มะละกา : จารึกผ่านรอยจำ น้ำตา และสายเลือด
แม้นมิอาจเดินทางไปสัมผัสอาณาเขตของโลกมลายูได้ทั้งหมด “มะละกา” ที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสกลับนับเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดสำคัญของความเป็นมลายู นอกจากเป็นหนึ่งในต้นธารการก่อเกิดของคำ “โลกมลายู” แล้ว ยังเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า ๖ ศตวรรษ เป็นจุดเริ่มต้นของประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน ต่อมาถูกคัดเลือกให้เป็นสถานที่ประกาศเอกราชของประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๐ (ค.ศ.๑๙๕๗)
ในเมืองมะละกา ข้าพเจ้ามักใช้เวลาเดินสัมผัสบรรยากาศเมืองด้วยอารมณ์สบาย ๆ ไม่เร่งรีบ เห็นฝรั่งต่างชาตินั่งอยู่บนรถสามล้อถีบซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองมะละกา ผ่านไปเป็นระยะ
“นี่ไง ๆ มะขามป้อม สัญลักษณ์ของเมืองมะละกา” ขณะเดินขึ้นพื้นต่างระดับของห้าง Mahkota Parade กลางเมือง แว่วเสียงหญิงสาวสวยภายใต้หมวกหลุบปิดครึ่งใบหน้า ผมยาวสยาย หยิบผลมะขามป้อมลูกกลมสีเขียวอ่อนขนาดกลาง ที่หล่นร่วงอยู่เกลื่อนกลาดใต้ต้นเขียวครึ้มด้วยใบแฉกเล็กเรียว ให้เพื่อนร่วมคณะชมด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ส่งยิ้มให้กันและกันแทบจะทันที พร้อมส่งคำทักทายเป็นภาษาไทย ต่อมาทราบว่าคณะคนไทยที่ได้พบเจอเดินทางมาจาก “ปัตตานี” จึงได้สนทนากันด้วยยินดี ด้วยนอกจากเป็นคนไทยด้วยกันแล้ว เราล้วนอาศัยอยู่ในดินแดนที่ถูกเรียกว่า “มลายูปัตตานี” ปลายสุดแผ่นดินด้ามขวานไทย
ขณะหนึ่งที่ข้าพเจ้าทอดตามองต้นมะขามป้อมรายเรียง พลันหวนกระหวัดนึกถึงจุดกำเนิดของมะละกา จุดกำเนิดของมลายู พร้อมกับเกิดเป็นปริศนาคำถามให้สงสัยย้อนกลับไปพิเคราะห์ตำนานทางประวัติศาสตร์
“รู้ไหมว่าจุดกำเนิดของชื่อเมืองมะละกาเหมือนกับจุดกำเนิดของเมืองปัตตานีอยู่อย่างหนึ่ง” เสียงหนึ่งแทรกมาจากกลุ่มคนไทยที่บังเอิญได้พบเจอและสนทนาด้วย ข้าพเจ้าไม่ทันตอบ เธอก็เฉลยคำตอบ “สิ่งที่เหมือนกันคือเรื่องกระจงไง”
ต้นมะขามป้อมที่ ห้าง Mahkota Parade ที่มาของชื่อ “มะละกา”
เรือสำเภาจำลองขนาดใหญ่ที่ถูกจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑ์การเดินเรือทะเล (Maritime Museum)
เรื่องเล่าย้อนหลังครั้งเจ้าชายปรเมศวร ทรงลี้ภัยการเมืองออกจากอาณาจักรมัชปาหิตบนเกาะชวาใน พ.ศ.๑๙๓๒ (ค.ศ.