พ่อครูทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินเกียรติยศ โหวดเสียงทองเทวดา

พ่อครูทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินเกียรติยศ โหวดเสียงทองเทวดา

ภาพโดย นิติกร ทองกุล

ปีนี้ใครที่ผ่านเมืองร้อยเอ็ดไม่ว่าจะแวะ หรือผ่านบึงพลาญชัยใจกลางเมืองร้อยเอ็ด ทุกคนจะต้องตื่นตาตื่นใจกับหอโหวดชมเมืองร้อยเอ็ดที่ใหญ่โตงดงามและน่าทึ่ง ข้าพเจ้าเองนั้นเมื่อเห็นครั้งแรกก็ตื่นเต้นเป็นอย่างมาก และ ครุ่นคิดในใจว่าใครหนอช่างเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ให้โหวดเครื่องเป่าพื้นเมืองมาตั้งเด่นเป็นสง่าคู่เมืองร้อยเอ็ดแห่งนี้

ในฐานะที่เป็นนักข่าว นักคิด และนักเขียน ทำให้ข้าพเจ้ามุ่งมั่นที่จะตามหาเจ้าของแนวคิดที่ยิ่งใหญ่นี้มาบอกเล่าเรื่องราวก็เกิดขึ้นให้ใคร ๆ อีกหลายคนได้รับรู้ ยิ่งได้แรงบันดาลใจจากคุณปรีดา ข้าวบ่อ บรรณาธิการนิตยสารทางอีศาน ให้ทำตามแนวคิดก็ยิ่งทำให้ฝ่าฟันอุปสรรคฟ้าฝนที่ถล่มทลายอย่างหนักในปีนี้ จนได้เรื่องราวอันน่ารับรู้มาฝากกันว่าเจ้าของแนวคิดสร้างหอโหวดชมเมืองร้อยเอ็ดคือใคร

ขอนำพาท่านเดินทางไปบ้านหนองพอก… ท่านที่นั่งตรงหน้าข้าพเจ้าในวันนี้ก็คือ พ่อครูทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ปีนี้ท่านอายุ ๖๕ ปีเท่านั้น แต่ประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมามากมายยิ่งใหญ่ และทรงคุณค่ายิ่งนัก ทั้งแก่วงศ์ตระกูลและแก่แผ่นดินเกิด ท่านได้สร้างคุณงามความดีด้านศิลปะแห่งเสียงดนตรีพื้นบ้านจนลือเลื่องไปทั้งแผ่นดินไทย และต่างประเทศมากกว่า ๓๐ ประเทศ รวมทั้งรางวัลแห่งเกียรติคุณมากมายจนแทบจะไม่มีตู้เก็บ จึงไม่ต้องสงสัยว่าเหตุใดพ่อครูถึงได้มีรอยยิ้มและแววตาที่รื่นรมย์มีแต่ความสุขฉายออกมาจากแววตาตลอดเวลา

พ่อครูบอกเล่าอย่างกันเองว่าเป็นหนุ่ม ร้อยเอ็ดนี่แหละ เกิดที่บ้านหนองพอก ตำบลหนองพอก อำเภอหนองพอก ตั้งแต่จำความได้ ตอนหัวค่ำก็ได้ยินแต่เสียงโหวด เสียงพิณ เสียงแคน และเสียงโปงลาง

พ่อครูเล่าที่มาของโหวดว่าแต่เดิมเป็นของเล่นของเด็กเลี้ยงควาย ยังไม่ถูกเรียกเป็นเครื่องดนตรี ใช้เล่นในช่วงปลายฤดูฝนก่อนเกี่ยวข้าว เป่าเล่นเพื่อความสนุกขณะที่เลี้ยงควายตามทุ่งนา และใช้แกว่งหรือเหวี่ยงเพื่อฟังเสียง ด้วยการต่อหางโหวดให้ยาวแล้วใช้เชือกคล้องหัวกับหางโหวด แกว่งให้หวดรอบศีรษะด้วยความเร็วสูงจะเกิดเสียงดังว่า “แงว ๆ” ฟังแล้วเกิดเสียงไพเราะ เรียกการแกว่งโหวดชนิดนี้ว่า “การแงวโหวด” ลักษณะของโหวดสมัยโบราณยังไม่มีความสวยงาม

