“มา นา เด้อ” : ร้านกาแฟเทรนใหม่ชานเมืองดอกบัว*
* ผู้เขียนขอขอบพระคุณทางร้านที่ยินดีให้เผยแพร่ข้อมูล และขอบคุณลูกศิษย์ทุกคนที่มอบภาพประกอบสำหรับบทความนี้รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม
หลายคนรู้สึกดี ๆ เมื่อได้เริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยกาแฟหอมกรุ่นสักแก้ว หลายคนคงเสพติดคาเฟอีนผ่านเครื่องดื่มชนิดนี้อย่างเต็มอกเต็มใจหลายคนหลงใหลแค่เพียงบรรยากาศในร้านกาแฟ ยามเมื่อออกเดินทางไปไหน จุดแวะพักยืดเส้นยืดสาย ชาร์จแบ็ต เล่นโทรศัพท์ อัพรูปเล่นไลน์ เช็คเมล ฯลฯ ก็มักไม่พ้นร้านกาแฟ ถึงได้มีบางคนบอกว่า “กาแฟ” เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันคนยุคนี้เป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนกาแฟไปแล้ว
ในอดีตการดื่มกาแฟในสังคมไทยถือเป็นวฒั นธรรมเฉพาะของกล่มุ ชนชนั้ สงู กอ่ นจะแพร่ขยายลงสู่ชนชั้นกลางและประชาชนทั่วไปในเวลาต่อมา ดังจะเห็นว่ามีร้านกาแฟเล็ก ๆ ปรากฏตัวขึ้นทั่วไปในบริเวณชุมชนและย่านตลาดต่าง ๆ การมานั่งดื่มกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์กินขนมปังปิ้ง พร้อมวิเคราะห์เหตุบ้านการเมืองกลายเป็นกิจกรรมยามเช้าของผู้ที่อยู่อาศัยในละแวกเดียวกัน กิจวัตรประจำวันเช่นนี้ได้พัฒนากลายเป็น “วัฒนธรรมท้องถิ่น” ที่เราเรียกกันว่า “สภากาแฟ” ไปในที่สุด
นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมการจิบกาแฟของคนไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสภากาแฟเล็ก ๆ ตามหมู่บ้านก็พัฒนาเติบโตขึ้นเป็น “ธุรกิจ” ที่ขยายวงกว้างโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้มีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นแรงกระตุ้นให้ธุรกิจกาแฟขยายตัว อาทิเช่น การเข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทยของ“สตาร์บัคส์” กาแฟแบรนด์ดังระดับโลก รวมถึงร้านกาแฟที่คนท้องถิ่นส่วนใหญ่รู้จักนั่นคือ“คาเฟ่อเมซอน” ที่ช่วยให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจ และมีรสนิยมการดื่มกาแฟที่พัฒนาขึ้นรวมถึงได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมการดื่มกาแฟ (Coffee Culture) จนร้านกาแฟกลายเป็นพื้นที่ที่ ๓ (Third place) ที่เปิดกว้างให้ “คนเมืองยุคใหม่” ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พูดคุย และใช้เป็นสถานที่ทำงานอีกแห่ง (ชนิดที่จะนั่งนานแค่ไหนก็ไม่มีใครว่า) ร้านกาแฟบางร้านมีอินเทอร์เน็ต และ WiFi ไว้ให้บริการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอีกด้วย
ท่ามกลางปริมาณร้านกาแฟที่แฝงตัวอยู่แทบทุกหัวมุมถนน ทั้งในห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหาร ปั๊มน้ำมัน ย่านธุรกิจ แหล่งบันเทิง โรงแรมโรงพยาบาล และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ทำให้เกิดข้อสงสัยที่เราถกเถียงกันมาตลอดว่า “กาแฟดี” กับ “กาแฟอร่อย” เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร? คอกาแฟท่านหนึ่งเล่าให้เราฟังว่า เขาเคยดั้นด้นตามไปจิบกาแฟของร้านบางร้านที่ได้ยินว่าอร่อยเด็ด ก่อนจะได้พบความจริงที่ว่าบางครั้งสิ่งที่เรียกว่าความอร่อยก็เป็นแค่เรื่องของ “จิตปรุงแต่ง” ทั้งจากการตกแต่งร้านที่ฮิปกิ๊บเก๋บรรยากาศโดยรอบ ลักษณะหน้าตาของกาแฟภาชนะที่ใช้เสิร์ฟ ตลอดจนปัจจัยภายในร่างกายขณะที่รับรสชาติของกาแฟถ้วยนั้น (เช่น ความหิวกระหาย เหนื่อย ง่วง อ่อนเพลีย ฯลฯ)
