รำลึก ๑๐๘ ปี อาจารย์สุภา ศิริมานนท์
(๑๕ กรกฎาคม ๒๔๕๗ – ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๙)
“ถ้าเราเอาระดับความรอบรู้ลุ่มลึกของนักวิจารณ์เท่าที่มีอยู่ในเมืองไทยมาประกอบการพิจารณา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คุณสุภาอาจจะเป็นนักวิจารณ์ที่มีหนังสือครอบครองมากที่สุดคนหนึ่ง และได้ ‘อ่าน’ หนังสือที่ท่านครอบครองนั้นอย่างจริงจัง แนวคิดของท่านจะมีลักษณะหนักแน่น เที่ยงตรง คงเส้นคงวา ตลอดชั่วอายุขัยของท่าน ไม่ว่าฟ้าเมืองไทยจะเปลี่ยนสีมาแล้วกี่ครั้ง สนามหลวงและพระแม่ธรณีจะดูดซับเลือดคนมาแล้วกี่ชั่วรุ่น
…แม้คุณสุภา ศิริมานนท์ จะได้วายชนม์ไปแล้ว แต่ความคิดจิตใจของท่านยังคงดำรงอยู่ในโลกหนังสือไทย พิจารณางานเป็นเอกเทศ ท่านอาจดูเหมือนมิได้สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ระดับจัดเป็น Master Piece ทางวรรณกรรมและวรรณกรรมวิจารณ์ แต่จากคุณสมบัติแห่งความเป็นนักอ่าน นักค้นคว้า และนัดคิดนักเขียน รวมทั้งนักแปล ท่านเป็นสะพานเชื่อมที่แข็งแรง ระหว่างวรรณกรรมต่างประเทศและวรรณกรรมไทย
…อารมณ์เดียวที่คงเส้นคงวาเท่าที่ปรากฏในงานของท่าน คืออารมณ์รักต่อประชาชนคนอ่าน ผู้ถูกกดขี่ ผู้ทุกข์ยาก ผู้เสียเปรียบในสังคม ท่านจะใช้โวหารเยาะเย้ย ถากถาง ก็แต่กับผู้ที่ขวางกั้น ‘ความเปลี่ยนแปลง’ เท่านั้น
ผลงานที่ท่านจดจารด้วยสำนึกพิสุทธิ์ของท่านจะยังคงใหม่สดมีชีวิตชีวา ตราบเท่าที่ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงยังคงส่งผลกระทบต่อปากท้องและหัวใจของมนุษยชาติ”
ชลธิรา สัตยาวัฒนา
จากหนังสือ “วรรณสาส์นสำนึก”
งามคนรำลึก
๐ ตะรุเตาไกลกลางทะเลหลวง
ภูกระดึงละลิบล่วงเมฆาขาว
ธรรมชาติ ความสวยงามคือเรื่องราว
คอยโน้มน้าวให้รำลึกชั่วตาปี
๐ สามัญชนคนหนึ่งนามสุภา
มั่นคง สง่า สมศักดิ์ศรี
ถึงร่างกายไฟเผาเป็นเถ้าธุลี
งามความดีคนรำลึกตลอดไปฯ
ปรีดา ข้าวบ่อ
จากหนังสือ “พจนาลัย ~ สุภา ศิริมานนท์”
มิถุนายน ๒๕๒๙