สดับหู สะดุดตา สะกิดใจ
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: รายงาน, วิจารณ์และแนะนำ “ศิลปวัฒนธรรม−วรรณกรรม−บันเทิง”
Column: Ear-pricking, Eye-catching, Mind-blowing
ผู้เขียน: เวิน วรรณยุทธ์
ข้อคิดเกี่ยวกับ บทวิชาการวรรณกรรมว่าด้วย กวีนิพนธ์ “อีศาน” ของ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์
ตอนท้ายของบทรายงาน “เสียงสะท้อนจากนักเขียนหนุ่ม” ในคอลัมน์นี้ ในนิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๑๐ ผมได้เอ่ยไว้ว่าจะเขียนถึงบทวิชาการวรรณกรรม กวีนิพนธ์ “อีศาน” ของอาจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์ ที่ลงตีพิมพ์ใน “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๒ ซึ่งผมจะเขียนถึงในครั้งนี้จากการอ่านพินิจวิเคราะห์หลายรอบ ผมเห็นว่างานเชิงวิจารณ์ชิ้นนี้มีความแหลมคมเป็นอย่างยิ่ง ได้นำเสนอทรรศนะใหม่อย่างน้อยก็สอง – สามประการ
ประการที่หนึ่ง คือการนำวรรณกรรมวิจารณ์เชิงนิเวศ ซึ่งเป็นแนวคิดหลังสมัยใหม่ (โพสต์โมเดิร์น) เข้ามาพินิจพิจารณากวีนิพนธ์ “อีศาน” ของ “นายผี” ซึ่งสะท้อนทรรศนะหรือแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ หรือแนววรรณกรรมเพื่อชีวิต ที่มีจุดมุ่งหมายในการปลุกเร้าจิตใจประชาชนคนยากไร้ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้…
เป็นมิติใหม่ในการพินิจวรรณกรรม “อีศาน” ทำให้เห็นมุมใหม่ หรือทรรศนะใหม่ แทนที่จะมองหรือคิดอยู่ในแนวคิดเก่า ๆ ที่นับวันจะหมดบทบาทลงไป แนววิจารณ์เช่นนี้ใช้ได้กับงานเขียนสกุลอีสานได้ทุกชิ้น
แต่ที่ผมจะตั้งข้อสังเกตต่ออาจารย์ธัญญาก็คือที่ว่า “นายผี” ปลุกคนจนลุกต่อสู้นั้น… นอกจากต่อสู้กับผู้แทนที่เห็นท่าแต่กล้าโกง เที่ยววิ่งอยู่โทงโทง เที่ยวมาแทะให้ทรมาน…นอกจากนี้ ยังมีใครที่ใหญ่กว่าผู้แทน ซึ่งก็โกงและกดขี่บีฑาหนักกว่าผู้แทนอีกหรือไม่ หรือหยุดอยู่แค่ผู้แทน ที่มีเพียงปากและมือใช้ในสภาเท่านั้น
ประเด็นนี้น่าคิดอย่างยิ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อหยิบกวีนิพนธ์ชิ้นนี้ขึ้นมาพูดหรือยกย่อง ตีพิมพ์ที่ “สารเสรี” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ในนามปากกา “สมชาย ปรีชาเจริญ” ก็ไม่ได้ตั้งคำถามหรือพูดถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด
ผู้อ่านรุ่นหลัง ๆ ก็เหมือนถูกวาทกรรม “นักการเมืองโกง” กลบความคิด จนไม่คิดเลยไปถึงประเด็นอื่น
“นายผี” เองเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ จะมองไม่เห็นโครงสร้างอำนาจรัฐที่ครอบงำสังคมอยู่ได้อย่างไร เว้นเสียแต่จะละไว้ในฐานที่เข้าใจ… หรือว่าเพราะ “นายผี” เองเคยเป็นอดีตอัยการก็เลยไม่อยากแตะต้องระบบราชการ ?
ตรวจสอบบริบทสังคมการเมืองยุค พ.ศ.๒๔๙๕ ที่ “นายผี” เขียน “อีศาน” ผู้แทนโกงให้ประชาชนเดือดร้อนก็ไม่มีประเด็นชัด มีชัดก็แต่นักการเมืองอีสานที่กล้าต่อสู้เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน จนถูกจับเข้าคุกในข้อหาเป็น “กบฏแบ่งแยกดินแดน” บ้าง “กบฏสันติภาพ” บ้างหรือ “กบฏคอมมิวนิสต์” บ้าง กระทั่งถูกฆ่าทิ้งอย่างเหี้ยมโหดอย่าง ๔ อดีตรัฐมนตรีอีสาน
ส่วนที่ “นายผี” เขียนถึงแต่ด้านอัปลักษณ์ของอีสานนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ กวีอีสานรุ่นก่อน “นายผี” เคยทำมาแล้ว ดังบทกาพย์กลอนว่า “ฝนบ่ตก ข้าวไฮ่ตายคา ฝนบ่มา ข้าวนาตายแห้ง หับเหี่ยวแห้ง ใบเกิดเป็นฝอย ฝูงมันกลอยในดินหายาก อดอึดอยาก แท้หนอพวกเฮา…”
ประการที่สอง อาจารย์ธัญญาสรุปไว้รวบรัดชัดเจนว่า บทกวี “อีศาน” ได้กลายเป็นวาทกรรมเกี่ยวกับภาคอีสานไปโดยปริยาย… อัตลักษณ์ของภาคอีสานตามวาทกรรมนี้คือ “ดินแดนที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้งกันดาร ผู้คนที่ยากจนข้นแค้นและนักการเมืองที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน มากกว่าเป็นที่พึ่งพาช่วยเหลือ” ฯลฯ “วาทกรรมอีสานที่ “นายผี” สร้างขึ้น จึงมีอำนาจกำหนด/กำกับ/ให้การรับรู้/การคิดถึง/พูดถึงหรือเขียนถึงของเราเกี่ยวกับภาคอีสาน ให้เป็นไปตามความหมายที่มันถูกสร้างขึ้น ขณะเดียวกันก็ปิดกั้นมิให้มีการคิดถึงธรรมชาติของอีสานในด้านอื่น ๆ ดังปรากฏในวรรณกรรมที่ “เขียนอีสาน” จำนวนไม่น้อยที่เกิดขึ้นในยุคหลังนายผี
นี่เป็นการเสนอทรรศนะที่แหลมคมอย่างยิ่งน่าขบคิด ทั้งน่าพินิจตรวจสอบผลงานเขียนของพวกเรานักเขียนอีสานทุกรุ่น (หลัง “นายผี”) ใช่หรือไม่ว่า งานเขียนเด่น ๆ เป็นต้นแบบเช่น “ฟ้าบ่กั้น” ของ “ลาว คำหอม”, “ปุยนุ่นและดวงดาว” ของ “รมย์ รติวัน”, “ขอดน้ำตากิน” ของ “เริงเอกราช” ฯลฯ เป็นผลิตผลจากธงที่ “อีศาน” ได้ตั้งไว้เป็นแนวในการนำเสนอ…
ประการที่สาม อาจารย์ธัญญาเหมือนจะชี้ต่อไปว่า ในเมื่อวรรณกรรมแนวยากจนหม่นเศร้าหรือแนวเพื่อชีวิตอ่อนล้าโรยแรงลงไป นักเขียนชาวอีสานจะเขียนถึงอะไรและอย่างไร จึงจะก้าวไปไกลกว่าที่ “อีศาน” และงานในแนวเดียวกันเคยทำไว้
ผมยอมรับว่า งานแนวเก่า ๆ แทบจะหมดหรือหมดบทบาทไปแล้วจริง ๆ ในยุคนี้ แต่ก็มีนักเขียนอีสานรุ่นหนุ่มสาวก้าวขึ้นมาบุกเบิกแนวทางของตนเองอย่างไม่ทดท้อ มีใครบ้าง เขียนอะไร อย่างไร ผมจะพินิจให้จริงจังในโอกาสหน้า หรือใครมีข้อโต้แย้ง หรือเขียนวิจารณ์งานของใคร ก็ขอเชิญได้เลยครับ คอลัมน์นี้เปิดกว้างให้ทุกคนแล้ว
รางวัลซีไรต์ที่อยากเห็น
ใน “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๑๐ ผมได้ทิ้งท้ายประเด็นเสียงสะท้อนจากนักเขียนหนุ่มไว้ว่า จะพูดถึงรางวัลทางวรรณกรรมในบ้านเรา ก็เริ่มตรงนี้เลยว่า รางวัลเกี่ยวกับวรรณกรรมในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นรางวัลในระดับไหนใหญ่หรือเล็ก ซึ่งมีอยู่ไม่น้อย ผมถือว่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นคนอ่านให้หันมาสนใจอ่านหนังสือ เป็นผลดีทั้งต่อตัวคนอ่าน นักเขียน ตลอดจนถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะเป็นการจัดประกวดโดยตรง หรือพิจารณาให้รางวัลโดยวิธีใดก็ดีทั้งนั้น
แต่กับรางวัลซีไรต์ ซึ่งเริ่มมากว่า ๓๐ ปีแล้ว ผมเห็นว่าสมควรก้าวผ่านการ “ประกวด” ไปได้แล้ว ทั้งนี้ เพราะรางวัลซีไรต์เป็นระดับอาเซียนเมื่อกระแสการรวมตัวกันของอาเซียนมาแรง เป็นที่สนใจของชาวโลก กระทั่งองค์กรเกี่ยวกับวรรณกรรมในประเทศเราจัดเสวนา จัดสัมมนากันถึงเรื่องนี้อย่างคึกคัก องค์กรหรือสถาบันซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการให้รางวัลซีไรต์ก็สมควรจะผลักดันรางวัลที่ถือว่า “ใหญ่” ระดับภูมิภาครางวัลนี้ขึ้นสู่ระดับอาเซียนจริง ๆ เสียที นี่เป็นความคิดเห็นหรือถือเป็นข้อเสนอของผมก็ได้
การใช้วิธีการประกวดและพิจารณาเฉพาะเล่มที่ส่งประกวดนั้น ผมเห็นว่ามันจำกัดวงงานที่ได้รางวัลอยู่แต่ในกรอบหรือกฎเกณฑ์เก่า ๆ โดยการตัดสินของกรรมการกลุ่มเดิม ๆ รางวัลซีไรต์จึงดูด้อยคุณค่าลงไป และงานที่ได้รับรางวัลก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่เคยเป็นมา ถึงแม้วิธีการประกวดจะเป็นเจตจำนงของผู้ให้รางวัลนี้มาแต่เริ่มต้นก็ตาม จะลองเปิดกว้างเหมือนเมียนมาร์เปิดประเทศจะดีไหมครับ
ผมเคยพูดล้อเล่นกับ คุณชาติ กอบจิตติ ผู้ได้ดับเบิ้ลรางวัลซีไรต์ว่า “เป็นนักเขียนใหญ่จากคำพิพากษาอยู่แล้ว กลับมาเป็นนักเขียนน้อยในเวลาอีก”
ผมล้อว่า ชาติเขียนนวนิยาย “เวลา” ส่งเอารางวัลซีไรต์อีกนั้นเอง !
การส่งแล้วส่งอีกได้แล้วได้อีกนี่เอง ทำให้รางวัลซีไรต์ไม่ค่อยก้าวไปถึงไหน…
ด้วยความจริงใจ ผมอยากเห็นรางวัลซีไรต์ใช้วิธีพิจารณาจากผลงานโดยรวมของนักเขียนหรือกวีอาเซียนทั้งหมด แล้วมอบรางวัลให้กับคนที่คณะกรรมการเห็นสมควรหนึ่งคนในแต่ละปี จะให้ผู้ได้รับรางวัลในแต่ละปีเป็น “หนึ่ง” ในอาเซียน มีศักดิ์มีศรี เป็นที่ยอมรับของคนอ่านในประชาคมอาเซียนอย่างแท้จริง และเป็นหน้าเป็นตาของวงการวรรณกรรมอาเซียนจริง ๆ
เช่นนี้แล้ว นักเขียนจากอาเซียนก็น่าจะเป็นที่จับตามองของคนอ่านในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ที่สำคัญ นักเขียนผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ในแต่ละปีนอกจากจะได้รับเกียรติ ได้รับการยกย่อง มีชื่อเสียงแล้ว ก็สมควรได้รับรางวัลเป็นเงินหนึ่งล้านบาทขึ้นไป ดังที่ “ลาว คำหอม” และ “พนมเทียน” ได้รับเงินหนึ่งล้านบาทจากมูลนิธิอมตะซึ่งถ้ายกระดับรางวัลขึ้นมาดังว่าก็น่าจะมีผู้สนับสนุนเรื่องเงินสมทบรางวัลเป็นแน่
ซีไรต์จะได้ชื่อว่าเป็นรางวัลสร้างสรรค์วรรณกรรมอาเซียนอย่างแท้จริง