ไม่ว่าคุณจะเป็นคอกาแฟหรือไม่ก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากาแฟได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคุณและคนรอบข้างไม่มากก็น้อยทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาร้านกาแฟก็เช่นกัน จากร้านขายกาแฟโบราณในอดีต ที่เคยรุ่งเรือง (ที่ยังอยู่ใ นความทรงจำ) สู่ร้านกาแฟโฉมใหม่ที่ทันสมัยในวันนี้ ไม่ว่าวันพรุ่งนี้ร้านกาแฟจะเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งที่ยังคงเดิมคือคนไทยยังคงผูกพันกับกาแฟไม่แปรเปลี่ยน หนึ่งในนั้นคือ “มา นา เด้อ” ร้านกาแฟกลางทุ่งนาชานเมืองอุบลราชธานี แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของชาวอีสาน
บรรยากาศร้านที่ทุกคนต้องมาเยือน (ขอบคุณภาพจากร้าน มา นา เด้อ)
มาเด้อ มาจิบกาแฟกลางทุ่งนากันเด้อ! คำเชิญชวนจากมิตรสหายของผู้เขียนหลายครั้งผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ทีแรกผู้เขียนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า “ไปทานกาแฟอะไรกันที่กลางทุ่งนา ทำไมไม่ทานในห้องแอร์เย็น ๆ เหมือนที่คนในสังคมเมืองเขาทำกัน” แต่พอมาถึง ความคิดของผู้เขียนกลับเปลี่ยนไปในทันที กลิ่นดินและโคลน สาบควายที่หลายคนคิดถึง ในวันนี้บรรยากาศเหล่านั้นได้กลายมาเป็นคาเฟ่สุดชิคที่มีบรรยากาศชวนให้คิดถึงในวัยเด็กกันแล้ว
มา นา เด้อ คาเฟ่กลางทุ่งนาแห่งจังหวัดอุบลราชธานี จุดเช็คอินแห่งใหม่สำหรับชาวอีสานและนักท่องเที่ยวทุกคนคาเฟ่สไตล์โมเดิร์นตัดกับภาพบรรยากาศแห่งทุ่งนาสีเขียวขจี มีสะพานไม้ทอดยาวลงไปสุดลูกหูลูกตาเป็นจุดถ่ายภาพที่สวยงาม และดูแปลกตา คนที่มาที่นี่นอกจากจะได้ผ่อนคลายดื่มด่ำกับเมนูอาหารอร่อย ๆ แล้วยังจะได้รูปภาพสวย ๆ กลับไปอวดโลกโซเชียลอีกด้วย
ทำเลร้านตั้งอยู่ริมทุ่งนา ตกแต่งสไตล์ลอฟท์ มีตาข่ายนั่งชิล ๆ ริมนา มีโซนห้องแอร์ มีสะพานไม้ทอดเข้าในนาข้าว มีศาลาไม้และเปลยวนให้นั่งชิล ๆ รับลมเย็น ๆ มุมถ่ายรูปมากมายโดยเฉพาะตอนข้าวกำลังออกรวงขึ้นเป็นช่วงที่ข้าวกำลังสีเขียวสวยมาก ๆ เหมาะกับการไปถ่ายรูปเช็คอินมาก ๆ มีเมนูน้ำ เมนูของหวานพร้อม
การตกแต่งภายในร้านและภาพวาดสถานที่ท่องเที่ยว ใกล้เคียงซึ่งจัดแสดงภายในร้าน
กล่าวได้ว่า ร้านแห่งนี้ถือเป็นของใหม่เมืองอุบลฯ ร้านกาแฟสุดชิคในนาข้าว คนแห่เช็คอิน รถจอดยาวเป็นกิโลฯ สถาปนิกหนุ่มชาวอุบลฯ สร้างร้านกาแฟสุดชิคสไตล์ลอฟท์ ‘มา นา เด้อ’ ในบรรยากาศกลางทุ่ง ดึงนักท่องเที่ยวนับพันมาใช้บริการ ไม่หวั่นแม้ฝนจะตกหรือต้องจอดรถไกลยาวเป็นกิโลเมตร
นายอภิรักษ์ นามบุตร เจ้าของร้าน (ขอบคุณภาพจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