คนโบราณสมัยก่อนพุทธกาลมีความเชื่อว่า โหวดเกิดขึ้นมาหลายพันปีแล้ว ตามนิยายปรัมปราที่เล่าขานกันมา คนอีสานโบราณเชื่อกันว่า โหวดเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอให้ฝนหยุดตก ในที่นี้ก็หมายถึงพระยาแถนผู้ซึ่งประทานน้ำฝนให้ตกในเมืองมนุษย์ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งจะทำให้ความเสียหายกับผลิตผลได้ จึงเป็นผลให้ไม่เป็นที่นิยมเล่นโหวดในฤดูฝนเพราะกลัวฝนแล้ง

แต่น่าแปลกที่เครื่องดนตรีทั้งหมดนั้นคุณครูทรงศักดิ์ประทับใจโหวดมากที่สุด จนเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ สมัยนั้นกำลังเป็นหนุ่มน้อยก็ได้รับการฝึกฝนจากพ่อซึ่งเป็นนักดนตรีพื้นบ้าน พ่อสอนทุกอย่างให้พ่อครูจนครบครันทั้งโปงลางแคน พิณ ซึ่งพ่อครูก็เรียนรู้และซึมซับการเล่นเครื่องดนตรีทุกชิ้นได้หมด หากแต่ในใจในความรู้สึกของพ่อครูลึก ๆ นั้นรักโหวดที่สุด รักมากจนต้องหาทางคิดจะทำโหวดด้วยตนเองให้ได้ และหลังจากลองผิดลองถูกมานานพอสมควรพ่อครูก็ได้รู้ชัดแน่แก่ใจว่าไม้ที่ทำโหวดได้ดีและไพเราะที่สุดนั้นคือไม้อะไรและหาได้จากที่ไหน

ในสมัยนั้นโหวดมักทำจากไม้ไผ่ป่า ไม้ไผ่เชียงไพ ที่ขึ้นตามธรรมชาติ แต่พ่อครูรู้ว่าหากเอาไม้ไผ่เฮี้ยที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติเทือกเขา เช่น เทือกเขาภูพาน เทือกเขาจากประเทศลาว มาทำเป็นโหวดเสียงจะเพราะมาก แต่ที่ต้องเป็นไม้จากภูเขาเขียวของอำเภอหนองพอก เพราะไม้ไผ่เฮี้ยที่อยู่ในอำเภอหนอกพอกมีความพิเศษกว่าไม้ไผ่เฮี้ยจากที่อื่น ๆ กล่าวคือ ไม้มีลักษณะบางไม่หนา เหมาะแก่การเอามาทำโหวดจึงทำให้เสียงเพราะ มาก ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์มากทีเดียว ตอนนั้นพ่อครูกับเพื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกันก็พากันขึ้นไปหาไม้ไผ่เฮี้ยมาทำโหวดจนได้ โหวดที่มีเสียงไพเราะเล่นกับเครื่องเป่าเครื่องดีดชนิดใดก็ไพเราะจนมีแฟนติดตามมากมาย

ใน พ.ศ.๒๕๑๗ ตอนนั้นเป็นหนุ่มเต็มตัวแล้ว พ่อครูกับญาติพี่น้องก็รวมตัวกันตั้งวงดนตรีเล็ก ๆ รับงานทั่วไปในเขตหมู่บ้านตนเองและในอำเภอหนองพอก พ่อครูบอกว่าใช้ชื่อวงว่า โหวดเสียงทอง วงดนตรีของพ่อครูตอนนั้นโด่งดังมาก รับงานแทบทุกวันควบคู่ไปกับการทำโหวดให้ผู้ที่รักหลงใหลในเสียงเครื่องเป่าชิ้นนี้ตามโรงเรียนต่าง ๆ ก็ขอมาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ แก่เด็กรุ่นใหม่ ๆ ทำให้พ่อครูต้องปีนป่ายไปยังภูเขาเขียว เพื่อหาไม้ไผ่เฮี้ยมาทำโหวดแจกจ่ายให้ตามหน่วยงานต่าง ๆ แม้จะหายากจนขนาดต้องไหว้วานอาสาสมัครขึ้นภูเขาไปหาพ่อครูก็ต้องหามาให้ได้ เพราะไม้ไผ่เฮี้ยนำมาทำโหวดแล้วเสียงไพเราะมากนั่นเอง

หลังจาก พ.ศ.๒๕๑๗ เรื่อยมา วงดนตรีพื้นบ้านโหวดเสียงทองก็ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ และเป็นวงดนตรีประจำอำเภอหนองพอก ได้รับเชิญไปเล่นให้ความสุขความบันเทิงตามงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างอำเภอ รวมทั้งได้รับเชิญไปเล่นตามจังหวัดต่าง ๆ เรื่อยมา ที่พ่อครูภาคภูมิใจที่สุดก็ครั้งที่ทางจังหวัดเลือกให้เป็นตัวแทนไปเล่นที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ซึ่งความทรงจำนี้ประทับอยู่ในจิตในใจของพ่อครูชนิดมิลืมเลือน ตอนนั้นนอกจากจะภาคภูมิใจที่ได้ไปเล่นงานใหญ่แล้ว พ่อครูยังภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลแรกในชีวิตเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๐ นั่นคือรางวัล คนดี ศรีสังคม ของหน่วยงานใหญ่สถานีวิทยุ ๙๐๙ กองทัพภาคที่ ๒ สกลนคร พ่อครูบอกว่ารางวัลนี้มีความภาคภูมิใจมากเพราะถือว่าตนเองได้สร้างคุณงามความดีให้สังคมจริงโดยมิได้หวังผลตอบแทนแต่อย่างใด และในทุกวันนี้พ่อครูก็ยังคงเป็นจิตอาสาทำงานเพื่อสังคมอีกมากมายเลยทีเดียว ก็อย่างที่กราบเรียนท่านผู้อ่านแต่แรกว่ารางวัลเกียรติยศของพ่อครูนั้นมากมายจนไม่รู้จะเอาไปเก็บไว้ที่ไหน

ความยิ่งใหญ่ของพ่อครูนั้นมิใช่จะปรากฏแต่ที่บ้านเกิดตนเองก็หาไม่ หากผลงานของพ่อครูยังสืบสานไปทุกแห่งหนที่ดนตรีแห่งความไพเราะงดงามสอดแทรกไปทุกอณูของสังคมบทเพลงของศิลปินมากหน้าหลายตา ต่างมาพึ่งพาความไพเราะจากเสียงโหวดพ่อครูกันไม่ขาดหาย เสียงโหวดมากลายของพ่อครูลือลั่นไปทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ จนข้าพเจ้าต้องทบทวนครุ่นคิดอย่างอัศจรรย์ในหัวใจ

นึกคิดไม่ถึงเลยว่าตนเองจะได้มานั่งอยู่ตรงหน้าบุคคลที่นับว่าสุดยอดเหนือคนจริง ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในชีวิตท่านทำงานไม่มีวันหยุดเลย ทำเพื่อสังคมเสียเป็นส่วนมาก โดยที่คนในครอบครัวไม่เคยห้าม มีแต่สนับสนุน วันนี้ของพ่อครูยังทำหน้าที่ถ่ายทอดศิลปะดนตรีให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่ร้องขอเรียนเชิญให้ไปถ่ายทอดและสอนพิเศษทั้งที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถานศึกษาอื่น ๆ รวมทั้งได้รับเชิญไปเป็นกรรมการตัดสินการประกวดดนตรีพื้นเมืองต่าง ๆ หลายเวที

พ่อครูยังบอกด้วยว่า บรรดาลูกศิษย์ของพ่อครูนั้นมิใช่จะมีแต่ในอำเภอหนองพอกและในจังหวัดร้อยเอ็ดเท่านั้น หากแต่ยังมีอยู่ทั่วทุกภาค และในทุกปีจะมีวันครูที่พวกเขาพากันมาจัดงานไหว้ครูอย่างอบอุ่นและทั่วถึง แม้บางคนอยู่ที่ภาคใต้ยังเดินทางมา เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ลูกศิษย์คนนี้จะเดินทางมากราบไหว้พ่อครูทุกปี พร้อมศิลปินอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงในวงการเพลงลูกทุ่งหมอลำมากมาย เพราะพ่อครูได้เป่าโหวดประกอบเพลงให้ศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคนอาทิ ไมค์ ภิรมย์พร ศิริพร อำไพพงษ์ สิทธิพร สุนทรพจน์ ครูสลา คุณวุฒิ เทพพร เพชร อุบล ดาว บ้านดอน ฯลฯ นอกจากนั้นลูกศิษย์ของพ่อครูยังมีมากมายหลายระดับ มีทั้งนายธนาคาร ตำรวจ ครู ทหาร และระดับผู้อำนวยการสถาบันต่าง ๆ อีกด้วย เพราะอย่างนั้นในวันไหว้ครูของทุกปี บ้านของพ่อครูจึงมีแต่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาคับคั่ง เป็นสิ่งดีงามที่สร้างพลังแรงใจให้พ่อครูได้ขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านดนตรีพื้นเมือง ทั้งโหวด แคน พิณ โปงลาง ให้ดังเด่นเป็นวัฒนธรรมอันดีงามและเป็นศักดิ์ศรีของชาวอีสานสืบต่อไป

ซ้ายไปขวา ครูทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์, ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา, ครูสลา คุณวุฒิ, ครูดาวเวียง บุดนาโค จาก สปป.ลาว เมื่อครั้งร่วมแถลงข่าวชุด เพลงดังสองฝั่งโขง ของ ไมค์ ภิรมย์พร

ย้อนกลับมาถามถึงแนวคิดที่พ่อครูริเริ่มสร้างหอชมเมืองสัญลักษณ์สูงใหญ่โดดเด่นเป็นรูปร่างของ ‘โหวด’ ซึ่งเป็นความแปลกใหม่ เพราะในบางจังหวัดที่มีหอชมเมืองมักจะสร้าง เป็นหอนาฬิกาสวยงามตามสมัยนิยม พ่อครูบอกเล่าว่า แนวคิดนี้ได้มาจากการที่เดินทางไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมที่ต่างประเทศ ได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ มากมายเลยได้แนวคิดที่จะสร้างเอกลักษณ์อันเป็นอัตลักษณ์ของคนอีสานให้ยิ่งใหญ่ ตอนแรกก็เกริ่นกับคนรอบกายก่อนและ เมื่อมีแนวร่วมเห็นด้วยก็ค่อยขยายไปยังผู้หลัก ผู้ใหญ่ในจังหวัด และในที่สุดหลายท่านก็เห็นด้วย จึงได้เกิดหอชมเมืองร้อยเอ็ดเป็นรูปร่างอยู่กลางเมือง ณ เวลานี้

นอกจากจะสวยงามแล้วหอโหวดชมเมืองแห่งนี้ยังจะมีเพลงประกอบทุกชั่วโมงอีกด้วย พ่อครูบอกว่าท่านอัดเสียงโหวดไว้ทั้งหมด ๒๔ เสียง เพราะวันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมงในแต่ละชั่วโมง จะมีเสียงโหวดให้ได้ยินอย่างไพเราะหูด้วยดนตรีพื้นบ้านอีสาน มีเสียงโหวดที่บรรเลงให้ความไพเราะสะท้านใจ ฟังพ่อครูเล่าแล้วข้าพเจ้าก็อยากให้หอโหวดชมเมืองนั้นเสร็จเสียวันนี้พรุ่งนี้เลยทีเดียว จากวันนั้นถึงวันนี้ลูกชายพ่อใส แม่กองสี ประทุมสินธุ์ ที่เดินทางมาจากครอบครัว ชาวนาที่รักในเสียงดนตรีพื้นเมืองอีสาน ได้เดินทางมาถึงจุดหมายในชีวิตด้วยถนนสายเสียงดนตรีอันยาวไกล และประสบความสำเร็จบนจุดหมายที่เพียบพร้อมด้วยความสุขจากรางวัลแห่งความดี และจากแรงใจของครอบครัวที่มอบให้กันยาวนานมาถึงสามรุ่น รุ่นที่สามนั้นคือทายาททั้งสามคนของพ่อครู ที่เดินรอยตามพ่อครูทุกคนทั้งลูกชายและลูกสาวบุญธรรม เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง

ก่อนกลับจากบ้านดนตรีอันแสนอบอุ่น ข้าพเจ้าได้รับมอบโหวดอันน้อยจากพ่อครูมาหนึ่งดวง ข้าพเจ้ายินดีนัก กลับไปจะหัดเป่าโหวดให้ได้สักลาย จากสิบกว่าลายของลายโหวดที่พ่อครูได้เรียบเรียงนำมาเป่าและบรรเลงในวงโหวดเสียงทอง และใช้ลายโบราณเหล่านี้ถ่ายทอดแก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย อันได้แก่ ลายโปงลาง ลายเต้ยโขง ลายลมพัดพร้าว ลายลมพัดไผ่ ลายนกบินข้ามทุ่ง ลายลำตังหวาย ลายลำเพลิน ลายภูไท ลายคอนสวรรค์ ลายแม่ฮ่าง กล่อมลูก ลายสีพันดอน และลายสังข์ศิลป์ชัย ฯลฯ

ท่านผู้อ่านคิดว่าข้าพเจ้าจะเป่าได้สักลายไหมล่ะครับ…

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com