๑๓๘๙) ตัดสินใจเดินทางผ่านลำน้ำกว้างใหญ่ข้ามช่องแคบระหว่างเกาะสุมาตราและคาบสมุทรมลายูไปอยู่ที่เมืองตมาเซะก์ จากนั้นจึงอพยพขึ้นเหนือถึงบริเวณดินแดนปากแม่น้ำช่องแคบมะละกา ตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรมลายูและเกาะสุมาตรา ซึ่งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ นักเดินเรือที่มาแวะพักหลบมรสุมเรียกว่า พูเลา เบซาร์ (Palau Besar) แปลว่า เกาะใหญ่ ส่วนนักเดินเรือชาวจีนเรียกว่า ‘หวู่ซู’ (Wu Shu) หรือ ‘หวู่หวี่’ (Wu Yu) หมายถึง ดินแดนห้าเกาะ วันหนึ่งขณะเจ้าชายปรเมศวรทรงนั่งพักอยู่ใต้ต้นมะละการะหว่างการออกล่าสัตว์ ทันใดนั้นมีหมาป่าล่าเนื้อสองตัววิ่งไล่กระจงตัวหนึ่งออกมาจากป่าลึก แล้วมาหยุดต่อสู้กันตรงที่เจ้าชายนั่งพัก กระจงต่อสู้กับหมาป่าอย่างกล้าหาญ และสามารถเตะหมาป่าตัวหนึ่งตกน้ำไป เจ้าชายปรเมศวรเห็นดังนั้นก็ตะลึงในความห้าวหาญ และคิดว่าเป็นนิมิตหมายอันดี จึงตั้งชื่ออาณาจักรตามชื่อของต้นไม้ที่นั่งพักพิงว่า “มะละกา”
สำหรับอาณาจักรมลายูปัตตานี มีรากเหง้าความเป็นเมืองมาจาก “ลังกาสุกะ” รัฐเก่าแก่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๘ ลงมานับเนื่องสมัยศรีวิชัย มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่โกตามัฮฺลีฆัยซึ่งนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเชื่อว่าอยู่บริเวณอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีปัจจุบัน และปรากฏในเอกสารสมัยหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ กระทั่งประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ เมืองลังกาสุกะเสื่อมโทรมลง
พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม บอกเล่าเหตุการณ์ครั้งการตั้งเมืองปาตานีไว้ใน “ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมลายูปัตตานี : บริบททางประวัติศาสตร์’ (Hubungan Siam-Melayu dalam Aspek Sejarah)” ว่า ในตาริค ปาตานี โดย ซัยค์ฟากิฮฺ อาลี บอกว่า “ชื่อของปาตานีเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าซังจาญาวังสาซึ่งเป็นราชวงศ์ศรีวิชัย เมื่อได้ครอบครองลังกาสุกะสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๘ ก็ได้สร้างตำหนักขึ้นที่หมู่บ้านเปาะตานี จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า ปาตานี”
ตำนานปาตานีกล่าวถึงการตั้งเมืองปาตานีไว้อย่างพิสดาร กล่าวโดยสรุป เมื่อพญาตู กรุป มหายานา สิ้นพระชนม์ พระโอรสที่ชื่อว่า พญาตู อันตารา วังสา (หรือ อินทิราวังสา) ขึ้นครองราชย์แทน มีพระนามว่า พญาตูนักปา อินทิราวังสา วันหนึ่งพระองค์เสด็จประพาสป่าที่บริเวณชายหาดแห่งหนึ่ง ขณะนั่งพักผ่อนอยู่ในเพิงที่พักได้ยินเสียงสุนัขที่ส่งไปไล่ต้อนสัตว์ป่าเห่าขึ้น จึงเสด็จไปทางเสียงนั้น ครั้นสอบถามได้ความว่ามีกระจงขาวตัวหนึ่งวิ่งผ่านมา สุนัขก็ไล่ตามมาถึงบริเวณชายหาดแห่งนี้ กระจงขาวตัวนั้นก็หายไป คำว่า ที่กระจงหายไปที่ชายหาดแห่งนี้ เมื่อพูดเป็นภาษามลายูก็จะเป็น “Maka peladuk itu pun lenyaplah pada ini” (A. Teeuw D.K.Wyatt p.๗๐) คำว่า Pantai Ini (ปันตัย อีนี) จึงน่าจะแผลงมาเป็น “ปาตานี”
ปัตตานีไม่มีรูปกระจงปั้น !!
แต่ย่านจัตุรัสดัตช์สแควร์บนถนนลักษมานาใจกลางเมืองมะละกา สัญลักษณ์สำคัญการท่องเที่ยวมะละกาที่แวดล้อมด้วยอาคารและอิฐปูนปูถนนสีแดงสดแลเห็นเด่นชัด โดยเฉพาะโบสถ์คริสต์ปรากฏรูป “กระจงปั้นสีขาว” ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของเมืองมะละกา ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนด้านหน้าสวนหย่อมใกล้เสาน้ำพุหินอ่อน ชาวมะละกาสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกในพิธีฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ ๖๕ ปีของพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร (Queen Victoria Jubilee Fountain)
ใช้เวลานานพอควร ยืนทอดสายตาทัศนาภาพผู้คนมากมายที่พากันมารวมตัวกันอยู่ย่านจัตุรัสดัตช์สแควร์ในยามเย็น แรกที่ได้มาสัมผัสวิถีผู้คนในเมืองมะละกา ตั้งใจซึมซับบรรยากาศยุคเก่าผ่านซากอาคารและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ที่ถูกอนุรักษ์เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ศึกษา ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าใช้สองเท้าทอดน่องท่องเที่ยว เดินย่ำไปสู่ทิศเหนือของเมืองมะละกา ผ่านเปลวแดดยามบ่ายคล้อยเรื่อยมาจาก Mahkota Parade ผ่านถนนสายเล็กตัดกับถนน Merdeka เลี้ยวซ้ายมาชนกับถนน Quayside ด้านซ้ายมือเห็นแต่ไกลคือเสากระโดงเรือสำเภาขนาดใหญ่จำลองขึ้นตามแบบเรือฟลอราเดอลามาร์ (The Flora De La Mar) ของโปรตุเกส เทียบเท่าของจริง คือมีความยาว ๓๖ เมตร สูง ๓๔ เมตร กว้าง ๘ เมตร ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมะละกา เล่ากันว่า อัลบูเกิร์กใช้ขนทรัพย์สมบัติล้ำค่าจากพระราชวังสุลต่านมะละกา พร้อมหญิงสาวชาวมลายูนับสิบคนกลับประเทศเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๐๕๕ (ค.ศ.๑๕๑๒) แต่ออกจากฝั่งได้เพียง ๖ วันเรือก็ล่มบริเวณนอกชายฝั่งของเกาะสุมาตรา ทรัพย์สมบัติจมลงสู่ใต้พื้นมหาสมุทร ทำให้ชาวมลายูบางกลุ่มเชื่อว่า เป็นเพราะคำสาปของชาวมลายูที่เคียดแค้นต่อนักล่าอาณานิคมเช่นโปรตุเกส
ภายในเรือสำเภาจำลองขนาดใหญ่ที่ถูกจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑ์การเดินเรือทะเล (Maritime Museum) มีเรื่องราวน่าสนใจสำหรับผู้สนใจเรื่องตำนานการเดินเรือ ด้วยมีการแสดงอุปกรณ์การเดินเรือแบบของจริง พร้อมวิถีชีวิตของกะลาสีเรือให้ศึกษาเรียนรู้ มีห้องนิทรรศการแสดงความสำคัญของช่องแคบมะละกาในฐานะเส้นทางเดินเรือสำคัญในภูมิภาค รวมถึงแบบจำลองเรือสำเภาชาติต่าง ๆ ที่ติดต่อทำการค้าขายกับมะละกา
เสร็จจากการเยี่ยมชมบรรยากาศย่านจัตุรัสดัตช์สแควร์ ตัดสินใจเดินกลับอีกทางผ่านถนน Kota ในย่านนี้มีจุดน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และชนชาติประจำเมืองมะละกา พิพิธภัณฑ์พรรคอัมโนแห่งรัฐมะละกา พิพิธภัณฑ์ศาสนาอิสลามแห่งมะละกา โบสถ์เซนต์ปอล พระราชวังสุลต่านมะละกา ป้อมประตูซานติเอโก และตึกอนุสรณ์ประเทศเอกราช แต่ด้วยเวลาจำกัดและความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง จึงได้เพียงแวะชมร่องรอยกำแพงโบราณ Kota Melaka (The Malacca Fort)
รูป “กระจงปั้นสีขาว” หน้าโบสถ์คริสต์ทัศนียภาพย่านจัตุรัสดัตช์สแควร์บนถนนลักษมานาใจกลางเมืองมะละกา
อาหารมื้อเย็นในเมืองมะละกาคือ เมนูยอดนิยม “ข้าวมันไก่ก้อนกลมสูตรไหหลำ” ตามด้วย “เซนดอล” (Cendol) น้ำแข็งใสใส่เส้นคล้ายลอดช่องสิงคโปร์ เสริมด้วยลูกบัว ถั่วแดง เฉาก๊วย ราดด้วยน้ำตาลทรายแดงรสเข้มข้น แก้กระหายน้ำในอากาศแล้งร้อนได้ดีนัก จากร้านข้าวมันไก่ฟาโมซา (Restoran Famasa Chicken Rice Ball) บนถนนยองเกอร์ย่านเมืองเก่ามะละกา เพียงเดินข้ามสะพานตันกิมเส็ง (Tan Kim Seng) ทอดข้ามแม่น้ำมะละกา เชื่อมจากจัตุรัสดัตช์สแควร์สู่ย่านเมืองเก่าอันมากเสน่ห์
ว่าไปแล้วย่านนี้มีหลายร้านให้ชวนชิมสารพัดเมนู ไม่ว่าจะเป็นเมนูสไตล์จีน อาทิ ติ่มซำ ขนมจีบ ซาลาเปา ฮะเก๋า เปาะเปี๊ยะ บะหมี่เกี๊ยวแบบกวางตุ้ง ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาทรงเครื่อง ฯลฯ หากเป็นอาหารอินเดียหรือร้านมุสลิมมาเลย์ มีโรตีแกงเนื้อ เนื้อสะเต๊ะ หรือแกงกะหรี่ไก่เป็นเมนูเด็ด ส่วนเมนูแบบฝรั่งมีสลัดพิซซ่าแบบอิตาเลียน คาเฟ่หรูสไตล์เทรนดี ร้านเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นของชาวจีนบ้าบ๋าและย่าหยา (Baba&Nyonya) ใช้อาคารพาณิชย์ศิลปะแบบชิโน-โปรตุกีสที่มีอายุยืนยาวมาไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี ปรับปรุงดัดแปลงใหม่เป็นร้านค้าที่พักจนดูสวยโดดเด่นสะดุดตา บางอาคารสีสันสุดจัดจ้าน ตั้งกระจายเรียงรายอยู่ทั่วไปในเขตเมืองเก่า
โดยเฉพาะสองฟากฝั่งถนนวัฒนธรรมสามสาย คือ สายแรก ถนนตนตันเชงล็อก (Tun tan Cheng Lock) หรือถนนฮีรีน (Hareen Street) เส้นที่สอง ถนนฮังเจบัต (Hang Jebat) ซึ่งชาวจีนในมะละกาเรียกว่า “ถนนเล้าไก่” สมัยชาวดัตช์ปกครองมะละกาเรียกชื่อถนนสายนี้ว่า “ถนนผู้รับใช้” หรือ ยองเกอร์สตรีท (Jonker Street) ปัจจุบันกลายเป็นชื่อถนนสายวัตถุโบราณ (Antique Street) และสุดท้ายคือถนนโตกง (Tokong) หรือ Temple Street ชาวจีนในมะละกาเรียกว่า “ถนนเจ้าแม่กวนอิม” เพราะเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าเช็งฮุนเต็ง ซึ่งว่ากันว่าเป็นสถานที่ประทับขององค์เจ้าแม่กวนอิมเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในคาบสมุทรมลายู
การมาถึงของวัฒนธรรมจีนผ่านเมนู “ข้าวมันไก่ก้อนกลมสูตรไหหลำ”ภาพวาดลายเส้นสะท้อนวิถีมะละกาย่านหนึ่งในมะละกาแสดงถึงความเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมมลายู