ยิ่งใหญ่เพียงใดก็มีวันล่มสลาย # บทเรียนจักรวรรดิโรมัน (๑)

# บทเรียนจักรวรรดิโรมัน (๑)

การฆาตรกรรมซีซาร์ในวุฒิสภา

หนึ่งพันปีที่จักรวรรดิโรมันอันยิ่งใหญ่ได้ครองพื้นที่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แบ่งคราว ๆ ว่าครึ่งแรกประมาณ 500 กว่าปีก่อน ค.ศ. เป็น “สาธารณรัฐ” (republic)  ครึ่งหลัง 500 กว่าปี จาก 1 ศตวรรษก่อน ค.ศ. จนถึงศตวรรษที่ 5 เป็น “จักรวรรดิ” (empire)

ตำนานเล่าว่า โรมก่อตั้งเมื่อปี 753 ก่อน ค.ศ.โดยพี่น้องโรมูลุสและเรมุสที่ถูกทอดทิ้ง กินนมหมาป่า จนมีคนเอามาเลี้ยง  และมีระบบกษัตริย์มาจนถึงปี 509 ก่อน ค.ศ. ที่กษัตริย์เอตรุสกัน ชนเผ่าที่ปกครองโรมถูกโค่นอำนาจลง  ชาวโรมันจึงได้ก่อตั้ง “สาธารณรัฐ” คือพลเมืองโรมันเลือกผู้แทนขึ้นบริหารบ้านเมือง

ระบบสาธารณรัฐพัฒนาเรื่อยมาจนถึงการขึ้นสู่อำนาจของจูลียส ซีซาร์ ในปี 48 ก่อน ค.ศ. ที่เขาบังคับให้วุฒิสภาตั้งเขาเป็น “เผด็จการ” (dictator) ผู้ปกครองโรมที่มีอำนาจเด็ดขาด  ในปี 44 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นเผด็จการตลอดชีพ ซึ่งเป็นจุดจบของเขาที่ถูกฆ่ากลางวุฒิสภาจากบรรดาวุฒิสมาชิกที่รับไม่ได้กับการรวบอำนาจ  พวกเขาต้องการปกป้อง “สาธารณรัฐ” ความจริงก็เพื่อปกป้องอำนาจของตนเองที่ถูกริบไปจากเผด็จการ

แม้วุฒิสภาจัดการกับ “เผด็จการ” แต่ไม่อาจกำจัด “ระบอบเผด็จการ” ได้  หลังสงครามกลางเมือง แย่งชิงอำนาจ ที่สุด Octavius เหลนของซีซาร์ ที่เขารับเป็นบุตรบุญธรรม และมอบสมบัติทั้งหมดให้ รวมทั้งสั่งเสียให้สืบทอดอำนาจ ก็ได้ทำหน้าที่เป็น “จักรพรรดิ” (emperor) คนแรกอย่างเป็นทางการ  ที่มีชื่อว่า Cesar Augustus และมีจักรพรรดิองค์อื่น ๆ อีกประมาณ 70 องค์สืบทอดอำนาจหรือแย่งอำนาจกันเรื่อยมาจนล่มสลายใน ค.ศ.470

# ภูมิรัฐศาสตร์อารยธรรมภูมิภาค

หนึ่งพันปีก่อน ค.ศ. (สามพันปีก่อน) อาณาจักรใหญ่ที่รุ่งเรืองในตะวันออกกลางมาถึงยุโรปตะวันตกและแอฟริกาเหนือ คือ อาณาจักรเปอร์เซีย (อิหร่าน)  บาบิโลน (อีรัก)  อัสซีเรียน (ซีเรีย)  กรีก  และเฟอนิเซียน (แอฟริกาเหนือ)

อาณาจักรกรีก ภายใต้อเล็กซานเดอร์มหาราช (356-323 ก่อน ค.ศ.) ได้ขยายอาณาจักรไปทางตะวันออก เพื่อจัดการกับมหาอำนาจเปอร์เซียที่ครอบงำกรีกมานาน ไม่ได้ขยายไปทางตะวันตกมากนัก รวมทั้งไม่ได้รุกรานโรม ซึ่งแม้ยังไม่ได้เข้มแข็ง แต่เพราะต้องเดินทัพไกลอ้อมไปทางเหนือข้ามภูเขาแอลป์ซึ่งยุ่งยาก และไปทางเรือก็ไม่ชำนาญไม่สะดวก

