พื้นเวียง วรรณกรรมต้องห้าม

คอลัมน์ : ในเครื่องแบบ

สมพงษ์ ประทุมทอง

นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๖


เผด็จการและพวกอำนาจนิยม ที่ไหน ๆ ก็เหมือนกัน ปิดหู ปิดตาประชาชนและบอกเป็นนัย ๆ ว่า พวกเขาคือความถูกต้องดีงาม หนึ่งในหลายวิธีที่นำมาใช้คือ การประกาศห้ามอ่านหนังสือตามที่เขากำหนด โดยตัวพวกเขาเองก็ไม่รู้ว่าเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้นเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของบ้านเมืองอย่างไร

ยกตัวอย่างหนังสือ สถาบัน ที่อาจารย์พงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร เป็นแกนนำในการจัดทำภายในเล่มเป็นเรื่องสงครามเวียดนาม

หนังสือวิชาการเรื่อง กลยุทธในการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศไทย ของอาจารย์นักวิชาการขนานแท้ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

ย้อนไปสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หนังสือกฎหมายไทย ที่ นายโหมด อมาตยกุล ลงทุนพิมพ์เผยแพร่ถูกริบไปทั้งที่ยังเข้าเล่มไม่เสร็จ

หนังสือนิราศหนองคาย ที่ นายทิม สุขยงค์ หรือหลวงพัฒนพงศ์ภักดี เขียนขึ้นในช่วงสงครามปราบฮ่อ ถูกสั่งเผา ผู้เขียนถูกเฆี่ยน ๕๐ ที จำคุกอีก ๘ เดือน

ทรัพย์ศาสตร์ หนังสือวิชาการด้านเศรษฐกิจยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ของ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุญนาค) ห้ามอ่าน เพราะทำให้เกิดความแตกแยก เพราะเขียนถึงความเลื่อมลํ้าทางฐานะของประชาชน

ในยุคสมัยที่ลาวและพื้นที่ภาคอีสาน ยังมีวัฒนธรรมเดียวกันไม่ว่าภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี การปกครอง การร้องรำทำเพลง การแต่งกาย อาหารการกินทุกอย่าง คือ ลาว

ต่อมาลาวและหัวเมืองในภาคอีสานถูกอำนาจส่วนกลางของสยามเข้าควบคุมในลักษณะประเทศราช ให้ส่งส่วยไปยังกรุงเทพฯ ตามที่กำหนดจนเมื่อเจ้าอนุวงศ์ ได้ปกครองกรุงเวียงจันทน์ มีอำนาจควบคุมถึงหลวงพระบางและจำปาศักดิ์ มีความคิดที่จะรวบรวมคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาไว้ที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองอื่น ๆ กลับคืนไป ประกอบกับเกิดแรงหนุนจากคนลาวในอีสานรู้สึกถูกกดขี่เอาเปรียบจากอำนาจที่กรุงเทพฯ

เหตุการณ์เรื่องราวในห่วงเวลานั้นได้มีการบันทึกเป็นบทกลอนลำ และใช้ร้องรำในงานต่าง ๆ ทั้งฝั่งลาวและอีสาน ที่รู้จักกันดีคือ ลำพื้นเวียง

พื้นเวียง หากพูดกันแบบภาษาชาวบ้านก็คือเรื่องราวของกรุงเวียงจันทน์ในยุคเจ้าอนุวงศ์ คนที่นินทากัน ภาษาอีสานเรียกว่า คนเว้าพื้นกัน

ลำ เป็นการแสดงที่ขับร้องเป็นทำนอง คนแสดงเรียกว่า หมอลำ เนื้อหาที่เป็นบท เป็นตอน เรียกว่ากลอนลำ มีลักษณะคล้ายๆ กับ ร่าย มีลำประเภทหนึ่งในภาคอีสานเรียกว่า ลำพื้น เป็นการแสดงของคน ๆ เดียวออกเสียงได้ทั้งหญิง – ชาย คนแก่และเด็ก ลำตั้งแต่หัวคํ่าจนดึก หรือสว่างแล้วแต่ความยาวของเรื่อง

คุณยายประสงค์ เหลาหา ผู้อนุรักษ์มรดกไทยอีสานดีเด่น สาขาศิลปะการแสดงหมอลำพื้น แห่งบ้านสาวะถี เมืองขอนแก่น ได้บันทึกไว้ว่า

“สมัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ลำพื้นคนเดียว เมื่อมีผู้หาว่าจ้างไปแสดงได้ค่าจ้างคืนละ ๓-๔ บาท สมัยนั้นยังไม่มีตะเกียงเจ้าพายุ ต้องใช้ขี้ไต้ทำจากไผ่ผุเป็นขุย ผสมนํ้ามันยาง ภาษาถิ่นเรียกว่ากะบอง จุดให้แสงสว่าง แสดงคนเดียว มีหมอแคนเป็นเพื่อน เป่าแคนเป็นดนตรีประกอบการแสดง มีเก้าอี้สองตัวสำหรับให้หมอแคนนั่ง และอีกตัวให้หมอลำนั่ง

ในเรื่องหนึ่ง ๆ นั่นจะมีตัวละครสักกี่ตัวก็ตาม ในเรื่องต้องแสดงให้หมดและต้องแสดงให้ได้ อาศัยใจถึง ใจกล้าหน้าด้าน ใช้ผ้าขาวม้าเป็นตัวกำหนดบทในการแสดง

ผ้าขาวม้าคล้องคอทิ้งชายไปด้านหลังเป็นตัวพ่อผ้าขาวม้าคาดเฉวียงบ่าเป็นแม่ และนางเอก โพกหัวเป็นนายพรานหรือโจร พาดบ่าเป็นชาวบ้าน เป็นคนแก่ ถ้าห่มก็จะเป็นพระเจ้าตา หรือพ่อฤาษี เป็นต้น”

ขออภัยที่พาท่านนอกเรื่องไปเล่าเรื่องหมอลำเสียเพลิน เรียกว่า กลอนลำพาไป

วรรณกรรมเรื่อง พื้นเวียง เป็นที่แพร่หลายทั้งลาวและลาวอีสาน ในลักษณะการลำพื้น แล้วไม่นานก็เลือนหายไป ทั้งนี้เพราะเมื่อครั้งอำนาจทางกรุงเทพฯ ขยายออกมา ได้ส่งเจ้านายออกมาดูแลควบคุมหัวเมืองอีสาน หลังสงครามเจ้าอนุวงศ์

วรรณกรรมเรื่องนี้ได้เขียนเล่าเหตุการณ์ไว้ในใบลานด้วยตัวอักษรภาษาพื้นเมืองอีสาน สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้นำมาเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ต่อมาได้นำออกมาศึกษาและแปลเป็นภาษาไทย เมื่อทราบเนื้อหาสาระชัดเจนแล้วว่า

เป็นการบันทึกเรื่องราวศึกเจ้าอนุวงศ์กับไทย ฝ่ายไทยรับไม่ได้กับเนื้อหาที่ไม่ตรงกับการบันทึกของนักประวัติศาสตร์ไทย พื้นเวียง จึงถูกนำไปเก็บไว้ในสุสานหนังสือเก่าที่หอสมุดแห่งชาติ แต่ก็มีการนำออกมาเผยแพร่เป็นครั้งคราว เช่น นายจารุบุตรเรืองสุวรรณ อดีตประธานรัฐสภาไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอีสานเคยนำมาเผยแพร่

ต่อมาอีกหลายปี อาจารย์ธวัช ปุณโณทก นักวิชาการโบราณคดีอีสานที่จากไปไม่นานนี้ ได้นำมาเผยแพร่ในการสัมมนาประวัติศาสตร์อีสาน ที่วิทยาลัยครูมหาสารคาม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ และตีพิมพ์เป็นเอกสารวิจัยเรื่อง พื้นเวียง : การศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมอีสาน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓

พื้นเวียง ในรูปเล่มที่นำมาประกอบเรื่องเป็นฉบับของ อาจารย์ประทีป ชุมพล ที่วิเคราะห์เนื้อหาโดยได้ต้นฉบับดั้งเดิมจากหอสมุดแห่งชาติมารวมไว้ส่วนผู้แต่งไม่ทราบว่าเป็นใคร คาดว่าคงเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ครั้งนั้น

เป็น ประทีป ชุมพล คนเดียวกับที่เขียนนิยายเรื่อง อูรัง ลาโวด ตำนานการต่อสู้ของชาวเลที่น่าอ่าน รวมทั้งเรื่องสั้น ผืนนํ้าและแผ่นดิน ที่ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ เบน แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์ด้านวรรณคดีของมหาวิทยาลัยคอลแนล บอกว่า เป็นเรื่องสั้นร่วมสมัยที่ดีและประทับใจเรื่องหนึ่ง

Related Posts

ผีใบ้หวย ?
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com