ศัพท์ทางวิชาการทุกแวดวงมีปัญหาอยู่เสมอ เช่นในแวดวงประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ก็มีเรื่องยังหาข้อสรุปให้ลงตัวเห็นชอบเป็นเอกภาพกันได้ยาก นั่นคือ เรื่องชื่อ “ศิลปะลพบุรี” นั้นมีความหมายว่าอย่างไรกันแน่ จะหมายรวมเอางานศิลปะที่เกิดขึ้นแถบลพบุรี (ภาคกลางของประเทศไทย) หรือจะรวมไปถึงศิลปะขอมหรือศิลปะเขมรที่เป็นต้นแบบ หรือจะรวมทั้งหมดทั้งทวารวดีกับขอมที่มีส่วนเป็นต้นแบบทั้งหมดรวมกันด้วย

น่าสังเกตว่า  ปัญหาทำนองนี้มักจะเกิดขึ้นหลังยุคอาณานิคมภายในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน

สำหรับในประเทศไทย ก็มีปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชายุคที่ชนพื้นเมืองเริ่มมีพัฒนาการมีรูปแบบศิลปะ ที่เป็นอัตลักษณ์ของพวกตนเองขึ้นมา

ส่วนในยุคที่ชาวสุวรรณภูมิ รับศิลปะแบบจากอินเดีย ยุคคุปตะ ถึงปัลลวะมาใช้นั้น ไม่มีใครทะเลาะแย่งกัน เพราะต่างยอมรับว่ารับศิลปะจากอินเดียมาใช้…เหมือน ๆ กัน

คือไม่เห็นทะเลาะแย้งกันว่ายุคต้น ๆ ของศิลปะทวาราวดี และเจินล่า (ขอม) นั้นเรารับต้นตอมาจากอินเดียใต้ จนกระทั่งชนพื้นเมืองมีพัฒนาการด้านศิลปะเป็นตัวของตัวเอง คือในตอนปลายของทวารวดีและเจินล่า ศิลปะสุวรรณภูมิมีรูปแบบเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง

ประเมินระยะเวลารูปธรรมคือหลังช่วงพุทธศตวรรษที่สิบห้าไปแล้ว คือดินแดนทวารวดีในประเทศไทยภาคกลางแถบอาณาจักรลวปุระหรือลพบุรี และดินแดนแถบพระนครหลวงในกัมพูชาเจริญรุ่งเรืองขึ้นแล้ว  

ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์นั้น ดินแดนพระนครในกัมพูชารุ่งเรืองขึ้นจนรบชนะดินแดนแถบลพบุรีจนความนิยมทางด้านศิลปะแถบลพบุรีมีความเปลี่ยนแปลง เกิดความนิยมทางรูปแบบโน้มเอียงไปทางศิลปะขอมหรือเขมร

ตกมาถึงยุคอาณานิคม สยามมีสถานะสูงกว่ากัมพูชา และข้อมูลประวัติศาสตร์กับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ศิลปะเกิดความสับสน   ประเทศสยามถูกคนยุคปัจจุบันกล่าวหาว่า   ต้องการความสืบทอดทางด้านพัฒนาการทุกด้าน   จึงได้สร้างคำศัพท์ “ศิลปะลพบุรี”  ขึ้นเป็นต้นเค้าตนแบบของศิลปะอู่ทอง  แล้วสืบทอดศิลปะสยามมาจนถึงกรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์

พระพุทธรูปสำริด ศิลปะลพบุรี ห้องสมุด ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

พระพุทธรูปยืน สำริด ศิลปะลพบุรี ห้องสมุด ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล

คำว่า “ศิลปะลพบุรี”  จึงกลายเป็นปัญหาโต้แย้งกันว่ามีต้นแบบอิทธพลจากศิลปะขอมหรือเขมร เกิดข้อโต้แย้งกันทางวิชาการ เช่น  บทความเรื่อง “ศิลปะลพบุรี-ขอม/เขมรในดินแดนไทย : คำเรียกแบบศิลปะที่ควรทบทวน”  โดย “ประภัสสร์ ชูวิเชียร” ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น

ชื่อเรียก “ศิลปะลพบุรี” มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นครั้งแรก ๆ โดยการค้นคว้าของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือ “ตำนานพระพุทธเจดีย์” ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2469 ชื่อนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงใช้เรียกแบบอย่างศิลปะแบบหนึ่งที่มีอายุราว พ.ศ. 1600 ลงมาถึงราว พ.ศ. 1800 โดยอิงอยู่กับรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับศิลปะแบบขอม/เขมรในประเทศกัมพูชา ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเองก็ทรงให้ความเห็นไว้ว่า

“พุทธเจดีย์ตามแบบสมัยลพบุรีสร้างแพร่หลายในประเทศสยามยิ่งกว่าแบบสมัยอื่น  เพราะเนื่องกันกับแบบประเทศขอมและสร้างสืบมาในสมัยเมื่อพวกขอมมาปกครองประเทศนี้”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการใช้ชื่อเรียกศิลปะลพบุรีนี้ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) อาจมีส่วนในการคิดชื่อเรียกด้วย เหตุเพราะปรากฏในหนังสือ “โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” ซึ่งพิมพ์ในพ.ศ. 2471 หลังจาก “ตำนานพระพุทธเจดีย์” เพียง 2 ปี หรือเราอาจสรุปอย่างกว้าง ๆ ได้ว่าชื่อ “ศิลปะลพบุรี” เกิดขึ้นจากวงวิชาการในไทยราวปลายพุทธศตวรรษที่ 25

ต่อมาอีกราว พ.ศ. 2510 ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงใช้ชื่อเรียกนี้เพื่ออธิบายว่า

“หมายถึงโบราณวัตถุสถานขอมที่ค้นพบในประเทศไทย รวมทั้งโบราณวัตถุสถานที่ทำขึ้นในประเทศไทย แต่ทำเลียนแบบศิลปะขอมในประเทศกัมพูชา ฉะนั้น ศิลปะสมัยลพบุรีในที่นี้จึงมีทั้งที่เป็นแบบขอมอย่างแท้จริง และที่ทำขึ้นเลียนแบบขอมอันมีลักษณะของตนเองผิดแปลกออกไปบ้าง”

เข้าใจว่าการที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตในสมัยนั้นใช้คำเรียกว่าศิลปะแบบลพบุรี ซึ่งมีรูปแบบเดียวกับศิลปะขอม/เขมรในประเทศกัมพูชา นั้นน่าจะมาจากเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

ประการแรก เนื่องจากแนวความคิดหลักในสมัยนั้นมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เป็นศูนย์กลางของสยาม เมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองสำคัญมาก่อนการเกิดกรุงศรีอยุธยา และมีหลักฐานโบราณวัตถุสถานแบบขอม/เขมร มากมาย จึงชวนให้คิดได้ว่า ลพบุรีต้องเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่อีกแห่งของขอม/เขมร และคงมีอำนาจปกครองตนเอง

ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้อาจมีการสร้างงานศิลปะตามสกุลช่างของตนเองด้วยก็เป็นได้ การค้นพบศิลปกรรมที่เทียบได้กับแบบขอม/เขมรจำนวนมากจึงบ่งได้ว่าเมืองลพบุรีเป็นศูนย์กลางการผลิต-อิทธิพลของศิลปะเช่นนี้ในดินแดนสยาม

ประการที่สอง คือการคมนาคมที่ยังไม่เจริญก้าวหน้าทำให้ยังไม่อาจสำรวจทางโบราณคดีได้ครอบคลุมโบราณวัตถุสถานแบบขอม/เขมรในประเทศไทยนั้น เพิ่งได้รับการสำรวจศึกษาอย่างเป็นระบบและขยายพื้นที่วงกว้างมากขึ้นก็เมื่อราวหลัง พ.ศ. 2500 ดังจะเห็นได้เมื่อ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเรียบเรียงหนังสือ “ศิลปะสมัยลพบุรี” ใน พ.ศ. 2510 ได้ทรงกล่าวไว้ในคำนำว่า

“ในการเรียบเรียงบทความเรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้ใช้หนังสือเรื่องประเทศกัมพูชา (Le Cambodge) ของศาสตราจารย์จอง บัวเซอลิเยร์ (Jean Boisselier) แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอน กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และหนังสือเรื่อง ‘โครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2502’ กับ ‘รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค 2 พ.ศ. 2503-2504’ ของ นายมานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์พิเศษ กองโบราณคดี กรมศิลปากร เป็นหลักมากที่สุด”

หลักฐานดังกล่าวนี้คงพอยืนยันได้ว่า นักวิชาการสยามก่อนพุทธศตวรรษที่ 26 นั้นแทบไม่มีข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีของภูมิภาคอื่น ๆ อยู่เลย นอกจากในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ตนสังกัดอยู่ ชื่อเมืองลพบุรีจึงถูกหยิบยืมมาใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบก่อนสยามที่ไม่ต้องการให้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอื่นใด (อันจะเป็นอันตรายด้วยการทับซ้อนพื้นที่อาณานิคม)

ประการที่สาม ภัยคุกคามของอาณานิคมฝรั่งเศสที่มีอำนาจยึดครองอินโดจีนเอาไว้ได้ในขณะนั้น การกำหนดชื่อเรียก “ศิลปะขอม” หรือ “ศิลปะเขมร” ที่พบในไทยนั้นมีความล่อแหลมทางการเมืองในการต่อรองทางด้านหลักฐานว่า ดินแดนสยามเคยอยู่ในอำนาจและวัฒนธรรมของขอม/เขมรมาก่อน อาจเป็นช่องทางให้ฝรั่งเศสอ้างสิทธิที่ชอบธรรมเหนือดินแดนต่าง ๆ ของสยามว่าเคยเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชา คืออาณานิคมของตนในขณะนั้นและเข้าไปปกครอง/ยึดครองก็ได้

อาจกล่าวได้โดยสรุปว่าการใช้ชื่อเรียก “ศิลปะลพบุรี” มีที่มาจากแนวคิดทางด้านอาณานิคมในพุทธศตวรรษที่ 25 ผสมกับข้อจำกัดด้านการเมือง และการสำรวจศึกษาทางโบราณคดีที่ไม่มากพอจะสร้างชื่อเรียกเหมาะสมขึ้นมาให้กับกลุ่มสกุลช่างหนึ่ง (ขอม/เขมร) ในขณะนั้นได้”

อย่างไรก็ตาม สมมติฐานทั้งสามข้อข้างต้นล้วนมีข้อมูลโต้แย้งได้ทั้งสิ้น

ต่อมา “ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ เสนอไว้ในหนังสือ “ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแบบศิลปะในประเทศไทย คัดเลือกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสาขาส่วนภูมิภาค” ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2520 ว่าไม่ควรใช้คำว่าศิลปะลพบุรีเพราะอาจเกิดความเข้าใจผิดได้ เนื่องจากฐานคิดที่ว่าการเรียกศิลปะแบบขอม/เขมรทุกชิ้นที่พบในประเทศไทย ซึ่งมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-18 (ด้วยความคิดแบบชาตินิยม) กลับไม่สอดคล้องด้วยหลักฐานที่พบอยู่ว่า ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 นั้นเมืองลพบุรีเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมมอญ (หมายถึงที่เรียกกันว่า ทวารวดี) จะเริ่มได้รับอิทธิพลจากกัมพูชาก็ตกราวพุทธศตวรรษที่ 16 ลงมาแล้ว จึงเสนอให้มีการเรียกชื่อว่า “ศิลปะแบบเขมร” เพื่อสื่อถึงชนชาติทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับกัมพูชาที่มีความสัมพันธ์กันกับผู้คนในดินแดนไทย อย่างไรก็ดี ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ มิได้ปฏิเสธการใช้ชื่อศิลปะลพบุรี แต่เพียงให้ความเห็นว่าใช้สำหรับศิลปวัตถุที่พบในบริเวณจังหวัดลพบุรีเท่านั้น มิใช่ใช้เรียกศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทยทั้งหมด

อาจเป็นเพราะแนวความคิดที่พัฒนาขึ้นเช่นนี้เอง ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล จึงทรงเห็นว่าควรมีการปรับปรุงชื่อเรียกศิลปะลพบุรีด้วย ในหนังสือ “ศิลปะในประเทศไทย” ซึ่งเป็นตำราเรียนทางประวัติศาสตร์ศิลปะเล่มสำคัญของไทยเมื่อพิมพ์ฉบับครั้งที่ 7 ใน พ.ศ. 2524 จึงทรงสร้างทางเลือกในการเรียกชื่อเสียใหม่ว่า “ศิลปะลพบุรีหรือศิลปะขอมในประเทศไทย” ด้วยทรงยอมรับว่า “ศิลปะลพบุรี” ยังเป็นชื่อที่ไม่เหมาะสม แต่ที่ใช้เพื่อให้สะดวกในการศึกษาเท่านั้น

ศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ  สุขสวัสดิ์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับชื่อเรียกศิลปะลพบุรี ว่าการจะทำความเข้าใจถึงศิลปะแบบนี้ได้จำเป็นจะต้องอ้างอิงอยู่กับศิลปะเขมรในประเทศกัมพูชาเป็นหลัก เพราะเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริง จึงมีชื่อเรียกขึ้นว่า “ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย” (พ.ศ. 2537) อีกทั้งการกำหนดอายุสมัยกับชื่อเรียกแบบศิลปะของเขมรบางแบบที่ยังมีปัญหาจำเป็นต้องปรับแก้ด้วย เช่น ศิลปะแบบคลัง ปรับเปลี่ยนเป็น “ศิลปะแบบประตูพระราชวังหลวง”

จึงแสดงให้เห็นว่า หลังช่วงราว พ.ศ. 2520 หรือประมาณ 50 ปีหลังจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงใช้คำเรียกศิลปะลพบุรี หรือ 10 ปีจากที่ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงฟื้นฟูคำว่าศิลปะลพบุรีมาใช้ โดยเพิ่มเติมหลักฐานศิลปกรรมในภาคอีสาน ได้มีการพัฒนาความคิดเกี่ยวกับชื่อเรียกแบบอย่างศิลปะในประเทศไทย

รวมถึงความพยายามที่จะหาคำนิยามของศิลปะแบบขอม/เขมรที่พบในประเทศไทยเพื่อให้ต่างไปจาก “ศิลปะขอม” หรือ “ศิลปะเขมร” ในประเทศกัมพูชา โดยมีทั้งที่ใช้ระบบแนวคิดทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะ-โบราณคดี และการใช้หลักฐาน ซึ่งอย่างไรก็ตามความคิดทางการเมืองในชื่อเรียกเหล่านี้ยังเห็นอยู่ในบางกรณี เช่น การที่ยังต้องคงคำว่า “ในประเทศไทย” เอาไว้ เพื่อบ่งว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของดินแดนไทย มิใช่ภายนอก

 

อย่างไรก็ดี นักวิชาการบางท่าน เช่น สมิทธิ  ศิริภัทร์ และ มยุรี วีระประเสริฐ แม้จะยอมรับว่าการใช้ชื่อ ศิลปะขอม/เขมรในประเทศไทยจะมีความเหมาะสมก็ตาม แต่ก็ยังเห็นว่าการใช้ชื่อศิลปะลพบุรียังคงมีความจำเป็น ด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่ออิทธิพลทางศิลปกรรมจากกัมพูชาเข้ามาสู่ดินแดนไทยซึ่งมีวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น ทวารวดี เจริญอยู่ก่อนแล้วนั้น ศิลปะแบบขอม/เขมรได้ผสมผสานหรือแสดงลักษณะบางประการที่เป็นอิสระจากศูนย์กลางในเมืองพระนครออกไป และเกิดปรากฏการณ์ซ้อนทับทางด้านรูปแบบ (คือการปะปนของศิลปกรรมต่างสมัยในท้องถิ่นซึ่งมีสาเหตุจากการเดินทางมาถึงของอิทธิพลจากศูนย์กลางในเวลาไม่เท่ากัน) อันไม่มีกรณีเช่นนี้สำหรับศิลปกรรม” 

ภาพพระพุทธรูปยืน สำริด สูง ๖๐ ซม. พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน ศิลปะลพบุรี

พระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด สูง ๒๐ ซม. พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน

(อ้างอิง บทความเรื่อง “ศิลปะลพบุรี-ขอม/เขมรในดินแดนไทย : คำเรียกแบบศิลปะที่ควรทบทวน”  โดย  ประภัสสร์ ชูวิเชียร ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com