ที่โรมรบหนักคืออาณาจักรคาร์เทจ (Carthage) ของชาวเฟอนิเซียน (Phoenician) หนึ่งในเผ่าพันธุ์จากตะวันออกใกล้ในยุคเดียวกับชาวยิว พวกเขาไปตั้งรกรากที่แอฟริกาเหนือ ที่ตุนิเซียในปัจจุบัน ทางตะวันตกของอิยิปต์  มีเมือง Carthago (ชื่อละติน) เป็นเมืองหลวง

การรบระหว่างโรมันกับคาร์เทจเป็นสงครามใหญ่ 3 ครั้ง เรียกว่า Punic Wars (คำว่า Punic มาจากเฟอนิกซ์ เฟอนิเซีย) ระหว่างปี 264-146 ก่อน ค.ศ.   เริ่มจากที่โรมต้องการครอบครองเกาะซิซิลี ซึ่งเป็นของคาร์เทจ แม้กองทัพโรมันไม่ชำนาญการรบทางเรือ แต่ก็เอาชนะชาวคาร์เทจ ซึ่งมีกองทัพเรือที่เกรียงไกรและเป็นนักสร้างเรือได้

ชาวคาร์เทจอพยพตั้งหลักที่สเปนเพื่อให้ไกลจากโรมมากที่สุด และจากที่นี่เองที่ฮันนิบาลได้นำทหารพร้อมกับช้างม้าจำนวนมากเดินทัพข้ามภูเขาแอลป์ 200 ก.ม. เป็นเวลา 15 วัน ท่ามกลางหิมะความหนาวเหน็บและเต็มไปด้วยโขดหิน ทำให้เสียไพร่พลไปไม่น้อย แต่เขาก็ข้ามได้และนำทัพรุกไล่กองทัพโรมันที่กระจายปกป้องอิตาลีทางเหนือลงไปจนถึงทางใต้ แต่ไม่ได้รุกกรุงโรม เพราะขอกำลังเสริมจากคาร์เทจไม่ได้ “สภาไม่อนุมัติ”

นับเป็นเวลา 2 ปี ที่ฮันนิบาลสร้างความปั่นป่วนให้โรม ที่เมือง Cannae ตะวันออกเฉียงใต้ของอิตาลี เป็นการปะทะครั้งใหญ่สุดที่สร้างความสูญเสียให้กองทัพโรมัน  ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ทหารโรมันตายไปถึง 70,000 คนในการรบเพียงวันเดียว และสูญเสียทหารไป 120,000 คนในการรบสองปีกับฮันนิบาล

แต่ที่สุดฮันนิบาลก็ต้องยกทัพกลับไปคาร์เทจ เพราะกองทัพโรมันได้ยกพลไปบุกคาร์เทจในปี 210 และรบชนะ ยึดคาร์เทจเป็น “เมืองขึ้น” ของโรมตั้งแต่บัดนั้น  นั่นคือสงคราม Punic War ครั้งที่สอง  และในปี 149 เป็นครั้งที่สาม ที่กองทัพโรมันไปรบคาร์เทจที่ “แข็งข้อ” แต่ใช้เวลาสามปีกว่าจะปราบได้  เผาเมืองและฆ่าผู้คนไปเกือบหมด ที่เหลือก็นำไปเป็นเชลยไปเป็นทาส

ติดกับคาร์เทจ คือ อาณาจักรอียิปต์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้อำนาจของกรีก โดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ก่อตั้งเมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) บนเมืองเก่าเล็ก ๆ  ขณะที่เมืองใหญ่ของอาณาจักรอียิปต์โบราณ คือ Thebes กับ Memphis  การสร้างเมืองใหม่ทำให้อารยธรรมกรีกหลั่งไหลเข้าสู่อียิปต์ มีราชวงศ์ปโตเลมี (Ptolemy) ที่ก่อตั้งโดยคนสนิทของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์

อเล็กซานเดรียได้กลายเป็นศูนย์กลางของอียิปต์ ศูนย์กลางการค้า ศิลปะวัฒนธรรม มีห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกของยุคนั้น มีเอกสารงานเขียน (text) กว่า 700,000 ชิ้น โดยเฉพาะของกรีก จากโฮเมอร์ถึงเพลโตและอริสโตเติล  ยังมีพิพิธภัณฑ์ ศูนย์วิจัย ศูนย์เรียนรู้ ที่ถ่ายทอดวิชาแพทย์ ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์  นี่คือบ้านของยูคลิด บิดาของเรขาคณิต

ที่นี่เองที่มีการแปลคัมภีร์ไบเบิลจากภาษาฮีบรูเป็นภาษากรีก ที่ได้กลายเป็นพระคัมภีร์ไบเบิลพระธรรมเก่าของชาวคริสต์  มีการสอนภาษาต่าง ๆ พัฒนา “วิทยาศาสตร์” ที่เรียกกันว่า วิชาธรรมชาติ  วิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะดาราศาสตร์ที่คนสนใจกันมากที่สุด

มีการนำเสนอทฤษฎีโดยคนชื่อ Claudius ว่า จักรวาลนี้มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง โลกและดาวต่าง ๆ หมุนไปรอบดวงอาทิตย์ แต่คนไม่เชื่อและไม่สนใจทฤษฎีนี้  ไปเชื่อทฤษฎีของ Ptolemy ที่ว่า โลกเป็นศูนย์กลาง แนวคิดนี้คงอยู่ได้ถึง 1,500 ปีจนถึงการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 17

มีนักภูมิศาสตร์ที่ใช้ “กล้องส่องทาง” และอาศัยทฤษฎียูคลิดคำนวณว่า โลกนี้มีขนาด 46,250 ก.ม.โดยรอบ เพราะเขาเชื่อว่าโลกกลม แต่คนอื่นไม่เชื่อ  เขาคำนวณผิดไปเพียง 6,000 ก.ม. เท่านั้น

ปโตเลมีพยายามฟื้นขนบธรรมเนียมประเพณีฟาโรห์ เพื่อสร้างความชอบธรรมอำนาจสูงสุดเพื่อการยอมรับของชาวอียิปต์  อย่างการฟื้นประเพณีแต่งงานของพี่น้องเพื่อรักษาอำนาจราชวงศ์  ตามประวัติศาสตร์ ในปี 193 ก่อน ค.ศ. เจ้าหญิงกรีกจากซีเรียมาแต่งงานกับ Ptolemy ที่ 5 คือ คลีโอพัตรา

ต่อมากษัตริย์ปโตเลมีสวรรคต เธอจึงได้เป็นราชินีองค์แรกที่ครองราชย์ ราชินีองค์ต่อ ๆ มาจึงมีชื่อคลีโอพัตราหมด รวมทั้งคนที่ 7 ที่มีความสัมพันธ์กับซีซาร์ และมาร์ค แอนโทนี ที่จะกล่าวถึงต่อไป และอียิปต์ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันภายใต้จักรพรรดิโรมันองค์แรก คือ Augustus ในปี 30 ก่อน ค.ศ. ชาวอียิปต์ถูกกดขี่หนักก็ก่อกบฏลุกฮือ แต่ก็ถูกปราบปรามจากโรมันทุกครั้ง

# สาธารณรัฐโรมัน

ระหว่างปี 500 ถึง ปี 50 ก่อน ค.ศ. สังคมโรมันในยุคสาธารณรัฐไม่มีกษัตริย์ ยังไม่มีเผด็จการ หรือจักรพรรดิ แต่ก็เป็นสังคมที่มีชนชั้น (hierarchical) หรือมีลำดับชั้น

บนสุด คือ บรรดาผู้สูงศักดิ์ (nobiles – nobility) บรรดาครอบครัวอดีต “กงสุล” คือผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็น “ผู้นำ” แต่มีวาระ ปกติมี 2 คน เพื่อคานอำนาจกัน  คนหนึ่งนำทางการทหาร คนหนึ่งทางการบ้านการปกครอง  ตระกูลเหล่านี้ร่ำรวย สะสมทรัพย์สินเงินทางจากตำแหน่งหน้าที่ มีวิลล่าใหญ่โต ที่ดินมหาศาล ใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย  คบหาสมาคมกันในสังคมปิดของกลุ่มของตน และกับผู้มีอำนาจมีชื่อเสียงอื่น ๆ  สตรีก็แสวงหาสถานะทางสังคม บุรุษก็แสวงหาบารมีทางการทหารการเมือง มีการจัดงานเลี้ยง สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เป็นประจำ

กลุ่มที่สอง รองลงมาคือ บรรดาขุนศึกอัศวิน เดิมเป็นทหารม้า ต่อมารวมเอาคนรวยที่มีที่ดิน ทรัพย์สินเงินทองด้วย เป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ มีอำนาจเด็ดขาดในครอบครัว  คนเหล่านี้พยายามไต่เต้าตำแหน่งทางการเมือง หาเสียงซื้อเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง การเมืองโรมันจึงถูกครอบงำโดยคนรวยไม่กี่ตระกูล

การเมืองโรมันจึงถูกครอบงำโดยคนชั้นสูง (elites) คือ เศรษฐีกับขุนศึกและศักดินา  พลเมืองทั่วไปจึงดิ้นรนไต่เต้าสู่สถานภาพทางสังคมสูงสุด คือ การเป็นวุฒิสมาชิก หรืออย่างน้อยเป็น “ผู้แทน” (tribune) ของประชาชน ที่เลือกเข้าไปในสมัชชาประชาชน (people assembly) มีวาระ ซึ่งต่อไปอาจได้เป็นวุฒิสมาชิก และเป็นตลอดชีวิต

กลุ่มที่สาม รองลงไปคือประชาชน (plebs) คือชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนาชาวสวน เลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าว ปลูกพืชเพราะเป็นสังคมเกษตร ถือว่าเป็นพลเมืองโรมันที่ได้รับการปกป้องจากกฎหมาย  ต่างจากคนกลุ่มต่ำสุด คือ ทาส ซึ่งเป็นเหมือนสัตว์ สิ่งของ สมบัติส่วนตัวของผู้มีเงินซื้อไป “ใช้” จะเฆี่ยนตีหรือแม้แต่จะฆ่าก็ทำได้

ทาสคือเชลยศึกที่กวาดต้อนมาจากการรบทั่วจักรวรรดิ ในศตวรรษที่ 1 มีทาส 2 ล้านคนใน “อิตาลี” ซื้อขายกันในตลาด คนรวยซื้อผู้หญิงไปรับใช้ หรือไปเป็นหญิงบริการทางเพศ (ทาสกาม)  ส่วนผู้ชายก็ถูกซื้อไปทำงานหนัก รัฐนำไปทำงานของรัฐ งานก่อสร้าง ขุดดินขุดหิน รวมไปถึงเป็นฝีพายเรือของกองทัพเรือ

ระหว่างปี 240-140 ก่อน ค.ศ. โรมรุ่งเรืองทางทหาร ขยายอาณาเขตไปทั่ว ทั้งตะวันตกตะวันออก แต่ก็มีปัญหาภายในไม่น้อย  ก่อนหน้านั้น 150 ปี วุฒิสภาและประชาชนมีความกลมเกลียวกันดี สถานที่ทั่วไปในกรุงโรมจึงมีป้ายสลักหินอ่อนติดตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเมืองว่า SPQR ย่อมาจาก Senatus Populusque Romanus ภาษาละตินแปลว่า วุฒิสภาและประชาชนโรมัน

จากนั้นก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เข้าสู่ยุค “ปฏิวัติ” ในความหมายทั้งทางการเมืองและสังคม เกิดความแตกแยกรุนแรงที่ประชาชนไปรบหลายปี กลับมาพบว่าที่ดินของตนถูกคนรวยและบรรดาผู้สูงศักดิ์ยึดไป ไล่ชาวบ้านเดิมออกไปหาที่อื่นไกลออกไปหรือไม่ก็ย้ายเข้าเมือง เป็นคนจนเมืองไม่ต่างจากสังคมวันนี้ ภาคเกษตรก็ไม่ได้ต้องการแรงงานท้องถิ่น เพราะมีทาสมีเชลยอยู่แล้ว

“เสรี พพ”  15 มิ.ย. 2021

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com