหมือนละครต้องมีพระเอก พระรองและตัวอิจฉา ดังนั้น ฉากจำลองซุ้มประตูทางเข้าสู่ปรางค์ประธานปราสาทศีขรภูมิ อันโดดเด่นด้วยทับหลังศิวนาฏราช ที่ผมยกให้เป็นทับหลังชิ้นงามติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ชิ้น ที่ชาตินี้เกิดมาแล้วพึงได้ดูให้เป็นบุญตา แม้ว่าเป็นแค่ฉากจำลอง แต่ก็คว้ารางวัลดารานำดีเด่นไปครองอย่างไม่มีข้อกังขา

ส่วนพระรอง ผมยกให้ บันแถลง หรือส่วนประดับมุมและด้านของชั้นหลังคาที่ลดหลั่น ตรงส่วนบนของปราสาทหินศิลปะเขมร ซึ่งเรียกแบบชาวบ้านว่า “กลีบขนุน” จะเข้าใจง่ายกว่า ที่พิพิธภัณฑ์นี้ทำให้ผมได้เห็น “กลีบขนุน” อย่างกระจะกระจ่างตา โดยมิพักต้องเงยหน้าให้เมื่อยคอ เหมือนตอนดูกลีบขนุนที่ประดับอยู่บนหลังคาปราสาท






(ซ้าย) บันแถลงหรือกลีบขนุน จำหลักภาพพระยมทรงกระบือ ศิลปะเขมรแบบนครวัด อายุราว ๙๐๐ ปี จากปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ สุรินทร์ (กลาง) บันแถลง จำหลักภาพพระวรุณทรงหงส์ ศิลปะเขมรแบบนครวัด อายุราว ๙๐๐ ปี จากปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ สุรินทร์ (ขวา) บันแถลง จำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ศิลปะเขมรแบบบายน อายุราว ๘๐๐ ปี จากปราสาทตาเมือนโต๊จ อำเภอพนมดงรัก สุรินทร์

ทับหลังจำหลักภาพพระนารายณ์ทรงสุบรรณ (ครุฑ) มีพวงอุบะและลายพรรณพฤกษาประดับอย่างวิจิตรตระการตา


ทับหลังจำหลักภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับช้างและคชสีห์ ศิลปะเขมรแบบนครวัด อายุราว ๙๐๐ ปี จากปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ สุรินทร์

อาทิ กลีบขนุนแกะเป็นภาพพระวรุณทรงหงส์ พระยมทรงกระบือแฝด และพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เป็นอาทิ แล้วไหนยังมีทับหลังภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับช้างและคชสีห์ ศิลปะเขมรแบบนครวัด อายุราว ๙๐๐ ปี กับทับหลังนารายณ์ทรงสุบรรณ (ครุฑ) ประดับพวงอุบะและลายพรรณพฤกษาอย่างวิจิตรตระการตาสุด ๆ บอกได้คำเดียวว่าเป็นบุญตาที่ได้มาเห็น

ตามเพดานทางเดินยังประดับปูนปั้นบัวแปดกลีบ สัญลักษณ์มงคลของทั้งชาวพุทธและฮินดู นัยว่าหมายถึงเครื่องป้องกันสิ่งอัปมงคลไม่ให้กรายกล้ำทั้งแปดทิศ และรับแต่สวัสดิมงคลจากทุกทิศทางนั่นเอง 

ผมมิหาญกล้าจะกล่าวคาถา ว่าใครไปสุรินทร์แล้วไม่ได้กิน…เอ้ย ไม่ได้ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ ถือว่าผิด แต่ผมอยากบอกเพียงว่า…น่าเสียดายเป็นที่สุดเท่านั้นครับ


แบบจำลองปราสาทศีขรภูมิอันอลังการ ด้วยทับหลังศิวนาฏราช อันเป็นที่เลื่องลือในความงาม


การจัดวางและการกำหนดแสงและเงา ก็มีส่วนสำคัญในการดึงดูดใจให้เข้าชม


เพดานประดับบัวแปดกลีบ สัญลักษณ์มงคลในคติพุทธและพราหมณ์

หมายเหตุ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ เลขที่ 214 หมู่ที่ 13 ถนนสุรินทร์-ปราสาท ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ 32000

โทร 0 4451 3358

E-mail : surinmuseum@yahoo.com

เวลาทำการ : วันพุธ-วันอาทิตย์ 9.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์-วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ค่าธรรมเนียม : เข้าชมฟรี

ช่วงเวลาแนะนำ : ตลอดทั้งปี

Related Posts

วัดหลวงปากเซ การประสมประเสที่น่าทึ่ง
เที่ยวจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม
งาน “สายธารวัฒนธรรมเพื่อชีวิต ลิขิตผ่านกาลเวลา ฯ” ทัวร์วัฒนธรรมอีศาน – เที่ยงวันที่ 30 ถึงงานคอนเสิร์ต
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com