รำฦก ๘๕ ปีชาตกาลผ่าน ๑๐ ปี มรณกรรมลุงคำพูน บุญทวี

รำฦก ๘๕ ปีชาตกาลผ่าน ๑๐ ปี มรณกรรมลุงคำพูน บุญทวี

ว่าด้วยตลกบ้าน ๆ “นิทานขุนบรมฉบับอีสาน”
ทางอีศาน ฉบับที่๑๔ ปีที่๒ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: อุษาคเนย์เห่กล่อม
Column: Southeast Asian Lullaby
ผู้เขียน: จินตรัย


Once there was the tale of Khun Borom depicting the story of the early Esan era on the land right side of the Mekhong river, where the Kingdom of Siam became autonomy since the Thon Buri Era. Now I am proud to say that “Luk Esan” is the later version of Khun Borom tale before the arrival of the globalization. Is this a plain silly joke? Not at all, I have my points to share.

1. “Luk Esan” is a literary work, which amazingly connects Thaen Fah in the first Khun Borom tale to the present.

2. “Luk Esan” is the literary work that portrays the best reflection of the spirit of Esan.

3. The genuine Esan language in “Luk Esan” is unique and shows the bravery and pride in the Esan identity. It has been unexpectedly recognized and became universal.

ไม่บ่อยครั้งนักที่จะปรากฏเห็นรอยยิ้มที่เปิดกว้าง พร้อมแววตาที่สดใสจริงใจเช่นนี้ นี่คือภาพตัวอย่างจากนิตยสาร โลกหนังสือ (ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ เดือนมกราคม ๒๕๒๑ ซึ่งลงคำสัมภาษณ์ ลุงคำพุน บุญทวี ก่อนที่จะได้คว้ารางวัลปฐมซีไรต์ประเทศไทยในอีก ๑ ปีต่อมา) ที่ใคร ๆ ได้พบเจอแล้วก็สบายอกสบายใจหายเหนื่อยและชื่นหัวใจเสมอ

เพราะนี่คือ “รอยยิ้มของคำพูน บุญทวี ปฐมซีไรต์ลูกอีสาน บ้านทรายมูลขนานแท้ !”

ลุงคำพูน บุญทวี กำเนิดวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๑ ที่บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นอำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร) ซึ่งเป็นบ้านเดียวกันกับ “จินตรัย” นี่เอง แต่ขอกล่าวด้วยความสัตย์จริงว่าการมาสนใจวรรณกรรมทั้งอ่านและเขียนไม่ได้มีแรงบันดาลใจจากลุงคำพูนเลย แม้กระนั้นก็ตาม ก็ยังนับถือคุณลุงเป็นญาติผู้ใหญ่ทั้งในวงน้ำหมึกและของหมู่บ้านเสมอ

หากมาดูภูมิศาสตร์จังหวัดยโสธร ไล่ไปจากใต้สุดอำเภอค้อวัง อำเภอมหาชนะชัยที่ติดต่อกับ จังหวัดศรีสะเกษ ขึ้นไปอีกหน่อยก็อำเภอคำเขื่อนแก้ว และอำเภอเมือง นี่ถือว่าอยู่ในลุ่มลำซีอุดมสมบูรณ์ ไม่อดอยาก เป็นที่ราบลุ่ม มีฉากที่สวยงาม เด็กเลี้ยงควายในโซนภาคกลาง และภาคใต้ของจังหวัดยโสธรนี้ได้ขี่ควายข้ามลำน้ำซีในหน้าแล้งไปฝั่งตรงข้ามอย่างเย็นฉ่ำ จับหอย ปู ปลามาทำกินอย่างเอร็ดอร่อยที่มหาชนะชัย และอำเภอเมืองมีตลาดขายปลาที่จับได้จากแม่น้ำซี แต่ถ้าเข้าเขตเหนือขึ้นไปที่อำเภอทรายมูล อำเภอป่าติ้วอำเภอกุดชุม อำเภอไทยเจริญ เริ่มแล้งเข็ญเป็นฉากที่น่าหดหู่แม้เป็นทุ่งราบก็ตาม เหมือนพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว เริ่มมีภูเขาโซนตะวันตกเฉียงเหนืออำเภอกุดชุม และอำเภอเลิงนกทาอันติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ด และมุกดาหาร

แต่คุณผู้อ่านทราบไหมว่า ในโซนที่แล้งเข็ญเช่น ทรายมูล และกุดชุมนี่เอง ที่ก่อกำเนิด นักคิดนักเขียนขึ้นมากมายอย่างมิอาจจะปฏิเสธได้ ขออนุญาตขยายความเพิ่มเติมดังนี้

๑. รุ่นใหญ่ นำโดย คำพูน บุญทวี (ปฐมซีไรต์ลูกอีสาน – ทรายมูล) อุดร ทองน้อย (อีสานกู – กุดชุม) และ ยงค์ ยโสธร (คำอ้าย – กุดชุม) ถือเป็นรุ่นแรกที่สร้างชื่อเสียง

๒. รุ่นกลาง ได้แก่ ประชาคม ลุนาชัย, ปราโมช ปราโมทย์ – “จินตรัย” (ทรายมูล) เยี่ยม ทองน้อย, สมชัย คำเพราะ – “คำร้อย รวี” (กุดชุม) วงเดือน ทองเจียว (อ.เมือง ติดกับทรายมูล) สานิจ มาตขาว (ทรายมูล+กุดชุม) ทองพูล ทองน้อย (กุดชุม) และ จุฬา ละคร (เลิงนกทา) เป็นต้น

๓. รุ่นใหม่ ได้แก่ “เสือ นาลาน” ณ ลุ่มน้ำ – โกเมศ มาสขาว (กุดชุม) สัญญา พาณิชยเวช (คำเขื่อนแก้ว) ชนินทร์ ยศบุญ (ทรายมูล) เป็นต้น (ขอโทษมาก ๆ หากตกหล่นชื่อของบางท่านไป)

เด็กชายคูน หรือ ลุงคำพูน บุญทวี เป็นลูกชายคนโตของครูใหญ่ ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่และมีฐานะดี ปลูกเรือนที่คุ้มทุ่งโรงเรียน ส่วน “จินตรัย” อยู่คุ้มสระแก้วที่ล้าหลังที่สุดของบ้านและเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย เมื่อได้พูดคุยกับน้องชายของลุงแล้ว ทราบว่า นิสัยส่วนตัวของลุงนั้นเป็นคนสนุกสนาน ชอบเรียนรู้ตลอดเวลา ยกตัวอย่างหากไปงานบุญหรือได้รับเชิญไปงานที่มีระยะทางประมาณ ๕-๖ กิโลเมตร ลุงจะเลือกที่จะเดินเท้าไปเองแม้มีรถมารับถึงที่ก็ตาม เพราะชีวิตสองข้างทางน่าสนใจ น่าเรียนรู้มากพอ ๆ กับจุดหมายที่รออยู่ข้างหน้า เมื่อลุงคำพูนเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ จากตัวอำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหนุ่มฟ้อกลับมาบ้านนั้น ยังไม่มีการงานทำก็ชักชวนหนุ่มสาวบ้านทรายมูลรุ่นราวคราวเดียวกันมาตั้งคณะรำวงขึ้นแบบง่าย ๆ สาว ๆ ก็เป็นนางรำ หนุ่ม ๆ เป็นกองเชียร์ร้องเพลง เล่นดนตรีที่มีไม่กี่ชิ้น เช่น ตะโพน ฉิ่ง ฉาบและกั๊บแก็บก็พอแล้ว บ้านใดมีงานบุญคณะนี้ก็ไปขอเวลาขอพื้นที่ มีเชือกล้อมเป็นวง มีม้านั่งให้นางรำนั่งก็เพียงพอแล้ว หนุ่ม ๆ ที่เข้ามาซื้อพวงมาลัยไปคล้องสาวรำวงรอบละ ๕๐ สตางค์ เสร็จงานทุกคนมีรายได้ต่อมาหนุ่มสาวคณะนี้จับคู่แต่งงานกันไปหลายคู่ คู่ที่อยู่ยงมาจนถึงปัจจุบันคือ พ่อขลุ่ยกับแม่คี หมู่ที่ ๒ บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร

คำพูน บุญทวี เป็นนักเขียนที่มีผลงานต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี มีทั้งที่เป็นเรื่องสั้น นวนิยาย สาระบันเทิง และสารคดี เป็นนักเขียนที่เขียนจากประสบการณ์จริงของตนเอง พลิกผันจากวิกฤติในครอบครัว เครียดจากฐานะความยากจน ทำตัวเกเรเที่ยวเตร่เมาเหล้ายิ่งทำให้ครอบครัวเลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อตั้งสติได้จึงหักดิบหยุดเที่ยวเตร่หยุดดื่มเหล้าเข้าห้องสมุดอ่านหนังสือ จนเกิดแรงบันดาลใจอยากเป็นนักเขียนสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้จากการอ่านโดยแท้ มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเป็นนักเขียนประจำในนิตยสารฟ้าเมืองไทย และยึดอาชีพนักเขียนอิสระมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ จนสิ้นลมหายใจ ปี พ.ศ. ๒๕๔๖

ผลงานของคำพูน บุญทวี มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ ให้ความบันเทิง ความเร้าใจ ชวนติดตาม ทั้งเรื่องสั้น และนวนิยาย มีความโดดเด่นเพราะเป็นงานสร้างสรรค์เพื่อจรรโลงสังคม เป็นสื่อทางปัญญาในกระบวนการเรียนรู้รากเหง้าทางสังคมและการถ่ายทอดข้อมูลความรู้ต่าง ๆ จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง มีคุณูปการต่อประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ และได้รับความสนใจจากนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ

ผลงานของลุงคำพูน บุญทวี แบ่งเนื้อหาออกได้ ๔ ประเภทด้วยกัน ดังนี้

๑. วิถีชีวิตชาวบ้านพื้นถิ่นอีสาน และตำนานประวัติศาสตร์ นำเสนอวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความเชื่อในอดีต และถือว่าเป็นต้นแบบการนำเสนอด้วยภาษาถิ่น ได้แก่เรื่อง ลูกอีสาน, เลือดอีสาน, นายฮ้อยทมิฬ, ผจญภัยทุ่งกุลาร้องไห้, ลูกลำน้ำโขง, เล่าขานตำนานผีภาคอีสาน, เกร็ดประวัติศาสตร์อีสาน เป็นต้น

๒. ชีวิตนักโทษและคนในคุก เป็นผลงานที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ช่วงที่ทำงานเป็นผู้คุมนักโทษในเรือนจำ สะท้อนสภาพชีวิตของนักโทษหลากหลายแง่มุม ได้แก่นวนิยายเรื่องนวนิยายมนุษย์ ๑๐๐ คุก เรื่องสั้นหลายชุดเช่น ตะรางบันเทิง, เสียงกระซิบจากโซ่ตรวน สารคดีเรื่อง คำให้การของคนคุก เป็นต้น

๓. ขบวนการค้าผู้หญิง เป็นผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงขบวนการค้าผู้หญิงในสังคมไทย โดยเฉพาะสาวชาวเหนือและสาวอีสานที่เป็นเหยื่อของขบวนการนี้ เป็นนวนิยายและเรื่องสั้น อันได้แก่เรื่อง นายหน้า แมงดา อาโก โสเภณีเด็ก, นรกหนาวในเยอรมัน, นักสู้หมู่บ้านตกเขียว เป็นต้น

๔. เรื่องชวนหัว ส่วนมากเป็นผลงานเรื่องสั้นแนวล้อเลียน เสียดสีชีวิตและสังคม นำเสนอเพื่อให้เกิดความครื้นเครงขบขันเป็นหลัก เนื้อหายังคงสะท้อนชีวิตแบบชาวบ้าน สอดแทรกแง่คิดหลากหลายแง่มุม ได้แก่ ไอ้โจร ๔๙๙, เสือกเกิดมารวย, ลูกทุ่งเข้ากรุง, ลาบหัวเราะ, นมอีเขียวขึ้นราคา เป็นต้น