ตั้งแต่วันที่ ๓๑ ก.ค. ๒๕๖๑ กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ บนทางหลวงหมายเลข ๒๓ บ้านเอ้ ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เมื่อนายอภิรักษ์ นามบุตร อายุ ๔๓ ปี หนุ่มสถาปนิกชาวอำเภอเขื่องใน เกิดปิ๊งไอเดียสร้างร้านกาแฟหรูสไตล์ลอฟท์ ชื่อ “มา นา เด้อ” อยู่กลางทุ่งนาสีเขียวด้วยเนื้อที่ ๓๐ ไร่ เปิดตัวช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ด้วยระยะเวลาไม่ถึงสัปดาห์ร้านกาแฟชื่อสำเนียงอีสานแห่งนี้ ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่าพันคนต้องไปเยือนและถ่ายรูปอย่างไม่ขาดสาย แม้ฝนจะตกหรือต้องจอดรถไกลนับหลายกิโลเมตร
นายอภิรักษ์ กล่าวว่าร้านกาแฟ “มา นา เด้อ” เกิดขึ้นจากเมื่อประมาณ ๑ ปีก่อนตนได้ไปตรวจงานที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมกับภรรยาระหว่างที่นั่งพักอยู่ในกระต๊อบกลางทุ่งนาที่มีลมเย็นพัดเบา ๆ ทำให้ตนเองรู้สึกสดชื่นอยากหวนอดีตในวัยเด็ก และอยากให้เด็กรุ่นใหม่มาสัมผัสธรรมชาติ จึงคิด อยากจะทำร้านนั่งชิล ๆ ลมเย็น ๆ ในบรรยากาศท้องทุ่งนา ชมไอ้ทุยกำลังไถนา ในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง และด้วยตนเองมีธุรกิจขายชา กาแฟ อยู่แล้ว จึงได้ตัดสินใจทำร้านกาแฟอยู่ในทุ่งนาของตนเองบนเนื้อที่ ๓๐ ไร่ แยกเป็นส่วนของตัวร้าน ๘ ไร่ และส่วนของกระต๊อบนั่งเล่น และส่วนจำลองวิถีชีวิตของชาวนาในอดีต ด้วยการนำเอาความรู้สึกในวันที่นั่งกลางทุ่งนาครั้งนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจ
เจ้าของร้านกาแฟ มา นา เด้อ กล่าวอีกว่าตนมีความคาดหวังว่าจะมีลูกค้าให้ความสนใจในระดับหนึ่ง แต่หลังจากที่เปิดร้านได้เพียงวันเดียวลูกค้าได้ให้การตอบรับอย่างมาก ต่างแชร์ภาพบรรยากาศที่ร้านลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ลูกค้าบางรายที่มาใช้บริการก็จะถ่ายรูปเช็คอินลงโซเชียลจนมีคนแชร์อย่างรวดเร็วทำให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าส่วนใหญ่จะมาแบบเพื่อน ครอบครัว หนุ่มสาว นอกจากร้านกาแฟที่อยู่กลางทุ่งนาที่ปลอดสารเคมีแล้ว ยังมีการดำนาเพื่อปลูกข้าว และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็จะใช้วิธีลงแขกเกี่ยวข้าว ให้คนมาเห็นวิถีชีวิตของชาวนาจริงๆ ว่า มีการดำเนินการอย่างไรในการทำนาหรือในอนาคตอาจจะให้ลูกค้าลงไปสัมผัสการดำนาเกี่ยวข้าวจริง ๆ ก็ได้
สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมานั่งจิบกาแฟในบรรยากาศท้องทุ่งนา สามารถเข้ามาใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๙.๓๐ น. ของทุกวัน โดยภายในร้านนอกจากจะมีกาแฟเมนูต่าง ๆ แล้วยังมีอาหารและเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ ไว้คอยบริการอีกด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตของธุรกิจกาแฟในประเทศไทยเกิดขึ้นมาแล้วเกือบร้อยปี ด้วยเพราะเป็นอาชีพที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก และจากความนิยมในรสชาติผสานกับวิถีชีวิตทำให้ร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ตามชุมชนและตลาด กลายเป็นแหล่งพบปะพูดคุย เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และทำให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นตลอดทุกยุคทุกสมัย จวบจนเมื่อเกิดการตั้งสาขาของธุรกิจกาแฟพรีเมียม ร้านกาแฟถูกแต่งเติมด้วยแผนธุรกิจ สร้างจุดขาย บนพื้นฐานของปัจจัยเดิม ๆ คือรสนิยมความชื่นชอบในรสชาติ การใช้เป็นที่พบปะพูดคุย พร้อมกันนี้ยังได้แต่งแต้มบรรยากาศของการพักผ่อนเพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ซึ่งการเติบโตของธุรกิจกาแฟแทรกซึมเข้าไปในทุกย่านธุรกิจ แหล่งชุมชน ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว สถานีบริการน้ำมัน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ และอื่น ๆ ซึ่งจากการแข่งขันอันดุเดือดตลอดนับสิบปีนี้เอง ทำให้ธุรกิจกาแฟยังคงความเป็นธุรกิจที่มีเสน่ห์ เกิดการต่อยอดเพื่อความครบวงจรในหลากหลายแขนง ทั้งด้านการผลิตและจำหน่าย รวมไปถึงการเปิดร้านกาแฟ ธุรกิจซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันของใครต่อใครหลายคน หนึ่งในนั้นคือ “มา นา เด้อ” แห่งนี้นั่นเอง ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าตนคิดไม่ผิดจริงๆ ที่ได้ถูกชวนให้ “มา นา เด้อ” ในครั้งนี้ และอาจมีครั้งต่อ ๆ ไปอีกหลายครั้ง และคิดว่าท่านผู้อ่านคงคิดไม่ต่างจากผู้เขียนมากนัก
*****
*****
“หลายคนอาจนึกย้อนไปถึงร้านกาแฟสมัยเด็กที่มีอาแปะยืนชงโอเลี้ยง กาแฟ ดูช่างเป็นร้านที่มีอุปกรณ์วางไว้อย่างยุ่งเหยิง แสดงถึงความเป็นมืออาชีพ สามารถชงกาแฟได้อร่อย แต่คงใช้ไม่ได้สำหรับร้านกาแฟในยุคนี้ที่ผู้บริโภคมักคำนึงถึงความสะอาด การจัดวางข้าวของเครื่องใช้อย่างเป็นระเบียบ พร้อมหยิบใช้งาน อีกทั้งผู้ขายยังควรสวมเครื่องแบบหรือผ้ากันเปื้อนเพื่อให้มองดูแล้วสะอาดตา ซึ่งนี่ยังถือเป็นจุดขายอีกอย่างหนึ่งที่สามารถดึงดูดลูกค้าได้อีกด้วย ผมคิดว่า “มา นา เด้อ” ตอบโจทย์ดังกล่าว”
นายธนภัทร วงศ์สุวรรณ
นักศึกษาสาขาวิชาคณิตศาสตร์
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
*****
“มา นา เด้อ เป็นคาเฟ่กลางทุ่งนาเปิดใหม่ที่ จ.อุบลราชธานี โดยตัวร้านจะตั้งอยู่ริมถนนเเจ้งสนิท เป็นทางที่มาจากจังหวัดยโสธร ทางร้านจะมีอาคารหลัก ๑ หลัง ติดกระจกโดยรอบทำให้มองเห็นนาข้าว สามารถรองรับได้ประมาณ ๔๐ คน เเละยังมีส่วนที่นั่งภายนอกที่ยังสามารถรองรับได้อีกมาก เพราะมีจุดให้นั่งจิบกาเเฟหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นที่นั่งริมทุ่งนาหรือจะเป็นเปลญวนในศาลาที่คาเฟ่มีสะพานไม้ทอดยาวไปในทุ่งนาให้เราได้เดินถ่ายรูปได้หลากหลายมุมเลยทีเดียว อาหาร เเละเครื่องดื่มภายในร้านมีให้เลือกมากมาย ทั้งหวาน คาว จะมาจกส้มตำในคาเฟ่ก็ย่อมได้ หรือในส่วนของเครื่องดื่มจะเหมือนทั่ว ๆ ไป เเต่รสชาติถือว่าใช้ได้ ขนมที่ผมอยากจะเเนะนำ ถ้าไปเเล้วไม่อยากให้พลาดคือโทสต์ชาไทย ถึงเเม้จะใช้เวลาทำนานเพราะทางร้านทำสด ๆ ใหม่ ๆ เเต่บอกเลยว่าคุ้ม เพราะขนมปังกรอบนอกนุ่มใน เมื่อจุ่มกับซอสชาไทยเเล้วรสดี ไม่หวานจนเกินไป มีความมันนิด ๆ เเละที่สำคัญหอมชา เเต่ที่จริงโทสต์ที่ร้านมีหลายรส ชีสก็มี ใครชอบเเบบไหนก็ลองไปเลือกดู”
นายศรชัย กันทอง
