มาเยอ ปู่เยอ ย่าเยอ
วันขึ้นปีใหม่ หลวงพระบาง ภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ (ขอบคุณภาพจาก สหวิชา ดอท คอม)
“เยอ”
ดร. ปรีชา พิณทอง อธิบายว่า (สารานุกรมภาษา อีสาน – ไทย – อังกฤษ หน้า ๖๔๑)
“เยอ (วิเศษณ์) เป็นคำกริยาช่วย เชิญชวนให้มากินด้วยกัน อย่างว่า มาเยอหล้ามากินต้มไก่หัวสิงไคใส่พร้อมหมากนาวน้อยใส่นำ จํ้าแล้วจํ้าจํ้านํ่าบ่มีถอย อย่าหวังอย่าคอยว่าอี่นางชิมีชู (คำกลอน)”
“เย่อ (วิเศษณ์) ใหญ่โต บุหรี่มวนโต เรียกกอกยาเย่อ กอกยาเดอะ ก็ว่า”
“วัดจะนานุกมพาสาลาว สะถาบันวิทะยาสาดสังคมแห่งชาด ๒๐๑๒” หน้า ๗๙๔ เยอ ใช้ ย-หางยาว
หมายความว่า
“เยอ (คำช่วยกริยา) คำเสริมท้ายคำกรรมใดหนึ่งสำหรับบอกคำเรียกร้องชักชวน เช่น ไปเยอ, มาเยอ, กินเสียเยอ ; ลักษณะที่เป็นคำสั่ง เช่น กินเยอ ! นอนเยอ ! ไปเยอ ! เร็ด (เฮ็ด) เยอ ! มาเยอ ! เช่า (หยุด) เยอ ! ย่า (อย่า) เร็ด (เฮ็ด) อีกเยอ !”
“วัดจะนานุกม พาสาลาว ดร. ทองคำ อ่อนมะนีสอน” หน้า ๖๖๕ อธิบายว่า
“เยอ (คำอุทาน) เป็นคำต่อท้ายคำกริยาบอกความประสงค์ ดั่ง กินเยอ ! นอนเยอ ! เป็นต้น”
คำ “เยอ” นี้ ในภาษาพูดจริง ๆ จะใช้กันมากเพียงใด นักสำรวจภาคสนามเท่านั้นที่จะตอบได้ แต่ส่วนตัวข้าพเจ้านั้นสังเกตว่าใช้มากในคำสู่ขวัญตอนที่อัญเชิญ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” หรือเชิญ “ขวัญข้าว” คือใช้กับสิ่งที่เคารพ
ยา หมายถึง ใหญ่, ยิ่งใหญ่
ข้าพเจ้าคิดว่า เยอ ก็มีความหมายว่า ใหญ่ เช่นกัน เสียง “ใหญ่” สระ – ใอ ไม้ม้วน บ่งบอกว่าเป็นเสียง ผสม ไอ – เออ อย่างที่ ชาวไทเหนือ, ไทมาว ออกเสียงคำว่า “ใต้” เป็น “เต้อ – เต๋อ”
พจนานุกรมราชบัณฑิต ก็ให้ความหมายว่าใหญ่
“เยอ ๑ (ถิ่น) ว. ใหญ่ เช่น ผาเยอ.ก. ยกย่อง ชมเชย.”
