ฟรานซิส คริปส์ ชาวอังกฤษ หัวใจอีสาน

ฟรานซิส คริปส์ ชาวอังกฤษ หัวใจอีสาน

ทางอีศาน ฉบับที่ ๕ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๕๕
คอลัมน์: สัมภาษณ์
Column: Interview

ฟรานซิส คริปส์ ชาวอังกฤษ มาเมืองไทยครั้งแรกปี ๒๕๐๔ ในนามเยาวชนอาสาสมัครที่ออกทำงานนอกเครือจักรภพคณะแรก ขณะอายุเพียง ๑๘ ปี ไปสอนหนังสืออยู่วิทยาลัยครูมหาสารคาม ๑ ปี จากนั้นกลับไปศึกษาต่อด้านคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ช่วงปี ๒๕๐๙-๒๕๑๐ ได้กลับมาทำงานเก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่เมืองไทย และปี ๒๕๑๒ เข้ามาอีกครั้ง ทั้งยังได้รับเชิญให้แสดงปาฐกถา หัวข้อ ?เศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต? ณ สยามสมาคม กรุงเทพฯ

เมื่อสำเร็จการศึกษา ทำหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัย ทำงานวิจัยในหลายประเทศ แล้วตั้งบริษัทที่บ้านเกิด จากนั้นจึงย้ายมาอยู่ทางขึ้นที่ราบสูงภาคอีสาน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เพราะรักประเทศไทยและมีลูกค้าหลักอยู่ประเทศญี่ปุ่นการเดินทางไปมาสะดวก บุคลากรคนไทยสามารถสื่อสารสัมพันธ์กับชาวญี่ปุ่นได้ดี



ทางอีศาน : คิดอย่างไรกับการที่ประเทศอาเซียนจะเป็นประชาคมอาเซียน

ฟรานซิส คริปส์ : ผมไม่หวังอะไรกับอาเซียนถ้าดูเทียบกับยุโรป ข้อแรกคือยุโรปเขามีปัญหาอย่างไรสมัยก่อน จึงทำให้คนต้องย้อนกลับมาคิดใหม่ อันที่สอง ข้อสรุปหนึ่งในประสบการณ์ของยุโรปคือ ประเทศที่ระดับเศรษฐกิจไม่เท่ากัน และพื้นเพทางประวัติศาสตร์ก็ไม่เหมือนกัน ก็ยากที่จะเข้าเป็นชุมชนเดียวกันได้ เยอรมันก็คือเยอรมันเขาไม่รับยุโรปใต้ เขาไม่รับ มันคนละพวก

เวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย ไทย รักกัน… รักกันแค่ไหน ก็น้อยมาก ไม่ใช่ไม่มี แต่ในฐานะที่เขาเป็นต่างประเทศเขาชอบให้คนไปเที่ยวประเทศเขา คนยุโรปคนเยอรมันชอบไปเที่ยวอังกฤษ สนุกที่จะไปฮอลิเดย์ที่ฝรั่งเศส เขาชอบ ต่อไปคนไทยคงจะแห่ไปพม่าใช่ไหม แต่ไม่ไปอยู่ ถ้ามีโอกาสไปเที่ยวเวียดนามก็ไป คือไปดู แต่ไม่ใช่ไปเสียภาษีให้เขาไม่ได้ไปช่วยเขา แค่ไปดูเฉย ๆ มันสนุกสนานกันได้

ที่ยุโรป รายการทีวีมีคนจากหลายประเทศมาแข่งกัน ประกวดเพลงของทั่วยุโรปว่าเพลงจากประเทศไหนฮิตที่สุด สามสิบกว่าประเทศมาแข่งกัน มันเปิดทุกช่อง มีกีฬาฟุตบอล เขาก็เชียร์ประเทศของเขา พื้นฐานเขาเป็นชาตินิยม คือจุดที่แข็ง เพื่อสมานฉันท์ภายในชาติ

พวกผมไม่ชอบเรื่องชาตินิยม เพราะว่ามันเป็นเหตุให้เกิดสงคราม เรื่องชาติมันแรงมากในยุโรปเกิดสงครามกลางเมืองสองครั้ง (สงครามโลก) มันทำให้เศร้าโศกทั้งทวีป แย่มาก เขาก็เลยทำประชาคมยุโรปขึ้นมาเพื่อไม่ให้มีสงคราม คืออันนั้นคงสำเร็จ คงไม่มีสงครามระหว่างชาติในยุโรปอีกแล้ว แต่เขาไม่ได้รวมกองทัพ ไม่ได้รวมทูต ไม่ได้รวมรัฐสภา พรรคการเมืองเป็นพรรคระดับประเทศชาติ ชาตินิยมเรื่องอื่นยังรุนแรง คือ…โอเค ไม่มีชายแดนในระดับหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วแม้แต่เรื่องค้าขายมันก็เป็นชาตินิยม และการโยกย้ายของคนนั้นน้อยมาก ผมขึ้นไปเช็คที่ยุโรปเวลาเขาทำสำมะโนครัว คือเขาทำสถิติไว้ สำมะโนครัว ฟรานซิส คริปส์ เมื่ออายุ ๑๘ ปี สมัยมาเมืองไทยครั้งแรกแบบเป็นของจริง เขามีคำถามว่าคุณเกิดประเทศไหน เขาดูได้ชัดเจนเลย ประเทศในยุโรปเช่น อังกฤษ เยอรมัน ที่เคยไม่มีชายแดน กฎหมายอนุญาตให้คุณไปทำงานประเทศอื่นได้ แบบไม่มีข้อจำกัด แต่จริง ๆ แล้วจำนวนประชากรที่เกิดในประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ที่มาอาศัยอยู่ในประเทศเขาประมาณร้อยละสิบเท่านั้น น้อยมาก จำนวนคนที่โยกย้ายมาจากภายนอกยุโรปมีมากกว่าสองเท่า

ฉะนั้น คนอีสานจะไปหวังรวยจากการเป็นประชาคมอาเซียน มันไม่มีทาง ปัญหามันอยู่ที่เก่าคือความสัมพันธ์ระหว่างคนอีสานกับรัฐบาลกรุงเทพฯ ต้องให้อีสานสร้างอนาคตของเขาเองเดี๋ยวนี้ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ คือไม่มีใครจะไปวิ่งเต้นสร้างอนาคตที่อื่นได้ คนเวียดนามไม่สนใจความเป็นอยู่ของคนอีสานหรอก เขาสนใจประเทศเขา คนลาวฝั่งโน้นเขาก็จะทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศเขาก้าวหน้า เขาไม่ช่วยคนอีสาน รัฐบาลไทยจะไปแจกขนมให้ลาว ให้ทำไมเพราะมีภาระเยอะอยู่แล้ว ในที่สุดคนอีสานต้องหาอนาคตของตนเอง

แต่ก็มีแนวโน้มอันหนึ่งคือ เออร์แบนไนเซชั่น(Urbanization) คือต้องอยู่ในเมือง แต่อันที่จริงเมืองใหม่น่าจะมีการขยายตัวเร็วขึ้น คือขยายตามธรรมชาติ อย่างประชากรโคราชเพิ่มขึ้นเป็นแสน ๆ คน น่าจะขยายเมืองขึ้น คือยุคแรกมันเป็นกรุงเทพฯหมด กรุงเทพฯมันก็ยังคงจะเพิ่มบ้าง แต่นอกกรุงเทพฯมันเพิ่มมากกว่า อุดรฯ ขอนแก่น มีคอนโดฯ มีโรงงาน กิจกรรมพาณิชย์ มีคนจากข้างนอกขี่มอเตอร์ไซค์ข้ามมาทำงานที่เมืองทางอีสานแต่ไม่ใช่ว่าทั้งหมดจะไปทำงานในภาคอีสาน เป็นไปไม่ได้

การคิดว่าการพัฒนาที่เป็นอยู่ ได้ประโยชน์แต่ผู้ประกอบการ นายทุนนั้น เป็นการคิดระยะสั้น ๆ เพราะระบบที่เป็นอยู่ ใครที่มีทุน มีโอกาส เขาก็ต้องฉวยโอกาส ถ้ามองระยะยาวความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนชั้นต่าง ๆ มันขึ้นอยู่กับความเข้าใจของกลุ่มคน

ชาวบ้านหรือที่เราเคยเรียกว่า คนบ้านนอกสมัยที่ผมไปอยู่มหาสารคามตอนแรก จิตสำนึกของเขาคือเขาเป็นคนลาว เขาไม่ค่อยมีอะไรเกี่ยวข้องกับคนในเมืองที่เป็นคนไทยและเป็นคนจีน แต่เขาก็ถือว่ามีวิถีชีวิตของเขา แต่จิตสำนึกอย่างนั้นมันเปลี่ยนไปแล้ว

จิตสำนึกสภาพของคนอีสานปัจจุบัน เขาเป็นอย่างไร เขาอยู่กันอย่างไร ส่วนมากเขาเป็นกรรมกร ถ้าจะให้เขากลับไปอยู่เหมือนเมื่อก่อนเขาไม่กลับ เขาเป็นลูกหลานของคนรุ่นก่อน คนรุ่นใหม่ไม่ภูมิใจเท่าไรกับความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษเพราะมันมีปัญหามาก อย่างเช่นความแห้งแล้ง แล้งมาก น้ำประปาก็ไม่มี ไฟฟ้าก็ไม่มี คือหลายอย่างที่เป็นความสะดวกซึ่งคนสมัยก่อนไม่มี คนรุ่นใหม่ไม่อยากย้อนกลับไป

เขายังไม่ได้สำนึกว่าเขาเป็นพวกไหนในระบบสมัยใหม่ ที่จริงเขาเป็นกรรมกรอยู่ชลบุรี เป็นคนตัดอ้อย คือเมื่อก่อนถ้าเขาไม่อยู่บ้าน เขาต้องไปภาคอื่น แต่ตอนนี้เขาเริ่มเป็นกรรมกรที่ใกล้บ้านตัวเองมากขึ้น เจ็ดเปอร์เซ็นต์ของคนอีสานที่หารายได้

ด้วยอาศัยจุดเล็ก ๆ พอเพียง อยู่บ้านเลี้ยงตัวเองคือเขายังอยู่ในหมู่บ้าน ถ้าโชคดีหน่อยมีที่นาก็ทำนาอยู่ได้ เก็บปูเก็บผักกินบ้าง คือไลฟ์สไตล์สมัยใหม่เขาเป็นคนรับจ้าง การที่จะเปลี่ยนแนวความคิดมันอาจต้องใช้เวลากันหน่อย

ทางอีศาน : มีแง่คิดจากปัญหาในประชาคมยุโรปอย่างไร ?

ฟรานซิส คริปส์ : คนในยุโรปเขามีคำถามกันว่า ทำไมในยุโรปใต้ถึงมีปัญหามาก ยุโรปเหนือไม่ค่อยมีปัญหา คำตอบคือยุโรปใต้ไม่เคยมีเออร์แบนไนเซชั่น เขาเป็นคนบ้านนอก เคยอยู่แบบง่าย ๆ แต่ประเทศเขาพัฒนาเร็วมาก และรัฐบาลเข้ามา

แบบประชานิยม ที่ยุโรปประชานิยมเป็นแนวสังคมนิยม แต่สนับสนุนระบบทุนนิยมเต็มที่ เป็นประชานิยม มีของดีมาให้ มีโรงพยาบาล มีสวัสดิการมาให้ แต่เศรษฐกิจต้องเป็นทุนนิยมเต็มที่ เชิญต่างชาติมาหมด แต่เขาก็เชื่อ เพราะว่าเขาไม่มีพื้นที่ทางเศรษฐกิจ เหมือนกับโลกสมัยใหม่เข้ามาหาเขา พอมันมามันก็ไป เพราะรากไม่ลึกโรงงานที่มา มาได้ก็ไปได้ ไม่ใช่ธุรกิจของเขา คล้ายอยู่ในหอพักไปทำงานกี่ร้อยปีก็อยู่ในหอพัก ทุกคนพยายามทุ่มเทเพื่อให้ลูกได้มีความก้าวหน้า ทุกคนมีความฝันว่าลูกหลานเขาจะเป็นคนรวย แต่มีคนส่วนน้อยที่ได้เปรียบ คนส่วนใหญ่ไม่ได้เปรียบเลย

ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีเทศบาล อบต. อบจ. สร้างเมืองที่เราชอบ ซึ่งต้องใช้เวลา

เราต้องเชื่อว่ามันอยู่ที่เราซึ่งเป็นมนุษย์ จะต้องคิดและคุยกับเพื่อน และพยายามรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างสิ่งที่เราคิดว่าดี มีปัจจัยคือการรวมกลุ่มเป็นพวกเดียวกัน แต่ถ้ายอมเป็นขี้ข้าคนอื่นก็ลำบากเช่นขี้ข้า สส. ที่มาบอกว่าจะให้ของอย่างนั้นอย่างนี้

ในยุโรป เมื่อผมเป็นเด็ก ทุกคนต้องสู้ คือทุกคนต้องมีงานทำ มีเกียรติ และกฎหมายต้องคุ้มครอง

มันต้องมีสัญญาว่าจ้าง ไม่ใช่เป็นแรงงานเถื่อนตามสัญญาว่าจ้างนายจ้างมีหน้าที่หลายอย่าง ดูแลลูกจ้าง ถ้ามีลูก ต้องได้ลาหยุดไปดูแลลูกอ่อน มีกฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีในสถานะที่เป็นกรรมกร แต่ตอนนี้งานว่าจ้างมันเริ่มหายไป เศรษฐกิจของยุโรปไม่สามารถว่าจ้างได้อีกแล้ว เพราะโอโตเมชั่น (การใช้เรื่องจักรกลอัตโนมัติ) สูงมาก คือค่าว่าจ้างแพงหันมาใช้เครื่องยนต์ เพราะถูกกว่าใช้คน ทุกอย่างต้องโอโตเมชั่นหมด กระทั่งงานว่าจ้างมันน้อยลง

คนอีสานควรจะลุกขึ้นสู้ในฐานะที่เป็นกรรมกร เพื่อสิทธิของกรรมกร คือไม่อยากให้เป็นแรงงานเถื่อน อยากให้มีสัญญาว่าจ้าง อย่างคอนเซ็ปต์ของเทศบาลจะต้องมีทุกสถานที่ ไม่ใช่อนุมัติขอโดยไม่มีโรงเรียน ต้องมีครบวงจร ต้องมีวัด มีโรงเรียน มีสถานีอนามัย

ทางอีศาน : มองอนาคตของชาวนาอีสานอย่างไร ?

ฟรานซิส คริปส์ : เรื่องของชาวนา อนาคตคนที่เป็นชาวนาจะเป็นคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่มีอาชีพบริการ เรื่องนี้ทั่วโลกเหมือนกันหมด งานบริการมีหลากหลายมาก คนไทยน่าจะเก่งเรื่องการให้บริการ การบริการเรื่องกีฬา การแสดงอะไรทั้งหลาย การจัดร้านค้า การทำร้านอาหาร ทำให้สังคมมีรายได้ ตอนนี้สินค้าอุตสาหกรรมที่ออกจากโรงงานโดยการใช้แรงงานมีน้อย

ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรม ผลิตเพื่อการส่งออกอยู่แล้ว แต่ถ้าจะคิดเปอร์เซ็นต์ของประชากรที่จะได้เป็นกรรมกรในโรงงานจะน้อยสมัยก่อนประเทศเยอรมันมีกรรมกรในโรงงานมากแต่ตอนนี้คงจะเหลือน้อยเช่นกัน เพราะโรงงานมีเครื่องมือทันสมัยเข้ามา

เยอรมันยังมีคนที่มีฟาร์มเล็ก ๆ แต่ต้องมีอาชีพอื่นด้วย เขาก็รักฟาร์มเขา เขามีมอเตอร์ไซค์ขี่ขับบ้าง และก็มีคนทำนา เป็นนาเล็ก ๆ เป็นสวนเล็ก ๆ คนไทยก็มีคนใช้ชีวิตแบบนี้ กินข้าวปลูกเอง ปลูกผักกินเอง มันอร่อยกว่าไปซื้อข้างนอก

คนที่ทำฟาร์มเล็ก ๆ หรือเกษตรกรรายเล็กจะต่อสู้กับรายใหญ่ไม่ได้ ในที่สุดก็ค่อย ๆ หมดไป คือถ้าคนพอใจในรายได้แม้จะน้อย ทำเกษตรสิบไร่ก็อยู่ได้ แต่คนรุ่นใหม่รายจ่ายมาก ไปเที่ยวต่างประเทศ ไปทำอะไรต่อมิอะไร อันนี้มันเป็นกันทั่วโลก เกษตรกรรายใหญ่จะก้าวหน้ากว่ารายเล็กถ้าเหมาเครื่องจักรทำงานมาราธอนหนึ่งร้อยไร่จะคุ้มค่ากว่า รายเล็กเสียเปรียบสู้ไม่ได้ เวลาเก็บผลผลิตก็เหมือนกัน ไม่คุ้มค่ากับค่าแรงที่ลงไป

ยกตัวอย่างที่ใกล้ ๆ เขาอยู่อำเภอมวกเหล็กอยู่ใกล้โคราช เขาปลูกกล้วย ไม้ไผ่ ทำแบบพอเพียง แต่ว่าคนแถวนั้นเขาไม่ใช่อีสาน เขาเป็นคน ลพบุรี แก่งคอย คล้าย ๆ คนโคราช เขาอพยพมาอยู่ที่นั่นเมื่อห้าสิบปี เมื่อก่อนมันเป็นป่า แต่ว่าเขาคล้ายกับคนอีสาน คือพอทำงานเหนื่อยแล้วต้องกินเหล้า พอกินเหล้าก็อยากจะเล่น มีเถียงกันสนุกกัน (หัวเราะ) จะไปวัดกันหมด คือทำบุญด้วยกัน อยู่เป็นชุมชนจริง ๆ ทุกคนรู้จักกันหมด แต่ว่าส่วนมากยากจน เพราะหาเงินได้ยาก ทำงานได้เงินเท่าไรก็จ่ายเท่านั้น และเขาเลี้ยงวัวเป็นสินค้า

ทางอีศาน : ช่วยเล่าความรู้สึกตั้งแต่มาอยู่เมืองไทยครั้งแรก ?

ฟรานซิส คริปส์ : ความรู้สึกเมื่อมาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน คือชอบความเป็นไทยที่เป็นอยู่สมัยโน้น ยกย่องคนบ้านนอกที่ใช้ชีวิตแบบคนลาว มีฝีมือ ทำทุกอย่างในหมู่บ้านสร้างบ้านเอง ทำเครื่องมือเอง เลี้ยงควายไถนาเองประเพณีของเขาค่อนข้างจะครบ โลกภายนอกไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ เราก็เห็นเขาเก่งจริง ๆประเพณีเขาดี

แต่ตั้งแต่สมัยโน้นเราก็คิดแล้วว่าของเก่าคงไปไม่รอด คือรู้สึกแล้ว เพราะตั้งแต่สมัยโน้นเราเห็นว่าทุกคนที่อยู่ในบ้านนอกเขาอยากไปเห็นในเมืองคนที่เข้าไปในจังหวัดแล้วเขาก็อยากจะไปกรุงเทพฯ คนที่ไปกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งก็อยากไปอีกคือเขาอยากเห็นโลก เขารู้ว่ามีโลกอื่นภายนอกและไอ้การอยากรู้อยากเห็นจะพาให้เขาทิ้งวัฒนธรรมเก่า เพราะว่ามันคนละเรื่องกัน ชาวบ้านไม่พอใจบ้านนอก ชีวิตมันแคบ

สมัยโน้นทุกคนบอกว่าอนาคตคือพัฒนาหมู่บ้าน จึงมีเริ่มการพัฒนาชุมชนขึ้นมา หน้าที่ของพัฒนาชุมชุนคือเข้าไปอยู่กับชาวบ้าน แล้วให้คำปรึกษาชาวบ้านว่าทำอย่างไรจะให้หมู่บ้านพัฒนาซึ่งสมัยโน้นเราคงคิดว่าเป็นแนวคิดที่ถูก เราไม่เคยคิดว่ากรุงเทพฯจะเจริญ คือกรุงเทพฯ สมัยโน้นไม่ใหญ่โตเหมือนทุกวันนี้

หลังจากนั้นผมก็ไปอยู่ต่างประเทศ เพราะว่าการเดินทางนั้นยาก ประมาณสิบปีผมไม่ได้กลับเมืองไทย กลับมาประมาณปี ๒๕๒๕ โอ้โหกรุงเทพฯไปแล้ว เริ่มมีอาคารสูง เริ่มมีทางด่วน มันก็เป็นกรุงเทพฯสมัยนี้ กำลังจะเกิด กำลังจะงอกขึ้นมา มีสิ่งที่น่าแปลกใจมากเช่นเซ็นทรัลสีลมชิดลม มันเป็นห้างใหญ่ติดแอร์ เข้าไปเดินชมสินค้าได้ฟรี มีแอร์ คือเมื่อก่อนแอร์ต้องเช่ากัน คุณอาจไม่มีเงินแต่ก็เข้าได้เขาไม่ห้าม มีแอร์ เราก็เลยแปลกใจว่าเมืองไทยเปลี่ยนไปถึงไหนบ้างเราก็ไม่รู้และได้ข่าวว่าคนอีสานก็ต้องไปทั่วประเทศ ไม่มีใครพูดถึงการพัฒนาชุมชนเท่าไรนัก

หลังจากนั้นเป็นยุคมีโรงงานส่งออกอุตสาหกรรม พอเริ่มส่งออก สินค้าอุตสาหกรรมมันแซงสินค้าส่งออกทางเกษตร และบางคนกลัวเมืองไทยจะวิกฤติเรื่องส่งออกภาคเกษตร ไม่เป็นไร เพราะว่าอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่เยอะมาก และเราก็เชื่อว่าการพัฒนาประเทศคือพัฒนากรุงเทพฯ

เราก็ไม่รู้ว่าบ้านนอกมันน่าเป็นห่วง และเข้าใจว่าคนบ้านนอกอพยพมาสมัครรับจ้างอยู่กรุงเทพฯเพราะไปทุกถนนทุกซอยในกรุงเทพฯมีคนขายอาหารมาจากยโสธร มาจากจังหวัดนั้นจังหวัดนี้มาอาศัยอยู่กรุงเทพฯหมด ไม่กลับบ้านอีก มาหากิน มีคนอีสานอยู่ทำงาน และก็มีความหวังว่าต่างจังหวัดจะพัฒนาในทางที่ดีขึ้น แต่พอกลับไปดูมหาสารคามก็เศร้า มันไม่สวย เป็นเมืองที่เคยสวยมันเหมือนกับเป็นการสร้างแบบถูก ๆ ไม่เห็นมีอุตสาหกรรมใหม่ ไม่รู้ว่าเงินมาจากไหน แต่บ้านนอกก็ไปถางป่ามาทำไร่ ก็ดีนะ ดีกว่าไม่มีรายได้แต่มันดูเหมือนกับยังจนอยู่ มันไม่มีทิศทาง คือเมื่อ ๑๕ ปีก่อน หรือ ๑๐ ปีก่อน

ถึงตอนนี้ก็ไม่มีคำตอบ ไม่เห็นคำตอบ ฟังฝ่ายการเมืองเรื่องกระจายความเจริญก็เพียงแค่คำพูด แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีสิ่งที่เขาทำนะ ถ้าให้ผมออกเสียงผมสนับสนุนเต็มที่เรื่องไฟฟ้า ทำสะพาน ทำถนน แต่ระบบการศึกษาผมรู้สึกว่าแย่มาก แต่ก็หวังว่าเมื่อโรงเรียนโอนเข้า อบจ.จะดีกว่านั้น เพราะ อบจ.มันจะดีกว่ากระทรวงศึกษาธิการ

การปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าคุณอยากจะให้มีการกระจายอำนาจแบบที่ว่า ก็กระจายอำนาจไปที่อบจ.บ้าง เพราะ อบต.มันเล็ก ผมมีความรู้สึกว่าหากมีการกระจายอำนาจต้องกระจายไปที่ อบจ.ก่อน อบต.ไม่ค่อยมีความหมายอะไรมาก แต่ อบจ.นี้สำคัญมาก อบต.มันเล็ก ตกอยู่ในมือของนักการเมืองง่าย และมันไม่ใหญ่พอที่จะมาสร้างอะไรใหม่ น่าจะให้ความสำคัญกับ อบจ. และยกเลิกระบบผู้ว่าราชการจังหวัด มันล้าสมัย น่าจะมีแผนสร้างจังหวัดของตัวเอง ปัญหาคือหน่วยงานของรัฐส่วนกลางในจังหวัด ถ้าเป็น อบจ.เขาไม่ทำให้ เพราะยังคิดแบบยุครัชกาลที่ห้า แบบเซ็นทรัลไลเซชั่น รัฐมนตรีต้องเป็นคนสั่งการเอง

ข้าราชการในส่วนกลางมีอำนาจมาก และทุกคนวิ่งเต้นเพื่อให้ได้ตำแหน่งในราชการ ตำรวจที่อังกฤษขึ้นอยู่กับจังหวัด ตำแหน่งของตำรวจ จังหวัดเป็นคนตัดสิน ครูก็เหมือนกัน อย่างน้อย ๆ ในจังหวัดรู้ว่าครูคนไหนเป็นอย่างไร แต่ทุกวันนี้ครูเขาวิ่งเต้นที่เขตฯ

แต่อันนี้มันก็ขึ้นอยู่กับคนชั้นล่างว่าเขาอยากจะมีเทศบาล หรือ อบจ.ของเขาเองหรือไม่ ? มันควรจะให้แต่ละจังหวัดจัดการกันเอง มันควรจะเป็นของแต่ละจังหวัดที่จะมีรายได้ มันคงจะไม่ยากคือแบ่งงบประมาณตามจำนวนประชากรแต่ละจังหวัด แต่เขาก็ไม่แบ่งตามประชากร การแบ่งงบประมาณตามจังหวัดเมื่อก่อนแบ่งเท่ากัน แต่ละจังหวัดจำนวนประชากรไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นจังหวัดใหญ่ทางอีสาน อุดรฯ โคราช เทียบงบประมาณกับประชากรแล้วน้อยมาก อันนี้ไม่ถูก

ถามว่าตอนที่เข้ามาครั้งแรกเห็นความเป็นอยู่ประเพณี วัฒนธรรม การหาอยู่หากิน ในหมู่บ้านก็เกิดความประทับใจ สิ่งเหล่านี้ปัจจุบันคงไม่มีความหมายแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้ว เป็นความรู้เพื่อจะดำรงชีวิตแบบนั้น หมายความว่าความรู้ที่จะทำเครื่องมือ ความรู้ที่จะสร้างบ้านด้วยวัสดุสมัยโน้นความรู้ที่จะไปทำนา เก็บผัก เก็บอะไรในป่า ทุกวันนี้ความรู้เหล่านี้มีค่าน้อยลง ๆ เพราะโลกมันเปลี่ยนเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนหมด และภาษาก็หายไปด้วย คือภาษาก็เสื่อมไปเยอะ อันนี้เรื่องจริงเพราะไม่ได้สอนภาษาลาว

ผมแปลกใจมาก ผมนึกว่านักเขียนอีสานน่าจะต้องเขียนภาษาลาว มันไม่ใช่อีสาน ถ้าเป็นสมัยโน้นมันไม่ใช่ แม้คนไทยที่ไปอยู่ในวิทยาลัยครูก็ต้องเรียนภาษาลาว เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะคนรุ่นนั้นเขาใช้กัน ข้าราชการเขาก็พูดลาวกัน สมัยนี้ไม่แล้ว น้อยมากที่จะพูดลาว แม้ตอนนั่งพูดคุยเขาก็จะคุยกันเป็นภาษาลาว แม้ในวิทยาลัยครู ถ้าครูมาจากภาคอื่นก็ต้องรีบหาความรู้ ไม่งั้นจะเข้ากับใครไม่ได้

สื่อโทรทัศน์สมัยโน้นมันก็มี อย่างที่ขอนแก่น วันหนึ่งหลายชั่วโมงที่ออกหมอลำ คือภาษาไทยสมัยโน้นมันแบบเป็นของราชการ คนจีนในตลาดก็จะพูดจีนกัน และพูดลาวแบบสำเนียงจีน คนลาวก็ขำ ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องไปย้อนอดีต แต่ให้รู้ที่มาของเรา แต่ผมก็ชอบความคิดของคนยุคนั้นมากกว่าปัจจุบัน

ทางอีศาน : ภาระการงานในปัจจุบันมีอะไรบ้าง

ฟรานซิส คริปส์ : รายได้หลักผมยังทำข้อมูลให้กับธนาคารประเทศญี่ปุ่น ธุรกิจในเมืองไทยไม่ประสบความสำเร็จ งานน้อย มีการทำรายงานสังเคราะห์ข้อมูลให้โรงงานประมาณ ๓๐ แห่ง แล้วก็ทำงานทีม ๔ คน วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกให้สหประชาชาติ.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com