มงคลชีวิตที่หนองประจักษ์

เป็นที่ทราบกันดีว่า คุณภาพของสวนสาธารณะ บ่งบอกคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองนั้น ๆ สวนสาธารณะหนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นสวนคุณภาพในระดับเทียบเท่า หรือพูดได้ว่าดีกว่าสวนหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร

ผมชอบเกาะกลางบึงนํ้าที่ออกแบบให้มีสะพานเชื่อมระหว่างเกาะ มีสวนดอกไม้ สวนสุขภาพสนามเด็กเล่น แต่ที่สุดยอดคือเส้นทางเดิน วิ่ง และขี่จักรยานรอบบึงนํ้า ได้มาตรฐานยุโรปราวกับสวนสาธารณะริมทะเลสาบเจนีวาในสวิตเซอร์แลนด์ จนรู้สึกอิจฉาชาวเมืองอุดรธานี นึกถึง “พุทธวจนะ” บทที่ว่า…การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เป็น ๑ ในมงคล ๑๐๘ ประการ

ที่ชอบอีกอย่างหนึ่ง คือพอออกกำลังกายหรือเดินเล่นเสร็จตอนคํ่า แล้วออกจากสวนทางประตูทิศตะวันออก ฝั่งถนนเทศา ซึ่งเป็นที่ตั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุดรธานี มีบรรยากาศเป็น “ถนนคนเดิน” ที่เพียบพร้อมทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก ร้านขายปูนปั้นตุ๊กตาให้เด็กนั่งระบายสีแสดงฝีมือทางศิลปะ ไปจนกระทั่งร้านบริการนวดฝ่าเท้าเสร็จสรรพ

เดิมชาวบ้านเรียกบึงนํ้านี้ว่า “หนองนาเกลือ” เพิ่งมาเปลี่ยนเป็น “หนองประจักษ์” ใน พ.ศ.๒๕๓๐ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมข้าหลวงต่างพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ สำเร็จราชการมณฑลอุดร ระหว่าง พ.ศ.๒๔๓๖ – ๒๔๔๒

คำว่า “อุดร” แปลว่าทิศเหนือ แต่เขตการปกครองสมัยรัชกาลที่ ๕ หมายถึงจังหวัดแถบอีสานเหนือ ส่วนจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เรียก “มณฑลพายัพ” ซึ่งแปลว่าตะวันตกเฉียงเหนือ

ที่สำคัญคือทรงเป็นหนึ่งในแม่ทัพใหญ่ที่ไปปราบกบฏฮ่อในมณฑลลาวพวนจนสงบราบคาบโดยทรงตั้งกองบัญชาการที่บ้านหมากแข้ง จากนั้นจึงทรงพัฒนา “บ้านหมากแข้ง” ให้เจริญรุ่งเรืองเป็น “เมืองอุดรธานี” มาตราบจนวันนี้

พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอองค์ที่ ๒๕ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงประสูติวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๙ มีราษฎรนำทองคำก้อนใหญ่ ซึ่งขุดได้ที่ตำบลบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ มาทูลเกล้าฯถวาย ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ จึงพระราชทานนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่

ด้วยทรงถือว่าเป็นศุภนิมิตมงคลสำหรับพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ ซึ่งต่อมาทรงเป็นต้นราชสกุล “ทองใหญ่”

ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศกับนางแอนนาเลียวโนเว็น จนอ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้ดีทรงศึกษาวิชากฎหมายแล้วเข้ารับราชการเป็นนักเรียนศาลฎีกา ก่อนจะทรงเป็นกำลังสำคัญพระองค์หนึ่งในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ในการปกป้องพระราชอาณาเขตภาคอีสานของสยามประเทศ ในยุคที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกกำลังล่าเมืองขึ้น ขณะที่ทรงสร้างความก้าวหน้าหลายประการให้มณฑลอุดร ในระหว่างสำเร็จราชการมณฑลนี้

จึงนับเป็นสวัสดิมงคลกับชีวิตยิ่งนัก หากไปเยือนอุดรธานี แล้วมีเวลาได้ไปพักผ่อน สูดอากาศบริสุทธิ์ที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์แห่งนี้



Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com