ยกตัวอย่างโคลงท้าวฮุ่งขุนเจือง
๏ หนักหนิ่น เนื้อน้อยอ่อน ขวันหัว มาเยอ
ทังแขนกลมไหลขวา แขนเจ้า
แอวองอ้วนเลางาม ขวันพระเนต ก็มา
ยืนหยู่หมั้นไนย้าว หมื่นปี แม่ถ้อน ๏
ทางหลวงพระบางมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องแห่แหนกันในช่วงสงกรานต์คือ “ปู่เยอ ย่าเยอ”
มีตำนานเล่าว่า
“ตำนานเกี่ยวกับปู่เยอย่าเยอ กล่าวว่านานมาแล้ว ณ เมืองแถน ได้มีเครือเขากาดยักษ์เครือหนึ่ง ขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นฟ้า ปกคลุมลงมาบนพื้นดินทำให้บดบังแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ทั้งหมด ทำให้บ้านเมืองมืดมิด มืดมัวและหนาวเย็น ประชาชนเดือดร้อน ทำมาหากินไม่ได้ ขุนบูลม (หรือขุนบรม ในภาษาไทย) ผู้เป็นเจ้าเมืองได้เรียกเหล่ามหาเสนาอำมาตย์มาปรึกษาหารือกันว่า จะทำอย่างไรดี จึงจะตัดเครือเขากาดยักษ์นี้ลงมาได้ จึงให้ทหารป่าวประกาศให้รางวัลแก่ผู้ที่สามารถตัดเครือเขากาดยักษ์นี้ลง ได้มีผู้อาสาเป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะตัดเครือเขากาดยักษ์นี้ให้ขาดลงมาได้
ต่อมาได้มีสองเฒ่า ผัวเมีย ชื่อว่าปู่เยอและย่าเยอ ได้เข้ามาขออาสาไปตัดเครือเขากาดยักษ์นั้น ขุนบูลม จึงถามว่าหากสามารถตัดเครือเขากาดยักษ์ได้แล้ว ต้องการสิ่งของรางวัลอะไรบ้างเฒ่าทั้งสองตอบว่าไม่ขอรับของรางวัลทั้งสิ้น ขอแต่เพียงว่า ถ้าหากทั้งสองคนได้ตายไปแล้ว ขอให้ประชาชนทุกคนอย่าลืมชื่อของพวกเขาทั้งสองคน และขอให้ทุกคนเคารพสักการบูชาด้วย ขุนบูลมก็รับปาก
เฒ่าทั้งสองก็มุ่งหน้าถือขวานขนาดใหญ่เดินทางไปยังโคนต้นเครือเขากาดยักษ์ทันที และลงมือตัดทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลา ๓ เดือนกับอีก ๓ วัน ก็สามารถตัดเครือเขากาดยักษ์นั้นลงมาได้ แต่เครือเขากาดยักษ์นั้นใหญ่มาก
เมื่อขาดแล้วจึงได้ล้มลงมาทับเฒ่าทั้งสองตายในทันที ความมืดมิดก็หายไป แสงสว่างก็กับมาสู่ผืนแผ่นดินอีกครั้ง ไพร่ฟ้าประชาชนก็ทำมาหากินได้ตามปกติ พระยาขุนบูลมพร้อมด้วยไพร่ฟ้าประชาชน ก็ได้นับถือสักการะปู่เยอ ย่าเยอ นับแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของปู่เยอและย่าเยอ
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชนชาติลาวพวน ก็ได้ทำรูปสัญลักษณ์แทนตัวของผู้เฒ่าทั้งสองไว้ให้เป็นที่สักการะ นับถือ สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ลูกหลานชาวลาวได้มีการแต่งเป็นโขนเล่าเรื่องราวของปู่เยอย่าเยอนี้ ซึ่งจะมีการแสดงตามพิธีงานบุญต่าง ๆ เช่น ในงานบุญปีใหม่ งานบุญธาตุหลวง การสรงนํ้าพระบาง และงานพิธีต่าง ๆ โดยจัดให้มีพิธีการกราบไหว้ สักการะและถวายเครื่องทานแก่ปู่เยอย่าเยอ ตามงานพิธีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นตามฮีตคอง (จารีต ธรรมเนียม) ประเพณีในโอกาสต่าง ๆ นี้จะมีการแต่งกายเป็นรูปของปู่เยอย่าเยอออกมา ฟ้อนรำ สร้างความสนุกสนานและเพื่อเป็นการเพิ่มความสมบูรณ์พูนสุขให้แก่ลูกหลานด้วย”
ขอบคุณที่มา : http://www.eastasiawatch.in.th/article.php id=815 , https://goo.gl/UTLtsJ
วัฒนธรรมหน้ากากเกี่ยวพันกับการปลูกข้าว ภาพระบำ หน้ากากของชาวนา แถบลุ่มแม่นํ้าเซียง มณฑลหูหนาน (ถิ่นหนึ่งของชาวไป่เยวี่ย)
เรื่องปู่เยอย่าเยอยังมีอีกตำนานหนึ่ง แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องที่ดัดแปลงไปภายหลังจากที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดียแล้ว
“มีนิทานเกี่ยวกับปู่ย่าเยอ เรื่องมีอยู่ว่าในสมัยก่อนคนกับผีอยู่ปะปนกัน มีเขตแดน ๒ เขต คือ เขตบกและเขตนํ้า เขตบกมีสิงคะโลก (สิงโต) มีอิทธิพล เขตนํ้ามีช้าง คล้าย ๆ กับหมู (ตรงนี้พิกล ไม่ทราบว่าข้าพเจ้าจะฟังผิดหรือไม่
จริง ๆ แล้วช้างกับหมู่ก็ปน ๆ กันอยู่ปีนักษัตร ที่เราว่าปีกุนหมูนั้น บางวัฒนธรรมเขาว่าปีช้าง) ร้ายกาจที่สุด กินคน ร้อนถึงพระอินทร์ต้องส่งคนมาปราบ คนนั้นเป็นฤ ๅษีชื่อเรียกกันว่าปู่เฒ่าเจ้าหลวง อยู่บริเวณพูซวง แต่มีข้อแม้ว่าถ้าปราบสัตว์ได้ คนปราบก็ต้องตายเหมือนกัน แต่ก่อนจะตายได้อธิษฐานว่าขอให้ประชาชนคิดฮอดคิดถึงจึงได้เกิดเป็นปู่เยอ ย่าเยอ”
(http://www.csr.chula.ac.th/60year-1/th-18/3724-pu-ye-ya-yoe.html)
มีหลายคนสงสัยความหมายของ “เครือเขากาด”
ลองค้นดู พบคำอิบายที่ดีมากใน http://www.lookforest.com/00_newlook/article_person.php?id_send=265
ท่านอธิบายว่า “เขา” แปลว่า ใหญ่ “กาด” แปลว่า พาด ขวาง โดยอ้างอิงวรรณคดี “พญาคันคาก” ปริวรรตโดย อ.นิพล สายศรี สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ม.มหาสารคาม
๏ อันว่า เครือเขาเกี้ยว พาเครือเขากาด
เลยเล่าเกี้ยว กันขึ้นฮอดแถน
ก็เพราะ เครือเขานั้น เป็นดินฝังฮาก
เครือใหญ่เกี้ยว กันขึ้นโยชน์ยาว ๏
สำหรับการแต่งกายของ “ปู่เยอ ย่าเยอ” หลวงพระบางนั้น ยังอธิบายกันไม่ชัดเจนแต่มีประเด็นที่นักค้นคว้าควรใส่ใจคือ เรื่อง “วัฒนธรรมหน้ากาก”
มนุษย์ดึกดำบรรพ์ล้วนมีคติความเชื่อเกี่ยวกับหน้ากาก สำหรับวัฒนธรรมไป่เยวี่ยซึ่งเป็นต้นเค้าของการปลูกข้าวนั้น ดึกดำบรรพ์มีพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวที่แม่มดหมอผีต้องสวมหน้ากาก
ปัจจุบันชนกลุ่มไท-กะได ที่ยังเหลือร่องรอยวัฒนธรรมหน้ากากอยู่มากหน่อยคือ “ชนชาติผู้ญัย” (“ปู้อี”) ในมณฑลกุ้ยโจว ในขณะที่ชาวจ้วงในกวางสีไม่หลงเหลือวัฒนธรรมหน้ากากเลย
เสียง ญัย – เญอ ใกล้กัน หน่วยปกครองโบราณของชาวผู้ยัยเรียกว่า “ควน – กวน” ทำให้นึกถึง “หมอผี – เจ้ากวน” ผีตาโขน