# ความสุขเมื่อได้เดินทางไปในท้องถิ่นชนบทประการหนึ่ง คือการแวะชม “วัดบ้านๆ” ที่แม้จะไม่ใช่ “อารามหลวง” แต่มักมีอะไรแปลกๆ สนุกๆ ให้เราค้นหาเสมอ อย่างเมื่อครั้งตั้งใจไปชมดอกชมพูภูคาบานที่น่าน ก่อนไปถึงได้แวะชมวัดต้นแหลง ของชุมชนชาวลื้อเขตอำเภอปัว
ในภาพจะเห็นหลังคาวิหารมุงด้วยแป้นเกล็ด หรือกระเบื้องไม้ อันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไต บนยอดสุดสีทองๆ คือช่อฟ้าไม้แกะสลักเป็นรูปหงส์ ถัดลงมาคือปั้นลมแกะสลักเป็นรูปนาค สัญลักษณ์น้ำและความอุดมสมบูรณ์ แต่ที่โดดเด่นคือหัวมุมชายคาถัดลงมา แทนที่จะเป็น “นาคลำยอง” เหมือนวัดทั่วไป แต่ช่างไทลื้อแกะสลักนาคสามตน รังสรรค์เป็น “นาคสำรวย” หรือไม้ปิดปลายระแนงรับกระเบื้องหลังคา…ที่เท่ไปอีกแบบ
สุดท้ายในภาพนี้คือเชิงชาย ซึ่งทางเหนือเรียกอย่างไพเราะว่า “แป้นน้ำย้อย” ที่ทาสีขาวสลับเหลืองและมีดอกไม้สีเหลืองประดับอยู่ ตำราพุทธศิลป์เมืองน่าน อธิบายว่าเป็น “ลวดลายแป้นน้ำย้อย หรือเชิงชายดอกประดิษฐ์” ยิ่งเพ่งพิศ ก็ยิ่งเห็นความละเมียดละไมในอารมณ์ศิลป์ของคนเมืองน่าน เมืองที่คนมีความสุขมากเมืองหนึ่ง
Teeraparb Lohitkun
24 มีนาคม 2557