คุณลักษณะผลงานของคำพูน บุญทวี ทำให้ผู้เสพเกิดอาการ ๓ อิ่ม

“ไพลิน รุ้งรัตน์” นักวิจารณ์แนวหน้าของไทยได้กล่าวถึงผลงานคำพูน บุญทวี ไว้ว่า เป็นงานประเภทสีสันท้องถิ่น (Local Color) สะท้อนให้เห็นสาระชีวิตของคนอีสาน การกิน การอยู่ ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีความเชื่อต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย ตลอดจนสีสันบรรยากาศของเรื่อง ใช้ลีลาอีสานคือ ความเรียบง่าย ซื่อตรง ภาษาและสำเนียงอีสาน หลังจากอ่านผลงานคำพูน บุญทวี แล้วเกิดอาการ ๓ อิ่มด้วยกัน อันได้แก่

๑. อิ่มภาพ เป็นการสร้างภาพทำซ้ำ เคยมีคนสร้างภาพอีสานแห้งแล้งมามากแล้ว แต่สร้างด้วยเครื่องมือแบบอื่น และก็ทำให้ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน เพราะเขาสร้างภาพอีสานด้วยเครื่องมือของคนอีสานเอง นั่นก็คือ ด้วยภาษาและสำเนียงของคนอีสานโดยแท้ ทั้งยังหอบเอาความรักและความภาคภูมิใจใส่ลงไปอย่างล้นหลาม โดยไม่พยายามปกปิดหรือปรุงแต่งจนเกินไปกว่าความเป็นจริง ดังนั้น ความเป็นอีสานของคำพูนจึงปรากฏออกมาอย่างที่เคยปรากฏคือแห้งแล้ง แต่เป็นความแห้งแล้งที่มีทั้งความยิ่งใหญ่ ความน่าอยู่และความมีเลือดเนื้อชีวิตอยู่อย่างครบครัน เปิดออกมาอย่างเต็มตา เรียบง่ายและชัดเจนที่สุด

๒. อิ่มเสียง นอกจากอิ่มภาพแล้ว เขายังไม่ละเว้นที่จะบันทึกเสียงของภาพนั้นเอาไว้โดยละเอียดอีกด้วย คล้ายกับว่า นอกจากจะมีกล้องชั้นดีแล้ว เขายังมีเครื่องอัดเทปชั้นหนึ่งที่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเขียนพรรณนาฉาก พรรณนาพฤติกรรมตัวละครหรือพรรณนาอื่นใด เสียงที่มาพร้อมกับภาพนั้นดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเขา แต่เป็นที่อิ่มหูของคนอ่านยิ่ง ภาษาของเขาเป็นภาษาที่มีเสียงในแทบทุกถ้อยคำที่เขาสามารถทำได้ ยิ่งงานเขียนในยุคแรก ๆ สองสามเรื่อง เสียงในภาพนี้ออกจะ “สนั่น” มากกว่าเรื่องใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “นายฮ้อยทมิฬ” นั้น แทบจะเรียกได้ว่า เป็นนวนิยายที่มี “เสียงเกริกไกร” กว่าเรื่องใด ๆ เพราะทั้งคน ควาย ม้า ป่า เขา และสรรพเสียงทั้งหลายถูกเขาอัดออกมาเป็นตัวอักษรให้นักอ่านได้ฟังกันถ้วนทั่ว เป็นต้นว่า

เสียงที่เกิดจากการกระทำของคนไปกระทำต่อสิ่งของหรือสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดอาการกระทบกัน เช่น “สั่งให้ผู้ช่วยตีหัวควายเสียงดัง-โปก ๆ” “แล้วชาย ๑๐ กว่าคนลากไปทางหมู่บ้านเสียงดังกราก ๆ” “แล้วควันไฟก็พวยพุ่งขึ้นเป็นหย่อม ๆ เสียงทำของกินก็ดังขึ้โป๊ก ๆ” “หยิบขี้ผึ้งบาง ๆ มาเป่าเสกลงพรูด ๆ” เป็นต้น

๓. อิ่มรส นอกจากอิ่มภาพด้วยภาพอันมีชีวิตชีวาเคลื่อนไหวได้ อิ่มเสียงที่ระงมไปทั้งเสียงธรรมชาติและเสียงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์แล้ว คำพูนยังทำให้เราอิ่มรสไปด้วยรายละเอียดของการประกอบอาหารของคนอีสาน ทำให้รู้ว่าการกินของคนอีสานเป็นวัฒนธรรมสำคัญ ลีลาเล่าเรื่องการทำอาหารมักจะปรากฏชัดในหลาย ๆ ที่แต่ที่โดดเด่นมากคือในเรื่อง “ลูกอีสาน” ซึ่งจะปรากฏเรื่องวัฒนธรรมการกินตั้งแต่ระดับง่าย ๆ ไปจนระดับยากและซับซ้อน มีตั้งแต่ไข่หมกในทรายที่แสนง่าย และที่ง่ายขึ้นไปกว่านั้นอีกคือ กินจักจั่นทั้งสด ๆ ห่อใบกระโดนจิ้มกับแจ่ว มาจนถึงระดับอาหารที่ยากขึ้น เช่น ลาบ อ่อม ก้อย รวมตลอดไปจนถึงการเก็บถนอมอาหารไว้กินวันข้างหน้า เช่น ย่าง ส้ม แดก ตลอดเรื่อง “ลูกอีสาน” การกินเป็นสีสันสำคัญอยู่ตลอดเวลา เห็นได้ชัดว่า ชีวิตความแร้นแค้นของคนอีสานนั้นได้ปรับให้วัฒนธรรมการกินนี้มีรายละเอียดมากกว่าคนภาคอื่น

วรรณกรรมจากแผ่นดินอีสานที่มีมาก่อนหน้าผลงานลุงคำพูน บุญทวี ไม่ว่าผลงานของ ประเสริฐ จันดำ, สุรชัย จันทิมาธร, นายผี, สมคิด สิงสง ฯลฯ ล้วนแต่มีลักษณะจริงจัง เครียด หดหู่ น่าสงสาร โดดเดี่ยว ขับเคี่ยว เข้มข้น และต่อสู้ทางชนชั้น แต่งานวรรณกรรมของลุงกลับให้รสที่แตกต่างตรงกันข้ามกันเลย ไม่ได้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเสมอภาคทางการเมือง มีรสชาติที่ถ่อมตนใสซื่อ เรียบง่าย สนุกสนาน ร่าเริงท่ามกลางความลำบากแร้นแค้น และดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี

คนยโสธรและคนทรายมูล น้อยคนนักเพียงหยิบมือเดียวที่ตระหนัก และเห็นความยิ่งใหญ่ของ “ลูกอีสาน” และคำพูน บุญทวี เพียงหยิบมือเดียวนั้นได้พยายามนำเสนอผลงานชีวประวัติในสถานศึกษา วาระงานที่เกี่ยวเนื่องกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน ของทุกปี จัดกิจกรรม “สาธิตรำวงพื้นบ้าน” “แฟนพันธุ์แท้คำพูน บุญทวี” และเคยจัดงาน “๗๒ ปีซีไรต์ลูกอีสาน” ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ในนามสภาวัฒนธรรมอำเภอทรายมูล และผลักดันสู่การเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔”

ตลกมากไหมที่คนทรายมูล คนยโสธรไม่อ่าน “ลูกอีสาน” (เพราะไม่มีหน่วยเหนือสั่งมาเหมือนเรื่องอาเซียน) และอ่านแล้วก็เห็นเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ ! จนกระทั่งถึงกับกล้าบอกว่า “คำพูน บุญทวี ได้รับรางวัลแมกไซไซ” ไปเสียฉิบ ! (หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดยโสธร โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ หน้า ๑๗๓) เพราะลีลาภาษาที่ใช้แบบ “ลูกทุ่งอีสานขนานแท้” นั้นคนอีสานเองต่างพะวงมากว่าคนไทยภาคอื่น ๆ จะอ่านไม่รู้เรื่อง แต่ปรากฏว่า คนไทยภาคอื่นอ่านแล้วเข้าใจ สนใจซื้อมากกว่าคนอีสานเสียอีก โดยเฉพาะข้าราชการที่จะมาทำงานที่ภาคอีสานส่วนมากจะต้องหาซื้อ “ลูกอีสาน” มาอ่านก่อนเสมอ หากจะว่าไปแล้ว คนภาคอื่นนั้นเขาอ่านเข้าใจลึกซึ้งมากกว่าคนอีสานเป็นไหน ๆ หลักฐานเห็นชัดเจนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการสรรหา (ยุคแรกไม่ใช้การส่งประกวด) เพื่อให้ได้รับรางวัลซีไรต์นั้นไม่มีคนอีสานเลย ได้แก่ รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร, สุภา เทวกุล, นิลวรรณ ปิ่นทอง, ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์, นพ.ปาละวงศ์ ณ อยุธยา, ลัดดา ถนัดหัตถกรรม และดนัย ศักดิ์สิทธิ์วัฒนะ (http://th.wikipedia.org/wiki/2522)

ทีนี้เรามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่า นวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” มีดีอย่างไร มีอะไรที่ยิ่งใหญ่เกินที่เราคิดไม่ถึงอย่างนั้นหรือ

“ลูกอีสาน” เป็นนิยายกึ่งสารคดีอัตชีวิตประวัติ เด็กชายคูนคือภาพจำลองมาจากตัวตนของคำพูน บุญทวี สมัยเป็นเด็กนั่นเอง เพียงแต่พ่อไม่ได้เป็นครูอย่างชีวิตจริง ฉากก็นำมาจากบ้านทรายมูลจริง ๆ ในยุคนั้นด้วย รวมทั้งเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ คนญวน คนจีนที่โลดแล่นในความเป็นมาเป็นไปของบ้านทรายมูลนั้น แต่หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงก็ถูกตัดทอน ละทิ้งไปก็มากในความเป็นจริงนั้นอย่างมีศิลปะซึ่งผู้เขียนได้สร้างโลก วิถีชีวิต เรื่องราว ให้เป็นตัวแทนที่สำแดงถึงจิตวิญญาณคนอีสานได้ทั้งมวล พอดิบพอดีอย่างเหมาะเจาะภายใน ๓๖ ตอนได้อย่างน่าชื่นชม คนอีสานหลายคนอาจจะบอกว่าก็เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นธรรมดา ๆ นี่เอง ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่เอาเข้าจริงมีหลายคนที่พยายามทำออกมา และแม้แต่คำพูนบุญทวี เองก็พยายามเขียนเรื่องใหม่ก็ไม่สามารถที่จะสร้างความพอดี ครบบริบูรณ์ และลุ่มลึกกว้างไกลเท่า “ลูกอีสาน” ได้เลย

ชิ้นงานในการวิเคราะห์วิจารณ์วรรณกรรม “ลูกอีสาน” ได้อย่างลุ่มลึกถึงแก่นจนเห็นคุณค่าความโดดเด่นเป็นสากลกว้างไกล ที่น่ากล่าวถึงอย่างยิ่งคือ เรื่อง “มีอะไรในลูกอีสาน” ของอาจารย์นพพร ประชากุล ในวารสาร ภาษาและหนังสือ ๑๕ ปีซีไรต์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑-๒ (เมษายน ๒๕๓๕ – มีนาคม ๒๕๓๖) หน้า ๑๗-๒๑

ท่านมีข้อสังเกตพิเศษว่า “ลูกอีสาน” มิได้แฝงปรัชญาอันลุ่มลึกชวนตื่นตะลึง มิได้สาธิตวรรณศิลป์อันวิจิตรตระการตา มิได้ปลุกเร้าจิตสำนึกใด ๆ เล่าถึงชีวิตชนบทอันเรียบง่ายด้วยวิธีเล่าที่แลดูโปร่งใส ตรงไปตรงมา ตามสำนวนนักวิจารณ์ฝรั่งสมัยใหม่ ก็ต้องว่า “เฉียดใกล้ศูนย์องศาแห่งการประพันธ์วรรณกรรม” เลยทีเดียว การใช้มุมมองในการเล่าเรื่องผ่านสายตาของเด็กชายคูนที่กระหายใฝ่รู้นั้น เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมเชิงการเล่าเรื่อง (narrative legitimacy) ไม่ได้เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่อะไร แต่เป็นการค้นหาที่มีคุณค่าแห่งการเรียนรู้อย่างยิ่ง

โครงเรื่องของ “ลูกอีสาน” ที่ประกอบไปด้วยฟ้าอันเป็นที่สถิตของพญาแถน และพื้นดินซึ่งเป็นที่อยู่ของพืช สัตว์ และมนุษย์ ฝนไม่ค่อยตกจากฟ้าผืนดินจึงแห้งแล้ง หากผู้คนก็ดิ้นรนและอยู่รอดท่ามกลางความขัดแย้ง ความร่วมมือร่วมใจ และแม้ว่าจะทุกข์ลำบากอย่างไร คนก็ต้องไม่โทษฟ้าเพราะฟ้ากระตุ้นให้คนได้ทดสอบศักดิ์ศรีของตน นี่คือความหมายของความเป็นอีสาน ซึ่งเด็กน้อยคูนจะค่อย ๆ เรียนรู้จนเข้าใจในที่สุด นี่คือความคิดที่ยิ่งใหญ่เพราะเป็นคุณค่าที่อยู่ในระดับ “จักรวาลทัศน์” ทีเดียว

โครงสร้างของประเด็นความคิด (thematic structure) ที่ปรากฏอยู่พบว่าการต่อสู้ของมนุษย์กับความลำบากยากแค้นเป็นประเด็นที่ดูโดดเด่นที่สุด ประเด็นดังกล่าวเชื่อมโยงกับอีกประเด็นหนึ่งนั่นคือความผูกพันกับถิ่นกำเนิด (ทั้ง ๆ ที่ถิ่นกำเนิดนี่เองเป็นแหล่งที่มาของความลำบากยากแค้น) ประเด็นเหล่านี้ได้รับการจัดสัมพันธ์กันเข้าเป็นโครงสร้างของเรื่องซึ่งมีรูปลักษณะเป็นโครงสร้างของการแสวงหาตามทฤษฎีของเกรมาส (Greimas) โครงสร้างในลักษณะนี้ประกอบด้วยผู้แสวงหา (subject) สิ่งที่แสวงหา (object) ปัจจัยเกื้อหนุน(helper) อุปสรรค (opponent) แสดงเป็นแผนผัง ได้ดังนี้

 


จึงขอขอบคุณท่านอาจารย์นพพร ประชากุลเป็นอย่างสูง ที่กรุณาได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของวรรณกรรม “ลูกอีสาน”

ดร.สุเนด โพทิสาน นักวิชาการลาวที่โดดเด่นและเป็นผู้เดียวที่มีผลงานวิจัยเรื่อง “นิทานขุนบรม: แปลความ ตีความ และวิเคราะห์” ครอบคลุมนิทานขุนบรมทั้ง ๓๙ ฉบับที่ค้นพบในปัจจุบันและได้ไปนำเสนอในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “เรียนรู้อาเซียน เรียนรู้เพื่อนบ้าน ผ่านวรรณกรรมลาว” วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ของสำนักงานวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ผ่านมานั้น ทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ หลายคนได้เปิดหูเปิดตากว้างขวางออกไป และเข้าใจให้ถูกต้องว่า “นิทานขุนบรม” ไม่ได้มีฉบับเดียว

เดิมทีเราเข้าใจว่า นิทานขุนบรมมีฉบับเดียวที่ว่าด้วยเทวดาบนฟ้า คือแถนฟ้าคื่นส่งแถนลงมาดำรงชีวิตบนโลก จนเกิดน้ำท่วมใหญ่จึงกลับขึ้นไปอยู่บนฟ้าอีก แถนฟ้าคื่นจึงประทานบริวาร และควายตู้ ๑ ตัวให้ลงมาทำไร่ไถนาดำรงชีวิตบนโลกอีกครั้ง ควายตู้ช่วยทำนามาได้ ๓ ปีก็ตาย มีต้นเครือเขากาดงอกออกมาจากจมูกควายเป็นต้นใหญ่คลุมจนมืดฟ้ามัวดิน มีปู่เยอย่าเยอนี่เองที่อาสาฟันต้นเครือเขากาดล้มลง และจึงเห็นลูกน้ำเต้าปุงลูกหนึ่งที่ใหญ่โตตั้งอยู่ ซึ่งได้ยินเสียงผู้คนร้องออกมาจากน้ำเต้านั้น แถนก็ใช้เหล็กเผาไฟซีหรือเจาะและใช้สิ่วเจาะ จึงกำเนิดชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ไหลหลั่งออกมา แต่มีปัญหาการปกครอง แถนฟ้าคื่นจึงได้ส่งขุนบรมบุตรชายลงมาบริหารปกครองบ้านเมือง นี่เป็นเนื้อหาของ “นิทานขุนบรม” ฉบับแรกซึ่งเขียนโดย พระมหาเทพหลวง กับ พระมหามุงคุนสิทธิ ที่เล่าเรื่องจากฟ้าแถน การกำเนิดมนุษย์และเผ่าพันธุ์ จนมาถึงยุคสมัยพระเจ้าวิชุลราช ส่วนนิทานขุนบรมฉบับอื่น ๆ ก็เป็นการบันทึกพงศาวดาร หรือประวัติศาสตร์อาณาจักรล้านช้างในยุคสมัยของตนเองของกษัตริย์ยุคต่อ ๆ มา…

ตั้งแต่ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ที่อาณาจักรสยามได้แบ่งแยกออกมาปกครองเองในสมัยกรุงธนบุรีเป็นต้นมานั้น หากเรานับการบันทึกพงศาวดารของดินแดนภาคอีสาน เรื่อง พื้นเวียงและสารลึบปะสูรย์ เป็นนิทานขุนบรมฉบับอีสานในยุคต้น ๆ แล้วละก็ ข้าพเจ้าจะไม่กระดากปากที่บอกว่า “ลูกอีสาน” เป็นนิทานขุนบรมฉบับอีสานในยุคต่อมาก่อนที่จะถึงยุคโลกาภิวัตน์อย่างไม่อายใคร หรือการกล่าวเช่นนี้เป็นเรื่องตลกโปกฮาแบบบ้าน ๆ ไร้สาระอย่างนั้นหรือ ?

เปล่าเลย ข้าพเจ้ามีเหตุผลที่จะขอแลกเปลี่ยนต่อไปนี้

๑. “ลูกอีสาน” เป็นวรรณกรรมที่เชื่อมโยงจากแถนฟ้าที่กล่าวในนิทานขุนบรมฉบับแรกมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างน่าอัศจรรย์

๒. “ลูกอีสาน” เป็นวรรณกรรมที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณอีสานได้สมบูรณ์ที่สุด

๓. สำนวนภาษาที่ใช้ใน “ลูกอีสาน” แบบลูกทุ่งอีสานแท้นั้น เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่กล้าหาญในการนำเสนอ จนเป็นที่ยอมรับ และกลายเป็นสากลได้อย่างคาดไม่ถึง

เหตุผลเพียง ๓ ข้อนี้ก็เกินพอแล้วล่ะขอรับ

ณ โอกาสนี้จึงขอขอบคุณยิ่งที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร และสโมสรนักเขียนภาคอีสานได้ตระหนัก และเห็นคุณค่าให้ความสำคัญคุณลุงคำพูน บุญทวี และ ลูกอีสาน จัดงาน “เรียนรู้รากเหง้า ก่อนก้าวสู่อาเซียน ด้วยแบบเรียน “ลูกอีสาน” ขึ้นวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ อย่างน่าชื่นชม

และอย่างระทึกใจ…พวกเรากำลังเฝ้ารอว่าวรรณกรรมเรื่องใดที่จะเป็น “นิทานขุนบรมฉบับอีสาน” แห่งยุคลำดับต่อไป…

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com