นักศึกษาสาขาวิชาคณิตศาสตร์
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
*****
“ปัจจุบันดูเหมือนว่าไลฟ์สไตล์ของคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นแทบไม่ได้หยุดนิ่ง มีกิจกรรมให้ทำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหนังสือ ทำงาน เล่นกีฬา เล่นเกม ทำงานบ้าน หรือไม่ก็วนเวียนอยู่ในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ก สามารถเรียกได้ว่ายุ่งวุ่นวายตลอดเวลา เมื่อถึงวันที่มีภารกิจไม่มากนัก หลายคนจึงออกอาการไฮเปอร์ กระสับกระส่าย อยากหาอะไรทำ สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งคนรุ่นใหม่นิยมไปหากิจกรรมต่างๆ ทำก็คือ ร้านกาแฟ เพราะมีบริการต่างๆ ครบครันกับความต้องการ เช่น เครื่องดื่มอันหลากหลาย บรรยากาศชิลชิล เหมาะสำหรับนัดเจอเพื่อนฝูง อินเทอร์เน็ตที่ให้บริการฟรีตลอดเวลาที่เปิดร้าน นับว่าตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้แทบทั้งหมด ที่ต้องมาคือ ร้าน มา นา เด้อ ที่อยู่ไม่ไกลจากจังหวัดศรีสะเกษมากนัก”
นายอนุรักษ์ งามสะอาด
นักศึกษาสาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ขอบพระคุณคณาจารย์และผู้ที่ให้ข้อมูลและคำแนะนำ
ดร.คนึงชัย วิริยะสุนทร คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ดร. ชนมน สุขวงศ์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
นายสิริชัย ศรีชัย นายกองค์การบริหารนักศึกษาภาคปกติ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ปีการศึกษา ๒๕๖๑
นายปฏิพล แสนหยุด นายกสโมสรนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ปีการศึกษา ๒๕๖๑
นายอรรคชัย ทำคำทอง ประธานที่ปรึกษานายกสโมสรนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ปีการศึกษา ๒๕๖๑
นายนนทวัฒน์ ชัยวาลย์ เลขานุการที่ปรึกษานายกสโมสรนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ปีการศึกษา ๒๕๖๑
นายอดิศักดิ์ ระวัน ที่ปรึกษานายกสโมสรนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ปีการศึกษา ๒๕๖๑
นายกชกร เวียงคำ นักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา ชั้นปีที่ ๔ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
นางสาวจีฬารัตน์ ทองสุ ประธานนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา ชั้นปีที่ ๔ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
นางสาวณัฏฐวรรณ รอดเจริญ เลขานุการประธานนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา ชั้นปีที่ ๔ คณะครุศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
นายอนุรักษ์ งามสะอาด นักศึกษาสาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ร้าน มา นา เด้อ
เพจร้าน มา นา เด้อ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
นายศรชัย กันทอง นักศึกษาสาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
นายธนภัทร วงศ์สุวรรณ นักศึกษาสาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ลูกศิษย์สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ.