สนั่น ชูสกุล นักรบวัฒนธรรมผู้เสียสละกลางสนามรบ

สนั่น ชูสกุล

นักรบวัฒนธรรมผู้เสียสละกลางสนามรบ

     “ความรู้เรื่องระบบนิเวศอยู่กับชาวบ้าน ในน่านน้ำมีปลากี่ชนิดเขารู้จักและนับให้คุณฟังได้หมด  รู้นิสัยของปลา รู้ว่ามันวางไข่เดือนอะไร วางไข่ที่ไหน เดือนไหนมันอยู่ที่ไหน หากินน้ำลึกหรือน้ำตื้น รู้หมด   แล้วถ้าจะจับมันจะต้องมีเครื่องมือชนิดไหนเขาก็รู้ จับอย่างไรไม่เป็นการล้างผลาญเขาก็รู้ก็ทำ  เขาหวงแหนและมีกุศโลบายในการดูแลให้มีอยู่มีกินถึงลูกถึงหลาน  เขามีพิธีแสดงความรักความกตัญญูต่อธรรมชาติ ทั้งตาแฮก ปู่ตา แม่คงคา แม่ธรณี แม่ย่าเพีย มเหศักดิ์หลักเมือง

     “ฝ่ายผู้มีอำนาจในบ้านเมือง มักไม่รู้เรื่องเหล่านี้ แต่มีความรู้อีกชุดหนึ่ง พร้อมกับมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรโดยวิธีที่คิดมาจากศูนย์กลาง เมื่อลงมือจึงมักตามมาด้วยความขัดแย้งร้าวฉาน และกระทบทำลายทรัพยากรท้องถิ่น กระทบกับวิถีชีวิตคนท้องถิ่นเสมอ  เมื่อมีการคัดค้านต่อต้านก็ใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกล่อ หว่านโปรยความเกลียดชัง แบ่งแยก ข่มขู่ ปราบปราม

     “ในชีวิตของข้าพเจ้า – ท่ามกลางการอยู่ร่วมกับชาวชุมชนท้องถิ่นมายาวนาน ยังไม่เห็นรัฐแบบไหนจัดการทรัพยากรด้วยความรัก ความกตัญญูต่อธรรมชาติ และเคารพศักดิ์ศรีของคนท้องถิ่น!!”

     ความครุ่นคำนึงข้างต้น สนั่น ชูสกุล บันทึกไว้ในเฟซบุ๊ก ซึ่งน่าจะเป็นห้วงเคลื่อนไหวต่อสู้กับกรมเจ้าท่าและกรมทหารช่างที่กำลังทำลาย ‘มดลูก’ ของ แม่น้ำมูล ชี เลย และลำน้ำสาขาต่าง ๆ ทั่วภาคอีสานเมื่อปลาย พ.ศ.๒๕๕๘

๑.

สนั่น ชูสกุล

~~~~~~~~~~~~~~~

     สนั่น ชูสกุล เกิด พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นลูกหลานที่ดีเลิศแห่งบ้านสระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช   อดีตอาณาจักรแหล่งค้าขายสำคัญของคาบสมุทรไทย  เป็นนครรัฐที่มีประวัติก่อนกรุงสุโขทัย  รุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช  ซึ่งถูกกล่าวถึงว่า ‘นครงามสง่าแห่งราชาผู้ทรงธรรม’

     เขาเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาที่บ้านเกิด จบขั้นอุดมศึกษาด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๒๓  เริ่มทำงานที่กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิชย์ (กทม.) ๒ ปี  แล้วสมัครใจทำงาน ‘โครงการพัฒนาหมู่บ้านชายแดนไทย – กัมพูชา’ จ.สุรินทร์  นอกจากเป็นงานที่เขารัก เพราะขณะอยู่ในรั้วเหลืองแดงเขาทำหน้าที่ประธานชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว เขายังพบรักสาวอีสานชาว จ.สุรินทร์ ขณะศึกษาและทำกิจกรรมร่วมกัน

     นอกจากทำงานพัฒนาหลายองค์กรและหลายบทบาทหน้าที่ สนั่นยังทำงานวิชาการและงานวิจัย  ชำนาญด้านการเขียนสร้างสรรค์ทั้งประเภทสารคดี เรื่องสั้นและนิยาย  ทั้งยังลงมือทำสวน ทำนา ปลูกป่า บนพื้นที่ ๑๐ ไร่ใน ‘สวนสนั่น’

     ด้วยการก้าวข้ามทางวัฒนธรรม การเรียนรู้ ซึมซับ หลอมรวม  บวกกับการอุทิศ มุ่งมั่นทุ่มเท ลงมือปฏิบัติ และด้วยบุคลิกภาพ ด้วยทักษะการสื่อสารที่เป็นเลิศ  จึงทำให้ผลงานของเขาในทุกด้านมีมุมมองที่แตกต่าง ลึกซึ้ง ได้รับการยอมรับในทางรูปธรรม และเป็นโจทย์ให้เพื่อนมิตรผู้ร่วมงานได้ช่วยกันคิดต่อ ได้ยกระดับสู่ขั้นนามธรรม

     โจทย์สำคัญที่สนั่นพยายามหาคำตอบ “…ฐานคิดเรื่องคุณค่าของแนวคิด ‘สิทธิชุมชน’ มีความใกล้เคียงกับแนวคิด ‘วัฒนธรรมชุมชน’ ที่มองชุมชนเป็นสถาบันสำคัญ มีกระบวนการภายในที่จะจัดการตนเองเพื่อความอยู่รอด แต่ในทางกระบวนการวิเคราะห์ชุมชนนั้น แนวคิดสิทธิชุมชนค่อนข้างให้ความสำคัญกับการศึกษาความขัดแย้ง การสร้างกติกาข้อตกลง การปรับดุลอำนาจภายในซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาของชุมชน  ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อาจารย์ใหญ่แห่งแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน ได้กรุณาแนะนำแก่ผู้เขียนว่าความเห็นดังกล่าวก็คือ ‘การผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันระหว่างวัฒนธรรมชุมชนกับเศรษฐศาสตร์การเมือง’ นั่นเอง  ประเด็นขนาดนี้ก็คงต้องพึ่งบุญอาจารย์ใหญ่ช่วยอธิบายในโอกาสต่อไปครับ เพราะพัฒนาการเรื่องแนวคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มาจากมาร์กซิสต์ – เศรษฐศาสตร์การเมือง และในที่สุดมาลงเอยที่ วัฒนธรรมชุมชน นั้น  เป็นเสมือนประวัติของท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์โดยตรง…”

     โดยส่วนตัวของสนั่น เขาเชื่อมั่นว่าคนอีสานมีจิตสาธารณะและจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ทั้งยังมีศักยภาพในการปกครองตนเองสูง และเขายังได้แสดงทัศนะเพื่อนำไปสู่หลักคิดทฤษฎีว่า

     “ประสบการณ์อันต่อเนื่องของนักเคลื่อนไหวสังคมและนักพัฒนา รวมทั้งการค้นคว้าของนักวิชาการอย่างเอาจริงเอาจัง ได้ก่อรูปเป็นแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนนี้ขึ้น ซึ่งถ้าลองย้อนทวนความเคลื่อนไหวทางสังคมในประมาณกว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมา ท่านจะเห็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีเป้าหมายสู่การดำรงอยู่รอดของชุมชนท้องถิ่นอย่างมีศักดิ์ศรี การพึ่งตนเอง การลุกขึ้นสู้ปกป้องฐานทรัพยากรท้องถิ่นที่ชุมชนพึ่งพาอาศัยในการดำรงชีวิต การมีส่วนร่วมกับรัฐในการพัฒนา ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในการดำรงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น กระแสการกระจายอำนาจ การปกครองตนเอง – การจัดการตนเอง การเกิดขึ้นของสถาบันใหม่ ๆ ทั้งองค์กรรัฐ เอกชน องค์การอิสระหลาย ๆ องค์กร

     “เหล่านี้กล่าวได้ว่า แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนที่เรากำลังกล่าวถึงนี้ ได้แสดงตัวตนลื่นไหลเข้าไปในองคาพยพต่าง ๆ ในสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งเราคงได้กล่าวถึงกันต่อไปถึงการเคลื่อนไหวในปริมณฑลต่าง ๆ ของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน รวมทั้งการแตกตัวทางแนวคิดท่ามกลางการคลี่คลายของสถานการณ์ทางสังคม และข้อถกเถียงสำคัญ”

     สนั่น ชูสกุล เขียนถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง สิทธิชุมชน วัฒนธรรมชุมชน ไว้จำนวนมาก  ถึงวันนี้กระแสแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะขอนำเสนอทัศนะจากผู้ศึกษาจริงจังหลายท่าน เพื่อสานต่อความคิดนึกของสนั่น และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน อันจะเป็นประโยชน์แก่การทำงานของภาคประชาสังคม

Related Posts

ปิดเล่ม รำลึก สนั่น ชูสกุล
สนั่น ชูสกุล นักรบวัฒนธรรมผู้พลีชีพกลางสนามรบ (๓)
สนั่น ชูสกุล นักรบวัฒนธรรมผู้พลีชีพกลางสนามรบ (๒)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com